การขอสัญชาติเยอรมัน | Einbürgerung in Deutschland


สารบัญ 

เอกสารที่ต้องใช้

การถือสองสัญชาติ

คุณสมบัติ และเงื่อนไข

การสอบขอสัญชาติ

ตัวอย่างข้อสอบ Einbürgerungstest

ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com

เอกสารที่ต้องใช้

เจ้าหน้าที่จะสอบถามเรา และดูประวัติของเราก่อน จากนั้นจะให้รายการเอกสารที่ต้องเตรียม แต่ละคนอาจจะต้องเตรียมเอกสารมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติและสถานภาพครอบครัวของแต่ละคน

เอกสารเกี่ยวกับตัวเราที่มักจะต้องเตรียม ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง และวีซ่าถาวร (Aufenthaltstitel)
  • สูติบัตรของเรา (ของคู่สมรส และของลูก) ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้าชื่อในสูติบัตร หรือเอกสารอื่นๆ ไม่ตรงกับชื่อหรือนามสกุลในพาสปอร์ต)
  • เอกสารแต่งงานต่างๆ (หรือ/และ เอกสารหย่าต่างๆ)ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบสำเร็จการศึกษา และหลักฐานทางการศึกษา หรือการฝึกงานอื่นๆติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • รูปถ่ายปัจจุบัน
  • หลักฐานการเงิน หรือใบรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง
  • หลักฐานแสดงระดับความรู้ภาษาเยอรมันระดับ B1 (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)
  • ผลสอบ Einbürgerungstest (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)

ถ้าเอกสารเป็นภาษาไทย ต้องนำมาแปลและรับรองคำแปลกับนักแปลที่ศาลเยอรมันรับรอง สามารถติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com ได้ที่ info@mausmoin.com หรือ Line ID: mausmoin

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ใบคำร้องขอสัญชาติเยอรมัน และข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายการขอสัญชาติที่เมืองที่เราอาศัย (Einbürgerungsbehörde) ที่ Ausländerbehörde หรือสอบถามที่ Rathaus ของเมืองที่เราอยู่

ค่าทำเรื่องขอสัญชาติเยอรมัน: 255 ยูโร ต่อคน และเด็กที่ยื่นเรื่องพร้อมพ่อแม่จะอยู่ที่ 51 ยูโร

การถือสองสัญชาติ (Hinnahme von Mehrstaatigkeit)

กฎหมายสัญชาติเยอรมัน ปกติแล้วไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติได้ เช่น การสละสัญชาติไทย อาจจะใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือการสละสัญชาติไทยมีผลเสียมากมายต่อการครอบครองที่ดิน หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ที่เมืองไทย ดังนั้นการขอสัญชาติเยอรมัน จึงมีการอนุโลมให้คนไทยสามารถถือสองสัญชาติคู่กันได้ (ณ ปี 2016) ทั้งนี้ Mausmoin.com แนะนำว่าควรสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ว่าต้องแจ้งหรือเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

อ้างอิงข้อมูลการถือสองสัญชาติจาก สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ และกฎหมายเยอรมัน Staatsangehörigkeitsgesetz (StAG) § 12

ข้อมูลจากกงสุลไทยในเยอรมัน กรณีการถือสองสัญชาติ:

1. "ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ทางการเยอรมันได้ยกเว้นให้บุคคลสัญชาติไทยที่ไปขอสัญชาติเยอรมัน สามารถถือสองสัญชาติได้ โดยไม่ต้องสละสัญชาติไทยอีกต่อไป"

2. "ตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทยไม่ได้ “ห้าม” แต่ก็ไม่ได้ “ให้” บุคคลสัญชาติไทยไปถือสัญชาติอื่น"

กรณีต้องการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย อ่านรายละเอียด เอกสารและเงื่อนไขคุณสมบัติได้ที่: ข้อมูลของกรมการกงสุลไทย (PDF)

คุณสมบัติ และเงื่อนไขการขอสัญชาติเยอรมัน

Mausmoin.com สรุปเงื่อนไขเบื้องต้นของการขอสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยมาให้ด้านล่าง ทั้งนี้ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ Ausländerbehörde ที่เมือง เพื่อขอรายละเอียดสำหรับแต่ละคน แต่ละกรณีเพิ่มเติม

  • มีวีซ่าถาวร (unbefristetes Aufenthaltsrecht) หรือมีวีซ่าประเภท Blaue Karte ในวันที่จะขอสัญชาติ
  • สอบ Einbürgerungstest ผ่าน
  • อยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 8 ปี (หรือระยะเวลาอาจจะสั้นลงเหลือ 6-7 ปี ถ้าเรียนจบคอร์ส Integrationskurs)
  • สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐ เช่น เงินตกงาน Hartz IV
  • มีความรู้ภาษาเยอรมันเพียงพอ
  • ไม่ต้องโทษ หรือมีความผิดทางกฎหมาย
  • ยอมรับหลักกฎหมายพื้นฐานแบบประชาธิปไตยเสรีของประเทศเยอรมัน
  • สามารถสละสัญชาติเดิมได้ แต่ข้อนี้ไทยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องสละสัญชาติไทย

เคสพิเศษอื่นๆ

1. ถ้าแต่งงานกับคนเยอรมันถูกต้องตามกฎหมาย มาอย่างน้อย 2 ปี และอยู่ด้วยกัน ตัวคุณอยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 3 ปี และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการขอสัญชาติ (ดูหัวข้อ คุณสมบัติและเงื่อนไข) ก็สามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติเยอรมันได้ (Einbürgerung des Ehegatten eines Deutschen) 
2. โดยปกติคู่สมรสหรือลูกที่เป็นผู้เยาว์ สามารถยื่นขอสัญชาติร่วมได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่เยอรมันครบ 8 ปี (Staatsangehörigkeitsgesetz§ 10 (2))
3. โดยปกติ จะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน (Staatsangehörigkeitsgesetz § 10 (5))
4. ลูกชายที่มีสองสัญชาติ ไทย-เยอรมัน หรือชายไทยที่มีสองสัญชาติ ตามกฏหมายไทย จะต้องไปเกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 21 ปี แต่หากเรียนอยู่ที่เยอรมันก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันได้ โดยทำเรื่องยื่นขอสัสดีท้องที่ที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมอบอำนาจไป พร้อมเตรียมเอกสารไปตามที่กำหนด หากเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน ให้ Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปลเป็นไทย และจึงนำไปยื่น รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านข้อมูลจากกงสุลที่นี่
5. เด็กที่มีพ่อแม่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เกิดในเยอรมัน จะได้สองสัญชาติตั้งแต่เกิด ในกรณีที่ในเวลาที่เด็กเกิด พ่อหรือแม่อยู่เยอรมันมาติดต่อกัน 8 ปี และมีวีซ่าถาวรในเยอรมัน และเด็กจะได้สัญชาติไทยตามสัญชาติของพ่อแม่ที่เป็นคนไทยด้วย
หมายเหตุ แต่ละเมืองอาจจะมีเกณฑ์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประวัติการเรียน การทำงาน สถานะการแต่งงาน และการอยู่อาศัยของแต่ละคนด้วย หากมีคำถามเคสพิเศษอื่นๆ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ Einbürgerungsbehörde น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุดค่ะ

การสอบขอสัญชาติ (Einbürgerungstest)

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการสอบขอสัญชาติเป็นภาษาไทยมาให้ดังนี้ เราสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่อาศัยในเยอรมัน รวมไปถึงกฎเกณฑ์ และกฎระเบียบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเมื่อเราจะขอสัญชาติเยอรมัน

ปกติแล้วเราจะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest เมื่อทำเรื่องขอสัญชาติ แต่เราก็อาจไม่ต้องสอบถ้าเราเรียนจบจากเยอรมัน (เรียนหลักสูตรภาษาเยอรมัน)

ค่าสอบ: 25 ยูโร สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองของเรา เกี่ยวกับตารางเวลาสอบ และสถานที่สอบ

ลักษณะการสอบ Einbürgerungstest: มี 33 ข้อ ให้เวลา 60 นาที เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบ (a,b,c,d) ต้องตอบถูก 17 ข้อขึ้นไป จึงจะสอบผ่าน ถ้าเราสอบผ่าน ก็จะได้ใบรับรองผลสอบจาก Bundesamt für Migration und Flüchtlinge เพื่อไปยื่นพร้อมเอกสารอื่นๆ ที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองต่อไป แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็สอบแก้ตัวใหม่ได้

ตัวอย่างข้อสอบขอสัญชาติ

Mausmoin.com รวบรวมแหล่งฝึกทำข้อสอบมาให้ ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบ และทำเรื่องขอสัญชาติได้อย่างราบรื่นค่ะ

รวบรวมข้อมูลจาก bamf.de (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ปี 2016)

Angaben ohne Gewähr

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจาก Mausmoin.com ประกอบการขอสัญชาติ หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

การขอรับบุตรบุญธรรม | Adoption

สารบัญ

ขั้นตอนการรับบุตรบุญธรรม

คุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

การเตรียมเอกสาร

การยื่นคำร้อง

ขั้นตอนการดำเนินเรื่อง

การขอเปลี่ยนนามสกุลบุตร

สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม และบิดามารดาบุญธรรม

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

ติดต่อแปลเอกสาร 

 

การรับเด็กไทยหรือบุคคลสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรม

ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีต้องการจะรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ว่าจะเป็น

  • เด็กจากบ้านเด็กกำพร้า
  • หรือเด็กที่เป็นลูกติดของคู่สมรสตนเอง
  • หรือเด็กที่เป็นหลานของคู่สมรสตนเอง

ควรยื่นคำขอต่อ

  • สำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐที่ตนอาศัยอยู่
  • หรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือองค์การสวัสดิภาพเด็ก ที่รัฐบาลของประเทศเยอรมนีแต่งตั้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ
  • ควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย

ติดต่อส่วนราชการไทยและเยอรมันได้ที่:

ประเทศไทย

ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)

  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • ที่อยู่: 255 ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ 10400
  • โทร: +66(0)2 354 7509, +66(0)2 354 7515, +66(0)2 644 7996
  • แฟกซ์: +66(0)2 354 7511
  • อีเมล์: adoption@dcy.go.th 
  • เว็บไซต์: www.adoption.dsdw.go.th

ประเทศเยอรมนี

"ศูนย์อำนวยการขอรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรมกลางเยอรมนี" (Bundeszentralstelle für Auslandsadoption - Generalbundesanwalt)

  • ที่อยู่: Adenauer Allee 99 - 103, 53113 Bonn
  • โทร: +49 (0)228 99 410 - 5414, 5415
  • แฟกซ์: +49 (0)228 99 410 - 5402
  • อีเมล์: auslandsadoption@bfj.bund.de
  • เว็บไซต์: www.bundesjustizamt.de (Bundesamt für Justiz) ไปที่หัวข้อ "Zivilrecht" เพื่ออ่านข้อมูลการรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรม

 

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

 
คุณสมบัติผู้ขอรับบุตรบุญธรรม

1. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี

2. ผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย 15 ปี

กรณีผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติ

- หากผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติ จะต้องมีคู่สมรส ยกเว้นผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย

- ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ ที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ตามกฎหมายของประเทศ ที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่

- การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทยแล้วเท่านั้น

กรณีบุตรบุญธรรมอายุเกิน 15 ปี

3. ในการรับบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี เป็นบุตรบุญธรรม ต้องให้บุคคลนั้นให้ความยินยอมด้วย

กรณีบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ

4. ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอม จากบิดาและมารดาของผู้เยาว์นั้นก่อน 

กรณีบุตรบุญธรรมกำพร้า

5. ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน 

กรณีบุตรบุญธรรมอายุ 20 ปีขึ้นไป

6. กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม สามารถขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ที่อำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาได้เลย

การจำกัดอายุ ของบุตรบุญธรรม

7. ไม่มีการจำกัดอายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม 

กรณีผู้ขอรับบุตร หรือบุตรบุญธรรมสมรสแล้ว

8. ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสแล้ว ต้องให้คู่สมรสให้ความยินยอมด้วย 

กรณีบุตรบุญธรรม เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นอยู่

9. ถ้าผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้

10. เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรม ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

 

การเตรียมเอกสาร เพื่อดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

 

1. เอกสารที่ฝ่ายผู้ขอรับเด็ก ต้องเตรียมที่ประเทศเยอรมนี

สำหรับในประเทศเยอรมนี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน แนะนำให้ผู้ที่จะขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม

- ติดต่อผ่านสำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐ ที่ผู้ขอมีอาศัยอยู่ (Landesjugendamt) เพื่อประโยชน์ ในการขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศเยอรมนี ให้กับเด็กที่จะรับมาเป็นบุตรบุญธรรม

- ควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย

ผู้ขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ต้องยื่น แบบคำขอเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมกับคู่สมรส

โดยต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้

  • แบบคำขอรับบุตรบุญธรรม
  • สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (Meldebescheinigung)
  • เอกสารรับรองการสมรส (ทะเบียนการสมรส)
  • คำพิพากษาหย่า หรือทะเบียนหย่า (กรณีเคยสมรสมาก่อน)
  • ใบรับรองแพทย์ ซึ่งแสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์
  • เอกสารรับรองการทำงานและรายได้
  • เอกสารรับรองการเงินย้อนหลังไปไม่เกิน 6 เดือน
  • เอกสารรับรองทรัพย์สิน
  • รูปถ่ายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคู่สมรส รูปสีขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวนคนละ 4 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรส หรือคำสั่งอนุญาตของศาล แทนการให้ความยินยอมของคู่สมรส
  • เอกสารรับรองความประพฤติและความเหมาะสมทั่วไป ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จากผู้ที่เชื่อถือได้อย่างน้อย 2 คน
  • รายงานการศึกษาสภาพครอบครัว ของผู้รับเด็ก
  • เอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศเยอรมนี รับรองการอนุญาต ให้เด็กเข้าประเทศเยอรมนีได้
  • เอกสารจากหน่วยงานเยอรมันที่เกี่ยวข้อง ที่รับรองว่าผู้ขอรับเด็ก มีคุณสมบัติและความเหมาะสม ที่สามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ตามกฎหมายเยอรมัน
  • หนังสือรับรองว่า จะทำการควบคุม การทดลองเลี้ยงดูเด็ก และส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดู มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ไม่เกิน 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • หนังสือรับรองดำเนินการตามกฎหมายไทย (เอกสารที่ผู้ขอรับบุตรบุญธรรมชาวต่างชาติ ต้องกรอกให้คำสัญญาว่า จะจดทะเบียนบุตรบุญธรรมให้ถูกต้อง ทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายเยอรมัน)

กรณีการติดต่อผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชน

  • จะต้องมีสำเนาใบอนุญาตขององค์การ และหนังสือจากหน่วยงานรัฐบาลซึ่งรับรององค์การนั้นๆ ด้วย

กรณีเอกสารข้างต้นเป็นภาษาเยอรมัน

  • เอกสารทุกฉบับข้างต้น หากเป็นภาษาเยอรมันต้องแปลเป็นภาษาไทยก่อน โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน (หากเป็นภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทย)
  • ต้องนำไปรับรอง ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ก่อนนำส่งไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

 

2. เอกสารของฝ่ายที่จะยกเด็กให้ (บิดามารดาเด็ก หรือผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย)

  • บัตรประจำตัวประชาชน ของบิดาและมารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย
  •  ทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส
  • ทะเบียนหย่า หรือคำสั่งศาลให้หย่า
  • หนังสือรับรองจากสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ตามแบบ ปค. 14 รับรองว่าบิดา มารดาเด็ก มิได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร และได้เลิกร้างกันเป็นเวลานานกี่ปี
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของบิดามารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย ให้ความยินยอม (แบบ บธ.5)
  • บันทึกสอบปากคำตามแบบ ปค. 14
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ของบิดาและมารดาเด็ก คนละ 1 รูป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือจำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

 

3. เอกสารของฝ่ายเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

  • สูติบัตร
  • ทะเบียนบ้าน
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. 1 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม (แบบ บธ.6) หากเด็กมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือจำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

 

4. กรณีบุตรติดคู่สมรสหรือญาติ เอกสารที่ใช้ประกอบ มีดังนี้

  • สำเนาสูติบัตร ทะเบียนบ้าน และรูปถ่ายของเด็กจำนวน 4 รูป
  • สำเนาบัตรประจาตัวประชาชน และหนังสือแสดงความยินยอมของเด็ก ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่เด็กมีอายุเกิน 15 ปี ขึ้นไป หรือในกรณีที่เด็กโตพอ จะแสดงความยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมด้วยตนเองได้
  • สำเนาทะเบียนสมรส บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ ทะเบียนบ้านของบิดามารดาของเด็ก และรูปถ่ายของบิดามารดา คนละ 4 รูป , ทะเบียนบ้าน ของผู้ขอรับเด็ก ที่เป็นญาติสายโลหิตกับบิดา/มารดา
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของผู้มีอานาจให้ความยินยอม (แบบ บธ.6) และหนังสือแสดงความเห็นชอบของบิดาโดยพฤตินัย (ลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารจากผู้ขอรับเด็กครบแล้ว)
  • สำเนาหนังสือสำคัญการหย่า และข้อตกลงการหย่า ระบุผู้ใช้อานาจปกครองเด็กหรือคำสั่งศาลให้ความยินยอมแทบบิดามารดาเด็ก แล้วแต่กรณี
  • สำเนาใบมรณะบัตร ของบิดาหรือมารดาเด็ก กรณีทั้งบิดามารดาเด็กเสียชีวิต ผู้ขอรับเด็กต้องร้องต่อศาลให้มีคำสั่ง แสดงความยินยอม แทนบิดามารดาเด็ก ในการรับบุตรบุญธรรม
  • ในกรณีที่บิดามารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่สามารถติดตามบิดามาให้ความยินยอมได้ให้มารดาเด็กไปสอบข้อเท็จจริง (แบบ ปค.14) สำนักทะเบียนเขต หรืออำเภอที่มารดาเด็กมีภูมิลำเนา
  • รายงาน การศึกษาประวัติเด็ก ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
  • ใบเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวเด็ก , บิดาเด็ก , มารดาเด็ก , ผู้ขอรับเด็ก
  • เอกสารต้นฉบับ จะต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ (มีทะเบียนบ้าน)

 

การยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบ

 

หลังจากที่เตรียมเอกสารข้างต้น ครบเรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้ดังนี้

1. ขอให้สถานคุ้มครองเด็กและเยาวชนของรัฐ (Landesjugendamt) เป็นผู้ติดต่อกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

เพื่อขอให้ดำเนินการพิจารณาอนุมัติ ตามที่อยู่ดังนี้

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

  • ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)
  • ที่อยู่: 255 ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร 10400
  • โทร: (+66) 2 354-7500, (+66) 2 354-7511
  • แฟกซ์: (+66) 2 247 9480
  • อีเมล์: adoption@dcy.go.th 

2. หรือยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบ ด้วยตัวเอง ที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ข้างต้น

3. หรือสามารถยื่นคำร้องผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชน ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ เพื่อรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้ ดังรายชื่อต่อไปนี้

ที่กรุงเทพ

สหทัยมูลนิธิ

  • 850/33 สุขุมวิท 71 พระโขนง กรุงเทพมหานคร 10110
  • โทร. (+66) 2 252-5209, (+66) 2 252-5213

มูลนิธิมิตรมวลเด็ก

  • 25 ซอยร่วมฤดี 1 ถนนเพลิตจิต ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย

  • ตึกวชิราลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10500

ที่ชลบุรี

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา

  • ที่อยู่: 440 หมู่ที่ 9 ถนนสุขุมวิท กม. 145 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20260
  • โทร: (+66) 3871-6628 แฟกซ์: (+66) 3871-6629
  • อีเมล์: fr-ray@redemptorists.or.th

องค์การสวัสดิภาพเด็กดังกล่าวข้างต้น อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

ขั้นตอนการดำเนินเรื่องในประเทศไทย

 

1. เมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ สมบูรณ์แล้ว

กรณีขอรับบุตรบุญธรรมของผู้อื่น

  • พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า ผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่
  • หากพบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีอุปนิสัยดี ความประพฤติดี อาชีพรายได้ดี ฐานะของครอบครัวดี ตลอดจนสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูได้ ก็จะประมวลรายละเอียด เสนออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาก่อน
  • จากนั้นจึงนำเสนอต่อ คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็ก
  • หากเป็นกรณีที่มอบเด็กให้กันเอง คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเด็กควบคู่กันไป ในคราวเดียวกันด้วย

กรณีขอรับเด็กกำพร้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

  • เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรธรรม พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็กแล้ว
  • คณะกรรมการคัดเลือกเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรม จะพิจารณาคัดเลือกเด็ก ของกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ ให้แก่ผู้ขอรับ ตามบัญชีก่อนหลัง
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะแจ้งประวัติเด็ก พร้อมรูปถ่าย ให้ผู้ขอรับพิจารณา ผ่านหน่วยงานเยอรมันที่ติดต่อ เรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมมา

 

2. เมื่อผู้ขอรับ แจ้งตอบรับเด็ก ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบแล้ว

  • เจ้าหน้าที่จะเสนอให้ คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พิจารณาให้ผู้ขอรับรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดู โดยขออนุญาต รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อทดลองเลี้ยงดู
  • เมื่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์อนุญาต
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะนัดหมายให้ผู้ขอรับเด็ก มารับการสัมภาษณ์ จากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
  • โดยหน่วยงานที่ติดต่อเรื่องมา หรือสถานทูต/สถานกงสุล จะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดู และส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดู มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

3. เมื่อทดลองเลี้ยงดูมาครบ 6 เดือน และมีรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูครบ 3 ครั้ง

  • หากว่าผลการทดลองเลี้ยงดูเป็นที่น่าพอใจ เด็กอาศัยกับครอบครัวของผู้ขอรับอย่างมีความสุข เจ้าหน้าที่จะสรุปรายงาน เสนอต่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติ ให้ผู้ขอรับไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้

 

4. ผู้ขอรับ จะต้องไปดำเนินการ ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศเยอรมัน

  • ผู้ขอรับ จะต้องไปดำเนินการ ขอจดทะเบียนรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่
  • โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะมีหนังสือขอความร่วมมือ จากกระทรวงต่างประเทศ ผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานเยอรมัน ผู้ติดต่อเรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม และผู้ขอรับเด็ก ได้ทราบพร้อมกันด้วย

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศไทย

  • สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ได้เช่นเดียวกับการขอบุตรบุญธรรมไทย
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ จะนำส่งสำเนาเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (คร. 14) จำนวน 1 ชุด ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ของผู้ขอรับเด็ก ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ

หมายเหตุ

กรณีที่เราได้ขอรับเด็กไทยมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยกฎหมายเยอรมัน (เช่น โดยคำอนุญาตของศาลเยอรมัน) ไม่ถือว่าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทยด้วยแต่อย่างใด

 

การขอเปลี่ยนนามสกุลบุตรบุญธรรม

หากบิดามารดาบุญธรรมต้องการให้บุตรบุญธรรมมาใช้นามสกุลของตน หลังจากที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมกับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถทำได้โดย

  •  นำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไปยื่นที่อำเภอที่เด็กมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอแก้ไขนามสกุลในทะเบียนบ้าน
  • และขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีนามสกุลตามบิดามารดาบุญธรรม ไปขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางต่อไป

 

สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรมที่ได้มีการจดทะเบียน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายกำหนดแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาบุญธรรมดังนี้ คือ

1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของบิดามารดาบุญธรรม

คือ มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้ได้รับการศึกษา มีสิทธิได้ใช้นามสกุลของบิดามารดาบุญธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย

2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาบุญธรรม

ทำนองเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย

 

สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาบุญธรรม

1. บิดามารดาบุญธรรม มีสิทธิใช้อำนาจปกครองกับบุตรบุญธรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับบิดามารดากับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นบุตรบุญธรรม จึงต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรบุญธรรม ทำโทษบุตรบุญธรรม ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เป็นต้น

2. บิดามารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม

แต่สามารถรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมแทน

3. บิดามารดาบุญธรรม มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

ทำนองเดียวกับบิดามารดา ซึ่งมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร โดยชอบกฎหมาย

 

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

มีได้ 3 แบบคือ

1. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง

เกิดจากความตกลงของผู้รับบุตรบุญธรรม กับบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว จะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ แต่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว

2. การเลิกเมื่อมีการสมรสกัน

แม้ว่ากฎหมายจะห้าม ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรส กับบุตรบุญธรรมก็ตาม แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ได้มีความผูกพันทางสายโลหิต การสมรสโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เสื่อมเสียหรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด การสมรสดังกล่าวมีผล เป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม ตั้งแต่เวลาที่จดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก

3. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาล

ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอเลิกรับบุตรบุญธรรม โดยมีมูลเหตุตามที่กฎหมายกำหนด

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 และ
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522

 

รวบรวมข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (ณ เดือน มี.ค. พ.ศ. 2559)

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา เดินเรื่องขอรับบุตรบุญธรรม หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

Line/ Skype ID: mausmoin

info@mausmoin.com

+49(0)176 31176234