จะได้เงินคืนรึเปล่า? ถ้าซื้อตั๋วไว้ แต่งานยกเลิก! | Entschädigung bei abgesagter Veranstaltung

เม้าส์มอยน์สรุปยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาในยุโรป เยอรมนี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีการยกเลิกการจัดงานใหญ่ไปหลายงาน แบบนี้ คนที่ซื้อตั๋วเข้างาน ตั๋วรถไฟ จองโรงแรมไว้ จะได้เงินขึ้นรึเปล่า มาอ่านในข้อมูลด้านล่างกันเลย

ก่อนอื่น ขอสรุปยอดกันก่อน ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อในเยอรมนี พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุด ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงถึง 1567 ราย (11 มีค. 15.00 น.) ในยุโรปรวมแล้วกว่า เกือบสองหมื่นราย

ส่งผลให้ผู้นำประเทศ และหลายองค์กร พยายามออกนโยบายป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เช่น ในอิตาลีที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 12000 ราย ซึ่งระบาดหนักเป็นอันดับสองรองจากจีน จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศปิดประเทศมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีค. ถึง 3 เม.ย. ปีนี้ โดยให้ประชาชนในประเทศ 60 กว่าล้านราย งดเดินทางออกนอกบ้าน ยกเว้นว่าจำเป็นต้องไปทำงานหรือมีเหตุฉุกเฉิน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ประกาศปิดเรียน เม้าส์มอยน์ดูภาพข่าวแล้วราวกับเป็นเมืองร้างเลยทีเดียว

ในเยอรมนีเอง ก็มีนโยบายงดและยกเลิกการจัดงานใหญ่ ๆ ที่ต้องมีการรวมตัวกันเกินกว่า 1000 คนในหลายมลรัฐ เช่น Bayern, Baden-Württemberg, Bremen, Hessen, Nordrhein-Westfalen, Rheinland-Pfalz, Saarland, Schleswig-Holstein

การยกเลิกงานใหญ่ ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ผู้จัดงานหรือผู้ร่วมงานเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการจองโรงแรม ตั๋วรถไฟ ตั๋วคอนเสิร์ต ตั๋วดูฟุตบอล ที่หลายคนจองไว้ล่วงหน้า แต่เนื่องจากการจัดงานต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ ยกเลิกหรือเลื่อนเวลาจัด ทำให้เราต้องยกเลิกหรือเลื่อนตั๋ว คำถามต่อมาคือ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ จ่ายค่าชดเชย ค่ายกเลิก หรือค่าเปลี่ยนตั๋ว เม้าส์มอยน์จะพามาดูกัน

ถ้าผู้จัดงานยกเลิกการจัดงาน เราจะได้เงินคืนรึเปล่า?

ปกติแล้ว เราในฐานะผู้บริโภคจะได้เงินคืน หากคอนเสิร์ต การแข่งฟุตบอล หรืองานแสดงสินค้าใหญ่ยกเลิก โดยเราต้องไปติดต่อฝ่ายขายตั๋วก่อน ถ้าไม่ได้ก็ค่อยไปติดต่อขอเงินคืนจากผู้จัดงาน โดยคุยให้เข้าใจเลยว่า จะได้เงินคืนเมื่อไรและยังไง จะได้ไม่มีปัญหาวุ่นวายภายหลัง

หากคอนเสิร์ต หรือการแข่งฟุตบอลเลื่อนวัน แต่เราซื้อตั๋วไว้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปวันที่งานเลื่อน และสามารถขอเงินคืนได้

แต่ถ้างานยังจัดขึ้นปกติ แต่เรากลัวติดเชื้อ ก็เลยขอยกเลิกตั๋วเอง จะได้เงินคืนรึเปล่า?

จริง ๆ แล้ว เราไม่มีสิทธิ์เรียกร้องขอเงินคืน ถ้าเราขอยกเลิกตั๋วเอง เหตุผลเพราะกลัวการระบาดของไวรัส แต่ผู้จัดงานหลายราย (ณ ตอนนี้) ก็ใจดียอมให้ลูกค้ายกเลิกหรือเลื่อนตั๋วได้

เช่นเดียวกับตั๋วรถไฟในเยอรมนี (Deutsche Bahn) ก็ยอมคืนเงินค่าเปลี่ยนหรือยกเลิกตั๋วรถไฟ หากลูกค้าจองตั๋วไปในเขตที่ไวรัสระบาด เช่น ไปอิตาลี หรือหากเราต้องยกเลิกตั๋วรถไฟ เนื่องจากมีการยกเลิกการจัดงานที่เราวางแผนจะไป ทาง Deutsche Bahn เองก็ยินดีคืนเงินค่าตั๋วให้เช่นกัน (ณ ตอนนี้)

แล้วค่าโรงแรมและค่าตั๋วรถไฟ?

ในส่วนค่าโรงแรมและค่ารถที่จองล่วงหน้าไว้แล้ว แต่งานยกเลิก หากเป็นกรณีทั่วไป เราก็จะได้ค่าชดเชยคืนจากผู้จัดงาน ถ้าพูดกันในมุมมองของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรณีเหตุสุดวิสัย (เช่น มีพายุ สงคราม ประท้วง แผ่นดินไหว) ผู้จัดงานก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า การยกเลิกงานเนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโคโรนา ถือเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ดังนั้นก็อยู่ที่ความใจดีของผู้จัดงาน ว่าจะชดเชยเงินให้ลูกค้าหรือไม่ มากน้อยเท่าไรนั่นเอง

หากใครมีตั๋วอะไรแล้วไม่แน่ใจ ลองติดต่อไปที่คนขายตั๋วโดยตรง เพื่อสอบถามการยกเลิกหรือขอเงินคืนเพิ่มเติมได้ เม้าส์มอยน์ฝากทิ้งท้ายให้เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพและความสะอาด รักษาร่างกายให้แข็งแรง แล้วเราจะผ่านไปได้

แหล่งที่มา https://www.swrfernsehen.de/

กฎหมายใหม่ เริ่มใช้ 1 ต.ค. ที่เยอรมัน

กฎหมายใหม่ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. ที่เยอรมัน ที่จะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น: การซื้อตั๋วรถไฟและการยกเลิกสัญญา 🙂

1. ลูกค้าที่ซื้อตั๋วรถไฟผ่านเว็บไซต์ Deutsche Bahn จะไม่ต้องแสดงบัตรยืนยันบุคคล ให้วุ่นวายเหมือนที่ผ่านๆ มาแล้ว แค่แสดงบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางก็พอ

ที่ผ่านมารถไฟเยอรมัน (Deutsche Bahn) เจอคู่แข่งรถบัสที่ให้บริการขนส่งระยะไกลหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงพยายามปรับหลายๆ เรื่องให้ดียิ่งขึ้น ล่าสุดมีการพยายามทำให้การจองตั๋วรถไฟออนไลน์ง่ายขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะยกเลิกการตรวจตั๋วพร้อมเอกสารที่ลูกค้าต้องลงทะเบียนในระบบตอนซื้อตั๋ว เพื่อยืนยันตัวตนเมื่อขึ้นรถไฟ เช่น บัตรเครดิต บัตร Bahncard หรือบัตรเดบิต ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายคนโดนปรับ เนื่องจากลืมนำเอกสารแสดงตัวตนดังกล่าวติดตัวตอนขึ้นรถไฟไปด้วย ตั้งแต่นี้ต่อไปจะยุ่งยากน้อยลง นั่นคือ ลูกค้าที่ซื้อตั๋วรถไฟออนไลน์สามารถยืนยันตัวตน ได้จากชื่อและนามสกุลในบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตร Aufenthaltstitel เท่านั้นก็พอ แต่จะใช้บัตรนักเรียน ใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวทหารแทนไม่ได้

2. หากใครจะยกเลิกสัญญา หรือยกเลิกการเป็นสมาชิกใดๆ ก็สามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์ไปก็พอ ไม่ต้องส่งเป็นจดหมายทางไปรษณีย์อีกต่อไป

ใครที่ต้องการยกเลิกสัญญาต่างๆ เช่น สัญญามือถือ ที่มีการทำสัญญาหลังวันที่ 30 ก.ย. 2016 ก็สามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์ไปยกเลิกได้ โดยไม่ต้องส่งจดหมายพร้อมเซ็นชื่ออีกต่อไป จุดสำคัญอยู่ที่เงื่อนใขในสัญญา ซึ่งหากมีการทำสัญญาไว้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2016 และในเงื่อนไขการยกเลิก เขียนไว้ว่าต้องเขียนจดหมายยกเลิก ก็จะต้องทำตามเงื่อนไขดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการยกเลิกสัญญาที่มีการรับรองผ่านทนายโนทาร์ หรือสัญญาจ้างงาน ที่ยังต้องเขียนจดหมายพร้อมลงลายมือชื่อเช่นเดิม แต่หากลูกจ้างต้องการทวงค่าจ้างที่นายจ้างยังค้างชำระอยู่ ก็สามารถเขียนผ่านอีเมล์ได้ แต่ควรจะเขียนชื่อให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ควรสแกนลายเซ็นแนบไปด้วย

Quelle: welt.de, Foto: ddp, badische-zeitung.de