การขอรับบุตรบุญธรรม | Adoption

สารบัญ

ขั้นตอนการรับบุตรบุญธรรม

คุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

การเตรียมเอกสาร

การยื่นคำร้อง

ขั้นตอนการดำเนินเรื่อง

การขอเปลี่ยนนามสกุลบุตร

สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม และบิดามารดาบุญธรรม

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

ติดต่อแปลเอกสาร 

 

การรับเด็กไทยหรือบุคคลสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรม

ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีต้องการจะรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ว่าจะเป็น

  • เด็กจากบ้านเด็กกำพร้า
  • หรือเด็กที่เป็นลูกติดของคู่สมรสตนเอง
  • หรือเด็กที่เป็นหลานของคู่สมรสตนเอง

ควรยื่นคำขอต่อ

  • สำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐที่ตนอาศัยอยู่
  • หรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือองค์การสวัสดิภาพเด็ก ที่รัฐบาลของประเทศเยอรมนีแต่งตั้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ
  • ควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย

ติดต่อส่วนราชการไทยและเยอรมันได้ที่:

ประเทศไทย

ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)

  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • ที่อยู่: 255 ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ 10400
  • โทร: +66(0)2 354 7509, +66(0)2 354 7515, +66(0)2 644 7996
  • แฟกซ์: +66(0)2 354 7511
  • อีเมล์: adoption@dcy.go.th 
  • เว็บไซต์: www.adoption.dsdw.go.th

ประเทศเยอรมนี

"ศูนย์อำนวยการขอรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรมกลางเยอรมนี" (Bundeszentralstelle für Auslandsadoption - Generalbundesanwalt)

  • ที่อยู่: Adenauer Allee 99 - 103, 53113 Bonn
  • โทร: +49 (0)228 99 410 - 5414, 5415
  • แฟกซ์: +49 (0)228 99 410 - 5402
  • อีเมล์: auslandsadoption@bfj.bund.de
  • เว็บไซต์: www.bundesjustizamt.de (Bundesamt für Justiz) ไปที่หัวข้อ "Zivilrecht" เพื่ออ่านข้อมูลการรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรม

 

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

 
คุณสมบัติผู้ขอรับบุตรบุญธรรม

1. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี

2. ผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย 15 ปี

กรณีผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติ

- หากผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติ จะต้องมีคู่สมรส ยกเว้นผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย

- ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ ที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ตามกฎหมายของประเทศ ที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่

- การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทยแล้วเท่านั้น

กรณีบุตรบุญธรรมอายุเกิน 15 ปี

3. ในการรับบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี เป็นบุตรบุญธรรม ต้องให้บุคคลนั้นให้ความยินยอมด้วย

กรณีบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ

4. ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอม จากบิดาและมารดาของผู้เยาว์นั้นก่อน 

กรณีบุตรบุญธรรมกำพร้า

5. ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน 

กรณีบุตรบุญธรรมอายุ 20 ปีขึ้นไป

6. กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม สามารถขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ที่อำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาได้เลย

การจำกัดอายุ ของบุตรบุญธรรม

7. ไม่มีการจำกัดอายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม 

กรณีผู้ขอรับบุตร หรือบุตรบุญธรรมสมรสแล้ว

8. ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสแล้ว ต้องให้คู่สมรสให้ความยินยอมด้วย 

กรณีบุตรบุญธรรม เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นอยู่

9. ถ้าผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้

10. เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรม ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

 

การเตรียมเอกสาร เพื่อดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

 

1. เอกสารที่ฝ่ายผู้ขอรับเด็ก ต้องเตรียมที่ประเทศเยอรมนี

สำหรับในประเทศเยอรมนี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน แนะนำให้ผู้ที่จะขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม

- ติดต่อผ่านสำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐ ที่ผู้ขอมีอาศัยอยู่ (Landesjugendamt) เพื่อประโยชน์ ในการขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศเยอรมนี ให้กับเด็กที่จะรับมาเป็นบุตรบุญธรรม

- ควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย

ผู้ขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ต้องยื่น แบบคำขอเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมกับคู่สมรส

โดยต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้

  • แบบคำขอรับบุตรบุญธรรม
  • สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (Meldebescheinigung)
  • เอกสารรับรองการสมรส (ทะเบียนการสมรส)
  • คำพิพากษาหย่า หรือทะเบียนหย่า (กรณีเคยสมรสมาก่อน)
  • ใบรับรองแพทย์ ซึ่งแสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์
  • เอกสารรับรองการทำงานและรายได้
  • เอกสารรับรองการเงินย้อนหลังไปไม่เกิน 6 เดือน
  • เอกสารรับรองทรัพย์สิน
  • รูปถ่ายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคู่สมรส รูปสีขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวนคนละ 4 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรส หรือคำสั่งอนุญาตของศาล แทนการให้ความยินยอมของคู่สมรส
  • เอกสารรับรองความประพฤติและความเหมาะสมทั่วไป ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จากผู้ที่เชื่อถือได้อย่างน้อย 2 คน
  • รายงานการศึกษาสภาพครอบครัว ของผู้รับเด็ก
  • เอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศเยอรมนี รับรองการอนุญาต ให้เด็กเข้าประเทศเยอรมนีได้
  • เอกสารจากหน่วยงานเยอรมันที่เกี่ยวข้อง ที่รับรองว่าผู้ขอรับเด็ก มีคุณสมบัติและความเหมาะสม ที่สามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ตามกฎหมายเยอรมัน
  • หนังสือรับรองว่า จะทำการควบคุม การทดลองเลี้ยงดูเด็ก และส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดู มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ไม่เกิน 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • หนังสือรับรองดำเนินการตามกฎหมายไทย (เอกสารที่ผู้ขอรับบุตรบุญธรรมชาวต่างชาติ ต้องกรอกให้คำสัญญาว่า จะจดทะเบียนบุตรบุญธรรมให้ถูกต้อง ทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายเยอรมัน)

กรณีการติดต่อผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชน

  • จะต้องมีสำเนาใบอนุญาตขององค์การ และหนังสือจากหน่วยงานรัฐบาลซึ่งรับรององค์การนั้นๆ ด้วย

กรณีเอกสารข้างต้นเป็นภาษาเยอรมัน

  • เอกสารทุกฉบับข้างต้น หากเป็นภาษาเยอรมันต้องแปลเป็นภาษาไทยก่อน โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน (หากเป็นภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทย)
  • ต้องนำไปรับรอง ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ก่อนนำส่งไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

 

2. เอกสารของฝ่ายที่จะยกเด็กให้ (บิดามารดาเด็ก หรือผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย)

  • บัตรประจำตัวประชาชน ของบิดาและมารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย
  •  ทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส
  • ทะเบียนหย่า หรือคำสั่งศาลให้หย่า
  • หนังสือรับรองจากสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ตามแบบ ปค. 14 รับรองว่าบิดา มารดาเด็ก มิได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร และได้เลิกร้างกันเป็นเวลานานกี่ปี
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของบิดามารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย ให้ความยินยอม (แบบ บธ.5)
  • บันทึกสอบปากคำตามแบบ ปค. 14
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ของบิดาและมารดาเด็ก คนละ 1 รูป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือจำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

 

3. เอกสารของฝ่ายเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

  • สูติบัตร
  • ทะเบียนบ้าน
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. 1 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม (แบบ บธ.6) หากเด็กมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือจำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

 

4. กรณีบุตรติดคู่สมรสหรือญาติ เอกสารที่ใช้ประกอบ มีดังนี้

  • สำเนาสูติบัตร ทะเบียนบ้าน และรูปถ่ายของเด็กจำนวน 4 รูป
  • สำเนาบัตรประจาตัวประชาชน และหนังสือแสดงความยินยอมของเด็ก ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่เด็กมีอายุเกิน 15 ปี ขึ้นไป หรือในกรณีที่เด็กโตพอ จะแสดงความยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมด้วยตนเองได้
  • สำเนาทะเบียนสมรส บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ ทะเบียนบ้านของบิดามารดาของเด็ก และรูปถ่ายของบิดามารดา คนละ 4 รูป , ทะเบียนบ้าน ของผู้ขอรับเด็ก ที่เป็นญาติสายโลหิตกับบิดา/มารดา
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของผู้มีอานาจให้ความยินยอม (แบบ บธ.6) และหนังสือแสดงความเห็นชอบของบิดาโดยพฤตินัย (ลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารจากผู้ขอรับเด็กครบแล้ว)
  • สำเนาหนังสือสำคัญการหย่า และข้อตกลงการหย่า ระบุผู้ใช้อานาจปกครองเด็กหรือคำสั่งศาลให้ความยินยอมแทบบิดามารดาเด็ก แล้วแต่กรณี
  • สำเนาใบมรณะบัตร ของบิดาหรือมารดาเด็ก กรณีทั้งบิดามารดาเด็กเสียชีวิต ผู้ขอรับเด็กต้องร้องต่อศาลให้มีคำสั่ง แสดงความยินยอม แทนบิดามารดาเด็ก ในการรับบุตรบุญธรรม
  • ในกรณีที่บิดามารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่สามารถติดตามบิดามาให้ความยินยอมได้ให้มารดาเด็กไปสอบข้อเท็จจริง (แบบ ปค.14) สำนักทะเบียนเขต หรืออำเภอที่มารดาเด็กมีภูมิลำเนา
  • รายงาน การศึกษาประวัติเด็ก ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
  • ใบเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวเด็ก , บิดาเด็ก , มารดาเด็ก , ผู้ขอรับเด็ก
  • เอกสารต้นฉบับ จะต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ (มีทะเบียนบ้าน)

 

การยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบ

 

หลังจากที่เตรียมเอกสารข้างต้น ครบเรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้ดังนี้

1. ขอให้สถานคุ้มครองเด็กและเยาวชนของรัฐ (Landesjugendamt) เป็นผู้ติดต่อกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

เพื่อขอให้ดำเนินการพิจารณาอนุมัติ ตามที่อยู่ดังนี้

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

  • ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)
  • ที่อยู่: 255 ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร 10400
  • โทร: (+66) 2 354-7500, (+66) 2 354-7511
  • แฟกซ์: (+66) 2 247 9480
  • อีเมล์: adoption@dcy.go.th 

2. หรือยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบ ด้วยตัวเอง ที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ข้างต้น

3. หรือสามารถยื่นคำร้องผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชน ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ เพื่อรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้ ดังรายชื่อต่อไปนี้

ที่กรุงเทพ

สหทัยมูลนิธิ

  • 850/33 สุขุมวิท 71 พระโขนง กรุงเทพมหานคร 10110
  • โทร. (+66) 2 252-5209, (+66) 2 252-5213

มูลนิธิมิตรมวลเด็ก

  • 25 ซอยร่วมฤดี 1 ถนนเพลิตจิต ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย

  • ตึกวชิราลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10500

ที่ชลบุรี

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา

  • ที่อยู่: 440 หมู่ที่ 9 ถนนสุขุมวิท กม. 145 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20260
  • โทร: (+66) 3871-6628 แฟกซ์: (+66) 3871-6629
  • อีเมล์: fr-ray@redemptorists.or.th

องค์การสวัสดิภาพเด็กดังกล่าวข้างต้น อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

ขั้นตอนการดำเนินเรื่องในประเทศไทย

 

1. เมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ สมบูรณ์แล้ว

กรณีขอรับบุตรบุญธรรมของผู้อื่น

  • พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า ผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่
  • หากพบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีอุปนิสัยดี ความประพฤติดี อาชีพรายได้ดี ฐานะของครอบครัวดี ตลอดจนสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูได้ ก็จะประมวลรายละเอียด เสนออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาก่อน
  • จากนั้นจึงนำเสนอต่อ คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็ก
  • หากเป็นกรณีที่มอบเด็กให้กันเอง คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเด็กควบคู่กันไป ในคราวเดียวกันด้วย

กรณีขอรับเด็กกำพร้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

  • เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรธรรม พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็กแล้ว
  • คณะกรรมการคัดเลือกเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรม จะพิจารณาคัดเลือกเด็ก ของกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ ให้แก่ผู้ขอรับ ตามบัญชีก่อนหลัง
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะแจ้งประวัติเด็ก พร้อมรูปถ่าย ให้ผู้ขอรับพิจารณา ผ่านหน่วยงานเยอรมันที่ติดต่อ เรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมมา

 

2. เมื่อผู้ขอรับ แจ้งตอบรับเด็ก ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบแล้ว

  • เจ้าหน้าที่จะเสนอให้ คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พิจารณาให้ผู้ขอรับรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดู โดยขออนุญาต รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อทดลองเลี้ยงดู
  • เมื่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์อนุญาต
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะนัดหมายให้ผู้ขอรับเด็ก มารับการสัมภาษณ์ จากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
  • โดยหน่วยงานที่ติดต่อเรื่องมา หรือสถานทูต/สถานกงสุล จะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดู และส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดู มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

3. เมื่อทดลองเลี้ยงดูมาครบ 6 เดือน และมีรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูครบ 3 ครั้ง

  • หากว่าผลการทดลองเลี้ยงดูเป็นที่น่าพอใจ เด็กอาศัยกับครอบครัวของผู้ขอรับอย่างมีความสุข เจ้าหน้าที่จะสรุปรายงาน เสนอต่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติ ให้ผู้ขอรับไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้

 

4. ผู้ขอรับ จะต้องไปดำเนินการ ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศเยอรมัน

  • ผู้ขอรับ จะต้องไปดำเนินการ ขอจดทะเบียนรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่
  • โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะมีหนังสือขอความร่วมมือ จากกระทรวงต่างประเทศ ผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานเยอรมัน ผู้ติดต่อเรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม และผู้ขอรับเด็ก ได้ทราบพร้อมกันด้วย

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศไทย

  • สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ได้เช่นเดียวกับการขอบุตรบุญธรรมไทย
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ จะนำส่งสำเนาเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (คร. 14) จำนวน 1 ชุด ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ของผู้ขอรับเด็ก ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ

หมายเหตุ

กรณีที่เราได้ขอรับเด็กไทยมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยกฎหมายเยอรมัน (เช่น โดยคำอนุญาตของศาลเยอรมัน) ไม่ถือว่าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทยด้วยแต่อย่างใด

 

การขอเปลี่ยนนามสกุลบุตรบุญธรรม

หากบิดามารดาบุญธรรมต้องการให้บุตรบุญธรรมมาใช้นามสกุลของตน หลังจากที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมกับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถทำได้โดย

  •  นำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไปยื่นที่อำเภอที่เด็กมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอแก้ไขนามสกุลในทะเบียนบ้าน
  • และขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีนามสกุลตามบิดามารดาบุญธรรม ไปขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางต่อไป

 

สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรมที่ได้มีการจดทะเบียน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายกำหนดแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาบุญธรรมดังนี้ คือ

1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของบิดามารดาบุญธรรม

คือ มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้ได้รับการศึกษา มีสิทธิได้ใช้นามสกุลของบิดามารดาบุญธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย

2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาบุญธรรม

ทำนองเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย

 

สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาบุญธรรม

1. บิดามารดาบุญธรรม มีสิทธิใช้อำนาจปกครองกับบุตรบุญธรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับบิดามารดากับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นบุตรบุญธรรม จึงต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรบุญธรรม ทำโทษบุตรบุญธรรม ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เป็นต้น

2. บิดามารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม

แต่สามารถรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมแทน

3. บิดามารดาบุญธรรม มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

ทำนองเดียวกับบิดามารดา ซึ่งมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร โดยชอบกฎหมาย

 

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

มีได้ 3 แบบคือ

1. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง

เกิดจากความตกลงของผู้รับบุตรบุญธรรม กับบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว จะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ แต่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว

2. การเลิกเมื่อมีการสมรสกัน

แม้ว่ากฎหมายจะห้าม ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรส กับบุตรบุญธรรมก็ตาม แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ได้มีความผูกพันทางสายโลหิต การสมรสโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เสื่อมเสียหรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด การสมรสดังกล่าวมีผล เป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม ตั้งแต่เวลาที่จดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก

3. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาล

ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอเลิกรับบุตรบุญธรรม โดยมีมูลเหตุตามที่กฎหมายกำหนด

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 และ
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522

 

รวบรวมข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (ณ เดือน มี.ค. พ.ศ. 2559)

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา เดินเรื่องขอรับบุตรบุญธรรม หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

Line/ Skype ID: mausmoin

info@mausmoin.com

+49(0)176 31176234

กงสุลสัญจร เยอรมนี | Mobiler Konsular-Service 2019

กงสุลสัญจร เยอรมนี ปีพ.ศ. 2562

สารบัญ  

วันและสถานที่ 

บริการงานกงสุล 

การเตรียมตัว

แปลเอกสาร

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลกงสุลสัญจรในเยอรมันที่สำคัญไว้ดังนี้ 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน จัดให้บริการงานกงสุลนอกสถานที่ทุกปี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทย ที่อาศัยอยู่ไกลจากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต มิวนิก และเบอร์ลิน หรือไม่สะดวกที่จะเดินทาง มาดำเนินการยื่นเรื่องที่สถานกงสุล 

ในปี พ.ศ. 2562 กงสุลสัญจร มีตารางให้บริการตามเมืองต่างๆ ดังต่อไปนี้ 
(ข้อมูลจาก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน)

กำหนดการ วันและสถานที่

  • กงสุลสัญจร Stuttgart 8.6.19

  • ตารางกงสุลสัญจรของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก (ประกาศเดือน ม.ค. พ.ศ. 2562) 
  • ตารางกงสุลสัญจรของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน (ประกาศเดือน ม.ค. พ.ศ. 2562) 

หมายเหตุ: Mausmoin.com เป็นสำนักงานแปลเอกสาร ไม่ใช่หน่วยงานกงสุลไทย กำหนดการที่รวบรวมไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ควรอ่านรายละเอียดเงื่อนไขของกงสุลสัญจรแต่ละที่ก่อนไปให้ดีก่อน เนื่องจากงานกงสุลบางประเภทจะต้องมีการจองคิวก่อน (เช่น การทำหนังสือเดินทาง) ต้องยื่นคำร้องล่วงหน้า (เช่น รับรองเอกสาร ทำหนังสือมอบอำนาจ) หรือส่งเอกสารไปก่อนล่วงหน้า (เช่น ขอสูติบัตรไทย) จะได้เดินทางไปติดต่องานได้ราบรื่นและเรียบร้อยในวันเดียวค่ะ 

สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ประสานงานกงสุลสัญจรเมืองนั้นๆ หรือสถานกงสุลใหญ่/สถานทูต ที่

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต: +49 (0) 6969 868 203 (กงสุล), 069-69 86 8 205, 210

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน: +49 (0) 30 79 481 0 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.30 – 17.00 น.)

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก: +49 (0)89 944 677 111 เวลาให้ข้อมูลทางโทรศัพท์: วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.30 – 17.00 น.)

งานกงสุลสัญจรที่ให้บริการ

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับงานบริการ ณ กงสุลสัญจรของกงสุลใหญ่ไว้ดังนี้ 

รับคำร้องขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ (หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์) ค่าธรรมเนียม 30 ยูโร *ควรทำนัดล่วงหน้า

➤ ต้องโทรนัดล่วงหน้า กับผู้ประสานงานของเมืองนั้นๆ เมื่อไปถึง ต้องไปตรวจเอกสารกับเจ้าหน้าที่ และรับบัตรคิวด้วยตนเอง 

รับคำร้องขอหนังสือเดินทางชั่วคราว ค่าธรรมเนียม 10 ยูโร 

รับคำร้องแจ้งเกิดขอสูติบัตรไทยให้บุตร ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร

รับคำร้องออกหนังสือมอบอำนาจ ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร

รับคำร้องออกหนังสือแสดงความยินยอมให้บุตรเดินทางมาต่างประเทศ ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร

รับคำร้องหนังสือรับรองสถานภาพสมรส (ไม่เป็นคู่สมรสของผู้ใด และมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะจดทะเบียนสมรสได้) ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร

หนังสือขอผ่อนผันการเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร (ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร) ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร

นิติกรณ์รับรองต่าง ๆ ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร

 หากคุณต้องใช้เอกสาร หรือหนังสือรับรองต่างๆ เป็นฉบับแปลภาษาเยอรมัน หรือไทย (beglaubigte Übersetzung) สามารถติดต่อ Mausmoin.com เพื่อแปลและรับรองคำแปลได้ที่ info@mausmoin.com หรือ Line ID: mausmoin

การเตรียมตัวก่อนไป

เอกสารบางประเภท เช่น เอกสารมอบอำนาจ ใบรับรองสถานภาพสมรส (ใบรับรองโสด) และการรับรองเอกสาร จะสามารถออกให้ได้ภายในวันที่มายื่นคำร้อง (แต่ก็อาจให้มารับเอกสารในวันอื่นๆ หรือส่งเอกสารกลับคืนให้ทางไปรษณีย์ได้)

แต่เอกสารอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลา เช่น หนังสือเดินทาง สูติบัตรไทย มรณบัตรไทย การสละสัญชาติไทย วีซ่า หรือหนังสือรับรองบางเรื่อง อาจไม่สามารถรอรับได้ 

ควรเตรียมเอกสารและสำเนามาให้ครบ พร้อมซองเปล่าติดแสตมป์ 4.00 ยูโร ในกรณีที่ เอกสารไม่สามารถออกให้ได้ในวันนั้น 

ควรเลือกซองมีพลาสติกกันกระแทกขนาด เอ5 สำหรับหนังสือเดินทาง และซองขนาด เอ4 สำหรับเอกสารขนาด เอ4 เพื่อป้องกันเอกสารเสียหายระหว่างทาง

หรือสามารถไปรับเอกสารด้วยตนเองได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ในเวลาทำการ

การเตรียมเอกสารในการยื่นเรื่องต่างๆ ในวันกงสุลสัญจร

สามารถดูรายละเอียดการเตรียมเอกสาร โดยเลือกหัวข้อที่ต้องการไปทำเรื่อง และเตรียมเอกสารให้ครบ ตามที่กงสุลใหญ่เขียนแจ้งไว้ที่เว็บไซต์

ตัวอย่างการเตรียมเอกสารสำหรับทำหนังสือเดินทาง

1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใหญ่ ควรเตรียมเอกสารต่อไปนี้ให้ครบ 

➤ กรอกคำร้องหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แผ่น กรอกข้อความให้ครบทุกช่อง

➤ หนังสือเดินทางตัวจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด (รวมหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงและหน้าวีซ่าปัจจุบัน)

➤ สำเนาทะเบียนบ้านไทย ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด ที่เปลี่ยนนามสกุลตามสามีเรียบร้อยแล้ว (หากมีบัตรประจำตัวประชาชน ควรนำมาแสดงด้วย)

➤ หากนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย ไม่ตรงกับนามสกุลในวีซ่า ต้องเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทยให้ตรงกับวีซ่า ก่อนนำมาใช้ขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่

➤ สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนีที่แสดงที่อยู่ในปัจจุบัน 1 ชุด

➤ สำเนาทะเบียนสมรส 1 ชุด

➤ สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)

➤ ซองที่มีพลาสติกกันกระแทกขนาด เอ 5 เขียนชื่อที่อยู่ถึงตัวเอง และติดแสตมป์ 4.00 ยูโร เพื่อส่งหนังสือเดินทางกลับคืน 

➤ ในกรณีที่หนังสือเดินทางสูญหาย หรือถูกขโมย ต้องแสดงใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย หรือใบแจ้งความหนังสือเดินทางถูกขโมยเพิ่มเติม พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางที่หายหรือถูกขโมย และกรอก“บันทึกสอบสวนประกอบคำร้องหนังสือเดินทางหาย” 1 ชุด

2. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้เยาว์ (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)

➤ กรอกคำร้องหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แผ่น กรอกข้อความให้ครบทุกช่อง
➤ หนังสือเดินทางตัวจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด (รวมหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงและหน้าวีซ่าปัจจุบัน)
➤ สำเนาสูติบัตรไทย 1 ชุด
➤ สำเนาทะเบียนบ้านไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก 1 ชุด (ลูกพ่อแม่ไทย และลูกครึ่งที่เกิดในต่างประเทศต้องมีทะเบียนบ้านไทย)
➤ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด (หากมี)
➤ สำเนาใบแสดงสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ปค. 14) หรือบันทึกการหย่าที่ระบุว่ามีอำนาจปกครองบุตร จำนวน 1 ชุด
➤ สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) ของบิดามารดา 1 ชุด
➤ สำเนาหนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย จำนวน 1 ฉบับ
➤ สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน) ของผู้ยื่นคำร้อง และบิดา มารดา(กรณีมารดาเปลี่ยนนามสกุลตามสามีใหม่ต้องแนบทะเบียนสมรสด้วย)
➤ บิดามารดา หรือ ผู้ปกครองตามกฎหมาย ต้องมาลงนามในสัญญายินยอมของคำร้องหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วย
➤ ซองที่มีพลาสติกกันกระแทกขนาด เอ 5 เขียนชื่อที่อยู่ถึงตัวเอง และติดแสตมป์ 4.00 ยูโร เพื่อส่งหนังสือเดินทางกลับคืน
➤ ในกรณีที่หนังสือเดินทางสูญหายหรือถูกขโมย ต้องแสดงใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย หรือ ใบแจ้งความหนังสือเดินทางถูกขโมยเพิ่มเติม พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางที่หายหรือถูกขโมย และกรอก“บันทึกสอบสวนประกอบคำร้องหนังสือเดินทางหาย” 1 ชุด
➤ เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

กรณีผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของหน่วยงานราชการเยอรมัน ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
➤ ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานนั้นๆ ระบุชื่อผู้ปกครองหรือหน่วยงานนั้นๆ แปลเป็นภาษาไทย โดยคำแปลต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย มาก่อน
➤ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการนั้นๆ ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานที่มีอายุใช้งานอยู่ และยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประกอบคำร้อง 1 ชุด
➤ หากมีหนังสือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เยอรมันเป็นผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย ต้องแปลหนังสือแต่งตั้งเป็นภาษาไทย และคำแปลต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือ สถานกงสุลใหญ่ไทย มาก่อน
➤ ผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย (เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการเยอรมัน) ต้องมาลงนามในคำร้องในวันที่มายื่นขอหนังสือเดินทาง

ข้อมูลจาก เว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต (ธ.ค. 2017)

ข้อมูลการติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ /สถานเอกอัครราชทูตไทย

  • สถานกงสุลใหญ่ฯ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
    ที่อยู่: Königlich Thailändisches Generalkonsulat 
    Kennedyallee 109 60596 Frankfurt am Main
    อีเมล์: thaifra@mfa.go.th
    โทร: +49 (0) 6969 868 205
    เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 9:00 - 12:30 น. และ 14:30 - 17:00 น.
    https://www.thaikonfrankfurt.de/
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
    ที่อยู่: Lepsiusstraße 64-66, 12163 Berlin
    โทรศัพท์: 030 79 481 111 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.30 – 17.00 น.)
    ข้อมูลกงสุล/ทั่วไป: general@thaiembassy.de
    http://www.thaiembassy.de
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก
    ที่อยู่: Törringstr. 20, 81675 München
    อีเมล์: consular@thaiconsulate.de
    โทร:+49 (0)89 944 677 113  เวลาให้ข้อมูลทางโทรศัพท์: วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.30 – 17.00 น.)
    https://thaiconsulate.de/

บริการแปลและรับรองคำแปลเอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปลทะเบียนสมรส (Eheurkunde), คำพิพากษาหย่า (Scheidungsbeschluss), มรณบัตร (Sterbeurkunde) และเอกสารราชการอื่นๆ ภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน 

สามารถใช้ฉบับแปลจาก mausmoin.com ประกอบการทำหนังสือเดินทาง ทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ด้านล่าง -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

Line/ Skype ID: mausmoin

info@mausmoin.com

+49(0)176 31176234

ทำใบขับขี่เยอรมัน | Führerschein in Deutschland

ใบขับขี่สากลจากไทย สามารถนำมาใช้ได้ ในช่วง 6 เดือนแรก นับจากวันที่เดินทางเข้ามาในเยอรมัน ไม่ว่าจะมาเที่ยว มาศึกษาต่อ มาทำงาน หรือย้ายตามครอบครัวมาอยู่เยอรมัน หากมีใบขับขี่เป็นภาษาไทย สามารถติดต่อแปลกับ Mausmoin.com เป็นภาษาเยอรมันได้

หากอยู่เยอรมันนานกว่านั้น และต้องการขับรถ เราจะต้องนำใบขับขี่ไทยไปเทียบขอทำใบขับขี่เยอรมัน (Umschreibung) โดยสามารถติดต่อแปลใบขับขี่ไทยกับ Mausmoin.com เป็นภาษาเยอรมันได้ หรือหากไม่มีใบขับขี่มาจากไทย ก็สามารถเริ่มทำใบขับขี่เยอรมันได้ (แต่จะใช้เวลานานกว่า และค่าใช้จ่ายสูงกว่า)

หากเราตั้งใจจะทำใบขับขี่ที่เยอรมัน ก็ควรวางแผน และเตรียมตัวให้ดี เพราะมีรายละเอียดมาก และค่าใช้จ่ายสูง ต่างจากการทำใบขับขี่ที่ไทย ที่ไม่แพง ไม่ยุ่งยาก และไม่เสียเวลานาน

สารบัญ

ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลประเภท B

ลำดับขั้นการเตรียมขอทำใบขับขี่

หลักฐานสำหรับยื่นเรื่องขอทำใบขับขี่

การฝึกช่วยชีวิตในที่เกิดอุบัติเหตุ

การตรวจสายตา

การเรียนทฤษฎี

การเรียนปฏิบัติ

การสอบทฤษฎี

การสอบปฏิบัติ

การขอเทียบใบขับขี่จากไทย

ติดต่อแปลใบขับขี่กับ Mausmoin.com

 

ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลประเภท B ( Klasse B)

Mausmoin.com สรุปข้อมูลใบขับขี่เยอรมันง่ายๆคือ โดยทั่วไป เรามักจะทำใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลประเภท B คุณสมบัติคือ อายุ 18 ปีขึ้นไป และสามารถขับขี่ยานยนต์ได้ การทำใบขับขี่ค่อนข้างใช้เวลานาน อย่างน้อยคือ 2-3 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับโรงเรียนที่เราไปเรียนทฤษฎีว่า เปิดให้เรียนอาทิตย์ละกี่ครั้ง ตารางฝึกขับรถแน่นแค่ไหน ทักษะการขับรถของเรามีมากเพียงใด แต่หากเราเคยทำใบขับขี่ มาจากที่เมืองไทย ก่อนที่จะมาอยู่เยอรมัน ก็สามารถย่นเวลาไม่ต้องเรียนทฤษฎีได้ (โดยยื่นทำเรื่องขอแปลงใบขับขี่) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเรียนและการสอบอยู่ที่ราวๆ 2000-3000 ยูโร (หรืออาจถูกกว่านี้ ถ้าเราขับรถเป็น และขอเทียบใบขับขี่)

ลำดับขั้นการเตรียมขอทำใบขับขี่

ขั้นตอนและค่าใช้จ่ายต่อไปนี้รวบรวมมาจากประสบการณ์ตรงของ Mausmoin.com ในปี 2015 ค่าใช้จ่ายอาจสูงขึ้นหรือแตกต่างกันไปตามรัฐหรือเมืองต่างๆ

  1. สมัครเรียนการฝึกช่วยชีวิตในที่เกิดอุบัติเหตุ (lebensrettende Sofortmaßnahmen) ค่าเรียนประมาณ 20-30 ยูโร เพื่อนำใบรับรองไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอทำใบขับขี่
  2. ตรวจสายตา (Sehtest)  เพื่อนำใบรับรองไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอทำใบขับขี่ ประมาณ 6.43 ยูโร เก็บไว้ใช้ได้ไม่เกิน 2 ปี
  3. ถ่ายรูป ตามข้อกำหนดรูปสำหรับทำหนังสือเดินทาง (Biometrisches Passbild) ถ่ายได้ตามตู้อัตโนมัติ หรือที่เรียนการฝึกช่วยชีวิตบางที่จะมีบริการ ประมาณ 10 ยูโร
  4. หาโรงเรียนสอนขับรถ เพราะในใบคำร้องต้องมีตราประทับจากโรงเรียนด้วย หรือจะติดต่อหาโรงเรียนเป็นขั้นแรกเลยก็ได้ เพราะทางโรงเรียนจะแนะนำและให้ใบคำร้อง พร้อมทั้งแนะนำที่เรียนการฝึกช่วยชีวิตด้วย
  5. เมื่อได้ใบรับรองและรูปครบ ก็ยื่นเรื่องขอทำใบขับขี่ที่ Bürgeramt ในเมืองที่เราอยู่ และใบคำขอจะถูกส่งต่อไปที่ Führerscheinstelle ที่ Landratsamt ของเมือง เพื่อทำเรื่องออกใบอนุญาต ให้ไปสอบทฤษฎี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ค่าทำเรื่องประมาณ 43.40 ยูโร (ณ เมือง Reutlingen ที่ Mausmoin.com ติดต่อยื่นเรื่องในปี 2015)
  6. เข้าเรียนภาคทฤษฎีและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ภาคทฤษฎีเรียนทั้งหมด 14 บทเรียน ค่าลงทะเบียนเรียนประมาณ 259 ยูโร ระหว่างนี้อาจเรียนขับรถคู่ไปด้วยก็ได้
  7. เมื่อโรงเรียนขับรถได้รับแจ้งว่าเราสามารถไปสอบทฤษฎีได้แล้ว เราต้องไปสอบภายใน 1 ปี หลังจากที่ยื่นเรื่องขอทำใบขับขี่ไป ถ้าพ้นกำหนดก็จะต้องยื่นเรื่องใหม่ตั้งแต่แรก ค่าสอบทฤษฎีที่ต้องจ่ายให้ Tüv และโรงเรียนประมาณ 81 ยูโร
  8. เรียนฝึกขับรถให้เข้าใจกฏการใช้รถ ใช้ถนน ค่าเรียนประมาณ 39 ยูโรต่อ 1 คาบ (45 นาที)
  9. จากนั้นจะเรียนขับบนถนนนอกเมือง ทางด่วน และขับเวลากลางคืน รวม 12 คาบ ตามที่กฎหมายบังคับ ค่าเรียนประมาณ 55 ยูโรต่อ 1 คาบ (45 นาที)
  10. หลังสอบทฤษฎีผ่าน ก็เตรียมสอบปฏิบัติ โดยต้องนัดกับครูสอน ครูจะช่วยตัดสินว่าเราพร้อมสอบหรือไม่ และทางโรงเรียนจะทำเรื่องขอสอบปฏิบัติให้ ค่าสอบที่ต้องจ่ายให้ Tüv และโรงเรียนประมาณ 240 ยูโร
  11. ในวันสอบปฏิบัติ ครูจะนั่งข้างๆ คนขับ และผู้คุมสอบจะนั่งอยู่ด้านหลังครู หากครูจำเป็นต้องเหยียบเบรคหรือคันเร่งช่วย การสอบก็จะยุติทันที และต้องรอสอบใหม่อีก 2 สัปดาห์ พร้อมเรียนขับเพิ่มเติม หากสอบผ่านก็จะได้รับใบขับขี่ทันที Mausmoin.com ขอให้ทุกคนโชคดีกับการสอบค่ะ

หลักฐานสำหรับยื่นเรื่องขอทำใบขับขี่ Klasse B

การฝึกช่วยชีวิตในที่เกิดอุบัติเหตุ (lebensrettende Sofortmaßnahmen am Unfallort)

Mausmoin.com สรุปข้อมูลที่เคยเข้าเรียนไว้เมื่อปี 2015 ดังนี้

ค่าเรียน: ประมาณ 20-30 ยูโร

ระยะเวลาเรียน: ส่วนใหญ่จะเปิดให้เรียน วันเสาร์ 10-16.30 น. เรียนเพียงวันเดียว เป็นภาษาเยอรมัน หลังเลิกเรียนจะได้รับใบรับรองซึ่งมีอายุ 2 ปี

เนื้อหาการเรียน: จะมีทั้งฟังอธิบาย และลองปฎิบัติจริง กับเพื่อนในห้อง และหุ่นจำลอง จะมีการอธิบาย กฎหมายการเข้าไปช่วยชีวิตคนอื่น โดยยึดหลักความปลอดภัยของตนเองมาก่อน การฝึกพยุงคนเจ็บออกจากรถ การฝึกลำดับการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การช่วยเหลือคนหมดสติ การฝึกหงายหน้าคนเจ็บเพื่อเปิดทางหายใจ และพลิกให้ผู้ป่วยนอนเอียงข้าง รอการปฐมพยาบาลขั้นต่อๆ ไป การฝึกปั้มหัวใจ และช่วยหายใจทางปากหรือทางจมูก การฝึกกด และพันแผลห้ามเลือด การฝึกถอดหมวกกันน็อคให้ผู้บาดเจ็บ

ข้อแนะนำจาก Mausmoin: การฝึกจะมีการอธิบายหลักการ และเหตุผลว่า ทำไมต้องทำเช่นนี้ หรือการบาดเจ็บแบบใด ควรช่วยเหลือโดยวิธีไหน ถ้าสามารถฟัง และเข้าใจภาษาเยอรมันได้ดี ก็จะเห็นภาพ ตามบทเรียนได้รู้เรื่อง และนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ในบทเรียน ผู้สอนมักจะใช้คำศัพท์ เกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่นหัวใจ ปอด ทางเดินหายใจ หลักการหายใจ ข้อ หรือกระดูก การไหลเวียนเลือด ดังนั้นหากกลัวว่าจะไม่รู้เรื่อง ก็สามารถหาข้อมูล เป็นภาษาไทยอ่านก่อนได้ เพื่อตอนเข้าเรียน จะได้พอเดาออกเมื่อผู้สอนโชว์ภาพ และอธิบายทฤษฎี

ในส่วนของการฝึกปฏิบัติ ผู้สอนจะทำให้ดูก่อน ทีละขั้น และให้ผู้เรียนออกมาฝึกกันทีละคน ทีละคู่ หรือทีละกลุ่ม ตามหัวข้อการฝึกแบบต่างๆ ถ้าเราไม่ค่อยเข้าใจภาษาเยอรมัน ก็ยังสามารถทำตามได้ โดยดูตัวอย่างจากผู้สอนและเพื่อนๆ ในห้อง

การตรวจสายตา (Sehtest)

Mausmoin.com สรุปข้อมูลที่เคยตรวจสายตาไว้เมื่อปี 2015 ดังนี้

ค่าตรวจ: โดยทั่วไปอยู่ที่ 6.43 ยูโร

ระยะเวลา: ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 5 นาที ใบรับรองที่ได้จะใช้ได้ 2 ปี

สถานที่ตรวจ: สามารถตรวจได้ตามร้านแว่นทั่วไป หรือบางโรงเรียนสอนช่วยชีวิตจะมีให้บริการ

วิธีการตรวจ: เราจะต้องมองวงกลมในกล้องตรวจ และบอกลักษณะให้ถูกต้อง (ลักษณะเหมือนการมอง และบอกตัวเลข เวลาตรวจสายตาที่ไทย) แต่ละวงจะไม่เป็นวงกลมทั้งวง แต่จะมีรูโหว่งเล็กๆ ในแต่ละวง เรียงจากบรรทัดบนขนาดใหญ่สุด และเล็กลงเรื่อยๆ โดยจะมีช่องโหว่งทั้งหมด 8 แบบ Mausmoin.com แปลช่องต่างๆเป็นภาษาเยอรมันไว้ให้ดังนี้

  • ซ้าย: links
  • ขวา: rechts
  • บน: oben
  • ล่าง: unten
  • ซ้ายบน: links oben
  • ขวาบน: rechts oben
  • ซ้ายล่าง: links unten
  • ขวาล่าง: rechts unten

คำแนะนำจาก Mausmoin: ควรใส่แว่น หรือคอนแทคเลนส์ขณะตรวจ เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน และสามารถตอบช่องโหว่งต่างๆ ได้ถูกต้อง

 การเรียนภาคทฤษฎี (theoretische Ausbildung)

สำหรับใบขับขี่ประเภท B บังคับให้เรียนทั้งหมด 14 ครั้ง ครั้งละ 90 นาที Mausmoin.com สรุปหัวข้อบทเรียนที่เคยเข้าเรียนไว้เมื่อปี 2015 ดังนี้

  1. Persönliche Voraussetzungen
  2. Risikofaktor Mensch
  3. Rechtliche Rahmenbedingungen
  4. Straßenverkehrssystem und seine Nutzung
  5. Vorfahrt und Verkehrsregelungen
    Verhalten
  6. Verkehrszeichen und Verkehrseinrichtungen sowie Bahnübergänge
  7. Andere Teilnehmer im Straßenverkehr
  8. Geschwindigkeit, Abstand und umweltschonende Fahrweise
  9. Verkehrsverhalten bei Fahrmanövern, Verkehrsbeobachtung
  10. Ruhender Verkehr, zu wenig Straßenraum – zu viele Autos
  11. Verhalten in besonderen Situationen, Folgen von Verstößen gegen Verkehrsvorschriften
  12. Lebenslanges Lernen
  13. Technische Bedingungen, Personen- und Güterbeförderung – umweltbewusster Umgang mit
    Kraftfahrzeugen
  14. Fahren mit Solokraftfahrzeugen und Zügen

คำแนะนำจาก Mausmoin.com: อย่าลืมลงชื่อเมื่อเข้าเรียนทุกครั้ง ควรตั้งใจเรียนในคาบ หากไม่เข้าใจ ก็ควรทบทวน และฝึกทำข้อสอบใน App สำหรับสอบใบขับขี่ เก็บสถิติการตอบถูก หรือผิด กลับไปทบทวนข้อที่ผิด หากลองทำใน App แล้วทำถูก 100% หลายๆ ครั้ง ก็มีโอกาสสอบข้อเขียนผ่าน 100% เช่นกันในขั้นนี้ ความขยันช่วยเราได้ดีที่สุด

การเรียนภาคปฏิบัติ Praktische Ausbildung

สำหรับใบขับขี่ประเภท B บังคับให้เรียนทั้งหมด 12 คาบเรียน (คาบเรียนละ 45 นาที) Mausmoin.com สรุปข้อมูลที่เคยเข้าเรียนไว้เมื่อปี 2015 ดังนี้

  • Überland 5 คาบ (ขับบนถนนนอกเมือง)
  • Autobahn 4 คาบ (ขับบนทางด่วน)
  • Dunkelheit 3 คาบ (ขับช่วงเวลาเช้าตรู่ หรือค่ำ ที่ต้องเปิดไฟขับ)

นอกนั้นจะเป็นชั่วโมงฝึกขับรถ ที่เรานัดเรียนกับครู ฝึกจนมีความมั่นใจ ในขั้นนี้ จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากเราขับรถไม่แข็ง

คำแนะนำจาก Mausmoin.com: ควรฝึกขับจนคล่อง และพร้อมสอบขับ ก่อนที่จะสมัครสอบปฏิบัติ เพราะหากสอบไม่ผ่าน เราจะต้องรอสอบอีกหลายสัปดาห์ และต้องเสียค่าสอบใหม่อีกกว่า 200 ยูโร ครูฝึกจะช่วยแนะนำเราได้ ว่าเราพร้อมสอบหรือยัง

สามารถเลือกสอบขับรถแบบเกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ธรรมดาก็ได้ ถ้าเราขับรถไม่แข็ง เกียร์ธรรมดาจะใช้เวลาเรียนนานกว่า เพราะเราต้องใช้สมาธิ ทำความเข้าใจกับ การเข้าเกียร์ การใช้คลัทช์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสังเกตป้ายจราจร คำสั่งครู ดูสัญญาณไฟ ให้ทางรถทางขวา (กรณีไม่มีป้ายบอกว่าเราเป็นทางหลัก)

การสอบทฤษฎี (theoretische Führerscheinprüfung)

Mausmoin.com สรุปข้อมูลที่เคยสอบข้อเขียนไว้เมื่อปี 2015 ดังนี้

วิธีการสอบ: สอบกับคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต เป็นภาษาเยอรมัน หรือมีภาษาอื่นๆ ให้เลือกสอบได้อีก 11 ภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน ตุรกี สำหรับสอบภาษาไทย Mausmoin.com ได้เช็คกับทาง TÜV พบว่าได้ยกเลิกการใช้ล่ามช่วยแปลข้อสอบเป็นภาษาไทยแล้ว

ข้อสอบจะเอามาจาก แบบฝึกหัดประมาณ 1000 ข้อ ที่เราลองฝึกทำใน app หรือเว็บไซต์ต่างๆ คำถามและคำตอบ จะเหมือนที่เราเคยฝึกมา มีทั้งคำถามจากโจทย์ แล้วให้เลือกคำตอบ และแบบที่ให้ดูวีดีโอ จำลองสถานการณ์ แล้วตอบคำถาม

คำถามแต่ละข้อ อาจมีคำตอบที่ถูกต้อง เพียงข้อเดียว หรือมากกว่า 1 ข้อ หรือถูกทุกข้อ

เวลา: ไม่กำหนด

จำนวนข้อ: 30 ข้อ มาจาก ความรู้ทั่วไป และความรู้เฉพาะของ Klasse B แต่ละข้อมีคะแนนไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 3-5 คะแนน แต่ละข้อจะเขียนคะแนนกำกับไว้

คะแนนเต็ม: 110 คะแนน

เกณฑ์การสอบผ่าน: ผิดได้ไม่เกิน 10 คะแนน ดังนั้นข้อละ 5 คะแนนจะผิดได้ไม่เกิน 2 ข้อ

การนัดสอบ: ทางโรงเรียน จะได้ผลการยื่นขอทำใบขับขี่จาก Führerscheinstelle และแจ้งเราให้นัดสอบ โดยนัดล่วงหน้า 1 อาทิตย์ หรือเมื่อพร้อมสอบจริง เพราะถ้าสอบไม่ผ่าน ต้องรออีก 2 อาทิตย์ จึงนัดสอบใหม่ได้

ค่าสอบ: แบ่งเป็นส่วนที่ต้องจ่ายให้โรงเรียนค่าทำเรื่องสอบให้ประมาณ 60 ยูโร และค่าสอบที่ TÜV 20.83 ยูโร mausmoin.comให้ข้อมูล ณ ปี 2015

ข้อแนะนำวันสอบจาก Mausmoin.com:

  • อย่าลืมบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง
  • ไปก่อนเวลาสอบ
  • ตรวจคำตอบก่อนส่งข้อสอบอีกรอบ ว่าทำครบหรือไม่

เมื่อส่งคำตอบแล้ว ก็จะรู้ผลวันนั้นเลย หากสอบผ่าน ก็เตรียมตัวนัดเรียนขับรถ หรือนัดสอบปฏิบัติ ถ้าสอบไม่ผ่าน ต้องรออีก 2 อาทิตย์ จึงนัดสอบใหม่ได้

การสอบปฏิบัติ (praktische Führerscheinprüfung)

Mausmoin.com สรุปข้อมูลที่เคยสอบปฏิบัติไว้เมื่อปี 2015 ดังนี้ สอบทั้งหมด 45 นาที สอบในสถานที่จัดสอบ ออกถนนจริง และมีขึ้น Autobahn หรือ Kraftfahrstraße ด้วย ถ้าเราฝึกฝนในชั่วโมงเรียนมาเพียงพอแล้ว ตอนสอบก็เพียงตั้งสติ ฟังคำสั่งผู้คุมสอบ ขับรถตามกฎจราจร เคารพผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ขับด้วยความมั่นใจ และระมัดระวัง เราก็จะสามารถสอบผ่าน และได้รับใบขับขี่เยอรมันหลังสอบทันที

เคล็ดลับจาก Mausmoin.com: โดยทั่วไป ครูฝึกมักจะพาเราไปฝึกขับในโซน ที่ผู้คุมสอบมักจะสั่งให้ไป แต่หากวันสอบ เราต้องขับไปในทางที่เราไม่คุ้นเคย ก็ตั้งสติ ขับตามป้ายจราจร สัญญาณไฟ และกฎการใช้รถใช้ถนน ตามที่เคยเรียนมา

หากสอบแบบเกียร์ธรรมดาผ่าน เราจะสามารถขับรถได้ทั้งแบบเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ แต่ถ้าเราสอบเกียร์อัตโนมัติมา ใบขับขี่ของเรา จะไม่สามารถใช้ขับเกียร์ธรรมดาได้

การขอเทียบใบขับขี่จากไทย (Führerschein Umtausch/Umschreibung beantragen)

เราสามารถยื่นเรื่องขอเทียบใบขับขี่เยอรมันได้ หากเราเคยทำใบขับขี่ไทยมาจากไทย ก่อนมาอาศัยอยู่ในเยอรมัน โดยเราไม่ต้องไปเข้าเรียนทฤษฎี แต่จะต้องสอบข้อสอบทฤษฎีและปฏิบัติด้วย เมื่อสอบผ่าน เราก็นำใบขับขี่ไทย แลกกับใบขับขี่เยอรมัน และมีผลใช้ได้ทันที

ข้อดี: ใช้เวลาสั้นกว่าการทำใบขับขี่ตั้งแต่เริ่มแรก ค่าลงทะเบียนเรียนจะถูกลง (บางโรงเรียนจะยกเว้นให้) และไม่ต้องจ่ายค่าเรียนทฤษฎีขับรถกับทางโรงเรียน (200-300 ยูโร) ไม่ต้องเดินทางไปเข้าเรียนทฤษฎีหลายๆ สัปดาห์  แต่เราสามารถเตรียมตัวสอบทฤษฎี ได้ด้วยตนเองที่บ้าน เมื่อสอบข้อเขียนผ่าน ครูสอนขับรถจะหาตารางสอนขับรถให้เรา เร็วกว่านักเรียนที่เริ่มเรียนตั้งแต่แรก และพาไปสอบขับรถเร็วขึ้น เพราะเห็นว่าเราเคยขับรถมาก่อนแล้ว

การเตรียมเอกสาร: จะเหมือนกับการทำใบขับขี่ตั้งแต่เริ่มแรก และเราต้องเตรียมเอกสารเพิ่มอีก 1 อย่างคือ ใบขับขี่จากไทยที่ยังไม่หมดอายุ นำมาแปลและรับรองคำแปล เป็นภาษาเยอรมันโดย Mausmoin.com นักแปลที่ได้รับการรับรองจากศาล (แปลกับ Mausmoin.com จะได้ภายใน 2-5 วันทำการ) หรือกับ ADAC (ใช้เวลานาน 3 อาทิตย์ ราคาสูงถึง 80 ยูโร)

ติดต่อแปลใบขับขี่ไทย-เยอรมัน ได้ที่ Line ID: mausmoin, อีเมล์ info@mausmoin.com

แต่หากเคยต่ออายุใบขับขี่ไทย ในช่วงที่เราอยู่เยอรมันมานานแล้ว ก็ควรขอหลักฐานจากกรมขนส่งไทย ว่าเคยทำใบขับขี่ใบก่อนหน้านี้ ก่อนมาอาศัยอยู่เยอรมัน หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ขนส่งในเมืองที่เรายื่นคำร้อง สามารถนำเอกสารภาษาไทยเหล่านี้ มาแปลและรับรองคำแปลเป็นภาษาเยอรมันกับ mausmoin.com ได้

ค่าใช้จ่าย: การยื่นเรื่องกับ Führerscheinstelle ประมาณ 35-40 ยูโร (ปี 2015) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถูกกว่าแบบทำใบขับขี่ปกติตั้งแต่แรก

ข้อมูลข้างต้น เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์ส่วนตัวจาก Mausmoin.com ช่วงปลายปี 2015 ค่าใช้จ่ายอาจจะถูก หรือแพงแตกต่างกันไป ตามแต่ละรัฐ เช่นในรัฐ Bayern และ Baden-Württemberg จะมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยแพงกว่ารัฐอื่นๆ เราควรสอบถามรายละเอียด เวลา ค่าใช้จ่าย หรือเอกสารที่ต้องใช้อีกครั้ง กับทาง Führerscheinstelle ที่เมือง (หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้) และทางโรงเรียนสอนขับรถ ที่เราจะไปติดต่อ จะได้เตรียมเอกสารและงบประมาณได้ครบและรวดเร็ว

Mausmoin.com ขอให้ทุกคนโชคดีกับการเรียนขับรถ และสอบผ่านทุกคนนะคะ

ติดต่อแปลใบขับขี่ ไทย-เยอรมัน

แปลและรับรองคำแปลเยอรมัน-ไทย กับ Mausmoin.com โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ยื่นเรื่องขอเทียบใบขับขี่จากไทยในเยอรมัน (Umschreibung) ได้ คุณจะได้รับฉบับแปลทางไปรษณีย์ภายใน 2-5 วันทำการหลังชำระค่าบริการ

สามารถทราบค่าแปลเอกสารทุกประเภทได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234