นายจ้างเยอรมันมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร

1. ระดับปริญญาสำคัญแค่ไหน

ตามทฤษฎีแล้ว นักเรียนที่จบปริญญาตรีจะมีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วกว่า [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมันนิยมปริญญาแบบ Diplom ซึ่งจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปริญญาตรี และนายจ้างก็ยังไม่คุ้นชินกับปริญญาตรี] แต่ในปัจจุบัน นายจ้างกว่าครึ่งหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคยกับปริญญาตรีมากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรปริญญาตรีเริ่มนำเข้ามาใช้ในเยอรมันเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากการศึกษาแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา Kienbaum และ สถาบัน Staufenbiel พบว่าร้อยละ 49 ของบริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจบปริญญาโทเพิ่มเติมจากปริญญาตรีนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะงานในสาขาเภสัชศาสตร์และเคมีนั้นสำคัญมาก โดยร้อยละ 88 ของฝ่าย HR เห็นว่าการจบปริญญาโทเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานในสาขานี้

แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเหนือกว่าปริญญากลับเป็นเรื่องผลการเรียน โดยร้อยละ 58 เห็นว่าผลการเรียนดีนั้นสำคัญมากกว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา หรือผู้สมัครได้เรียนครบตามจำนวนภาคเรียนบังคับหรือไม่

ในเรื่องเงินเดือน บริษัทส่วนใหญ่จะให้เงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาราว 40,000-50,000 ยูโรต่อปี แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานจะได้เงินเดือนน้อยกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท ร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจให้เงินเดือนบัณฑิตปริญญาโทมากกว่าถึงร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 10

2. บริษัทอยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบไหน

คุณสมบัติเสริมอื่นๆ ที่นายจ้างมองหาเป็นพิเศษก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 77) [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า แบบสำรวจนี้อิงจากผู้สมัครงานจบใหม่ในเยอรมัน ดังนั้นภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ทุกคนน่าจะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไทย แน่นอนว่าเราต้องมีทักษะภาษาเยอรมันที่ดี และจะดีกว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษด้วย] ซึ่งการมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ มากกว่าการที่ผู้สมัครเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ (ร้อยละ 38) หรือทักษะภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ (ร้อยละ 24) เสียอีก

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นอีกก็คือประสบการณ์การทำงานจริงของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยฝ่าย HR ชอบผู้สมัครที่เคยฝึกงานมา (ร้อยละ 73) และมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (ร้อยละ 55)

3. ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในสายตาของฝ่ายบุคคล ในเยอรมัน

บริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 เห็นว่าสิ่งต่อไปนี้สำคัญ 

  • เคยฝึกงานมาก่อน: ร้อยละ 81 ตอบว่า ประสบการณ์การทำงานจริงมีน้ำหนักมากกว่าการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาเรียนที่กำหนด
  • เอกสารการสมัครมีโครงสร้างชัดเจน: สำหรับฝ่ายบุคคล การจัดเรียงที่อ่านง่ายสำคัญกว่าดีไซน์
  • มีทักษะทางสังคมดังต่อไปนี้:
    • มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง/ ความพร้อมในการทำงาน ร้อยละ 100
    • มีความพร้อมในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 98
    • ทักษะการสื่อสาร ร้อยละ 95
    • การทำงานเป็นทีม ร้อยละ 94
    • การมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ร้อยละ 93
  • มีเพียงร้อยละ 3 ที่เช็คข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้สมัคร
  • ร้อยละ 75 ของฝ่ายบุคคลจะดูเรซูเม่ผู้สมัครก่อน และร้อยละ 99 เห็นว่าเรซูเม่สำคัญ
  • การเขียน สะกดคำให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กว่าร้อยละ 60 ของฝ่ายบุคคลจะคัดผู้สมัครออกหากมีจุดที่เขียนผิด

Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนตั้งใจเรียนในทุกๆระดับชั้น และพัฒนาภาษาเยอรมันและทักษะการทำงานต่างๆ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของตนไม่ว่าที่ไทยหรือเยอรมัน 🙂

Quelle: wiwo.de

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะ ฝ่ายขาย จัดซื้อ โลจิสติกส์ และไอที

จากผลสำรวจของเว็บไซต์หางาน Stepstone พบว่า ตำแหน่งงานกลุ่มพนักงานขายให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ย 5.5% ฝ่ายจัดซื้อและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 3.3% และฝ่ายวิศวกรและไอทีเพิ่มขึ้นราว 3%

อัตราเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ทางภาคใต้เยอรมันและตามเมืองใหญ่ๆ เช่น พนักงานในรัฐบาเยิร์นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ตามมาด้วยเมืองเบรเม็น เพิ่ม 3.6 % รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน เพิ่ม 3.2 % เมืองฮัมบวร์ก เพิ่ม 3.2 % และรัฐเฮสเซ็น เพิ่ม 2.7 %

นอกจากนี้ ตัวเลขล่าสุดจากทางสำนักงานสถิติเยอรมันก็ช่วยยืนยันแนวโน้มดังกล่าว นั่นคือ อัตราค่าจ้างที่แท้จริงในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสแรกเพิ่ม 2.6% และไตรมาสสองเพิ่ม 2.3%

ต่างกับช่วงปี 1993-2013 ที่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดต่ำลงอยู่หลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ผู้มีรายได้มีความสามารถในการจับจ่ายลดน้อยลง แต่ปัจจุบันจะเป็นช่วงของการฟื้นตัวดีขึ้น หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งสถาบันวิจัยตลาดแรงงานและอาชีพกล่าว

นอกจากนี้ในปี 2017 ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าเงินเดือนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในทุกๆ อุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.6% และกลุ่มพนักงานที่เป็นหัวหน้าและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และแม้จะหักลบอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้แล้ว อัตราค่าจ้างที่แท้จริงก็ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 1.6% ซึ่งมีแค่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำได้ เทียบกับอัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยียม

ปริมาณตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 690,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว จากรายงานของสำนักจัดหางานเยอรมัน ณ เดือนก.ย. 2016

Quelle&Foto: Welt.de