เรียกคืนไข่ไก่ทั่วเยอรมนี | Eier-Skandal

ขณะนี้ข่าวฉาวเรื่องเรียกคืนไข่ไก่ในเยอรมนี ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากมีการตรวจพบไข่ไก่ที่มียาฆ่าแมลงฟิโปรนิลเจือปนมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 3 ล้านฟอง ใน 12 รัฐทั่วเยอรมนี (โดยยังไม่พบใน 4 รัฐ ต่อไปนี้ Mecklenburg-Vorpommern, Sachsen-Anhalt, Rheinland-Pfalz, Saarland) ตามคำแถลงของนายชมิดท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาตามข่าวกับเม้าส์มอยน์กันเลย 

ขณะนี้ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ เช่น Rewe, Aldi ได้งดจำหน่ายไข่ที่นำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งอาจมีสารเจือปน หากใครที่ซื้อไข่ดังกล่าวไป สามารถนำไปขอเงินคืนได้

ยาฆ่าแมลงฟิโปรนิล (Fipronil) จะมีฤทธิ์กำจัดแมลงพวกเห็บหมัด ปกติจะห้ามใช้กับสัตว์ที่ให้ผลผลิตทางอาหาร หากคนได้รับในปริมาณมาก อาจมีอันตรายต่อตับ ไต ต่อมไทรอยด์ ผิวหนัง ตา หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะได้ โดยล่าสุด เม้าส์มอยน์อ่านข่าวพบว่าปริมาณที่ตรวจพบ อาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ใหญ่ แต่เด็ก ๆ ที่รับประทานไข่ที่มีสารพิษเข้าไป อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ได้ ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจพบว่ามีสารก่อมะเร็ง

ประเภทไข่ที่มีสารยาฆ่าแมลงปนเปื้อน ได้แก่ ไข่ที่มีเลขประทับดังต่อไปนี้ หากที่บ้านใครมี ก็ไม่ควรบริโภค

ไข่จากเยอรมนี (DE)
1-DE-0357731, 
1-DE-0358001, 
0-DE-0360521, 
1-DE-0358001, 
0-DE-0360521

ไข่จากเนเธอร์แลนด์ (NL)
X-NL-40155XX (Xหมายถึง เลข 0-9)
1-NL 4128604, 
1-NL 4286001, 
0-NL 4392501, 
0-NL 4385501,
2-NL-4322402,
1-NL-4322401, 
0-NL-4170101, 
1-NL-4339301, 
1-NL-4385701, 
1-NL-4331901,
0-NL-4310001, 
1-NL-4167902, 
1-NL-4385701, 
1-NL-4339301, 
1-NL-4339912, 
2-NL- 4385702, 
1-NL-4331901, 
2-NL-4332601, 
2-NL-4332602, 
1-NL-4359801, 
2-NL-4212103, 
0-NL-4031001, 
2-NL-4212103, 
0-NL-4031001

ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่สามารถรู้ได้ว่า เนื้อไก่ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไข่ เช่น เส้นสปาเก็ตตี้ ขนมเค้ก ก็อาจมีสารปนเปื้อนอยู่ด้วย ล่าสุดจึงมีการสั่งผู้ผลิตอาหารประเภทต่าง ๆ ให้ตรวจสอบผลผลิต และที่มาของไข่ หากตรวจพบสารเจือปน ก็จะต้องเรียกคืนโดยด่วนเช่นกัน 

โดยล่าสุดเม้าส์มอยน์พบว่ามีการเรียกคืน ผลิตภัณฑ์สลัด 6 ชนิด ที่มีส่วนผสมของไข่ข้างต้น จากผู้ผลิต Neue Mayo Feinkost GmbH ในหลายรัฐในเยอรมนีแล้ว

แล้วเม้าส์มอยน์จะคอยส่งข่าวนะ
Quelle: Tagesschau.de, N-tv.de

ลดหย่อนภาษีในเยอรมัน จากค่าเลี้ยงดูครอบครัว | Unterhalt an Angehörige im Ausland

การขอลดหย่อนภาษีในเยอรมัน จากค่าเลี้ยงดูบุตร/บิดามารดา/คู่สมรสที่ไทย | Unterhaltsleistungen für im Ausland lebende Angehörige

สารบัญ

เอกสารหลักฐานที่ใช้

เนื้อหาที่ควรแสดงในหลักฐาน

ตัวอย่างเอกสารหลักฐานที่ใช้

กรณีขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร

กรณีขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา

กรณีขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูคู่สมรสที่ไทย

กำหนดเวลาการยื่นภาษี

ติดต่อแปลเอกสาร/ล่าม

หากเราทำงานมีรายได้ที่เยอรมัน เราก็จะต้องเสียภาษีเงินได้ทุกปี ทั้งนี้ เราสามารถนำค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ มาลดหย่อนภาษีได้ โดยหนึ่งในภาระค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ก็คือ การให้เงินค่าเลี้ยงดูครอบครัวไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมันหรือที่ไทย

คำว่าครอบครัว หมายถึงคู่สมรส ลูก หลาน พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย นับรวมถืงครอบครัวของคู่สมรสด้วย แต่ไม่นับพี่น้องหรือญาติคนอื่นๆ

โดยเตรียมเอกสารหลักฐานการให้ค่าเลี้ยงดูด้านล่าง ส่งให้สรรพากรหรือที่ปรึกษาภาษีที่เยอรมัน เพื่อให้คำนวนลดหย่อนค่าใช้จ่ายเงินเลี้ยงดูตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

เอกสารหลักฐานที่ใช้

เนื่องจากแต่ละเมือง และแต่ละกรณีอาจต้องเตรียมเอกสารมากน้อยต่างกันไป จึงควรสอบถามทางสรรพากร (Finanzamt) หรือที่ปรึกษาภาษี (Steuerberater) ว่าต้องยื่นเอกสารอะไรบ้าง หากเอกสารเป็นภาษาไทย ต้องนำมาแปลเป็นเยอรมัน สามารถติดต่อแปลเอกสารนี้ได้กับMausmoin

การยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อขอลดหย่อนภาษีในเยอรมัน โดยปกติแล้วจะต้องขอปีต่อปี อิงตามปีภาษีปีนั้นๆ เช่น หนังสือรับรองจากอำเภอที่ไทยว่าเป็นคนเลี้ยงดู หรือใบคัดสำเนาทะเบียนบ้านจากไทย ควรลงวันที่ในปีเดียวกับปีภาษีที่จะไปขอลดหย่อนภาษี

เนื้อหาที่ควรแสดงในหลักฐาน

การส่งเงินไปช่วยเหลือครอบครัวที่ไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าเลี้ยงดูคู่สมรส ค่าเลี้ยงดูลูก เงินช่วยเหลือพ่อแม่ที่ไม่ได้ทำงาน หรือดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยหรือพิการ สรรพากรจะขอเอกสารหรือหลักฐานที่มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องดังนี้

  • ความสัมพันธ์ของผู้ได้รับเงินเลี้ยงดู กับผู้ให้ค่าเลี้ยงดูหรือคู่สมรสของผู้ให้ค่าเลี้ยงดู: เช่น เป็นลูก พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย อาจขอหลักฐานสูติบัตร หรือหนังสือรับรองจากอำเภอที่ไทย
  • ข้อมูลผู้รับเงินเลี้ยงดู เช่น  ชื่อ วันเกิด สถานที่เกิด อายุ อาชีพ ที่อยู่ผู้รับเงินเลี้ยงดู จำนวนคนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน จะต้องให้หน่วยงานท้องถิ่นที่ไทย เช่น อำเภอ สำนักทะเบียน ออกหนังสือรับรอง หรือประทับตรารับรองว่าข้อมูลเป็นความจริง จากนั้นนำมาแปลเป็นเยอรมันได้กับMausmoin
  • จำนวนรายได้และประเภทรายได้ของผู้รับเงินเลี้ยงดู (หรือไม่มีรายได้) เช่น แบบแสดงภาษีเงินได้ที่ไทย หนังสือแสดงการรับเงินเกษียณที่ไทย หนังสือรับรองเงินเดือน
  • จำนวนทรัพย์สินของผู้รับเงินเลี้ยงดู (หรือไม่มีทรัพย์สิน)
  • ข้อมูลว่าผู้รับเงินเลี้ยงดูได้รับค่าเลี้ยงดูจากผู้อื่นด้วยหรือไม่ เช่น พ่อแม่ได้ค่าเลี้ยงดูจากลูกคนอื่นๆ หรือลูกของเราได้เงินค่าเลี้ยงดูจากฝ่ายพ่อหรือแม่ด้วย

ทั้งนี้ สรรพากรอาจขอเอกสารเพิ่มเติม แล้วแต่ดุลพินิจ หรือกรณีของแต่ละคน หากเอกสารเขียนเป็นภาษาไทย สามารถนำมาแปลเป็นเยอรมันได้กับMausmoin

หมายเหตุ: mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำแนะนำทางกฎหมายหรือคำแนะนำทางภาษี แต่ยินดีให้บริการล่าม/แปลเอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในเยอรมัน

ตัวอย่างเอกสารหลักฐานที่ใช้

ตัวอย่างเอกสาร กรณีขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรที่ไทย

ตัวอย่างเอกสาร กรณีขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา (หรือปู่ย่าตายาย) ที่ไทย

ตัวอย่างเอกสาร กรณีขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูคู่สมรสที่ไทย

เอกสารที่สรรพากรอาจเรียกเพิ่มเติม

  • หลักฐานการได้รับเงินโอนที่ธนาคารไทย ของผู้รับเงิน (ควรมีวันที่ ชื่อผู้โอน ชื่อผู้รับชัดเจน) นำมาแปลเป็นเยอรมันได้กับMausmoin
  • หากให้เป็นเงินสด โดยถอนเงินที่เยอรมัน แล้วนำเงินสดติดตัวไปให้ผู้รับค่าเลี้ยงดูที่ไทย ควรแสดงหลักฐานการถอนเงิน ตั๋วเครื่องบิน หลักฐานการเซ็นชื่อยืนยันการรับเงินของผู้รับค่าเลี้ยงดูว่าได้รับจากเราเป็นจำนวนเงินเท่าไร และเมื่อไร โดยทางสรรพากรเยอรมันอาจขอตรารับรองของอำเภอที่ไทยเพิ่มด้วยหากได้เอกสารเป็นภาษาไทย นำมาแปลเป็นเยอรมันได้กับMausmoin

Quelle der Formulare: www.bundesfinanzministerium.de

อ้างอิงเนื้อหาจาก www.iww.de/,www.bundesfinanzministerium.de, BMF-Schreiben vom 7.6.10 

ติดต่อเรา

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปลเอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย/ไทย-เยอรมัน สำหรับยื่นภาษีเงินได้ แบบฟอร์มแสดงการให้ค่าเลี้ยงดูแก่ครอบครัวที่ไทย หนังสือรับรองการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร/บิดามารดา/คู่สมรส หนังสือรับรองจากอำเภอหรือหน่วยงานราชการ และเอกสารราชการอื่นๆ

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการยื่นภาษีเงินได้ ยื่นค่าลดหย่อนภาษี หรือทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ด้านล่าง -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย-อังกฤษ  นัดคุยกับทนาย พบโนทาร์เพื่อทำสัญญา นัดหมายลูกค้า คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ งานจดทะเบียนสมรส ขึ้นศาล ในรัฐ Baden-Württemberg และ Bayern โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Reutlingen 72760) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

ยื่นภาษีเงินได้ของปี 2016 ในเยอรมัน | Steuererklärung 2016

เม้าส์มอยน์แจ้งข่าวเตือนเพื่อนๆที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ในเยอรมนี ประจำปีภาษี 2016 อย่าลืมเตรียมจัดทำภาษี ทยอยเตรียมเอกสารลดหย่อนภาษี และยื่นสรรพากรภายในกำหนดวันที่ 31 พ.ค. 2017 โดยเฉพาะคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ เป็นนายตัวเอง ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ถ้าไม่ยื่นภาษีเงินได้ภายในกำหนดสิ้นเดือน พ.ค. อาจจะโดนสรรพากรส่งจดหมายเตือนและโดนปรับได้

มีเวลาเหลือแค่ 2เดือน ถ้าเม้าส์มอยน์ทำภาษีไม่ทัน จะทำยังไง ถึงจะไม่โดนปรับ? อันที่จริง เราสามารถขอสรรพากรเลื่อนยื่นภาษีเงินได้หลังกำหนดได้ ตามเงื่อนไขดังนี้

- เขียนจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขอเลื่อนกำหนดส่งไปถึงสิ้นเดือนกันยายนแทนได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า เอกสารยังไม่ครบ ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือเจ็บป่วย โดยจะไปส่งจดหมายด้วยตนเองหรือส่งจดหมายไปก็ได้ ขอให้มั่นใจว่าสรรพากรได้จดหมายเราแน่ๆ

- หากใครใช้บริการของที่ปรึกษาภาษี [Steuerberater] ให้ทำเรื่องยื่นภาษีให้ ก็จะสามารถยื่นภาษีเงินได้ปี 2016 ได้ถึงสิ้นปี 2017 (31 ธ.ค. 2017) โดยอัติโนมัติ แต่ถ้าใครใช้บริการของที่ปรึกษาภาษีเป็นปีแรก เม้าส์มอยน์แนะนำให้แจ้งสรรพากรเป็นลายลักษณ์อักษรภายในกำหนดด้วย ให้แน่ใจว่าสรรพากรรับทราบและไม่ส่งจดหมายเตือนหรือปรับเงินเรา

- และกฎใหม่ล่าสุด การยื่นภาษีเงินได้ของปี 2018 มีการขยายกำหนดยื่นภาษีให้สรรพากรออกไปถึง 31 ก.ค. 2019 ซึ่งหมายความว่าปีนี้ (2017) และปีหน้า (2018) เราจะยังต้องยึดกำหนดส่งเป็นสิ้นเดือนพ.ค.อยู่นั่นเอง

มีการหักภาษีจากรายได้ ก็มีการลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน เช่น เราสามารถนำรายจ่ายจำเป็นมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ได้ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตรหรือบิดามารดาที่ประเทศไทย 

หากเรามีเอกสารแสดงค่าใช้จ่ายเพื่อขอลดหย่อนภาษี เช่นใบรับรองค่าเลี้ยงดูบุตร หรือบิดามารดาที่ประเทศไทย หรือเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นภาษาไทย ก็สามารถติดต่อแปลเป็นภาษาเยอรมันที่ Line ID: mausmoin, info@mausmoin.com โดยนักแปลที่ศาลเยอรมนีรับรอง

เรื่องภาษีในเยอรมนีไม่ง่าย และดูจะซับซ้อนกว่าที่ไทยด้วย หากใครไม่แน่ใจรายละเอียดจุดไหน ก็แนะนำให้สอบถามทางสรรพากรโดยตรง ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจะเลือกใช้ที่ปรึกษาภาษีก็ได้ ทั้งนี้ mausmoin.com เป็นสำนักงานแปลเอกสาร ไม่ใช่ที่ปรึกษาทางภาษี จึงไม่สามารถให้คำแนะนำทางภาษีตามกฎหมาย แต่ยินดีให้บริการแปลเอกสารไทย-เยอรมันครับ

เยอรมนีจะเริ่มเก็บค่าทางด่วนปี 2019 | Pkw-Maut in Deutschland

เม้าส์มอยน์ชวนเม้าท์เรื่องค่าทางด่วนในเยอรมนี วันนี้ (31 มีค.) รัฐบาลเยอรมนีได้เห็นชอบกฎหมายการเก็บค่าใช้ทางด่วน (Autobahn) และทางหลวง (Bundesstraße) แล้ว หลังจากที่โต้เถียงกันมานานแรมปี โดยผู้ใช้รถทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างชาติที่ใช้ทางข้างต้นจะต้องเริ่มจ่ายค่าผ่านทางตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นด้วย นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นาย Dobrindt (CSU) เชื่อว่าจะสามารถเก็บค่าผ่านทางได้กว่า 500 ล้านยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

คนที่เดือดร้อนแน่ๆ ก็คือผู้ใช้รถต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางข้ามชายแดนผ่านเยอรมนีอยู่บ่อยๆ ซึ่งการเก็บเงินจะไม่ได้เป็นไม้กั้นผ่านทางเหมือนที่ไทย แต่จะต้องเลือกซื้อสติกเกอร์ค่าทางด่วนในเยอรมันแบบอิเล็กโทรนิค (E-Vignette) เป็นราย 10 วัน หรือ 2 เดือน หรือรายปี

สำหรับผู้ใช้รถในเยอรมนี ก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเช่นกัน โดยคิดราคาอิงตามขนาดเครื่องยนต์และค่าการปล่อยไอเสีย ให้จ่ายเป็นรายปีและผูกบัญชีกับทะเบียนรถ โดยค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 130 ยูโรต่อปี ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเยอรมนีก็กล่าวว่า รัฐจะช่วงแบ่งเบาภาระโดยหักลบภาษีรถยนต์รายปีกับค่าผ่านทางที่จ่ายไป ซึ่งก็หมายถึงว่าคนใช้รถในเยอรมนีจะไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางนั่นเอง

เม้าส์มอยน์ฟังดูแล้ว เหมือนเยอรมนีน่าจะได้รายได้เพิ่มจากการเก็บค่าผ่านทาง แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น ADAC ออกมาวิจารณ์ว่านโยบายนี้รัฐน่าจะขาดทุนมากกว่า โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีการคำนวณค่าทางด่วนอิงตามค่าการปล่อยไอเสียของรถ ผู้ใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐาน Euro 6 (ปล่อยไอเสียน้อย) จะจ่ายค่าผ่านทางน้อยกว่า และนั่นหมายถึงรัฐจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าเก่า ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคตก็มักจะเป็นมาตรฐาน Euro 6 ทั้งนั้น

แล้วประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนีว่ายังไงกันบ้าง? ล่าสุดประเทศออสเตรียได้ออกมาค้านไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยจะยื่นฟ้องศาลยุติธรรมยุโรป พร้อมเหตุผลว่า เยอรมนีเลือกปฏิบัติเก็บค่าผ่านคนต่างชาติแพงกว่า  ทั้งนี้ ออสเตรียเก็บค่าผ่านทางในประเทศมากว่า 20 ปี และสวิตเซอร์แลนด์ก็เก็บมากกว่า 30 ปีแล้ว

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่เม้าส์มอยน์จะคอยติดตามมาบอกข่าวเพื่อนๆ อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ นะครับ
Quelle&Foto: tagesschau.de

บอกรักภาษาเยอรมัน | Liebessprüche

 

มาฝึกบอกรักหลายๆ แบบเป็นภาษาเยอรมัน ต้อนรับวันแห่งความรักกับ Mausmoin กัน

1. เริ่มจากบอกรักกันแบบตรงๆ:

❤️Ich liebe Dich, Mausmoin! Herzliche Grüße zum Valentinstag.

💛ฉันรักเธอนะ เม้าส์มอยน์! สุขสันต์วันวาเลนไทน์จ้า

2. ดึงดาวมาบอกรักหวานๆ:

❤️Du bist die Sonne, die mein Herz erwärmt. Du bist der Stern, der meine Nächte erhellt. Du bist die Liebe meines Lebens, Mausmoin!

💛เธอคือดวงอาทิตย์ที่ให้ความอบอุ่นกับหัวใจของฉัน เธอคือดวงดาวที่ให้แสงสว่างแก่ค่ำคืนของฉัน เธอก็คือความรักของชีวิตฉันนะ เม้าส์มอยน์!

3. ใครเตรียมดอกไม้ไว้ให้คนรักบ้าง?:

❤️Diese Valentinsblumen sind von mir, meine Liebe schenke ich dir!

💛ดอกไม้วาเลนไทน์นี้มาจากฉัน ขอมอบความรักของฉันให้กับเธอ

4. ใครลืมซื้อของขวัญให้แฟน ก็ใช้มุกนี้แก้แฟนงอนกันได้:

❤️Am Valentinstag schenken sich Liebende tausende von Rosen, kiloweise Schokolade und duftende Geschenke – aber ich schenke dir mein Herz!

💛วันวาเลนไทน์ คนรักก็มักให้ดอกกุหลาบเป็นพันๆ ดอก ช็อกโกแลตเป็นกิโลๆ และของขวัญกลิ่นหอมๆ แก่กัน แต่ฉันขอให้หัวใจของฉันกับเธอ! (ผูกโบว์ตัวเองด้วยจะครบมาก)

5. เม้าส์มอยน์จะไปบอกชอบใคร:

❤️Ich grüß dich zum Valentinstag, weil ich dich mag und dir das endlich einmal sagen möchte!

💛ขอมาทักทายเธอในวันวาเลนไทน์ เพราะฉันชอบเธอ และอยากจะมาบอกเธอสักครั้งเสียที!

6. ใครว่าจะบอกรักกันได้แค่วันวาเลนไทน์!:

❤️Nicht nur an Valentinstag liebe ich dich, sondern jeden Tag!

💛ไม่ใช่แค่วันวาเลนไทน์นะ ที่ฉันรักเธอ แต่ฉันรักเธอไปทุกๆ วัน

7. เม้าส์มอยน์ขอขอบคุณที่รักกัน:

❤️Danke, dass du immer für mich da bist. Was wäre ich ohne dich!

💛ขอบคุณที่เธออยู่เคียงข้างฉันเสมอมา ฉันจะเป็นยังไงหากไม่มีเธอ!

เม้าส์มอยน์ขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่อยู่เคียงข้าง mausmoin.com มาตลอด อยู่ด้วยกันต่อไปเรื่อยๆ นะจ๊ะ จุ๊บๆ
Quelle: liebesspueche.eu, flirtuniversity.de

คำอวยพรช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่

weihnacht-neujahr-2017☃ มาเรียนรู้คำอวยพรในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ และคำศัพท์สำคัญ แล้วนำไปใช้ส่งความสุขกันได้เลย!

1. แบบแรกที่ใช้อวยพรกันโดยทั่วไปคือ

❄︎ Frohe Weihnachten und ein gutes neues Jahr 2017
❄︎ Fröhliche Weihnachten und einen guten Rutsch ins Neue Jahr!
สุขสันต์วันคริสต์มาสและสวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2560

2. หรือจะเพิ่มคำขยายให้ปีใหม่เป็นปีที่ดี เช่น

❄︎ Frohe Weihnachten und ein glückliches, erfolgreiches neues Jahr!
สุขสันต์วันคริสต์มาส และขอให้ปีใหม่นี้เป็นปีแห่งความสุขและความสำเร็จ

❄︎ Wir wünschen Ihnen* frohe Weihnachtsfeiertage, Gesundheit und Glück für das kommende Jahr.
ขออวยพรให้คุณมีความสุขในเทศกาลคริสต์มาส มีสุขภาพแข็งแรง และโชคดีมีสุขในปีใหม่นี้

3. หรือจะพูดอวยพรรวมๆ ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง เช่น

❄︎ Wir wünschen Euch** frohe Festtage!
ขออวยพรให้พวกเธอมีความสุขในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้

❄︎ Frohe Festtage und die besten Wünsche für ein erfolgreiches Neues Jahr
ขอให้มีความสุขในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง และขอส่งความปรารถนาดีให้(คุณ)ประสบความสำเร็จในปีใหม่นี้

* ใช้ Ihnen เมื่ออวยพรลูกค้า หรือคนที่เราให้ความเคารพ แบบสุภาพ
** ใช้ Euch กับคนสนิท คนในครอบครัว เพื่อน

☃ คำศัพท์สำคัญ

das Weihnachten, - [/ไว-นาค-เท็น/ วันคริสต์มาส]
das Jahr, e [/ยาร์/ ปี]
ein Neues Jahr [/อายน์-นอย-เอส-ยาร์/ ปีใหม่]
das Glück, e [/กลึค/ โชคดี, ความสุข]
der Wunsch, “e [/วุนช์/ คำอวยพร]
der Festtag, e [/เฟสท์-ถาก/ วันแห่งการเฉลิมฉลอง]
die Gesundheit, - [/เก-ซุนท์-ไฮท์/ สุขภาพแข็งแรง]
wün­schen [/วึน-เช็น/ อวยพร]
erfolgreich <adj> [/แอร์-โฟล์ก-ไรช์/ ประสบความสำเร็จ]
glücklich <adj>[/กลึค-ลิคช์/ โชคดี, มีความสุข]
froh <adj> [/โฟร/ มีความสุข สดใส]

☃ ครูศิริน เม้าส์มอยน์และผองเพื่อน ขอส่งความสุขให้ทุกคนในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่นี้ และขอขอบคุณที่สนับสนุนเรามาโดยตลอด ขอให้ทุกคนเรียนเยอรมันอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตในเยอรมันอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจค่ะ

สิทธิของผู้โดยสาร ในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก

สิทธิของผู้โดยสาร ในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก ตามกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป

ถ้ามีการยกเลิกเที่ยวบิน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าเที่ยวบินที่เราจองไว้ถูกยกเลิกหรือล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เราสามารถทำได้ 2 ทางคือ ขอค่าตั๋วเครื่องบินคืน หรือเรียกร้องให้สายการบินหาวิธีทางอื่นเพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ในที่สุด โดยอาจจะหาเที่ยวบินถัดไป หรือหาเส้นทางการบินใหม่ หรือแม้กระทั่งให้เดินทางโดยรถไฟแทน กรณีที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ
ทั้งนี้เราจะต้องติดต่อกับสายการบินที่เป็นผู้บินเที่ยวบินนั้นๆ สิทธิผู้โดยสารดังกล่าวเป็นกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป (EC) 261/2004 ข้อกำหนดต่างๆมีผลบังคับกับสายการบินที่มีที่ตั้งในยุโรป รวมถึงสายการบินนานาชาติที่บินจากประเทศต้นทางในยุโรป

ตัวอย่างค่าชดเชยที่สายการบินต้องรับผิดชอบผู้โดยสาร

ในกรณีที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสถานการณ์พิเศษ ตามกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป

1. ถ้าเที่ยวบินออกเดินทางล่าช้าเกิน 2 ชม. เรามีสิทธิได้รับการดูแลเช่น อาหาร เครื่องดื่ม ช่องทางติดต่อสื่อสาร และในกรณีจำเป็น สายการบินจะต้องจัดหาที่พักค้างคืน (รวมถึงค่าเดินทางระหว่างสนามบินและโรงแรม) ให้ด้วย

2. ถ้าเที่ยวบินออกเดินทางล่าช้าเกิน 5 ชม. เราสามารถขอเงินคืนได้ แต่ถ้าเลือกวิธีนี้ สายการบินไม่ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือหรือจัดหาการเดินทางให้เราอีก

3. ถ้าเที่ยวบินมาถึงที่หมายล่าช้าเกิน 3 ชม. นอกจากสิทธิการดูแลข้างต้น เรายังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะทาง ดังนี้

1.) เที่ยวบินภายในยุโรป
- ไม่ถึง 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 250 ยูโร
- มากกว่า 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 400 ยูโร
2.) เที่ยวบินระหว่างสนามบินยุโรปและนอกยุโรป
- ไม่ถึง 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 250 ยูโร
- 1,500 - 3,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 400 ยูโร
- มากกว่า 3,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 600 ยูโร

4. ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิกภายใน 2 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง เรามีสิทธิดังนี้

- ขอให้สายการบินหาวิธีทางอื่นเพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ในที่สุด หรือ
- ขอค่าตั๋วเครื่องบินคืน หรือ
- ขอเที่ยวบินกลับไปต้นทาง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กรณีเป็นเที่ยวบินต่อเครื่อง และ
- เรียกร้องค่าชดเชย 250-600 ยูโร ขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบิน หากสายการบินจัดหาเที่ยวบินอื่นให้ และไปถึงจุดหมายล่าช้าเกิน 2, 3, 4 ชม. ขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบิน ค่าชดเชยอาจลดลง 50%

สามารถยื่นเรื่องเรียกร้องสิทธิต่างๆข้างต้นกับสายการบินโดยตรงด้วยตนเอง หรือใช้ฟอร์มเรียกร้องค่าชดเชย

Quelle: tagesschau.de, europa.eu

เยอรมันแนะให้ตุนอาหารและน้ำรับมือเหตุฉุกเฉิน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมันประกาศให้ประชาชนเตรียมเสบียงอาหารและน้ำดื่มไว้ยามจำเป็น เพื่อพร้อมรับมือหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือการก่อการร้าย ที่รัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือประชาชนไม่ทันท่วงที

โดยแนะให้ประชาชนเตรียมอาหารเผื่อไว้สำหรับ 10 วัน และน้ำดื่มสำหรับ 5 วัน วันละ 2 ลิตรต่อคน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เตรียมยารักษาโรค ผ้าห่ม เทียน แบตสำรอง เงินสดสำรอง วิทยุใส่ถ่านที่สามารถติดตามข่าวสารจากทางการได้กรณีไม่มีไฟฟ้า เผื่อติดบ้านไว้ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีหลังจากที่เคยประกาศใช้นโยบายดังกล่าวครั้งล่าสุดเมื่อช่วงหลังสงครามเย็น ค.ศ. 1989

ปริมาณอาหารและน้ำที่แนะนำให้ตุนเสบียงต่อคน:

น้ำ 28 ลิตร

แป้ง/เส้น 5 กก.

ผักกระป๋อง 5,6 กก.

ผลิตภัณฑ์นม 4 กก.

เนื้อ 2 กก.

หรือคำนวณปริมาณการตุนอาหารและน้ำดื่มต่อคน ต่อวัน ได้ที่นี่: http://www.ernaehrungsvorsorge.de/private-vorsorge/notvorrat/vorratskalkulator/#x2665;_blank

คำแนะนำเพื่อเตรียมรับมือ และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (PDF): http://www.bbk.bund.de/SharedDocs/Downloads/BBK/DE/Publikationen/Broschueren_Flyer/Buergerinformationen_A4/Ratgeber_Brosch.pdf?__blob=publicationFile

Checklist เพื่อเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน (PDF): http://www.bbk.bund.de/SharedDocs/Downloads/BBK/DE/Publikationen/Broschueren_Flyer/Buergerinformationen_A4/Checkliste_Ratgeber.pdf?__blob=publicationFile

ในขณะที่บางส่วนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และเตรียมซื้อของตุนไว้ ก็มีทั้งประชาชนและสื่อหลายฝ่ายที่ไม่พอใจ และไม่เห็นด้วย เช่น หัวหน้าพรรค Die Linke ที่ออกมาแสดงความเห็นขัดแย้งว่า การประกาศดังกล่าวจะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลควรกระทำ

Quelle [ที่มา]: http://www.welt.de/politik/deutschland/article157781100/Bevoelkerung-soll-Lebensmittel-Vorraete-fuer-zehn-Tage-anlegen.html

http://www.welt.de/politik/deutschland/article157809984/Beim-Schutzplan-geht-es-um-mehr-als-Hamsterkaeufe.html

https://www.tagesschau.de/inland/zivilschutz-101.html

http://www.bbk.bund.de/DE/Ratgeber/Handeln_in_Katastrophen/Handeln_in_Katastrophen.html

2016-08-26

การหย่า & การใช้นามสกุลหลังหย่า | Scheidung & Ehename

สารบัญ

การหย่าตามกฎหมายเยอรมัน

การหย่าตามกฎหมายไทย

การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

การเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่าตามกม.เยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย

ติดต่อแปลเอกสาร/ ล่าม

 

1. การหย่าตามกฎหมายเยอรมัน

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการหย่าในเยอรมนีไว้ดังนี้

การสมรสสิ้นสุดลง: เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต หรือจากการหย่าโดยศาล

ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน: การหย่าตามกฎหมายเยอรมันจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าดำเนินการ ค่าศาล ค่าทนายความ ค่าทนายความรับรองเอกสาร แต่ละคนอาจมีค่าใช้จ่ายแต่งต่างกันไปตามรายได้ และมูลค่าทรัพย์สิน แต่หากมีรายได้น้อยหรือไม่มีทรัพย์สิน ก็สามารถยื่นคำร้องขอลดหย่อนค่าใช้จ่ายบางส่วนได้

ขั้นตอนยุ่งยากกว่าการหย่าตามกฎหมายไทย อันดับแรกควรติดต่อศาลครอบครัวในเมืองที่เราอยู่ (Amtsgericht/ Familiengericht) หรือทนายความ (Rechtsanwalt) ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว เพื่อช่วยเดินเรื่องยื่นคำร้องขอหย่าต่อศาลครอบครัว

เงื่อนไขการหย่า: ต้องมีหลักฐานว่าแยกกันอยู่มาอย่างน้อย 1 ปี และแน่ใจว่าการสมรสนั้นล้มเหลว และจะไม่กลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีก แต่หากมีการทำร้ายร่างกายร้ายแรง ก็อาจจะได้รับการตัดสินให้หย่าจากศาลได้ได้ก่อน 1 ปี

ทั้งคู่ควรมีการตกลงกันเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองบุตร การให้เงินเลี้ยงดูอีกฝ่าย การแบ่งทรัพย์สินในบ้าน การปรับเทียบเงินเลี้ยงดูในวัยชรา และข้อตกลงอื่นๆ โดยขั้นตอนนี้สามารถปรึกษาทนายให้เป็นตัวกลางได้ และศาลครอบครัวของเยอรมันจะเป็นผู้ดำเนินการหย่า

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: BGB §§ 1564 - 1587

หมายเหตุ mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า จึงควรติดต่อทนาย แต่เรายินดีให้บริการแปลเอกสารและล่าม ภาษาเยอรมัน-ไทย

2. การหย่าตามกฎหมายไทย

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการหย่าในไทยไว้ดังนี้

การสมรสสิ้นสุดลง: เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต หรือจากการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ หรือจากการหย่าโดยศาลพิพากษา

ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน: หากทั้งคู่สามารถตกลงการหย่าร้างกันเองได้ ก็ตกลงเรื่องทรัพย์สิน การปกครองบุตร และอื่นๆ ทำเป็นหนังสือหย่า และไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอได้ ค่าใช้จ่ายหรือขั้นตอนก็จะไม่ยุ่งยากเท่าการหย่าตามกฎหมายเยอรมัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็อาจจะต้องยื่นเรื่องเสนอศาลให้ช่วยตัดสิน

อ่านรายละเอียดการหย่าที่ไทย: http://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-general/12-service-handbook/general/28-general-status-divorce

เงื่อนไขการหย่า: การหย่าโดยการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ อาจไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายเยอรมัน

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 6 การสิ้นสุดแห่งการสมรส

หมายเหตุ mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า จึงควรติดต่อทนาย แต่เรายินดีให้บริการแปลเอกสารและล่าม ภาษาเยอรมัน-ไทย

3. การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันและไทยไว้ดังนี้ หลังแต่งงานหากเราใช้นามสกุลเดิม ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่กรณีที่เราเปลี่ยนนามสกุล ไปใช้นามสกุลของคู่สมรส เมื่อหย่าร้างกันแล้ว เราควรเข้าใจกฎหมายการใช้นามสกุลทั้งในไทย และเยอรมนี เพื่อเข้าใจสิทธิและหน้าที่การใช้นามสกุลอีกฝ่ายหลังหย่าได้ถูกต้อง

3.1 กฎหมายเยอรมัน (BGB § 1355 Ehename)

คู่สมรสที่เป็นหม้าย หรือหย่าจากคู่สมรสสามารถใช้นามสกุลหลังสมรสต่อได้ หรือสามารถแจ้งที่สำนักทะเบียน (Standesamt) ขอกลับไปใช้นามสกุลเกิด หรือนามสกุลเดิมก่อนสมรส (หรือนามสกุลของคู่สมรสเก่า) หรือขอเพิ่มนามสกุลเกิดของตน หรือนามสกุลหลังสมรสเข้าไปในนามสกุลตนเองเป็นนามสกุลควบได้ mausmoin.com ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ดังนี้

  • นามสกุลเกิด: น.ส. หนูนา รักไทย
  • นามสกุลจากการสมรสเก่า (หย่ารอบแรก): น.ส. หนูนา เม้าส์มัน
  • นามสกุลหลังสมรสล่าสุด (สมรสรอบสอง): น.ส. หนูนา รักเยอรมัน

นามสกุลหลังเป็นหม้าย หรือหย่ารอบสอง จะใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันได้ดังนี้

1. กลับไปใช้นามสกุลเกิด: น.ส. หนูนา รักไทย

2. กลับไปใช้นามสกุลจากการสมรสเก่า: น.ส. หนูนา เม้าส์มัน

3. ใช้นามสกุลควบ โดยเอานามสกุลเกิด บวกกับนามสกุลหลังสมรสล่าสุด: น.ส. หนูนา รักไทย-รัก เยอรมัน หรือ น.ส. หนูนา รักเยอรมัน-รักไทย

4. ใช้นามสกุลควบ โดยเอานามสกุลจากการสมรสเก่า บวกกับนามสกุลหลังสมรสล่าสุด: น.ส. หนูนา รักเยอรมัน-เม้าส์มัน หรือ น.ส. หนูนา เม้าส์มัน-รักเยอรมัน

5. ใช้นามสกุลหลังสมรสล่าสุดตามเดิม ไม่เปลี่ยนนามสกุล: น.ส. หนูนา รักเยอรมัน

การเปลี่ยนชื่อข้างต้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการหย่ามีผลเป็นที่สิ้นสุดแล้ว (Scheidungsbeschluss) หรือคู่สมรสเสียชีวิตลง

3.2 กฎหมายไทย (พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548)

การใช้นามสกุลหลังการหย่า: หลังหย่า หรือศาลเพิกถอนการสมรส คู่สมรสที่ใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (มาตรา 13 วรรค 1)

การใช้นามสกุลหลังคู่สมรสเสียชีวิต: หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้นามสกุล ของอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิ์ใช้นามสกุลนั้นต่อไปได้ แต่เมื่อจะสมรสใหม่ให้กลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (มาตรา 13 วรรค 2)

สรุป การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

mausmoin.com สรุปข้อมูลการใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันและไทยไว้ดังนี้  ถ้าเรามีสัญชาติไทย อาศัยอยู่ที่เยอรมนี ก็ควรจะเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่า ให้สอดคล้องกับทั้งกฏหมายไทย และกฎหมายเยอรมัน แม้กฎหมายเยอรมันจะมีทางเลือกให้เราใช้นามสกุลหลังหย่าได้หลายแบบ ทั้งให้ใช้นามสกุลหลังสมรสเดิม นามสกุลควบ หรือเปลี่ยนนามสกุลกลับไปใช้นามสกุลเก่า แต่กฎหมายไทย (พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548 มาตรา 13 วรรค 1) บัญญัติให้ต้องเปลี่ยนนามสกุล กลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน

ดังนั้นเพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมายทั้งสองประเทศ หลังหย่าหรือเป็นหม้าย และต้องการแต่งงานใหม่ เราควรเปลี่ยนนามสกุลกลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน โดยเปลี่ยนทั้งที่ไทยและที่เยอรมนีให้เหมือนกัน

แต่หากเราต้องการใช้นามสกุลสามีเก่าต่อไป ที่เยอรมนีสามารถใช้ได้ (รายละเอียดข้อ 3.1) แต่ที่ไทย จะต้องมีใบยินยอมจากเจ้าของนามสกุล (สามีเก่า/ครอบครัวของสามีเก่า) ว่าสามารถให้เราใช้นามสกุลของเขาต่อไปได้หลังหย่ากัน รายละเอียดการเตรียมเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรปรึกษางานนามสกุล กรมการปกครอง สายด่วนมหาดไทย โทร 1548 (ประเทศไทย)

4. การเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่าตามกฎหมายเยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย

namenaenderung SCHEIDUNG 1200x1500

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทยไว้ดังนี้ หลังจากที่ทำเรื่องหย่าเสร็จเรียบร้อย สถานภาพการสมรสของเราจะเปลี่ยนจาก “สมรส” เป็น “หย่าร้าง” หากหย่าที่เยอรมนี เราควรทำเรื่องขอให้อำเภอที่ไทย บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) ให้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลสถานภาพครอบครัวของเรา ตรงกันทั้งที่ไทยและเยอรมนี จะได้ไม่มีปัญหาตามมา เมื่อต้องการแต่งงานอีกครั้ง เนื่องจากเราจะต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสประกอบการสมรสใหม่ด้วย

ขั้นตอนที่เยอรมนี

1. ไปรับรองใบหย่าว่าเป็นเอกสารจริง ไม่ปลอมแปลง:

นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้ว (Scheidungsurteil) ไปรับรองเอกสารว่าไม่ปลอมแปลง โดยทั่วไปคำพิพากษาหย่าที่ออกโดยศาลชั้นต้น (Amtsgericht) ในเยอรมนี จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ศาลผู้ออกทะเบียนหย่าจากศาลแห่งรัฐ (Landgericht) ก่อน เรียกว่า Beglaubigung / Überbeglaubigung ซึ่งเราสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่จัดทำคำพิพากษาหย่าให้เรา ว่าต้องไปรับรองที่ไหน แต่ละรัฐอาจจะไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไป อ่านเพิ่มเติมที่ https://mausmoin.com/beglaubigung-de/

2. นำมาแปลเป็นไทย:

นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้วจากข้อ1 แล้ว มาให้นักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน แปลใบหย่ากับ mausmoin.com

3. ไปรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลใหญ่ในเยอรมนี:

นำคำพิพากษาหย่าพร้อมคำแปล ส่งไปรับรองอีกครั้งที่สถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt/กงสุลใหญ่ที่ München สามารถยื่นเรื่องได้ทั้งทางไปรษณีย์ หรือเดินทางไปยื่นที่สถานทูตไทย หรือกงสุลใหญ่ ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร (เบอร์โทร กงสุลใหญ่ Frankfurt: 069-69 868 205/ เบอร์โทร สถานทูตไทย ฝ่ายข้อมูลทั่วไป: 030-79 48 11 01, เบอร์โทร กงสุลใหญ่ München 089 944 677-113)

ขั้นตอนที่ไทย

4. ไปรับรองเอกสารที่กรมการกงสุล เขตหลักสี่:

เมื่อได้เอกสารคืนจากการรับรองในข้อ 3 แล้ว เราก็สามารถเดินทางไปไทย หรือมอบอำนาจให้คนที่ไทย ไปยื่นเรื่องรับรองเอกสารให้เรา เป็นรอบสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากเอกสารที่ออกจากต่างประเทศ จะเป็นที่ยอมรับจากทางการไทย ต่อเมื่อมีการรับรองเอกสารจากสถานทูต/กงสุลใหญ่ในต่างประเทศ และจากกระทรวงการต่างประเทศอีกรอบ

5. ไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอ:

นำคำพิพากษาหย่าพร้อมคำแปลที่ได้รับการรับรองแล้วจากข้อ 4 ไปที่อำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นทำให้ได้

6. ทำบัตรประชาชนใหม่:

นำทะเบียนบ้านใหม่ ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนที่ใช้นามสกุลใหม่หลังหย่า ต้องไปทำด้วยตนเองที่ไทย หรือทำที่เยอรมนี โดยทำนัดล่วงหน้ากับทางสถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt, กงสุลใหญ่ที่ München (เบอร์โทร กงสุลใหญ่: 069-69 868 205, เบอร์โทร สถานทูตไทย: 030 79 481 114, เบอร์โทร กงสุลใหญ่ München 089 944 677-114)

7. ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่:

นำทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนใหม่ ที่เปลี่ยนนามสกุลแล้ว ไปประกอบการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ สามารถทำได้ทั้งที่ไทย และเยอรมนี

ปัจจุบัน เราไม่สามารถขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ (อีพาสปอร์ต) ได้ จะต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น (แต่หากยังถือหนังสือเดินทางแบบเก่าอยู่ ก็ยังสามารถยื่นเรื่องแก้ไขได้ ที่สถานทูตไทยหรือกงสุลใหญ่) อย่างไรก็ตาม การขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางแบบเก่า ยังไม่ถือเป็นการเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ ตามกฎหมายไทย

ดังนั้น หากเราต้องการทำหนังสือเดินทางไทยเล่มใหม่ โดยใช้นามสกุลใหม่หลังหย่า เราจะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนในทะเบียนบ้านไทยก่อน เนื่องจากนามสกุลจะต้องตรงกันกับทะเบียนบ้านไทย หรือบัตรประชาชนไทยที่มีนามสกุลใหม่ ที่เราจะต้องยื่นพร้อมกับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไทย

รวบรวมข้อมูลจาก: เว็บไซต์สถานทูตไทย Berlin, กงสุลใหญ่ Frankfurt,กงสุลใหญ่ München, สำนักทะเบียนไทย, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548, กฎหมายเยอรมัน BGB §§ 1564 - 1587

ติดต่อเรา Mausmoin.com

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปลคำพิพากษาหย่า (Scheidungsbeschluss) และเอกสารประกอบการหย่า ภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้าน บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) ที่ไทยได้ หรือทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line: mausmoin, info@mausmoin.com  -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Rheinland-Pfalz, Hessen และ Baden-Württemberg โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Oberwesel 55430) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

การขอสัญชาติเยอรมัน | Einbürgerung in Deutschland


สารบัญ 

เอกสารที่ต้องใช้

การถือสองสัญชาติ

คุณสมบัติ และเงื่อนไข

การสอบขอสัญชาติ

ตัวอย่างข้อสอบ Einbürgerungstest

ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com

เอกสารที่ต้องใช้

เจ้าหน้าที่จะสอบถามเรา และดูประวัติของเราก่อน จากนั้นจะให้รายการเอกสารที่ต้องเตรียม แต่ละคนอาจจะต้องเตรียมเอกสารมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติและสถานภาพครอบครัวของแต่ละคน

เอกสารเกี่ยวกับตัวเราที่มักจะต้องเตรียม ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง และวีซ่าถาวร (Aufenthaltstitel)
  • สูติบัตรของเรา (ของคู่สมรส และของลูก) ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้าชื่อในสูติบัตร หรือเอกสารอื่นๆ ไม่ตรงกับชื่อหรือนามสกุลในพาสปอร์ต)
  • เอกสารแต่งงานต่างๆ (หรือ/และ เอกสารหย่าต่างๆ)ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบสำเร็จการศึกษา และหลักฐานทางการศึกษา หรือการฝึกงานอื่นๆติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • รูปถ่ายปัจจุบัน
  • หลักฐานการเงิน หรือใบรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง
  • หลักฐานแสดงระดับความรู้ภาษาเยอรมันระดับ B1 (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)
  • ผลสอบ Einbürgerungstest (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)

ถ้าเอกสารเป็นภาษาไทย ต้องนำมาแปลและรับรองคำแปลกับนักแปลที่ศาลเยอรมันรับรอง สามารถติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com ได้ที่ info@mausmoin.com หรือ Line ID: mausmoin

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ใบคำร้องขอสัญชาติเยอรมัน และข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายการขอสัญชาติที่เมืองที่เราอาศัย (Einbürgerungsbehörde) ที่ Ausländerbehörde หรือสอบถามที่ Rathaus ของเมืองที่เราอยู่

ค่าทำเรื่องขอสัญชาติเยอรมัน: 255 ยูโร ต่อคน และเด็กที่ยื่นเรื่องพร้อมพ่อแม่จะอยู่ที่ 51 ยูโร

การถือสองสัญชาติ (Hinnahme von Mehrstaatigkeit)

กฎหมายสัญชาติเยอรมัน ปกติแล้วไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติได้ เช่น การสละสัญชาติไทย อาจจะใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือการสละสัญชาติไทยมีผลเสียมากมายต่อการครอบครองที่ดิน หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ที่เมืองไทย ดังนั้นการขอสัญชาติเยอรมัน จึงมีการอนุโลมให้คนไทยสามารถถือสองสัญชาติคู่กันได้ (ณ ปี 2016) ทั้งนี้ Mausmoin.com แนะนำว่าควรสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ว่าต้องแจ้งหรือเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

อ้างอิงข้อมูลการถือสองสัญชาติจาก สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ และกฎหมายเยอรมัน Staatsangehörigkeitsgesetz (StAG) § 12

ข้อมูลจากกงสุลไทยในเยอรมัน กรณีการถือสองสัญชาติ:

1. "ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ทางการเยอรมันได้ยกเว้นให้บุคคลสัญชาติไทยที่ไปขอสัญชาติเยอรมัน สามารถถือสองสัญชาติได้ โดยไม่ต้องสละสัญชาติไทยอีกต่อไป"

2. "ตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทยไม่ได้ “ห้าม” แต่ก็ไม่ได้ “ให้” บุคคลสัญชาติไทยไปถือสัญชาติอื่น"

กรณีต้องการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย อ่านรายละเอียด เอกสารและเงื่อนไขคุณสมบัติได้ที่: ข้อมูลของกรมการกงสุลไทย (PDF)

คุณสมบัติ และเงื่อนไขการขอสัญชาติเยอรมัน

Mausmoin.com สรุปเงื่อนไขเบื้องต้นของการขอสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยมาให้ด้านล่าง ทั้งนี้ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ Ausländerbehörde ที่เมือง เพื่อขอรายละเอียดสำหรับแต่ละคน แต่ละกรณีเพิ่มเติม

  • มีวีซ่าถาวร (unbefristetes Aufenthaltsrecht) หรือมีวีซ่าประเภท Blaue Karte ในวันที่จะขอสัญชาติ
  • สอบ Einbürgerungstest ผ่าน
  • อยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 8 ปี (หรือระยะเวลาอาจจะสั้นลงเหลือ 6-7 ปี ถ้าเรียนจบคอร์ส Integrationskurs)
  • สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐ เช่น เงินตกงาน Hartz IV
  • มีความรู้ภาษาเยอรมันเพียงพอ
  • ไม่ต้องโทษ หรือมีความผิดทางกฎหมาย
  • ยอมรับหลักกฎหมายพื้นฐานแบบประชาธิปไตยเสรีของประเทศเยอรมัน
  • สามารถสละสัญชาติเดิมได้ แต่ข้อนี้ไทยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องสละสัญชาติไทย

เคสพิเศษอื่นๆ

1. ถ้าแต่งงานกับคนเยอรมันถูกต้องตามกฎหมาย มาอย่างน้อย 2 ปี และอยู่ด้วยกัน ตัวคุณอยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 3 ปี และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการขอสัญชาติ (ดูหัวข้อ คุณสมบัติและเงื่อนไข) ก็สามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติเยอรมันได้ (Einbürgerung des Ehegatten eines Deutschen) 
2. โดยปกติคู่สมรสหรือลูกที่เป็นผู้เยาว์ สามารถยื่นขอสัญชาติร่วมได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่เยอรมันครบ 8 ปี (Staatsangehörigkeitsgesetz§ 10 (2))
3. โดยปกติ จะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน (Staatsangehörigkeitsgesetz § 10 (5))
4. ลูกชายที่มีสองสัญชาติ ไทย-เยอรมัน หรือชายไทยที่มีสองสัญชาติ ตามกฏหมายไทย จะต้องไปเกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 21 ปี แต่หากเรียนอยู่ที่เยอรมันก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันได้ โดยทำเรื่องยื่นขอสัสดีท้องที่ที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมอบอำนาจไป พร้อมเตรียมเอกสารไปตามที่กำหนด หากเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน ให้ Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปลเป็นไทย และจึงนำไปยื่น รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านข้อมูลจากกงสุลที่นี่
5. เด็กที่มีพ่อแม่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เกิดในเยอรมัน จะได้สองสัญชาติตั้งแต่เกิด ในกรณีที่ในเวลาที่เด็กเกิด พ่อหรือแม่อยู่เยอรมันมาติดต่อกัน 8 ปี และมีวีซ่าถาวรในเยอรมัน และเด็กจะได้สัญชาติไทยตามสัญชาติของพ่อแม่ที่เป็นคนไทยด้วย
หมายเหตุ แต่ละเมืองอาจจะมีเกณฑ์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประวัติการเรียน การทำงาน สถานะการแต่งงาน และการอยู่อาศัยของแต่ละคนด้วย หากมีคำถามเคสพิเศษอื่นๆ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ Einbürgerungsbehörde น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุดค่ะ

การสอบขอสัญชาติ (Einbürgerungstest)

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการสอบขอสัญชาติเป็นภาษาไทยมาให้ดังนี้ เราสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่อาศัยในเยอรมัน รวมไปถึงกฎเกณฑ์ และกฎระเบียบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเมื่อเราจะขอสัญชาติเยอรมัน

ปกติแล้วเราจะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest เมื่อทำเรื่องขอสัญชาติ แต่เราก็อาจไม่ต้องสอบถ้าเราเรียนจบจากเยอรมัน (เรียนหลักสูตรภาษาเยอรมัน)

ค่าสอบ: 25 ยูโร สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองของเรา เกี่ยวกับตารางเวลาสอบ และสถานที่สอบ

ลักษณะการสอบ Einbürgerungstest: มี 33 ข้อ ให้เวลา 60 นาที เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบ (a,b,c,d) ต้องตอบถูก 17 ข้อขึ้นไป จึงจะสอบผ่าน ถ้าเราสอบผ่าน ก็จะได้ใบรับรองผลสอบจาก Bundesamt für Migration und Flüchtlinge เพื่อไปยื่นพร้อมเอกสารอื่นๆ ที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองต่อไป แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็สอบแก้ตัวใหม่ได้

ตัวอย่างข้อสอบขอสัญชาติ

Mausmoin.com รวบรวมแหล่งฝึกทำข้อสอบมาให้ ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบ และทำเรื่องขอสัญชาติได้อย่างราบรื่นค่ะ

รวบรวมข้อมูลจาก bamf.de (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ปี 2016)

Angaben ohne Gewähr

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจาก Mausmoin.com ประกอบการขอสัญชาติ หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234