คนไทยทำงานในเยอรมนีได้ไหม ทำงานอะไรถูกใจที่สุด? | Arbeiten in Deutschland

เพื่อน ๆ ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งที่ติดตามครอบครัวมาอยู่ หรือมาเรียนต่อ ก็คงจะมีความคิดที่จะหางานทำในเยอรมนี หรืออยากมีกิจการของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าเราสามารถทำงานได้หรือไม่ ข้อดีข้อเสียของการทำงานแต่ละแบบมีอะไรบ้าง จะหางานอย่างไร ติดต่อหน่วยงานไหน MAUSMOIN จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทำงานในประเทศเยอรมนีสำหรับคนไทยดังนี้

วีซ่าของเราอนุญาตให้ทำงานได้ไหมนะ?

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราจะต้องตรวจสอบว่าเราได้รับอนุญาตให้ทำงานในเยอรมนีได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สำหรับคนไทยที่อยู่อาศัยในเยอรมนีระยะยาว (อยู่เยอรมนีเกิน 90 วัน) ให้สังเกตในใบอนุญาตให้พำนักอาศัยของเรา (Aufenthaltserlaubnis) ว่ามีหมายเหตุเขียนว่าเราทำงานได้ “Erwerbstätigkeit gestattet” หรือ “Beschäftigung gestattet” หรือมีวีซ่าประเภท BLAUE KARTE EU หรือมีวีซ่าทำงานประภทอื่น ๆ รวมทั้งหากเรามีสิทธิพำนักถาวร (Niederlassungserlaubnis) หรือมีสัญชาติเยอรมัน ก็สามารถทำงานในเยอรมนีได้

แต่สำหรับคนไทยที่มาเยอรมนีระยะสั้นด้วยวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว หรือเยี่ยมเยือน ปกติแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย หากดูที่วีซ่าจะเห็นคำว่า “Erwerbstätigkeit nicht gestattet”

ส่วนวีซ่านักเรียนสามารถทำงานนอกเวลาเรียนได้ ที่เรียกว่า Nebenjob หรือทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่า Minijob ได้  โดยทั่วไปนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่คนยุโรปอย่างเช่น นักเรียนไทย จะมีเงื่อนไขจำกัดชั่วโมงทำงาน เช่น ทำงานเต็มเวลาได้ไม่เกิน 120 วันต่อปี หรือทำงานพาร์ตไทม์ได้ไม่เกิน 240 วันต่อปี

หากใครไม่แน่ใจว่าเรามีวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายหรือไม่ MAUSMOIN แนะนำให้ติดต่อสอบถามทางหน่วยงานดูแลคนต่างชาติในเมืองของเรา (Ausländerbehörde) ซึ่งจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่หากทำงานโดยไม่มีวีซ่าทำงานที่ถูกต้องและถูกจับ จะถูกปรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายกำหนดได้

คนไทยทำงานอะไรในเยอรมนีได้บ้างนะ?

หลังจากที่เรามั่นใจแล้วว่า เราสามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นต่อไป MAUSMOIN จะพามารู้จักการทำงานประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ลองนำไปประกอบการตัดสินใจ เพื่อการทำงานอย่างมีความสุข และเหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา

1) ทำงานเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานบริษัท (Arbeitnehmer)

งานลักษณะนี้เป็นงานที่คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีทำงาน มีความมั่นคง มีทั้งการทำงานเต็มเวลา และพาร์ตไทม์ เป็นลูกจ้างประจำหรือแค่สัญญาจ้างชั่วคราว ข้อดีของการเป็นพนักงานคือ เราจะได้เงินเดือนหรือค่าแรง (ค่อนข้าง) คงเดิมทุกเดือน ได้รับสวัสดิการบริษัท มีวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายกำหนด หากวันไหนป่วยก็ยังได้รับเงินเดือน บริษัทหรือนายจ้างจะจัดการทำบัญชีเงินเดือนให้ลูกจ้าง หักค่าประกันสังคม ประกันสุขภาพ ภาษีตามกฎหมายกำหนดให้

แต่ข้อเสียสำหรับบางคน อาจจะเป็นเรื่องการทำงานไม่ยืดหยุ่นตามที่เราอยากจะทำ ต้องอยู่ในกรอบนโยบายของบริษัท ดังนั้น MAUSMOIN จะพามารู้จักกับงานแบบเป็นนายจ้างตนเองดูบ้าง

2) มีกิจการของตัวเอง (Selbstständiger)

นั่นคือการเป็นนายของตัวเอง ไม่ว่าจะเปิดร้านอาหาร ร้านนวด เปิดร้านขายของ รับจ้างต่าง ๆ นักแปล ล่าม คนจัดสวน ช่างฝีมือ โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ ที่รับผิดชอบกิจการ ร้าน หรือบริษัทของตนเอง

โดยหากจะเริ่มทำธุรกิจการค้าของตนเองในเยอรมนี อันดับแรกจะต้องแจ้งขอจดทะเบียนการทำธุรกิจ (Gewerbeanmeldung) ที่สำนักงานการค้า (Gewerbeamt) ที่เมืองของเราก่อน จากนั้นทางสรรพากรจะได้ข้อมูลดังกล่าว และแจ้งหมายเลขผู้เสียภาษีมาให้เราต่อไป

แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freiberufler) เช่น ล่าม ที่ปรึกษาภาษี แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนาย ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องทำเรื่อง Gewerbeanmeldung แต่ยังต้องแจ้งสรรพากรเพื่อขอหมายเลขผู้เสียภาษี

นอกจากนี้ ในบางกิจการอาจจะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น หากต้องการเปิดกิจการร้านอาหาร เราจะต้องผ่านการอบรมการเปิดกิจการร้านอาหารและสุขอนามัยอาหารด้วย MAUSMOIN แนะนำให้สอบถามทางสำนักงานการค้าที่เมืองของเรา และหอการค้า (IHK) ที่เมืองเพิ่มเติม

หากมองโดยรวมแล้ว ข้อดีของการมีกิจการของตัวเองก็คือ เราเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้วางแผนงานในแบบที่เราอยากทำ มีอิสระ จัดการเวลาทำงานได้เอง แต่ข้อเสียคือ เราจะต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งเรื่องการบริหารงาน จัดการบัญชี จ้างพนักงาน ดูแลเรื่องประกันภัยต่างๆ ด้วยตนเอง ทำภาษี ยื่นภาษีตามกำหนด หากป่วยไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเสี่ยงที่จะมีรายรับไม่คงที่

3) ทำงาน เล็ก ๆ น้อย ๆ (Minijobber)

ที่ประเทศเยอรมนี หากใครต้องการทำงานเล็กน้อย เช่น ไม่มีเวลา ต้องดูแลลูกเล็ก หรือเรียนเต็มเวลา ก็สามารถหางานประเภท Minijob ทำได้ โดย Minijob จะแบ่งตามปัจจัยเวลาทำงานหรือรายได้ คืองานที่จำกัดเวลาทำงานสั้น ๆ ไม่เกินสามเดือน หรือรวมแล้วไม่เกิน 70 วันทำงาน โดยทำงานแค่ชั่วคราว หรือ Minijob ที่ดูจากรายได้ว่า ทำงานมีรายได้ไม่เกิน 450 ยูโรต่อเดือน หรือ 5400 ยูโรต่อปี ข้อดีคือ มีโอกาสหางาน Minijob ค่อนข้างง่ายกว่างานประจำ แต่ข้อเสียคือ รายได้น้อยกว่าการทำงานเต็มเวลา ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานผู้ช่วย เล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานน้อยกว่าการทำงานประจำ

ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

จากข้อมูลที่ MAUSMOIN ชี้ให้เห็นในเบื้องต้น ไม่ว่าจะทำงานเป็นพนักงาน หรือเป็นนายของตนเอง สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาความสามารถของตนเองให้เหมาะกับเป้าหมายงานที่เราอยากจะทำ ในทุกงานจะต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียเป็นเรื่องปกติ แต่หากเรารักในสิ่งที่เราทำ เราจะสามารถได้รับประโยชน์จากข้อดี และจะหาทางก้าวข้ามปัญหาที่เจอจากข้อเสียระหว่างทางได้

จากที่ MAUSMOIN ได้รู้จักกับคนไทยในเยอรมนี ก็พบว่าคนไทยทำงานในหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ทำงาน Minijob พนักงานขาย พนักงานโรงงาน พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัท วิศวกร สถาปนิก ล่าม ทนาย แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ครูสอนภาษาไทย เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของร้านค้า เจ้าของร้านนวด เจ้าของโรงแรม ดังนั้น หากเราพยายาม ตั้งใจ มุ่งมั่น เราก็จะสามารถทำงานที่เรารักและมีความสุขได้ในที่สุด

หากเพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและต้องการหางาน สามารถเข้าไปปรึกษาที่สำนักจัดหางาน (Agentur für Arbeit) ที่เมืองได้ นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ยังสามารถได้รับคำแนะนำเรื่องการหางาน ฝึกงาน เทียบวุฒิการศึกษา เงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ได้ด้วย

ท้ายสุดนี้ MAUSMOIN ยังคงเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรมีในการทำงาน นอกจากวีซ่าทำงาน ตำแหน่งงานที่ชอบ หรือกิจการที่เรารักแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการรู้และเข้าใจภาษาเยอรมัน เพราะภาษาราชการที่ใช้สื่อสารและออกเอกสารทางราชการต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นภาษาเยอรมัน หากเราทำงานเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน เราก็ควรอ่านทำความเข้าใจจดหมายสำคัญ หรือใบแจ้งต่าง ๆ ได้ หากเราเป็นเจ้าของกิจการ เราจะต้องรู้รอบด้าน ว่าจะต้องขอใบอนุญาตอะไรเพิ่มไหม ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ ถ้าเราปล่อยเลยตามเลย นอกจากจะไม่ได้ทำตามกฎข้อบังคับแล้ว อาจถูกปรับ หรือถูกปิดกิจการเลยก็ได้ ดังนั้น ขอให้เพื่อน ๆ หมั่นพัฒนาภาษาเยอรมันไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะทางการทำงาน เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน MAUSMOIN ขอเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ทุกคน!

การจ้างพ่อครัว/แม่ครัวจากไทย มาทำงานในเยอรมนี

ขั้นตอนการจ้างพ่อครัว/แม่ครัวจากไทย มาทำงานในเยอรมนี

สารบัญ

ขั้นตอน และเอกสารที่ต้องใช้
คุณสมบัติพ่อครัว/แม่ครัว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ติดต่อแปลสัญญาจ้างงาน
เรียนภาษาเยอรมัน

โดยปกติแล้ว การเปิดร้านอาหารไทยในเยอรมนี สามารถจ้างพ่อครัว/แม่ครัว หรือผู้ช่วยคนไทยในเยอรมนีได้เลย โดยว่าจ้างคนที่มีใบอนุญาตทำงานในเยอรมนี แต่หลาย ๆ ร้านก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนพ่อครัว/แม่ครัวที่มีฝีมือ มาช่วยประกอบอาหาร คิดเมนูอาหารเลิศรสให้กับทางร้าน ปัญหานี้ สามารถแก้ไขได้โดยการนำเข้าพ่อครัว/แม่ครัวจากประเทศไทย Mausmoin.com ได้รวบรวมข้อมูลขั้นตอนการเดินเรื่อง รายการเอกสารที่ต้องเตรียม และรายชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม มาให้ดังนี้

ขั้นตอน และเอกสารที่ต้องใช้

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลขั้นตอนการว่าจ้างพ่อครัว/แม่ครัวจากไทย เพื่อมาทำงานในร้านอาหารไทยในเยอรมนี มาให้ดังนี้

1. นายจ้างเตรียมสัญญาจ้างงาน และคัดเลือกพ่อครัวหรือแม่ครัวจากประเทศไทย โดยพ่อครัวหรือแม่ครัวจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด (อ่านรายละเอียดในหัวข้อคุณสมบัติพ่อครัว/แม่ครัว) ทางฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน มีทำตัวอย่างสัญญาจ้างงานไว้ แต่นายจ้างอาจจะต้องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสัญญาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเงื่อนไขของร้าน ซึ่งก็สามารถเขียนสัญญาจ้างงานเองได้เช่นกัน

2. นายจ้างสามารถส่งเนื้อหาสัญญาจ้างงานที่เตรียมไว้ให้ฝ่ายแรงงานฯ พิจารณา โดยจะตรวจสอบดูว่าสัญญาจ้างงานมีความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างหรือไม่ ข้อมูล การรับรองสัญญาจ้างงานกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต อ่านที่นี่

การรับรองสัญญาจ้างงานกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก อ่านที่นี่

เมื่อสัญญาจ้างงานผ่านการพิจารณา นายจ้างนำสัญญาต้นฉบับภาษาเยอรมันนี้ไปให้ล่ามที่มีใบอนุญาตแปล สามารถติดต่อแปลสัญญาจ้างงานกับ Mausmoin.com ได้ที่ Line ID: mausmoin, หรือ info@mausmoin.com

3. ล่ามแปลสัญญาจ้างงานเยอรมัน-ไทย และประทับตรารับรองคำแปล

4. นายจ้างเซ็นชื่อในสัญญาจ้างงาน และส่งให้ลูกจ้างเซ็น จากนั้นให้ลูกจ้างส่งสัญญาจ้างงานกลับมาที่เยอรมนีให้นายจ้าง

5. ระหว่างนั้น นายจ้างติดต่อ Ausländerbehörde ในเขตที่เปิดร้านอาหารและลูกจ้างจะอาศัยอยู่  แจ้งว่าต้องการจ้างพ่อครัว/แม่ครัวจากประเทศไทย และกรอกใบคำร้องรายละเอียดตำแหน่งงานของลูกจ้างในร้าน

6. นายจ้างส่งสัญญาจ้างงานที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างเซ็นแล้ว พร้อมกับฉบับแปลที่มีลายเซ็นและตราประทับของล่ามกำกับ มาให้ฝ่ายแรงงานฯ อีกครั้ง โดยเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  • ใบคำร้องขอรับรองสัญญาจ้างฯ โหลดได้ที่นี่
  • สัญญาจ้าง ต้นฉบับภาษาเยอรมัน (หรือภาษาอังกฤษ) ที่นายจ้างและลูกจ้างเซ็นชื่อแล้ว 2 ชุด
  • สัญญาจ้างฉบับแปลเป็นภาษาไทย ที่นายจ้างและลูกจ้างเซ็นชื่อแล้ว 2 ชุด แปลโดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลในเยอรมนี (สามารถติดต่อแปลสัญญาจ้างงานกับ Mausmoin.com ได้ที่ Line ID: mausmoin, หรือ info@mausmoin.com)
  • สำเนาบัตรประชาชน หรือ passport ของนายจ้างและลูกจ้าง
  • สำเนาใบทะเบียนการค้า (Gewerbeanmeldung)
  • ซองเปล่า จ่าหน้าซองถึงนายจ้าง และติดแสตมป์
    ส่งไปที่ฝ่ายแรงงานฯ ที่อยู่ Royal Thai Embassy, Office of Labour Affairs, Lepsiusstrasse 64-66, 12163 Berlin, Germany

ทางฝ่ายแรงงานแนะนำให้โทรนัดหมายล่วงหน้า โดยสามารถเดินทางไปรับรองสัญญาด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปก็ได้ โดยควรทำล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนกำหนดการนำเข้าแรงงานมาในเยอรมนี

7. ฝ่ายแรงงานฯ รับรองสัญญาจ้างงาน และส่งสัญญาจ้างงานที่ผ่านการรับรองแล้วให้นายจ้าง

8. นายจ้างส่งเอกสารดังต่อไปนี้ให้ลูกจ้าง เพื่อลูกจ้างนำเอกสารดังกล่าวไปขอวีซ่าสำหรับพำนักนานกว่า 90 วัน ที่สถานทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย

  • สัญญาจ้างงานที่ผ่านการรับรองแล้วจากฝ่ายแรงงานฯ
  • สำเนาใบทะเบียนการค้า (Gewerbeanmeldung)
  • สำเนาใบอนุญาตการประกอบกิจการร้านอาหาร (Gaststätteerlaubnis)
  • สำเนา เอกสารของนายจ้าง เช่น Passport
  • รายละเอียดเรื่องที่พักของลูกจ้างที่นายจ้างจะจัดหาให้

นอกจากนี้ ฝ่ายลูกจ้างที่ไทยจะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเพื่อการขอวีซ่า เช่น

  • ใบผ่านการทดสอบจากโรงเรียนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากข้อ 1
  • หนังสือรับรองจากนายจ้างเดิม หรือบริษัทเดิมที่ลูกจ้างเคยทำงาน
  • ใบตรวจสุขภาพเพื่อไปทำงานต่างประเทศ
  • รูปถ่าย 3 ใบ แบบไบโอเมตริก
  • แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าสำหรับพำนักนานกว่า 90 วัน

เอกสารสำหรับขอวีซ่าต้องถ่ายสำเนาอย่างละ 2 ชุด

9. หากเอกสารทุกอย่างครบถ้วน จะใช้เวลาตั้งแต่การขอวีซ่าและรอผลทั้งหมด ประมาณ 12 สัปดาห์

10. เมื่อลูกจ้างได้วีซ่าแล้ว ให้ลูกจ้างไปขอใบอนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ ฝ่ายพิจารณาอนุญาตไปทำงาน สำนักงานบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดินแดง กทม. (หรือสำนักงานแรงงานจังหวัด ที่ลูกจ้างมีภูมิลำเนา) ลูกจ้างรอรับใบอนุญาตไปทำงานฯ  หากไม่ได้ใบอนุญาตนี้ ลูกจ้างจะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้

11. เมื่อลูกจ้างเดินทางมาทำงานที่ประเทศเยอรมนีแล้ว ให้นายจ้างพาลูกจ้างไปแจ้งย้ายเข้า (Anmeldung) ที่สำนักงานเขต ที่ลูกจ้างอาศัยอยู่ และไปรายงานตัวและต่อวีซ่าที่ Ausländerbehörde และเริ่มทำงานได้

การทำงานเป็นพ่อครัว/แม่ครัว ดังกล่าวนี้ ทางการเยอรมันจะให้วีซ่าทำงานไม่เกิน 4 ปี เมื่อหมดสัญญาฯ ลูกจ้างต้องเดินทางกลับประเทศไทย และจะสามารถกลับมาทำงานเป็นพ่อครัวฯอีกครั้ง หลังจากนั้น 3 ปี

คุณสมบัติพ่อครัว แม่ครัว

โดยปกติแล้ว นายจ้างหรือเจ้าของร้านอาหารจะเป็นผู้จัดหาพ่อครัว/แม่ครัวสำหรับร้านของตนเอง หากต้องการนำเข้าพ่อครัว/แม่ครัวที่มีฝีมือจากไทยมาทำงานที่ร้าน ก็ต้องจัดหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ทางการเยอรมนียอมรับ Mausmoin.com รวบรวมรายละเอียดให้ดังต่อไปนี้

  • พ่อครัว/แม่ครัวที่สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 (ป.6) ต้องมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับอาหารไทยตามภัตตาคาร โรงแรม หรือสถานทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • พ่อครัว/แม่ครัวที่สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ต้องมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับอาหารไทยตามภัตตาคาร โรงแรม หรือสถานทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 3 ปี
  • พ่อครัว/แม่ครัวที่สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือระดับวิทยาลัย หรือระดับปริญญาตรี ต้องมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับอาหารไทยตามภัตตาคารโรงแรม หรือสถานทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • ต้องมีความรู้ภาษาเยอรมันและอังกฤษเล็กน้อย หากต้องการเรียนภาษาเยอรมัน สามารถเรียนได้จากบทเรียนใน mausmoin.com หนังสือเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ทั้ง 2 เล่ม หรือคอร์สเรียนเยอรมันออนไลน์ได้ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ mausmoin.com/a1
  • ผ่านการทดสอบที่ดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งตามที่ ZIHOGA สำนักงานจัดหางานสำหรับโรงแรมและภัตตาคารเยอรมนียอมรับ ดังนี้
    • วิทยาลัยดุสิตธานี www.dtc.ac.th
    • โรงเรียนการอาหารนานาชาติ สวนดุสิต www.chefschool.dusit.ac.th
    • Thai - Swiss Culinary Education Center www.thai-culinary.com
    • สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด

รายชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การจ้างพ่อครัว/แม่ครัวจากไทยเพื่อมาทำงานในเยอรมนี จะต้องมีการประสานกับหน่วยงานหลายฝ่าย ทั้งเรื่อง การแปลสัญญาจ้างงาน การรับรองสัญญาจ้างงาน การขอวีซ่า การทดสอบคุณสมบัติพ่อครัว/แม่ครัว และการขอใบอนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ Mausmoin.com ได้รวบรวมรายชื่อหน่วยงานสำคัญให้ดังนี้

ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

  • Royal Thai Embassy, Office of Labour Affairs, Lepsiusstrasse 64-66, 12163 Berlin,Germany
  • Tel: +4930 7948 1231-2
  • Fax: +4930 7948 1518
  • E-mail: labour_berlin@hotmail.com

สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ

กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ

  • Thailand Overseas Employment Administration (TOEA)
  • อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กทม.10400
  • Tel:0-2245-6714-5, 0-2245-0967

สำนักงานจัดหางานสำหรับโรงแรมและภัตตาคารเยอรมนี

  • ZIHOGA Zentrale und internationale Fachvermittlung für Hotel- und Gaststättengewerbe, Villemombler Str. 76, 53123 Bonn
  • Tel: +49 (0)228 / 713 -10 25
  • Fax: +49 (0)228 / 713 -11 22
  • E-Mail: Bonn-ZAV.zihoga@arbeitsagentur.de
  • www.arbeitsagentur.de

ล่าม/นักแปลเอกสาร ที่ได้รับอนุญาตจากศาลในเยอรมนี

  • สำนักงานแปลและศูนย์ภาษาเยอรมัน Mausmoin.com
  • Line ID: Mausmoin
  • Tel: +49 (0) 176 311 76234
  • E-Mail: info@mausmoin.com

แปลสัญญาจ้างงาน

การแปลสัญญาจ้างงานภาษาเยอรมันเป็นไทย จะต้องแปลโดยนักแปลที่มีใบอนุญาตจากศาลในเยอรมนีเท่านั้น โดยนักแปลจะแปลและประทับตรารับรองคำแปลให้ Mausmoin.com เป็นสำนักงานแปลเอกสารที่มีใบอนุญาต ให้บริการแปลสัญญาจ้างงานที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการในเยอรมนีและไทย สอบถามค่าแปลเอกสารได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงส่งสำเนา ฉบับสแกน หรือรูปถ่ายสัญญาทุกหน้ามาได้ทาง Line ID: Mausmoin, E-Mail: info@mausmoin.com

เรียนภาษาเยอรมัน

สำหรับหลักฐานแสดงความรู้ทางภาษาเยอรมัน ทางสถานทูตไม่ได้บังคับว่าต้องสอบเยอรมันผ่านระดับไหน แต่ส่วนตัวแล้ว เม้าส์มอยน์แนะนำว่าอย่างน้อยก็ควรเรียนหรือสอบเยอรมันผ่านระดับ A1 ซึ่งเป็นระดับเริ่มต้นของการใช้ภาษาเยอรมัน เนื่องจากเรากำลังจะมาใช้ชีวิตอยู่ในปรเทศเยอรมนี ซึ่งใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลัก

ถ้าเรารู้ภาษาเยอรมันแล้ว จะได้สื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจ ใช้ชีวิตประจำวันได้เอง คุยกับเพื่อนใหม่ ๆ  ติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย เพราะภาษาราชการและเอกสารที่มีผลตามกฎหมายจะเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด

ในขั้นแรกเราอาจเริ่มจากเรียนรู้ภาษาเยอรมันระดับพื้นฐานก่อน พอเรามาอยู่ในเยอรมนี ก็ค่อย ๆ ขยันฝึกฝนภาษาเพิ่มเติม ทั้งจากที่ทำงาน คอร์สเรียนภาษา หรือสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน ภาษาเยอรมันของเราก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเม้าส์มอยน์ยังเชื่อเสมอว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

เริ่มเรียนภาษาเยอรมันได้ด้วยตนเองง่าย ๆ จาก “หนังสือเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ เล่ม 1-2 สั่งซื้อได้ทาง line/Facebook: mausmoin หรือหาซื้อในไทยได้ที่ร้านหนังสือนายอินทร์ ซีเอ็ดบุ๊ค และร้าน Buchladen ที่เกอเธ่(สาธร) และคอร์สวิดีโอติวสอบเยอรมันระดับ A1 ของเม้าส์มอยน์ที่ “เรียนง่าย เข้าใจ ใช้ได้จริง”

Quelle: รวบรวมข้อมูลจาก ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน (2555), สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (2555), เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

ติดต่อ mausmoin.com

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปลเอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย/ไทย-เยอรมัน สัญญาจ้างงาน เอกสารยืนยันตัวตน หนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการ และเอกสารราชการอื่นๆ

สามารถใช้ฉบับแปลสัญญาจ้างงานจากเรา ติดต่อราชการได้ทั้งในไทยและเยอรมนี คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ด้านล่าง -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย-อังกฤษ  

นัดคุยกับทนาย พบโนทาร์เพื่อทำสัญญา นัดหมายลูกค้า คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ งานจดทะเบียนสมรส ขึ้นศาล ในรัฐ Baden-Württemberg และ Bayern โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Reutlingen 72760) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234