วิกฤติและการจัดการผู้อพยพในเยอรมัน “Wir schaffen das”

ผ่านมาแล้ว 1 ปีที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้กล่าววลีเด็ด “เราทำได้” (“Wir schaffen das.”) ต่อวิกฤติการหลั่งไหลของผู้อพยพเข้าสู่เยอรมัน ที่เป็นที่กล่าวขานถึงทั้งด้านดีและก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์มากมาย มาสรุปกันว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤติและการจัดการผู้อพยพมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

1. จำนวนผู้อพยพ

ในปี ค.ศ. 2015 มีผู้อพยพราว 1 ล้านรายเดินทางเข้ามาในเยอรมัน จากหลากหลายประเทศ เช่น ซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน แอฟริกาเหนือ และประเทศในคาบสมุทรบอลข่านนางแมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมันก็พยายามให้สัญญาว่าจะลดปริมาณผู้อพยพลงให้ชัดเจนขึ้น

และแล้ว ในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2016 มีจำนวนผู้อพยพที่ลงทะเบียนลดลงเหลือราว 220,000 ราย โดยมีจำนวนลดลงเดือนต่อเดือนจริง จากราว 92,000 รายในเดือนม.ค. ลดลงเหลือเพียง 16,000 ราย ในเดือนก.ค. ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ไม่ได้มาจากผลงานของนางแมร์เคลโดยตรง แต่มาจากการที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (เช่นประเทศตุรกี) พยายามกีดกันผู้อพยพที่เดินทางหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปทางเส้นคาบสมุทรบอลข่าน แม้จะมีความขัดแย้งในแง่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ หากสงครามในซีเรียยังดำเนินต่อไป แรงกดดันที่ทำให้พลเมืองต้องอพยพหนีก็ยังมีมากอยู่อย่างนั้น ผู้อพยพยังคงหาเส้นทางอื่นๆ ในการลี้ภัยต่อไป

2. การบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมัน

คอร์สเรียนภาษาเยอรมันและคอร์สเรียนเพื่อการบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมันยังคงขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเยอรมัน คาดว่าปีนี้น่าจะยังขาดที่เรียนในคอร์สต่างๆ กว่า 200,000 ที่

รัฐบาลแถลงว่า แม้จะพยายามเปิดคอร์สเพิ่ม แต่ก็ยังขาดแคลนผู้สอนในหลายๆ เมือง เนื่องจากค่าจ้างไม่สูงนัก ซึ่งรัฐก็พยายามแก้ไข โดยขึ้นค่าตอบแทนครูผู้สอนเมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ คาดว่าในปี ค.ศ. 2016 จะมีจำนวนผู้เข้าเรียนมากกว่า 500,000 ราย โดยจะให้สิทธิ์เข้าเรียนสำหรับผู้อพยพที่มีโอกาสได้อยู่เยอรมันต่อเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีกประเด็น ก็คือเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามา โดยในช่วงปี ค.ศ. 2014-2015 มีเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามาจำนวนกว่า 325,000 ราย เข้าเรียนในระบบการศึกษาเยอรมัน ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 2 ของสัดส่วนนักเรียนทั้งหมดในเยอรมัน สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ยังมีความต้องการครูและนักการศึกษาที่รู้วิธีการจัดการกับเด็กที่ซึมเศร้าเพิ่มด้วย

จากการสำรวจของ Spielgel-Online ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา พบว่ารัฐต่างๆในเยอรมันเปิดรับครูใหม่เพิ่มแล้วกว่า 12,000 ราย ซึ่งยังไม่พอต่อความต้องการครูที่คาดว่ามีมากกว่า 20,000 ราย

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการเยอรมันยังคาดว่า เด็กเล็กนับเฉพาะที่อพยพเข้ามาในช่วงปีค.ศ. 2015 ยังขาดที่เรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก (Kita) อีกกว่า 58,000 ที่ และยังต้องการบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อดูแลเด็กให้ทั่วถึงอีกกว่า 9,400 ราย

3. ผู้อพยพในตลาดแรงงาน

โครงการช่วยเหลือผู้อพยพเพื่อการบูรณาการเข้ากับสังคมเยอรมัน “Wir zusammen” มีกิจการกว่า 100 แห่งเข้าร่วม เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้อพยพ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สรุปตัวเลขคร่าวๆ ได้ดังนี้: ที่ฝึกงาน (Praktikum) เพิ่มขึ้น 1800 ที่ ที่เรียนงาน (Ausbildung) มากกว่า 500 ที่ และจ้างงานประจำเพิ่มกว่า 400 ที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันมองว่ายังมีตัวเลขน้อยไป

ที่ผ่านมา ผู้อพยพแทบจะยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเลย ตามรายงานของสำนักจัดหางานของรัฐ ในเดือนก.ค. มีผู้อพยพกว่า 322,000 รายที่ได้รับอนุมัติคำร้องขอลี้ภัยแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลในการจัดหางาน ทั้งนี้ผู้อพยพจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ หากยังไม่ได้รับการอนุมัติคำร้องขอลี้ภัย โดยจากจำนวน 322,000 รายดังกล่าว มี 141,000 รายที่ยังตกงาน

ผู้อพยพจำนวนมากยังสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือมีวุฒิการศึกษายังไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้อพยพส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย ความหวังจึงอยู่ที่ การรับผู้อพยพเข้าเรียนงาน (Ausbildung) เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานต่อไป

4. กระบวนการพิจารณาการขอลี้ภัย

ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ (BAMF) ถูกมองว่าเป็นหน่วยงานรัฐที่ยังทำงานได้ไม่ดีท่ามกลางวิกฤติผู้อพยพที่เกิดขึ้น ผู้อพยพหลายร้อยรายยื่นฟ้องศาลว่าสำนักงานดังกล่าวทำงานช้าเกินไป พวกเขาต้องการให้เร่งพิจารณาการขอลี้ภัยให้เร็วขึ้น ซึ่งนายไวเซอ ผู้อำนวยการ BAMF ก็ออกมาชี้แจงว่า ได้ปรับการทำงานให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยรับเจ้าหน้าที่เพิ่มกว่า 2300 คน ในช่วงต้นปีค.ศ. 2015 ทำให้ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รวม 8000 คน และได้เปิดสำนักงานใหม่เพิ่มอีกหลายแห่ง

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สำนักงานฯ ต้องพิจารณาการขอลี้ภัยมากกว่า 330,000 คำร้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

จำนวนคำร้องกองโตที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นเกินห้าแสนฉบับ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้แต่แรกว่าจะสะสางให้เสร็จภายในสิ้นปี สาเหตุมาจากจำนวนกรณีการพิจารณาขอลี้ภัยเก่าๆ ที่มีความซับซ้อนเหลืออยู่จำนวนมาก และยังทำให้เวลาเฉลี่ยของกระบวนการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มนานขึ้นด้วย กล่าวคือใช้เวลามากกว่า 6 เดือน แต่สำหรับคำร้องใหม่ๆ น่าจะพิจารณาตัดสินการขอลี้ภัยได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยตามแผนที่วางไว้ ผู้อพยพทุกคนน่าจะสามารถยื่นคำร้องได้เสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ นายไวเซอกล่าว

5. การก่ออาชญากรรม

เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศช่วงสิ้นปีที่แล้วที่เมืองเคิล์นทำให้ผู้คนต่างหวาดกลัวว่า การที่เยอรมันอ้าแขนรับผู้อพยพถือเป็นการนำปัญหาด้านอาชญากรรมเข้ามาให้ประเทศหรือไม่

สถิติของทางตำรวจในเรื่องการก่อการกระทำความผิดชี้ให้เห็นว่า จำนวนการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในปีค.ศ. 2015 ประมาณร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักๆ ของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นก็คือการกระทำความผิดในการขอลี้ภัย และการพำนักในเยอรมันของชาวต่างชาติ (เช่นการหลบหนีเข้าเมือง หรือการพำนักในประเทศอย่างผิดกฎหมาย) ซึ่งหากไม่นับจำนวนความผิดทั้ง 2 เรื่องนี้รวมในสถิติด้วย ตัวเลขอาชญากรรมก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่าแสนรายในประเทศก็ตาม

จากรายงานของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ กลุ่มผู้อพยพบางกลุ่มจะถูกจับตามเป็นพิเศษ เช่นผู้อพยพจากอัลจีเรีย โมรอคโค และทูนีเซียมักจะถูกคิดว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดมากกว่าผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ

อันที่จริงวิกฤติผู้อพยพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขสถิติการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ผู้อพยพเองไม่ใช่เป็นผู้ก่อความผิด แต่กลับเป็นเหยื่อของอาชญากรรม โดยในปีนี้มีการก่อเหตุทำลายที่พักผู้อพยพไปแล้วกว่า 665 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2015 มีกว่า 1031 ครั้ง เพิ่มขึ้น 5 เท่าของปีก่อนหน้า

การก่อการร้ายที่เมืองวือร์ซบวร์ก และเมืองอันส์บัคทำให้เกิดการโยงประเด็นของผู้อพยพกับการก่อการร้ายเข้าด้วยกัน ผู้ก่อเหตุทั้งสองเป็นผู้อพยพเข้ามาในเยอรมัน ซึ่งเดินทางเข้ามาก่อนหน้าการอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว แต่หน่วยงานดูแลความมั่นคงกลับไม่ได้สังเกตเห็นสองผู้ก่อเหตุนี้ก่อนหน้านี้

หน่วยงานดูแลความมั่นคงคอยตรวจสอบเบาะแสที่นำไปสู่ปฏิบัติการลับของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพ ล่าสุดได้รับการแจ้งเบาะแสมากกว่า 400 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาตำรวจยังไม่พบแผนการก่อการร้ายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ากลุ่มหัวรุนแรงจะพยายามเผยแพร่แนวคิดและชักชวนคนรุ่นใหม่ในที่พักผู้อพยพเข้าร่วมกลุ่ม

6. การส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด

การเร่งส่งตัวผู้ถูกปฏิเสธขอลี้ภัยกลับประเทศ เป็นหนึ่งในแผนที่เยอรมันวางไว้ ตัวเลขการส่งตัวกลับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ระบบการจัดการยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

จากรายงานของศูนย์ลงทะเบียนชาวต่างชาติ ในเยอรมันมีผู้อพยพกว่า 220,000 คนที่จะต้องถูกส่งตัวออกจากประเทศ แต่กว่า 172,000 คนได้รับการผ่อนผัน เนื่องจากเหตุผลเช่น มีสงครามในประเทศบ้านเกิด

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ส่งตัวกลับประเทศทำได้ลำบากคือ

- ผู้ถูกปฏิเสธการขอลี้ภัยไม่มีเอกสารอะไรติดตัว ดังนั้นประเทศบ้านเกิดจึงไม่ต้องการรับพวกเขากลับเข้าประเทศ ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการหลบเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับ รัฐบาลเยอรมันก็พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือรับพลเมืองของตนกลับสู่ประเทศให้มากขึ้น

- รัฐจะไม่สามารถส่งตัวใครกลับไปประเทศเดิมได้ หากผู้นั้นมีใบรับรองแพทย์ว่าป่วยเดินทางไม่ได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ต่อไปควรจะมีเพียงแพทย์จากทางรัฐเท่านั้นหรือไม่ ที่สามารถออกใบรับรองอาการเจ็บป่วยให้กับคนกลุ่มนี้ได้

- ผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับหลบซ่อนตัว ในวันที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศเดิม เยอรมันจึงพยายามแก้ปัญหา โดยการไม่แจ้งเรื่องการส่งตัวกลับประเทศให้เจ้าตัวทราบล่วงหน้า

Quelle: Spiegel.de

2016-09-30

การขอสัญชาติเยอรมัน | Einbürgerung in Deutschland


สารบัญ 

เอกสารที่ต้องใช้

การถือสองสัญชาติ

คุณสมบัติ และเงื่อนไข

การสอบขอสัญชาติ

ตัวอย่างข้อสอบ Einbürgerungstest

ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com

เอกสารที่ต้องใช้

เจ้าหน้าที่จะสอบถามเรา และดูประวัติของเราก่อน จากนั้นจะให้รายการเอกสารที่ต้องเตรียม แต่ละคนอาจจะต้องเตรียมเอกสารมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติและสถานภาพครอบครัวของแต่ละคน

เอกสารเกี่ยวกับตัวเราที่มักจะต้องเตรียม ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง และวีซ่าถาวร (Aufenthaltstitel)
  • สูติบัตรของเรา (ของคู่สมรส และของลูก) ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้าชื่อในสูติบัตร หรือเอกสารอื่นๆ ไม่ตรงกับชื่อหรือนามสกุลในพาสปอร์ต)
  • เอกสารแต่งงานต่างๆ (หรือ/และ เอกสารหย่าต่างๆ)ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบสำเร็จการศึกษา และหลักฐานทางการศึกษา หรือการฝึกงานอื่นๆติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • รูปถ่ายปัจจุบัน
  • หลักฐานการเงิน หรือใบรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง
  • หลักฐานแสดงระดับความรู้ภาษาเยอรมันระดับ B1 (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)
  • ผลสอบ Einbürgerungstest (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)

ถ้าเอกสารเป็นภาษาไทย ต้องนำมาแปลและรับรองคำแปลกับนักแปลที่ศาลเยอรมันรับรอง สามารถติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com ได้ที่ info@mausmoin.com หรือ Line ID: mausmoin

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ใบคำร้องขอสัญชาติเยอรมัน และข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายการขอสัญชาติที่เมืองที่เราอาศัย (Einbürgerungsbehörde) ที่ Ausländerbehörde หรือสอบถามที่ Rathaus ของเมืองที่เราอยู่

ค่าทำเรื่องขอสัญชาติเยอรมัน: 255 ยูโร ต่อคน และเด็กที่ยื่นเรื่องพร้อมพ่อแม่จะอยู่ที่ 51 ยูโร

การถือสองสัญชาติ (Hinnahme von Mehrstaatigkeit)

กฎหมายสัญชาติเยอรมัน ปกติแล้วไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติได้ เช่น การสละสัญชาติไทย อาจจะใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือการสละสัญชาติไทยมีผลเสียมากมายต่อการครอบครองที่ดิน หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ที่เมืองไทย ดังนั้นการขอสัญชาติเยอรมัน จึงมีการอนุโลมให้คนไทยสามารถถือสองสัญชาติคู่กันได้ (ณ ปี 2016) ทั้งนี้ Mausmoin.com แนะนำว่าควรสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ว่าต้องแจ้งหรือเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

อ้างอิงข้อมูลการถือสองสัญชาติจาก สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ และกฎหมายเยอรมัน Staatsangehörigkeitsgesetz (StAG) § 12

ข้อมูลจากกงสุลไทยในเยอรมัน กรณีการถือสองสัญชาติ:

1. "ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ทางการเยอรมันได้ยกเว้นให้บุคคลสัญชาติไทยที่ไปขอสัญชาติเยอรมัน สามารถถือสองสัญชาติได้ โดยไม่ต้องสละสัญชาติไทยอีกต่อไป"

2. "ตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทยไม่ได้ “ห้าม” แต่ก็ไม่ได้ “ให้” บุคคลสัญชาติไทยไปถือสัญชาติอื่น"

กรณีต้องการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย อ่านรายละเอียด เอกสารและเงื่อนไขคุณสมบัติได้ที่: ข้อมูลของกรมการกงสุลไทย (PDF)

คุณสมบัติ และเงื่อนไขการขอสัญชาติเยอรมัน

Mausmoin.com สรุปเงื่อนไขเบื้องต้นของการขอสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยมาให้ด้านล่าง ทั้งนี้ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ Ausländerbehörde ที่เมือง เพื่อขอรายละเอียดสำหรับแต่ละคน แต่ละกรณีเพิ่มเติม

  • มีวีซ่าถาวร (unbefristetes Aufenthaltsrecht) หรือมีวีซ่าประเภท Blaue Karte ในวันที่จะขอสัญชาติ
  • สอบ Einbürgerungstest ผ่าน
  • อยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 8 ปี (หรือระยะเวลาอาจจะสั้นลงเหลือ 6-7 ปี ถ้าเรียนจบคอร์ส Integrationskurs)
  • สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐ เช่น เงินตกงาน Hartz IV
  • มีความรู้ภาษาเยอรมันเพียงพอ
  • ไม่ต้องโทษ หรือมีความผิดทางกฎหมาย
  • ยอมรับหลักกฎหมายพื้นฐานแบบประชาธิปไตยเสรีของประเทศเยอรมัน
  • สามารถสละสัญชาติเดิมได้ แต่ข้อนี้ไทยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องสละสัญชาติไทย

เคสพิเศษอื่นๆ

1. ถ้าแต่งงานกับคนเยอรมันถูกต้องตามกฎหมาย มาอย่างน้อย 2 ปี และอยู่ด้วยกัน ตัวคุณอยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 3 ปี และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการขอสัญชาติ (ดูหัวข้อ คุณสมบัติและเงื่อนไข) ก็สามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติเยอรมันได้ (Einbürgerung des Ehegatten eines Deutschen) 
2. โดยปกติคู่สมรสหรือลูกที่เป็นผู้เยาว์ สามารถยื่นขอสัญชาติร่วมได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่เยอรมันครบ 8 ปี (Staatsangehörigkeitsgesetz§ 10 (2))
3. โดยปกติ จะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน (Staatsangehörigkeitsgesetz § 10 (5))
4. ลูกชายที่มีสองสัญชาติ ไทย-เยอรมัน หรือชายไทยที่มีสองสัญชาติ ตามกฏหมายไทย จะต้องไปเกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 21 ปี แต่หากเรียนอยู่ที่เยอรมันก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันได้ โดยทำเรื่องยื่นขอสัสดีท้องที่ที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมอบอำนาจไป พร้อมเตรียมเอกสารไปตามที่กำหนด หากเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน ให้ Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปลเป็นไทย และจึงนำไปยื่น รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านข้อมูลจากกงสุลที่นี่
5. เด็กที่มีพ่อแม่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เกิดในเยอรมัน จะได้สองสัญชาติตั้งแต่เกิด ในกรณีที่ในเวลาที่เด็กเกิด พ่อหรือแม่อยู่เยอรมันมาติดต่อกัน 8 ปี และมีวีซ่าถาวรในเยอรมัน และเด็กจะได้สัญชาติไทยตามสัญชาติของพ่อแม่ที่เป็นคนไทยด้วย
หมายเหตุ แต่ละเมืองอาจจะมีเกณฑ์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประวัติการเรียน การทำงาน สถานะการแต่งงาน และการอยู่อาศัยของแต่ละคนด้วย หากมีคำถามเคสพิเศษอื่นๆ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ Einbürgerungsbehörde น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุดค่ะ

การสอบขอสัญชาติ (Einbürgerungstest)

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการสอบขอสัญชาติเป็นภาษาไทยมาให้ดังนี้ เราสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่อาศัยในเยอรมัน รวมไปถึงกฎเกณฑ์ และกฎระเบียบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเมื่อเราจะขอสัญชาติเยอรมัน

ปกติแล้วเราจะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest เมื่อทำเรื่องขอสัญชาติ แต่เราก็อาจไม่ต้องสอบถ้าเราเรียนจบจากเยอรมัน (เรียนหลักสูตรภาษาเยอรมัน)

ค่าสอบ: 25 ยูโร สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองของเรา เกี่ยวกับตารางเวลาสอบ และสถานที่สอบ

ลักษณะการสอบ Einbürgerungstest: มี 33 ข้อ ให้เวลา 60 นาที เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบ (a,b,c,d) ต้องตอบถูก 17 ข้อขึ้นไป จึงจะสอบผ่าน ถ้าเราสอบผ่าน ก็จะได้ใบรับรองผลสอบจาก Bundesamt für Migration und Flüchtlinge เพื่อไปยื่นพร้อมเอกสารอื่นๆ ที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองต่อไป แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็สอบแก้ตัวใหม่ได้

ตัวอย่างข้อสอบขอสัญชาติ

Mausmoin.com รวบรวมแหล่งฝึกทำข้อสอบมาให้ ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบ และทำเรื่องขอสัญชาติได้อย่างราบรื่นค่ะ

รวบรวมข้อมูลจาก bamf.de (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ปี 2016)

Angaben ohne Gewähr

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจาก Mausmoin.com ประกอบการขอสัญชาติ หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234