ซุปเปอร์มาร์เก็ตเยอรมันเตรียมถอด “หลอดพลาสติก” ออกจากชั้นสินค้าแล้ว | Plastik-Strohhalme verbannen

หลอดพลาสติกไม่ดียังไง ทำไมต้องเลิกขาย เม้าส์มอยน์จะเล่าให้ฟัง

เครือบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเยอรมันอย่าง Rewe และ Lidl เตรียมที่จะหยุดจำหน่ายหลอดพลาสติกแล้ว

โดย Rewe วางแผนจะถอดหลอดพลาสติกออกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 6000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ โดยในเครือ Rewe ประกอบไปด้วยบริษัทลูก อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Penny และร้านขายวัสดุก่อสร้าง Toom

ในส่วนของเครือบริษัท Lidl ที่รวมไปถึงบริษัทลูกอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Kaufland ก็ตั้งใจว่าจะเลิกขายหลอดและสินค้าพลาสติกใช้แล้วทิ้งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย จาน ช้อน ส้อม รวมไปถึงที่ปั่นหู ภายในสิ้นปีหน้า (ค.ศ. 2019)

ทั้งนี้ หลอดเป็นหนึ่งในสินค้าใช้แล้วทิ้ง เป็นขยะที่ลอยอยู่ในทะเลและตามชายหาดจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีการใช้งานอยู่เพียง 20 นาที ก่อนที่เราจะโยนหลอดทิ้งกลายเป็นขยะ เชื่อไหมว่า แค่ในยุโรปเองก็มีพลาสติกกว่าแสนตันในทะเลแล้ว ต่อปีมีการใช้หลอดกว่า 36.4 พันล้านชิ้น แก้วกาแฟใช้แล้วทิ้ง 16 พันล้านแก้ว ขวดใช้แล้วทิ้ง 46 พันล้านขวด และรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อีก

ซึ่งหากทางเครือ Rewe เลิกขายแล้ว จะสามารถลดปริมาณหลอดพลาสติกลงได้มากกว่า 42 ล้านชิ้นเลย (จากคำแถลงของทาง Rewe) และในปีหน้า เราจะเริ่มเห็นสินค้าทดแทนพลาสติก ที่ทำจากกระดาษ ต้นอ่อนข้าวสาลี หรือสแตนเลส ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือ Rewe แทน

ทางเครือ Lidl ก็ต้องการจะนำสินค้าทดแทนพลาสติกที่นำมาใช้ใหม่ได้ มาขายแทนในซุปเปอร์มาร์เก็ต กว่า 3200 สาขาเช่นกัน แต่จะเริ่มหลังจากที่ขายของเก่าในชั้นให้หมดก่อน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยุโรปได้นำเสนอมาตรการลดขยะพลาสติกช่วงปลายเดือนพค. ที่ผ่านมา และต้องการที่จะลดปริมาณขยะใช้แล้วทิ้งในทะเลลงร้อยละ 30 ภายในปีค.ศ. 2020 และลดให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปีค.ศ. 2030

ที่ประเทศไทย เม้าส์มอยน์ก็เห็นบางโรงแรมเริ่มนำหลอดที่ทำจากกระดาษมาใช้แทนหลอดพลาสติกบ้างแล้ว แต่พอดูดไปซักพัก ก็จะเริ่มเปื่อย ขาด งอ หวังว่าจะมีนวัตกรรมที่ดีกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนพลาสติกได้เร็ว ๆ 

เยอรมนีจะเริ่มเก็บค่าทางด่วนปี 2019 | Pkw-Maut in Deutschland

เม้าส์มอยน์ชวนเม้าท์เรื่องค่าทางด่วนในเยอรมนี วันนี้ (31 มีค.) รัฐบาลเยอรมนีได้เห็นชอบกฎหมายการเก็บค่าใช้ทางด่วน (Autobahn) และทางหลวง (Bundesstraße) แล้ว หลังจากที่โต้เถียงกันมานานแรมปี โดยผู้ใช้รถทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างชาติที่ใช้ทางข้างต้นจะต้องเริ่มจ่ายค่าผ่านทางตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นด้วย นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นาย Dobrindt (CSU) เชื่อว่าจะสามารถเก็บค่าผ่านทางได้กว่า 500 ล้านยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

คนที่เดือดร้อนแน่ๆ ก็คือผู้ใช้รถต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางข้ามชายแดนผ่านเยอรมนีอยู่บ่อยๆ ซึ่งการเก็บเงินจะไม่ได้เป็นไม้กั้นผ่านทางเหมือนที่ไทย แต่จะต้องเลือกซื้อสติกเกอร์ค่าทางด่วนในเยอรมันแบบอิเล็กโทรนิค (E-Vignette) เป็นราย 10 วัน หรือ 2 เดือน หรือรายปี

สำหรับผู้ใช้รถในเยอรมนี ก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเช่นกัน โดยคิดราคาอิงตามขนาดเครื่องยนต์และค่าการปล่อยไอเสีย ให้จ่ายเป็นรายปีและผูกบัญชีกับทะเบียนรถ โดยค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 130 ยูโรต่อปี ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเยอรมนีก็กล่าวว่า รัฐจะช่วงแบ่งเบาภาระโดยหักลบภาษีรถยนต์รายปีกับค่าผ่านทางที่จ่ายไป ซึ่งก็หมายถึงว่าคนใช้รถในเยอรมนีจะไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางนั่นเอง

เม้าส์มอยน์ฟังดูแล้ว เหมือนเยอรมนีน่าจะได้รายได้เพิ่มจากการเก็บค่าผ่านทาง แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น ADAC ออกมาวิจารณ์ว่านโยบายนี้รัฐน่าจะขาดทุนมากกว่า โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีการคำนวณค่าทางด่วนอิงตามค่าการปล่อยไอเสียของรถ ผู้ใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐาน Euro 6 (ปล่อยไอเสียน้อย) จะจ่ายค่าผ่านทางน้อยกว่า และนั่นหมายถึงรัฐจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าเก่า ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคตก็มักจะเป็นมาตรฐาน Euro 6 ทั้งนั้น

แล้วประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนีว่ายังไงกันบ้าง? ล่าสุดประเทศออสเตรียได้ออกมาค้านไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยจะยื่นฟ้องศาลยุติธรรมยุโรป พร้อมเหตุผลว่า เยอรมนีเลือกปฏิบัติเก็บค่าผ่านคนต่างชาติแพงกว่า  ทั้งนี้ ออสเตรียเก็บค่าผ่านทางในประเทศมากว่า 20 ปี และสวิตเซอร์แลนด์ก็เก็บมากกว่า 30 ปีแล้ว

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่เม้าส์มอยน์จะคอยติดตามมาบอกข่าวเพื่อนๆ อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ นะครับ
Quelle&Foto: tagesschau.de