กฎการให้ทางรถฉุกเฉินในเยอรมันปี 2017 | Rettungsgasse

ผู้ใช้รถทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องหลีกทางให้รถแพทย์ฉุกเฉิน รถดับเพลิง รถพยาบาล รถตำรวจที่เปิดไฟฉุกเฉิน เมื่อการจราจรเคลื่อนตัวช้า เริ่มติดขัด และหยุดนิ่งบนทางด่วนหรือถนนนอกเมืองสายต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงเลนให้ทางรถฉุกเฉินให้ง่ายขึ้นดังนี้

- ถ้ามี 2 เลน รถในเลนซ้ายให้แยกไปซ้ายสุด และรถเลนขวาให้แยกไปขวาสุด (ตามรูปแถวบน)
- ถ้ามี 3 เลนขึ้นไป รถในเลนซ้ายให้แยกไปซ้ายสุด รถเลนกลาง และรถเลนขวาให้แยกไปขวาสุดทั้งหมด (ตามรูปแถวล่าง)

หากใครฝ่าฝืนกีดกันทาง นอกจากจะถูกปรับ 20 ยูโรแล้ว ยังอาจเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเสียเวลาอันมีค่า เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนให้ทางรถฉุกเฉิน เพราะทุกวินาทีสำหรับพวกเขามีค่าจริงๆ

นอกจากประเทศเยอรมันที่ประกาศใช้กฎการให้ทางรถฉุกเฉินแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สโลวีเนีย และสาธารณรัฐเช็ก ที่ให้ความสำคัญกับการให้ทางรถฉุกเฉินเช่นกัน

Quelle&Foto: adac.de, rettungsgasse-rettet-leben.de

สิทธิของผู้โดยสาร ในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก

สิทธิของผู้โดยสาร ในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก ตามกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป

ถ้ามีการยกเลิกเที่ยวบิน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าเที่ยวบินที่เราจองไว้ถูกยกเลิกหรือล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เราสามารถทำได้ 2 ทางคือ ขอค่าตั๋วเครื่องบินคืน หรือเรียกร้องให้สายการบินหาวิธีทางอื่นเพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ในที่สุด โดยอาจจะหาเที่ยวบินถัดไป หรือหาเส้นทางการบินใหม่ หรือแม้กระทั่งให้เดินทางโดยรถไฟแทน กรณีที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ
ทั้งนี้เราจะต้องติดต่อกับสายการบินที่เป็นผู้บินเที่ยวบินนั้นๆ สิทธิผู้โดยสารดังกล่าวเป็นกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป (EC) 261/2004 ข้อกำหนดต่างๆมีผลบังคับกับสายการบินที่มีที่ตั้งในยุโรป รวมถึงสายการบินนานาชาติที่บินจากประเทศต้นทางในยุโรป

ตัวอย่างค่าชดเชยที่สายการบินต้องรับผิดชอบผู้โดยสาร

ในกรณีที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสถานการณ์พิเศษ ตามกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป

1. ถ้าเที่ยวบินออกเดินทางล่าช้าเกิน 2 ชม. เรามีสิทธิได้รับการดูแลเช่น อาหาร เครื่องดื่ม ช่องทางติดต่อสื่อสาร และในกรณีจำเป็น สายการบินจะต้องจัดหาที่พักค้างคืน (รวมถึงค่าเดินทางระหว่างสนามบินและโรงแรม) ให้ด้วย

2. ถ้าเที่ยวบินออกเดินทางล่าช้าเกิน 5 ชม. เราสามารถขอเงินคืนได้ แต่ถ้าเลือกวิธีนี้ สายการบินไม่ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือหรือจัดหาการเดินทางให้เราอีก

3. ถ้าเที่ยวบินมาถึงที่หมายล่าช้าเกิน 3 ชม. นอกจากสิทธิการดูแลข้างต้น เรายังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะทาง ดังนี้

1.) เที่ยวบินภายในยุโรป
- ไม่ถึง 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 250 ยูโร
- มากกว่า 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 400 ยูโร
2.) เที่ยวบินระหว่างสนามบินยุโรปและนอกยุโรป
- ไม่ถึง 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 250 ยูโร
- 1,500 - 3,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 400 ยูโร
- มากกว่า 3,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 600 ยูโร

4. ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิกภายใน 2 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง เรามีสิทธิดังนี้

- ขอให้สายการบินหาวิธีทางอื่นเพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ในที่สุด หรือ
- ขอค่าตั๋วเครื่องบินคืน หรือ
- ขอเที่ยวบินกลับไปต้นทาง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กรณีเป็นเที่ยวบินต่อเครื่อง และ
- เรียกร้องค่าชดเชย 250-600 ยูโร ขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบิน หากสายการบินจัดหาเที่ยวบินอื่นให้ และไปถึงจุดหมายล่าช้าเกิน 2, 3, 4 ชม. ขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบิน ค่าชดเชยอาจลดลง 50%

สามารถยื่นเรื่องเรียกร้องสิทธิต่างๆข้างต้นกับสายการบินโดยตรงด้วยตนเอง หรือใช้ฟอร์มเรียกร้องค่าชดเชย

Quelle: tagesschau.de, europa.eu

Lufthansa ประท้วงหยุดบินต่อเนื่องถึงวันที่ 25 พย.

ล่าสุด สายการบิน Lufthansa ประกาศว่า ยังคงมีการประท้วงหยุดขึ้นบินของกลุ่มสหภาพนักบินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 พย. นี้

การประท้วงเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พย. เวลา 00.01 น. ที่ผ่านมา มีการหยุดบินทั้งทางไกลและระยะสั้น ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 25 พย. เวลา 23.59 น. โดยวันที่ 25 พย. น่าจะมีเพียงเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศเยอรมันและภายในยุโรปที่ยังคงได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้จะมีแค่เที่ยวบินของสายการบิน Lufthansa เท่านั้นที่หยุดให้บริการ เที่ยวบินของสายการบิน Germanwings, Eurowings, Air Dolomiti, Austrian Airlines, SWISS และ Brussels Airlines ยังให้บริการตามปกติ (ข้อมูลจาก lufthansa.com)

เช็คเที่ยวบินว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ที่เว็บไซต์ Lufthansa

หากเที่ยวบินของคุณถูกยกเลิก สามารถติดต่อขอเปลี่ยนวันบิน หรือยกเลิกเที่ยวบินได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเป็นเที่ยวบินในประเทศ ก็สามารถติดต่อขอตั๋วรถไฟแทนได้

โทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0800 850 60 70 หรือ +49 69 86 799 799

การประท้วงครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 14 ตั้งแต่ เม.ย. 2014 ที่ฝ่ายสหภาพนักบินและสายการบินไม่สามารถตกลงเรื่องการขึ้นค่าแรงของนักบินได้

GEMA เลิกแบนวีดีโอในยูทูปเยอรมันแล้ว

GEMA (เกม่า) เลิกแบนวีดีโอในยูทูปเยอรมันแล้ว!

หลังการฟาดฟันยาวนานกว่า 7 ปี ในที่สุด ยูทูป และองค์กรดูแลผลงานเพลงและสิทธิการทำซ้ำ หรือเกม่าของเยอรมัน ได้เซ็นสัญญาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ส่งผลดีให้ผู้ชมยูทูปในเยอรมันสามารถดูวีดีโอที่เคยถูกบล็อกจากเกม่าได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ผู้ชมยูทูปในเยอรมันไม่สามารถดูวีดีโอบางวีดีโอได้ เนื่องจากวีดีโอมีเพลงติดลิขสิทธิ์ที่เกม่าดูแลอยู่ โดยจะขึ้นจอดำ พร้อมรูปหน้าบึ้ง และคำพูดว่า วีดีโอนี้ไม่สามารถดูได้ในประเทศเยอรมัน

เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ผู้ชมยูทูปในเยอรมันจะสามารถเข้าถึงวีดีโอจากทั่วโลกได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีกับศิลปินให้สามารถเข้าถึงแฟนๆในเยอรมันได้มากขึ้นและยังได้เงินโฆษณาจากวีดีโอของพวกเขาอีกด้วย ยูทูปกล่าว

Quelle: spiegel.de, Youtube 

5 วิธีประหยัดค่าทำความร้อนในฤดูหนาวนี้

รู้หรือไม่ว่า เราสามารถประหยัดค่าทำความร้อนได้มากกว่า 15% หากหลีกเลี่ยงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปนี้ได้ โดยประหยัดเงินได้มากถึง 300 ยูโรต่อปี สำหรับบ้านที่อยู่สี่คนเลยทีเดียว

1. ไม่ควรวางหรือกองของบนเครื่องทำความร้อน หรือวางเฟอร์นิเจอร์บัง หรือแม้แต่ปิดม่านกั้นการไหวเวียนอากาศจากเครื่องทำความร้อน เนื่องจากไอร้อนจะไม่สามารถกระจายไปทั่วห้องได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องวางเฟอร์นิเจอร์บริเวณเครื่องทำความร้อน ควรวางให้มีระยะห่างอย่างน้อย 20 ซม.

2. หน้าต่างและประตูเป็นจุดที่สูญเสียความร้อนในบ้านมากถึง 20% แม้ปัจจุบันกระจกหน้าต่างจะพัฒนาให้กั้นความร้อนออกได้ดีขึ้น แต่เราก็ยังสามารถช่วยป้องกันความร้อนรั่วไหลได้อีก โดยปิดม่านเหล็กม้วนที่หน้าต่าง และประตูในช่วงกลางคืน ซึ่งหลายคนมักจะเปิดทั้งไว้ทั้งวันทั้งคืน หากสามารถปิดม่านทุกๆจุดในบ้านได้ ก็จะสามารถประหยัดค่าทำความร้อนได้สูงถึง 5-8%

3. เครื่องทำความร้อนจะปรับความร้อนในบ้านได้เร็ว หากความชื้นของอากาศในบ้านอยู่ในระดับที่พอเหมาะ คือประมาณ 40-60% ที่ควรระวังคือ ไม่ควรแง้มหน้าต่างไว้ตลอดเวลา เพราะจะทำให้อากาศไหลเวียนออกมากเกินไป แต่ควรจะเปิดหน้าต่างให้กว้าง 3-4 ครั้งต่อวัน และในช่วงหน้าหนาวแต่ละครั้งไม่ควรเปิดหน้าต่างทิ้งไว้นานเกิน 3-4 นาที เพื่อให้อากาศได้ไหลเวียนบ้าง แต่จะไม่ทำให้กำแพงบ้านเย็นเกินไป หากทำได้เช่นนี้ ก็จะช่วยประหยัดค่าทำความร้อนได้สูงถึง 7%

4. หลายคนหากไม่อยู่บ้าน ก็จะปิดเครื่องทำความร้อน และเมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะรีบเปิดเครื่องและปรับไประดับร้อนสุด เพื่อทำให้บ้านอุ่นเร็วที่สุด แต่การปรับระดับความร้อนแรงสุด ไม่ได้ทำให้บ้านอุ่นเร็วขึ้นกว่าเดิมเลย อันที่จริง ควรจะเปิดเครื่องทำความร้อนเลี้ยงตัวบ้านไว้ไม่ให้เย็นจัดจนเกินไป เครื่องจะได้ไม่ต้องใช้พลังงาน เพื่อเร่งทำความร้อนให้บ้านกลับมาอุ่นอีกครั้ง หากทำได้เช่นนี้ จะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 10-15%

5. สิ่งที่ควรทำอีกอย่างก่อนเข้าหน้าหนาวก็คือ การปล่อยลมในตัวเครื่องทำความร้อนออก เนื่องจากตลอดปีจะมีลมค้างอยู่ในท่อน้ำในตัวเครื่อง ซึ่งจะกันไม่ให้น้ำไหลไปตามท่อได้ทั่ว ส่งผลให้ตัวเครื่องร้อนไม่ทั่ว และต้องใช้พลังงานทำความร้อนมากขึ้น การปล่อยลมทำได้โดยใช้กุญแจสำหรับปล่อยลม ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ไขไล่ลมออก เพื่อให้น้ำไหลไปได้ทั่วตัวเครื่อง และทำความร้อนได้สม่ำเสมอทั่วเครื่อง

หากใส่ใจเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ ก็ช่วยโลกประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อนได้ อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเราได้อีกด้วย

Quelle&Foto: 1.Wdr.de

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะ ฝ่ายขาย จัดซื้อ โลจิสติกส์ และไอที

จากผลสำรวจของเว็บไซต์หางาน Stepstone พบว่า ตำแหน่งงานกลุ่มพนักงานขายให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ย 5.5% ฝ่ายจัดซื้อและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 3.3% และฝ่ายวิศวกรและไอทีเพิ่มขึ้นราว 3%

อัตราเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ทางภาคใต้เยอรมันและตามเมืองใหญ่ๆ เช่น พนักงานในรัฐบาเยิร์นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ตามมาด้วยเมืองเบรเม็น เพิ่ม 3.6 % รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน เพิ่ม 3.2 % เมืองฮัมบวร์ก เพิ่ม 3.2 % และรัฐเฮสเซ็น เพิ่ม 2.7 %

นอกจากนี้ ตัวเลขล่าสุดจากทางสำนักงานสถิติเยอรมันก็ช่วยยืนยันแนวโน้มดังกล่าว นั่นคือ อัตราค่าจ้างที่แท้จริงในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสแรกเพิ่ม 2.6% และไตรมาสสองเพิ่ม 2.3%

ต่างกับช่วงปี 1993-2013 ที่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดต่ำลงอยู่หลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ผู้มีรายได้มีความสามารถในการจับจ่ายลดน้อยลง แต่ปัจจุบันจะเป็นช่วงของการฟื้นตัวดีขึ้น หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งสถาบันวิจัยตลาดแรงงานและอาชีพกล่าว

นอกจากนี้ในปี 2017 ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าเงินเดือนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในทุกๆ อุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.6% และกลุ่มพนักงานที่เป็นหัวหน้าและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และแม้จะหักลบอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้แล้ว อัตราค่าจ้างที่แท้จริงก็ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 1.6% ซึ่งมีแค่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำได้ เทียบกับอัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยียม

ปริมาณตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 690,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว จากรายงานของสำนักจัดหางานเยอรมัน ณ เดือนก.ย. 2016

Quelle&Foto: Welt.de

มาสเตอร์การ์ดเริ่มใช้เซลฟี่/สแกนลายนิ้วมือในการจ่ายเงิน

มาสเตอร์การ์ดเริ่มให้ชำระเงินออนไลน์ ผ่านเซลฟี่หรือสแกนลายนิ้วมือแทนรหัสผ่าน ในยุโรปแล้ว

มาสเตอร์การ์ด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เริ่มให้ลูกค้าชำระเงินเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ ผ่านการถ่ายรูปเซลฟี่หรือการสแกนลายนิ้ว ใน 12 ประเทศทั่วยุโรปแล้ว

วันนี้ (4 ต.ค.) ทางบริษัทมาสเตอร์การ์ดได้แถลงว่า “การกรอกรหัสผ่านจะไม่จำเป็นอีกต่อไป ลูกค้าผู้ถือบัตรจะสามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้เร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้นด้วย”

ลูกค้าบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด จะใช้แอพพลิเคชั่นชื่อ Identity Check ในการยืนยันตัวบุคคลผ่านการสแกนลายนิ้วมือบนปุ่มสแกนลายนิ้วมือในมือถือสมาร์ทโฟน หรือจะเลือกถ่ายเซลฟี่เพื่อยืนยันบุคคลผ่านใบหน้าก็ได้ เป้าหมายของระบบดังกล่าวก็เพื่อจะทำให้ลูกค้าบัตรมาสเตอร์การ์ดมีประสบการณ์ในการชำระเงินออนไลน์อย่างราบรื่นที่สุด โดยไม่ลดความปลอดภัยในการจ่ายเงินออนไลน์ลง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัท มาสเตอร์การ์ดระบุ

12 ประเทศที่สามารถใช้การชำระเงินผ่านเซลฟี่และสแกนลายนิ้วมือได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก สาธารณรัฐเช็ก สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ ฮังการี นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน

เทคโนโลยีดังกล่าวได้ทดสอบใช้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดาแล้ว และเตรียมจะให้บริการทั่วโลกในช่วงปลายปีค.ศ. 2017

มาสเตอร์การ์ดเชื่อว่า ลูกค้าหลายรายให้ความสนใจในระบบการยืนยันตัวตนดังกล่าว ผลการทดสอบและสำรวจจากบริษัทชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคในยุโรปเริ่มค่อยๆ ชอบใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าหรือลายนิ้วมือ มากกว่าการใช้รหัสผ่านที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

Quelle: faz.net, Foto: money.cnn.com

กฎหมายใหม่ เริ่มใช้ 1 ต.ค. ที่เยอรมัน

กฎหมายใหม่ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. ที่เยอรมัน ที่จะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น: การซื้อตั๋วรถไฟและการยกเลิกสัญญา 🙂

1. ลูกค้าที่ซื้อตั๋วรถไฟผ่านเว็บไซต์ Deutsche Bahn จะไม่ต้องแสดงบัตรยืนยันบุคคล ให้วุ่นวายเหมือนที่ผ่านๆ มาแล้ว แค่แสดงบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางก็พอ

ที่ผ่านมารถไฟเยอรมัน (Deutsche Bahn) เจอคู่แข่งรถบัสที่ให้บริการขนส่งระยะไกลหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงพยายามปรับหลายๆ เรื่องให้ดียิ่งขึ้น ล่าสุดมีการพยายามทำให้การจองตั๋วรถไฟออนไลน์ง่ายขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะยกเลิกการตรวจตั๋วพร้อมเอกสารที่ลูกค้าต้องลงทะเบียนในระบบตอนซื้อตั๋ว เพื่อยืนยันตัวตนเมื่อขึ้นรถไฟ เช่น บัตรเครดิต บัตร Bahncard หรือบัตรเดบิต ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายคนโดนปรับ เนื่องจากลืมนำเอกสารแสดงตัวตนดังกล่าวติดตัวตอนขึ้นรถไฟไปด้วย ตั้งแต่นี้ต่อไปจะยุ่งยากน้อยลง นั่นคือ ลูกค้าที่ซื้อตั๋วรถไฟออนไลน์สามารถยืนยันตัวตน ได้จากชื่อและนามสกุลในบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตร Aufenthaltstitel เท่านั้นก็พอ แต่จะใช้บัตรนักเรียน ใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวทหารแทนไม่ได้

2. หากใครจะยกเลิกสัญญา หรือยกเลิกการเป็นสมาชิกใดๆ ก็สามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์ไปก็พอ ไม่ต้องส่งเป็นจดหมายทางไปรษณีย์อีกต่อไป

ใครที่ต้องการยกเลิกสัญญาต่างๆ เช่น สัญญามือถือ ที่มีการทำสัญญาหลังวันที่ 30 ก.ย. 2016 ก็สามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์ไปยกเลิกได้ โดยไม่ต้องส่งจดหมายพร้อมเซ็นชื่ออีกต่อไป จุดสำคัญอยู่ที่เงื่อนใขในสัญญา ซึ่งหากมีการทำสัญญาไว้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2016 และในเงื่อนไขการยกเลิก เขียนไว้ว่าต้องเขียนจดหมายยกเลิก ก็จะต้องทำตามเงื่อนไขดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการยกเลิกสัญญาที่มีการรับรองผ่านทนายโนทาร์ หรือสัญญาจ้างงาน ที่ยังต้องเขียนจดหมายพร้อมลงลายมือชื่อเช่นเดิม แต่หากลูกจ้างต้องการทวงค่าจ้างที่นายจ้างยังค้างชำระอยู่ ก็สามารถเขียนผ่านอีเมล์ได้ แต่ควรจะเขียนชื่อให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ควรสแกนลายเซ็นแนบไปด้วย

Quelle: welt.de, Foto: ddp, badische-zeitung.de

วิกฤติและการจัดการผู้อพยพในเยอรมัน “Wir schaffen das”

ผ่านมาแล้ว 1 ปีที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้กล่าววลีเด็ด “เราทำได้” (“Wir schaffen das.”) ต่อวิกฤติการหลั่งไหลของผู้อพยพเข้าสู่เยอรมัน ที่เป็นที่กล่าวขานถึงทั้งด้านดีและก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์มากมาย มาสรุปกันว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤติและการจัดการผู้อพยพมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

1. จำนวนผู้อพยพ

ในปี ค.ศ. 2015 มีผู้อพยพราว 1 ล้านรายเดินทางเข้ามาในเยอรมัน จากหลากหลายประเทศ เช่น ซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน แอฟริกาเหนือ และประเทศในคาบสมุทรบอลข่านนางแมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมันก็พยายามให้สัญญาว่าจะลดปริมาณผู้อพยพลงให้ชัดเจนขึ้น

และแล้ว ในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2016 มีจำนวนผู้อพยพที่ลงทะเบียนลดลงเหลือราว 220,000 ราย โดยมีจำนวนลดลงเดือนต่อเดือนจริง จากราว 92,000 รายในเดือนม.ค. ลดลงเหลือเพียง 16,000 ราย ในเดือนก.ค. ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ไม่ได้มาจากผลงานของนางแมร์เคลโดยตรง แต่มาจากการที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (เช่นประเทศตุรกี) พยายามกีดกันผู้อพยพที่เดินทางหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปทางเส้นคาบสมุทรบอลข่าน แม้จะมีความขัดแย้งในแง่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ หากสงครามในซีเรียยังดำเนินต่อไป แรงกดดันที่ทำให้พลเมืองต้องอพยพหนีก็ยังมีมากอยู่อย่างนั้น ผู้อพยพยังคงหาเส้นทางอื่นๆ ในการลี้ภัยต่อไป

2. การบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมัน

คอร์สเรียนภาษาเยอรมันและคอร์สเรียนเพื่อการบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมันยังคงขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเยอรมัน คาดว่าปีนี้น่าจะยังขาดที่เรียนในคอร์สต่างๆ กว่า 200,000 ที่

รัฐบาลแถลงว่า แม้จะพยายามเปิดคอร์สเพิ่ม แต่ก็ยังขาดแคลนผู้สอนในหลายๆ เมือง เนื่องจากค่าจ้างไม่สูงนัก ซึ่งรัฐก็พยายามแก้ไข โดยขึ้นค่าตอบแทนครูผู้สอนเมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ คาดว่าในปี ค.ศ. 2016 จะมีจำนวนผู้เข้าเรียนมากกว่า 500,000 ราย โดยจะให้สิทธิ์เข้าเรียนสำหรับผู้อพยพที่มีโอกาสได้อยู่เยอรมันต่อเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีกประเด็น ก็คือเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามา โดยในช่วงปี ค.ศ. 2014-2015 มีเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามาจำนวนกว่า 325,000 ราย เข้าเรียนในระบบการศึกษาเยอรมัน ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 2 ของสัดส่วนนักเรียนทั้งหมดในเยอรมัน สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ยังมีความต้องการครูและนักการศึกษาที่รู้วิธีการจัดการกับเด็กที่ซึมเศร้าเพิ่มด้วย

จากการสำรวจของ Spielgel-Online ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา พบว่ารัฐต่างๆในเยอรมันเปิดรับครูใหม่เพิ่มแล้วกว่า 12,000 ราย ซึ่งยังไม่พอต่อความต้องการครูที่คาดว่ามีมากกว่า 20,000 ราย

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการเยอรมันยังคาดว่า เด็กเล็กนับเฉพาะที่อพยพเข้ามาในช่วงปีค.ศ. 2015 ยังขาดที่เรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก (Kita) อีกกว่า 58,000 ที่ และยังต้องการบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อดูแลเด็กให้ทั่วถึงอีกกว่า 9,400 ราย

3. ผู้อพยพในตลาดแรงงาน

โครงการช่วยเหลือผู้อพยพเพื่อการบูรณาการเข้ากับสังคมเยอรมัน “Wir zusammen” มีกิจการกว่า 100 แห่งเข้าร่วม เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้อพยพ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สรุปตัวเลขคร่าวๆ ได้ดังนี้: ที่ฝึกงาน (Praktikum) เพิ่มขึ้น 1800 ที่ ที่เรียนงาน (Ausbildung) มากกว่า 500 ที่ และจ้างงานประจำเพิ่มกว่า 400 ที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันมองว่ายังมีตัวเลขน้อยไป

ที่ผ่านมา ผู้อพยพแทบจะยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเลย ตามรายงานของสำนักจัดหางานของรัฐ ในเดือนก.ค. มีผู้อพยพกว่า 322,000 รายที่ได้รับอนุมัติคำร้องขอลี้ภัยแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลในการจัดหางาน ทั้งนี้ผู้อพยพจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ หากยังไม่ได้รับการอนุมัติคำร้องขอลี้ภัย โดยจากจำนวน 322,000 รายดังกล่าว มี 141,000 รายที่ยังตกงาน

ผู้อพยพจำนวนมากยังสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือมีวุฒิการศึกษายังไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้อพยพส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย ความหวังจึงอยู่ที่ การรับผู้อพยพเข้าเรียนงาน (Ausbildung) เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานต่อไป

4. กระบวนการพิจารณาการขอลี้ภัย

ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ (BAMF) ถูกมองว่าเป็นหน่วยงานรัฐที่ยังทำงานได้ไม่ดีท่ามกลางวิกฤติผู้อพยพที่เกิดขึ้น ผู้อพยพหลายร้อยรายยื่นฟ้องศาลว่าสำนักงานดังกล่าวทำงานช้าเกินไป พวกเขาต้องการให้เร่งพิจารณาการขอลี้ภัยให้เร็วขึ้น ซึ่งนายไวเซอ ผู้อำนวยการ BAMF ก็ออกมาชี้แจงว่า ได้ปรับการทำงานให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยรับเจ้าหน้าที่เพิ่มกว่า 2300 คน ในช่วงต้นปีค.ศ. 2015 ทำให้ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รวม 8000 คน และได้เปิดสำนักงานใหม่เพิ่มอีกหลายแห่ง

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สำนักงานฯ ต้องพิจารณาการขอลี้ภัยมากกว่า 330,000 คำร้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

จำนวนคำร้องกองโตที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นเกินห้าแสนฉบับ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้แต่แรกว่าจะสะสางให้เสร็จภายในสิ้นปี สาเหตุมาจากจำนวนกรณีการพิจารณาขอลี้ภัยเก่าๆ ที่มีความซับซ้อนเหลืออยู่จำนวนมาก และยังทำให้เวลาเฉลี่ยของกระบวนการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มนานขึ้นด้วย กล่าวคือใช้เวลามากกว่า 6 เดือน แต่สำหรับคำร้องใหม่ๆ น่าจะพิจารณาตัดสินการขอลี้ภัยได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยตามแผนที่วางไว้ ผู้อพยพทุกคนน่าจะสามารถยื่นคำร้องได้เสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ นายไวเซอกล่าว

5. การก่ออาชญากรรม

เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศช่วงสิ้นปีที่แล้วที่เมืองเคิล์นทำให้ผู้คนต่างหวาดกลัวว่า การที่เยอรมันอ้าแขนรับผู้อพยพถือเป็นการนำปัญหาด้านอาชญากรรมเข้ามาให้ประเทศหรือไม่

สถิติของทางตำรวจในเรื่องการก่อการกระทำความผิดชี้ให้เห็นว่า จำนวนการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในปีค.ศ. 2015 ประมาณร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักๆ ของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นก็คือการกระทำความผิดในการขอลี้ภัย และการพำนักในเยอรมันของชาวต่างชาติ (เช่นการหลบหนีเข้าเมือง หรือการพำนักในประเทศอย่างผิดกฎหมาย) ซึ่งหากไม่นับจำนวนความผิดทั้ง 2 เรื่องนี้รวมในสถิติด้วย ตัวเลขอาชญากรรมก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่าแสนรายในประเทศก็ตาม

จากรายงานของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ กลุ่มผู้อพยพบางกลุ่มจะถูกจับตามเป็นพิเศษ เช่นผู้อพยพจากอัลจีเรีย โมรอคโค และทูนีเซียมักจะถูกคิดว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดมากกว่าผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ

อันที่จริงวิกฤติผู้อพยพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขสถิติการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ผู้อพยพเองไม่ใช่เป็นผู้ก่อความผิด แต่กลับเป็นเหยื่อของอาชญากรรม โดยในปีนี้มีการก่อเหตุทำลายที่พักผู้อพยพไปแล้วกว่า 665 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2015 มีกว่า 1031 ครั้ง เพิ่มขึ้น 5 เท่าของปีก่อนหน้า

การก่อการร้ายที่เมืองวือร์ซบวร์ก และเมืองอันส์บัคทำให้เกิดการโยงประเด็นของผู้อพยพกับการก่อการร้ายเข้าด้วยกัน ผู้ก่อเหตุทั้งสองเป็นผู้อพยพเข้ามาในเยอรมัน ซึ่งเดินทางเข้ามาก่อนหน้าการอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว แต่หน่วยงานดูแลความมั่นคงกลับไม่ได้สังเกตเห็นสองผู้ก่อเหตุนี้ก่อนหน้านี้

หน่วยงานดูแลความมั่นคงคอยตรวจสอบเบาะแสที่นำไปสู่ปฏิบัติการลับของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพ ล่าสุดได้รับการแจ้งเบาะแสมากกว่า 400 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาตำรวจยังไม่พบแผนการก่อการร้ายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ากลุ่มหัวรุนแรงจะพยายามเผยแพร่แนวคิดและชักชวนคนรุ่นใหม่ในที่พักผู้อพยพเข้าร่วมกลุ่ม

6. การส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด

การเร่งส่งตัวผู้ถูกปฏิเสธขอลี้ภัยกลับประเทศ เป็นหนึ่งในแผนที่เยอรมันวางไว้ ตัวเลขการส่งตัวกลับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ระบบการจัดการยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

จากรายงานของศูนย์ลงทะเบียนชาวต่างชาติ ในเยอรมันมีผู้อพยพกว่า 220,000 คนที่จะต้องถูกส่งตัวออกจากประเทศ แต่กว่า 172,000 คนได้รับการผ่อนผัน เนื่องจากเหตุผลเช่น มีสงครามในประเทศบ้านเกิด

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ส่งตัวกลับประเทศทำได้ลำบากคือ

- ผู้ถูกปฏิเสธการขอลี้ภัยไม่มีเอกสารอะไรติดตัว ดังนั้นประเทศบ้านเกิดจึงไม่ต้องการรับพวกเขากลับเข้าประเทศ ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการหลบเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับ รัฐบาลเยอรมันก็พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือรับพลเมืองของตนกลับสู่ประเทศให้มากขึ้น

- รัฐจะไม่สามารถส่งตัวใครกลับไปประเทศเดิมได้ หากผู้นั้นมีใบรับรองแพทย์ว่าป่วยเดินทางไม่ได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ต่อไปควรจะมีเพียงแพทย์จากทางรัฐเท่านั้นหรือไม่ ที่สามารถออกใบรับรองอาการเจ็บป่วยให้กับคนกลุ่มนี้ได้

- ผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับหลบซ่อนตัว ในวันที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศเดิม เยอรมันจึงพยายามแก้ปัญหา โดยการไม่แจ้งเรื่องการส่งตัวกลับประเทศให้เจ้าตัวทราบล่วงหน้า

Quelle: Spiegel.de

2016-09-30

เยอรมันเรียกคืนนมกล่องยูเอชที เสี่ยงอันตราย

ตรวจด่วน! เรียกคืนนมกล่องยูเอชที เนื่องจากมีเชื้อโรคปนเปื้อน เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

นมจากผู้ผลิต Hochwald ที่ตรวจพบเชื้อโรค ได้แก่ นมกล่องที่มีข้อมูลดังนี้ (ดูที่ด้านบนกล่อง ตามรูป)

- นมยี่ห้อ Penny, Gutes Land, K-Classic, Korrekt, Gut und Günstig, Milbona
- มีวันหมดอายุ ระหว่างวันที่ 27-31 ธันวาคม ค.ศ. 2016
- มีตราประทับเลขทะเบียนเดียวกันคือ DE-RP 221-EG

สามารถนำนมที่มีเชื้อปนเปื้อนดังกล่าว ไปขอเงินคืนที่ร้านได้ โดยไม่ต้องมีใบเสร็จ

หากดื่มนมที่มีเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไป อาจมีอาการ อาเจียน ปวดเกร็งในช่องท้อง ท้องเสียได้ ควรไปพบแพทย์

Quelle&Foto: https://www.test.de/Rueckruf-H-Milch-von-Hochwald-Nicht-fuer-den-Verzehr-geeignet-5076117-5076119/?mc=socialmedia.fb.2016-26-09-1700

2016-09-30