นายจ้างเยอรมันมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร

1. ระดับปริญญาสำคัญแค่ไหน

ตามทฤษฎีแล้ว นักเรียนที่จบปริญญาตรีจะมีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วกว่า [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมันนิยมปริญญาแบบ Diplom ซึ่งจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปริญญาตรี และนายจ้างก็ยังไม่คุ้นชินกับปริญญาตรี] แต่ในปัจจุบัน นายจ้างกว่าครึ่งหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคยกับปริญญาตรีมากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรปริญญาตรีเริ่มนำเข้ามาใช้ในเยอรมันเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากการศึกษาแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา Kienbaum และ สถาบัน Staufenbiel พบว่าร้อยละ 49 ของบริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจบปริญญาโทเพิ่มเติมจากปริญญาตรีนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะงานในสาขาเภสัชศาสตร์และเคมีนั้นสำคัญมาก โดยร้อยละ 88 ของฝ่าย HR เห็นว่าการจบปริญญาโทเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานในสาขานี้

แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเหนือกว่าปริญญากลับเป็นเรื่องผลการเรียน โดยร้อยละ 58 เห็นว่าผลการเรียนดีนั้นสำคัญมากกว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา หรือผู้สมัครได้เรียนครบตามจำนวนภาคเรียนบังคับหรือไม่

ในเรื่องเงินเดือน บริษัทส่วนใหญ่จะให้เงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาราว 40,000-50,000 ยูโรต่อปี แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานจะได้เงินเดือนน้อยกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท ร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจให้เงินเดือนบัณฑิตปริญญาโทมากกว่าถึงร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 10

2. บริษัทอยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบไหน

คุณสมบัติเสริมอื่นๆ ที่นายจ้างมองหาเป็นพิเศษก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 77) [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า แบบสำรวจนี้อิงจากผู้สมัครงานจบใหม่ในเยอรมัน ดังนั้นภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ทุกคนน่าจะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไทย แน่นอนว่าเราต้องมีทักษะภาษาเยอรมันที่ดี และจะดีกว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษด้วย] ซึ่งการมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ มากกว่าการที่ผู้สมัครเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ (ร้อยละ 38) หรือทักษะภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ (ร้อยละ 24) เสียอีก

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นอีกก็คือประสบการณ์การทำงานจริงของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยฝ่าย HR ชอบผู้สมัครที่เคยฝึกงานมา (ร้อยละ 73) และมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (ร้อยละ 55)

3. ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในสายตาของฝ่ายบุคคล ในเยอรมัน

บริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 เห็นว่าสิ่งต่อไปนี้สำคัญ 

  • เคยฝึกงานมาก่อน: ร้อยละ 81 ตอบว่า ประสบการณ์การทำงานจริงมีน้ำหนักมากกว่าการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาเรียนที่กำหนด
  • เอกสารการสมัครมีโครงสร้างชัดเจน: สำหรับฝ่ายบุคคล การจัดเรียงที่อ่านง่ายสำคัญกว่าดีไซน์
  • มีทักษะทางสังคมดังต่อไปนี้:
    • มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง/ ความพร้อมในการทำงาน ร้อยละ 100
    • มีความพร้อมในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 98
    • ทักษะการสื่อสาร ร้อยละ 95
    • การทำงานเป็นทีม ร้อยละ 94
    • การมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ร้อยละ 93
  • มีเพียงร้อยละ 3 ที่เช็คข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้สมัคร
  • ร้อยละ 75 ของฝ่ายบุคคลจะดูเรซูเม่ผู้สมัครก่อน และร้อยละ 99 เห็นว่าเรซูเม่สำคัญ
  • การเขียน สะกดคำให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กว่าร้อยละ 60 ของฝ่ายบุคคลจะคัดผู้สมัครออกหากมีจุดที่เขียนผิด

Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนตั้งใจเรียนในทุกๆระดับชั้น และพัฒนาภาษาเยอรมันและทักษะการทำงานต่างๆ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของตนไม่ว่าที่ไทยหรือเยอรมัน 🙂

Quelle: wiwo.de

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะ ฝ่ายขาย จัดซื้อ โลจิสติกส์ และไอที

จากผลสำรวจของเว็บไซต์หางาน Stepstone พบว่า ตำแหน่งงานกลุ่มพนักงานขายให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ย 5.5% ฝ่ายจัดซื้อและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 3.3% และฝ่ายวิศวกรและไอทีเพิ่มขึ้นราว 3%

อัตราเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ทางภาคใต้เยอรมันและตามเมืองใหญ่ๆ เช่น พนักงานในรัฐบาเยิร์นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ตามมาด้วยเมืองเบรเม็น เพิ่ม 3.6 % รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน เพิ่ม 3.2 % เมืองฮัมบวร์ก เพิ่ม 3.2 % และรัฐเฮสเซ็น เพิ่ม 2.7 %

นอกจากนี้ ตัวเลขล่าสุดจากทางสำนักงานสถิติเยอรมันก็ช่วยยืนยันแนวโน้มดังกล่าว นั่นคือ อัตราค่าจ้างที่แท้จริงในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสแรกเพิ่ม 2.6% และไตรมาสสองเพิ่ม 2.3%

ต่างกับช่วงปี 1993-2013 ที่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดต่ำลงอยู่หลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ผู้มีรายได้มีความสามารถในการจับจ่ายลดน้อยลง แต่ปัจจุบันจะเป็นช่วงของการฟื้นตัวดีขึ้น หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งสถาบันวิจัยตลาดแรงงานและอาชีพกล่าว

นอกจากนี้ในปี 2017 ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าเงินเดือนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในทุกๆ อุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.6% และกลุ่มพนักงานที่เป็นหัวหน้าและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และแม้จะหักลบอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้แล้ว อัตราค่าจ้างที่แท้จริงก็ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 1.6% ซึ่งมีแค่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำได้ เทียบกับอัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยียม

ปริมาณตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 690,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว จากรายงานของสำนักจัดหางานเยอรมัน ณ เดือนก.ย. 2016

Quelle&Foto: Welt.de

วิกฤติและการจัดการผู้อพยพในเยอรมัน “Wir schaffen das”

ผ่านมาแล้ว 1 ปีที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้กล่าววลีเด็ด “เราทำได้” (“Wir schaffen das.”) ต่อวิกฤติการหลั่งไหลของผู้อพยพเข้าสู่เยอรมัน ที่เป็นที่กล่าวขานถึงทั้งด้านดีและก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์มากมาย มาสรุปกันว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤติและการจัดการผู้อพยพมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

1. จำนวนผู้อพยพ

ในปี ค.ศ. 2015 มีผู้อพยพราว 1 ล้านรายเดินทางเข้ามาในเยอรมัน จากหลากหลายประเทศ เช่น ซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน แอฟริกาเหนือ และประเทศในคาบสมุทรบอลข่านนางแมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมันก็พยายามให้สัญญาว่าจะลดปริมาณผู้อพยพลงให้ชัดเจนขึ้น

และแล้ว ในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2016 มีจำนวนผู้อพยพที่ลงทะเบียนลดลงเหลือราว 220,000 ราย โดยมีจำนวนลดลงเดือนต่อเดือนจริง จากราว 92,000 รายในเดือนม.ค. ลดลงเหลือเพียง 16,000 ราย ในเดือนก.ค. ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ไม่ได้มาจากผลงานของนางแมร์เคลโดยตรง แต่มาจากการที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (เช่นประเทศตุรกี) พยายามกีดกันผู้อพยพที่เดินทางหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปทางเส้นคาบสมุทรบอลข่าน แม้จะมีความขัดแย้งในแง่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ หากสงครามในซีเรียยังดำเนินต่อไป แรงกดดันที่ทำให้พลเมืองต้องอพยพหนีก็ยังมีมากอยู่อย่างนั้น ผู้อพยพยังคงหาเส้นทางอื่นๆ ในการลี้ภัยต่อไป

2. การบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมัน

คอร์สเรียนภาษาเยอรมันและคอร์สเรียนเพื่อการบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมันยังคงขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเยอรมัน คาดว่าปีนี้น่าจะยังขาดที่เรียนในคอร์สต่างๆ กว่า 200,000 ที่

รัฐบาลแถลงว่า แม้จะพยายามเปิดคอร์สเพิ่ม แต่ก็ยังขาดแคลนผู้สอนในหลายๆ เมือง เนื่องจากค่าจ้างไม่สูงนัก ซึ่งรัฐก็พยายามแก้ไข โดยขึ้นค่าตอบแทนครูผู้สอนเมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ คาดว่าในปี ค.ศ. 2016 จะมีจำนวนผู้เข้าเรียนมากกว่า 500,000 ราย โดยจะให้สิทธิ์เข้าเรียนสำหรับผู้อพยพที่มีโอกาสได้อยู่เยอรมันต่อเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีกประเด็น ก็คือเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามา โดยในช่วงปี ค.ศ. 2014-2015 มีเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามาจำนวนกว่า 325,000 ราย เข้าเรียนในระบบการศึกษาเยอรมัน ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 2 ของสัดส่วนนักเรียนทั้งหมดในเยอรมัน สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ยังมีความต้องการครูและนักการศึกษาที่รู้วิธีการจัดการกับเด็กที่ซึมเศร้าเพิ่มด้วย

จากการสำรวจของ Spielgel-Online ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา พบว่ารัฐต่างๆในเยอรมันเปิดรับครูใหม่เพิ่มแล้วกว่า 12,000 ราย ซึ่งยังไม่พอต่อความต้องการครูที่คาดว่ามีมากกว่า 20,000 ราย

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการเยอรมันยังคาดว่า เด็กเล็กนับเฉพาะที่อพยพเข้ามาในช่วงปีค.ศ. 2015 ยังขาดที่เรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก (Kita) อีกกว่า 58,000 ที่ และยังต้องการบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อดูแลเด็กให้ทั่วถึงอีกกว่า 9,400 ราย

3. ผู้อพยพในตลาดแรงงาน

โครงการช่วยเหลือผู้อพยพเพื่อการบูรณาการเข้ากับสังคมเยอรมัน “Wir zusammen” มีกิจการกว่า 100 แห่งเข้าร่วม เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้อพยพ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สรุปตัวเลขคร่าวๆ ได้ดังนี้: ที่ฝึกงาน (Praktikum) เพิ่มขึ้น 1800 ที่ ที่เรียนงาน (Ausbildung) มากกว่า 500 ที่ และจ้างงานประจำเพิ่มกว่า 400 ที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันมองว่ายังมีตัวเลขน้อยไป

ที่ผ่านมา ผู้อพยพแทบจะยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเลย ตามรายงานของสำนักจัดหางานของรัฐ ในเดือนก.ค. มีผู้อพยพกว่า 322,000 รายที่ได้รับอนุมัติคำร้องขอลี้ภัยแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลในการจัดหางาน ทั้งนี้ผู้อพยพจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ หากยังไม่ได้รับการอนุมัติคำร้องขอลี้ภัย โดยจากจำนวน 322,000 รายดังกล่าว มี 141,000 รายที่ยังตกงาน

ผู้อพยพจำนวนมากยังสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือมีวุฒิการศึกษายังไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้อพยพส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย ความหวังจึงอยู่ที่ การรับผู้อพยพเข้าเรียนงาน (Ausbildung) เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานต่อไป

4. กระบวนการพิจารณาการขอลี้ภัย

ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ (BAMF) ถูกมองว่าเป็นหน่วยงานรัฐที่ยังทำงานได้ไม่ดีท่ามกลางวิกฤติผู้อพยพที่เกิดขึ้น ผู้อพยพหลายร้อยรายยื่นฟ้องศาลว่าสำนักงานดังกล่าวทำงานช้าเกินไป พวกเขาต้องการให้เร่งพิจารณาการขอลี้ภัยให้เร็วขึ้น ซึ่งนายไวเซอ ผู้อำนวยการ BAMF ก็ออกมาชี้แจงว่า ได้ปรับการทำงานให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยรับเจ้าหน้าที่เพิ่มกว่า 2300 คน ในช่วงต้นปีค.ศ. 2015 ทำให้ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รวม 8000 คน และได้เปิดสำนักงานใหม่เพิ่มอีกหลายแห่ง

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สำนักงานฯ ต้องพิจารณาการขอลี้ภัยมากกว่า 330,000 คำร้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

จำนวนคำร้องกองโตที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นเกินห้าแสนฉบับ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้แต่แรกว่าจะสะสางให้เสร็จภายในสิ้นปี สาเหตุมาจากจำนวนกรณีการพิจารณาขอลี้ภัยเก่าๆ ที่มีความซับซ้อนเหลืออยู่จำนวนมาก และยังทำให้เวลาเฉลี่ยของกระบวนการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มนานขึ้นด้วย กล่าวคือใช้เวลามากกว่า 6 เดือน แต่สำหรับคำร้องใหม่ๆ น่าจะพิจารณาตัดสินการขอลี้ภัยได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยตามแผนที่วางไว้ ผู้อพยพทุกคนน่าจะสามารถยื่นคำร้องได้เสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ นายไวเซอกล่าว

5. การก่ออาชญากรรม

เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศช่วงสิ้นปีที่แล้วที่เมืองเคิล์นทำให้ผู้คนต่างหวาดกลัวว่า การที่เยอรมันอ้าแขนรับผู้อพยพถือเป็นการนำปัญหาด้านอาชญากรรมเข้ามาให้ประเทศหรือไม่

สถิติของทางตำรวจในเรื่องการก่อการกระทำความผิดชี้ให้เห็นว่า จำนวนการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในปีค.ศ. 2015 ประมาณร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักๆ ของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นก็คือการกระทำความผิดในการขอลี้ภัย และการพำนักในเยอรมันของชาวต่างชาติ (เช่นการหลบหนีเข้าเมือง หรือการพำนักในประเทศอย่างผิดกฎหมาย) ซึ่งหากไม่นับจำนวนความผิดทั้ง 2 เรื่องนี้รวมในสถิติด้วย ตัวเลขอาชญากรรมก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่าแสนรายในประเทศก็ตาม

จากรายงานของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ กลุ่มผู้อพยพบางกลุ่มจะถูกจับตามเป็นพิเศษ เช่นผู้อพยพจากอัลจีเรีย โมรอคโค และทูนีเซียมักจะถูกคิดว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดมากกว่าผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ

อันที่จริงวิกฤติผู้อพยพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขสถิติการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ผู้อพยพเองไม่ใช่เป็นผู้ก่อความผิด แต่กลับเป็นเหยื่อของอาชญากรรม โดยในปีนี้มีการก่อเหตุทำลายที่พักผู้อพยพไปแล้วกว่า 665 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2015 มีกว่า 1031 ครั้ง เพิ่มขึ้น 5 เท่าของปีก่อนหน้า

การก่อการร้ายที่เมืองวือร์ซบวร์ก และเมืองอันส์บัคทำให้เกิดการโยงประเด็นของผู้อพยพกับการก่อการร้ายเข้าด้วยกัน ผู้ก่อเหตุทั้งสองเป็นผู้อพยพเข้ามาในเยอรมัน ซึ่งเดินทางเข้ามาก่อนหน้าการอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว แต่หน่วยงานดูแลความมั่นคงกลับไม่ได้สังเกตเห็นสองผู้ก่อเหตุนี้ก่อนหน้านี้

หน่วยงานดูแลความมั่นคงคอยตรวจสอบเบาะแสที่นำไปสู่ปฏิบัติการลับของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพ ล่าสุดได้รับการแจ้งเบาะแสมากกว่า 400 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาตำรวจยังไม่พบแผนการก่อการร้ายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ากลุ่มหัวรุนแรงจะพยายามเผยแพร่แนวคิดและชักชวนคนรุ่นใหม่ในที่พักผู้อพยพเข้าร่วมกลุ่ม

6. การส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด

การเร่งส่งตัวผู้ถูกปฏิเสธขอลี้ภัยกลับประเทศ เป็นหนึ่งในแผนที่เยอรมันวางไว้ ตัวเลขการส่งตัวกลับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ระบบการจัดการยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

จากรายงานของศูนย์ลงทะเบียนชาวต่างชาติ ในเยอรมันมีผู้อพยพกว่า 220,000 คนที่จะต้องถูกส่งตัวออกจากประเทศ แต่กว่า 172,000 คนได้รับการผ่อนผัน เนื่องจากเหตุผลเช่น มีสงครามในประเทศบ้านเกิด

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ส่งตัวกลับประเทศทำได้ลำบากคือ

- ผู้ถูกปฏิเสธการขอลี้ภัยไม่มีเอกสารอะไรติดตัว ดังนั้นประเทศบ้านเกิดจึงไม่ต้องการรับพวกเขากลับเข้าประเทศ ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการหลบเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับ รัฐบาลเยอรมันก็พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือรับพลเมืองของตนกลับสู่ประเทศให้มากขึ้น

- รัฐจะไม่สามารถส่งตัวใครกลับไปประเทศเดิมได้ หากผู้นั้นมีใบรับรองแพทย์ว่าป่วยเดินทางไม่ได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ต่อไปควรจะมีเพียงแพทย์จากทางรัฐเท่านั้นหรือไม่ ที่สามารถออกใบรับรองอาการเจ็บป่วยให้กับคนกลุ่มนี้ได้

- ผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับหลบซ่อนตัว ในวันที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศเดิม เยอรมันจึงพยายามแก้ปัญหา โดยการไม่แจ้งเรื่องการส่งตัวกลับประเทศให้เจ้าตัวทราบล่วงหน้า

Quelle: Spiegel.de

2016-09-30