เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เปลี่ยนไปในปี 2021 ที่เยอรมนี | Was ändert sich 2021?

🇩🇪 📌 เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เปลี่ยนไปในปี 2021 ที่เยอรมนี #เม้าส์มอยน์แจ้งข่าวเพื่อชีวิตและธุรกิจคุณ
🐭 เม้าส์มอยน์ขอต้อนรับเพื่อน ๆ เข้าสู่ปี ค.ศ. 2021 อย่างเป็นทางการ กับข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อกระเป๋าเงินเพื่อน ๆ ที่ต้องมีทั้งภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และเงินเข้ากระเป๋าที่มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน มาดูกันเลย
📍ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Mehrwertsteuer) กลับมาใช้อัตราเท่าเดิมคือสำหรับสินค้าและบริการปกติ 19% และสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค 7% โดยก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกรกรกฎาคมถึงธันวาคม 2020 ปรับลดไปชั่วคราวเหลือ 16% และ 5% เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงวิกฤติโคโรนา
📍 ค่าแรงขั้นต่ำ (Mindestlohn) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 ขึ้นเป็น 9.50 ยูโรต่อชั่วโมง และจะขึ้นไปเป็น 9.60 ยูโรต่อชั่วโมง ตั้งแต่เดือน 1 กค. 2021 และจะปรับขึ้นไปทุกๆ หกเดือน เป็น 9.82 ยูโรต่อชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2022 และขึ้นเป็น 10.45 ยูโรต่อชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 กค. 2022
📍 เงินค่าเลี้ยงดูบุตร (Kindergeld) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 จะปรับขึ้นไปเป็น 219 ยูโรต่อเดือน สำหรับลูกคนที่หนึ่งและสอง และขึ้นเป็น 225 ยูโรต่อเดือน สำหรับลูกคนที่สาม และขึ้นเป็น 250 ยูโรต่อเดือน สำหรับลูกคนที่สี่ (เพิ่มขึ้นคนละ 15 ยูโรจากปีที่แล้ว)
📍 จำนวนเงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้ หมวดค่าเลี้ยงดูบุตร (Kinderfreibetrag) เพิ่มเป็น 8,388 ยูโรต่อปี
📍 จำนวนเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (Grundfreibetrag) สำหรับปี 2021 เพิ่มเป็น 9,744 ยูโร (จากเดิม 9,408 ยูโร)
📍 เงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้ จากการทำงานที่บ้าน (Home-Office-Pauschale) ใครที่ต้องทำงานที่บ้านเนื่องจากวิกฤติโคโรนาในปี 2020 และ 2021 จะสามารถนำมาคำนวนหักลดหย่อนภาษีได้ เป็นจำนวน 5 ยูโรต่อวัน หากคิดเหมาจะได้สูงสุด 120 วันต่อปี เป็นเงิน 600 ยูโร ซึ่งจะเอาไปคำนวนรวมกับค่าลดหย่อนภาษีลูกจ้างหมวด Werbungskosten อีกที ที่ปกติจะสามารถหักเหมาได้สูงสุด 1000 ยูโรโดยไม่ต้องแสดงใบเสร็จ (เม้าส์มอยน์ขอเสริม อันนี้เป็นค่าลดหย่อนใหม่ที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมาจากวิกฤติโคโรนาปี 2020)
📍 พลาสติกใช้แล้วทิ้ง (Einwegplastik) ตั้งแต่ 3 กค. 2021 ห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น จานชามช้อนส้อมพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หลอดพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มจากโฟม ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดใช้ร่วมกันทั้งยุโรป
📍 ค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2-Preis) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 จะคิดค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 25 ยูโรต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน ส่งผลให้ราคานำ้มันดีเซล เบนซิน น้ำมันทำความร้อน ปรับตัวสูงขึ้น เช่น นำ้มันเบนซินจะแพงขึ้น 7 เซนต์ต่อลิตร นอกจากนี้ยังส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีแนวโน้มจะผลักภาระค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาให้ผู้บริโภค
📍 ภาษีรถยนต์ (Kfz-Steuer) จะแพงขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 สำหรับรถยนต์ออกใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง ในทางกลับกัน หากใครซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2025 จะได้รับประโยชน์จากการงดเว้นภาษีรถยนต์ไปสูงสุด 10 ปี
📍 ค่าทำบัตรประชาชนเยอรมัน (Personalausweis) เพิ่มขึ้นเป็น 37 ยูโร สำหรับผู้ทำบัตรประชาชนอายุเกิน 24 ปี (จากเดิม 28.80 ยูโร)
📍 ใบรับรองแพทย์ว่าไม่สามารถทำงานได้ (Arbeitsunfähigkeits-Bescheinigungen) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 ลูกจ้างไม่ต้องส่งใบรับรองแพทย์ (AU-Bescheinigung) ให้ทางประกันสุขภาพเองแล้ว แต่แพทย์จะส่งไฟล์ดิจิตัลไปให้เอง แต่ลูกจ้างยังต้องส่งใบรับรองแพทย์ให้นายจ้างเช่นเดิม
📍 เงินช่วยเหลือผู้ไม่มีรายได้จากรัฐบาล (Hartz-IV-Regelsatz) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 เพิ่มเป็น 446 ยูโรต่อเดือน สำหรับผู้ใหญ่ (เพิ่มขึ้น 14 ยูโรจากปีที่แล้ว) สำหรับเยาวชนอายุ 18-24 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพิ่มเป็น 357 ยูโรต่อเดือน สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี เพิ่มเป็น 283 ยูโรต่อเดือน สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี เพิ่มเป็น 309 ยูโรต่อเดือน สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี เพิ่มเป็น 373 ยูโรต่อเดือน
📍 ยกเลิกภาษีเพื่อความเป็นปึกแผ่น (Solidaritätszuschlag) หรืออธิบายง่าย ๆ คือเงินภาษีที่เก็บจากบริษัทและผู้มีรายได้ทั่วเยอรมนี เพื่อไปช่วยเหลือเยอรมนีฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปีนี้จะยกเลิกการเก็บภาษีประเภทนี้กับ 90% ของผู้ที่ทำงานเสียภาษีในเยอรมนี แต่คนทำงานกว่า 6.5% จะยังเสียภาษีประเภทนี้อยู่บ้าง แต่ผู้ที่รายได้มากยังต้องเสีย Solidaritätszuschlag ต่อไป นั่นหมายถึง ใครได้รายได้มาก ก็ต้องจ่าย Solidaritätszuschlag มากตามลำดับ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ลูกจ้างโสดไม่มีครอบครัวที่ได้เงินได้ก่อนหักภาษีไม่เกิน 74,000 ยูโรต่อปี ก็จะไม่ต้องจ่าย Solidaritätszuschlag แล้วตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป
แต่หากใครได้เงินได้ก่อนหักภาษีเกินกว่านั้นถึง 109,000 ยูโรต่อปี ก็จะยังต้องจ่าย Solidaritätszuschlag บ้าง
แต่หากใครได้เงินได้ก่อนหักภาษีเกินกว่านั้น ก็ต้องจ่าย Solidaritätszuschlag เต็มจำนวนเหมือนเดิม
ให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่า หากใครได้เงินได้อยู่ที่ 31,200 ยูโรต่อปี ก็จะได้เงินเข้ากระเป๋าเพิ่มอีก 200 ยูโรนั่นเอง
🐭 เม้าส์มอยน์ขอสรุปเสริมเล็กน้อย เรื่องเงินเลี้ยงดูบุตร เงิน Hart-IV ค่าแรงขั้นต่ำ และจำนวนเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีการปรับขึ้นแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ทุกปีอยู่แล้ว ตามอัตราเงินเฟ้อที่ควรจะเป็น
🐭 ขอให้เพื่อน ๆ มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และประสบความสำเร็จในปี 2021 ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เม้าส์มอยน์จะคอยนำสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและธุรกิจของเพื่อน ๆ มาฝากอย่างสม่ำเสมอ ฝากกดติดตามกันไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ
Quelle: tagesschau.de, zdf.de
--------------------------
📣 Mausmoin เปิดเรียนรอบใหม่แล้ว เริ่ม 21 มค. 2021 คอร์สเรียนออนไลน์ ภาษาเยอรมันพื้นฐานและติวสอบ A1, A2 สมัครได้เลย!
🐭 Mausmoin.com: เยอรมันเพื่อชีวิตและธุรกิจคุณ
เรียนเยอรมัน & บริการล่าม แปลเอกสาร ประสานงานธุรกิจ เยอรมัน-ไทย โดยล่ามและนักแปลที่ได้รับการรับรองจากศาลเยอรมัน
🐭 Mausmoin.com: Beglaubigte Übersetzung | Dolmetschen | Projektkoordination | Deutschlernen | durch staatlich geprüfte und öffentlich bestellte Dolmetscherin und Übersetzerin für thailändische Sprache

กฎหมายใหม่ เริ่มใช้ 1 ต.ค. ที่เยอรมัน

กฎหมายใหม่ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. ที่เยอรมัน ที่จะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น: การซื้อตั๋วรถไฟและการยกเลิกสัญญา 🙂

1. ลูกค้าที่ซื้อตั๋วรถไฟผ่านเว็บไซต์ Deutsche Bahn จะไม่ต้องแสดงบัตรยืนยันบุคคล ให้วุ่นวายเหมือนที่ผ่านๆ มาแล้ว แค่แสดงบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางก็พอ

ที่ผ่านมารถไฟเยอรมัน (Deutsche Bahn) เจอคู่แข่งรถบัสที่ให้บริการขนส่งระยะไกลหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงพยายามปรับหลายๆ เรื่องให้ดียิ่งขึ้น ล่าสุดมีการพยายามทำให้การจองตั๋วรถไฟออนไลน์ง่ายขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะยกเลิกการตรวจตั๋วพร้อมเอกสารที่ลูกค้าต้องลงทะเบียนในระบบตอนซื้อตั๋ว เพื่อยืนยันตัวตนเมื่อขึ้นรถไฟ เช่น บัตรเครดิต บัตร Bahncard หรือบัตรเดบิต ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายคนโดนปรับ เนื่องจากลืมนำเอกสารแสดงตัวตนดังกล่าวติดตัวตอนขึ้นรถไฟไปด้วย ตั้งแต่นี้ต่อไปจะยุ่งยากน้อยลง นั่นคือ ลูกค้าที่ซื้อตั๋วรถไฟออนไลน์สามารถยืนยันตัวตน ได้จากชื่อและนามสกุลในบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตร Aufenthaltstitel เท่านั้นก็พอ แต่จะใช้บัตรนักเรียน ใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวทหารแทนไม่ได้

2. หากใครจะยกเลิกสัญญา หรือยกเลิกการเป็นสมาชิกใดๆ ก็สามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์ไปก็พอ ไม่ต้องส่งเป็นจดหมายทางไปรษณีย์อีกต่อไป

ใครที่ต้องการยกเลิกสัญญาต่างๆ เช่น สัญญามือถือ ที่มีการทำสัญญาหลังวันที่ 30 ก.ย. 2016 ก็สามารถส่งอีเมล์หรือแฟกซ์ไปยกเลิกได้ โดยไม่ต้องส่งจดหมายพร้อมเซ็นชื่ออีกต่อไป จุดสำคัญอยู่ที่เงื่อนใขในสัญญา ซึ่งหากมีการทำสัญญาไว้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2016 และในเงื่อนไขการยกเลิก เขียนไว้ว่าต้องเขียนจดหมายยกเลิก ก็จะต้องทำตามเงื่อนไขดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการยกเลิกสัญญาที่มีการรับรองผ่านทนายโนทาร์ หรือสัญญาจ้างงาน ที่ยังต้องเขียนจดหมายพร้อมลงลายมือชื่อเช่นเดิม แต่หากลูกจ้างต้องการทวงค่าจ้างที่นายจ้างยังค้างชำระอยู่ ก็สามารถเขียนผ่านอีเมล์ได้ แต่ควรจะเขียนชื่อให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ควรสแกนลายเซ็นแนบไปด้วย

Quelle: welt.de, Foto: ddp, badische-zeitung.de