คนไทยทำงานในเยอรมนีได้ไหม ทำงานอะไรถูกใจที่สุด? | Arbeiten in Deutschland

เพื่อน ๆ ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งที่ติดตามครอบครัวมาอยู่ หรือมาเรียนต่อ ก็คงจะมีความคิดที่จะหางานทำในเยอรมนี หรืออยากมีกิจการของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าเราสามารถทำงานได้หรือไม่ ข้อดีข้อเสียของการทำงานแต่ละแบบมีอะไรบ้าง จะหางานอย่างไร ติดต่อหน่วยงานไหน MAUSMOIN จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทำงานในประเทศเยอรมนีสำหรับคนไทยดังนี้

วีซ่าของเราอนุญาตให้ทำงานได้ไหมนะ?

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราจะต้องตรวจสอบว่าเราได้รับอนุญาตให้ทำงานในเยอรมนีได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สำหรับคนไทยที่อยู่อาศัยในเยอรมนีระยะยาว (อยู่เยอรมนีเกิน 90 วัน) ให้สังเกตในใบอนุญาตให้พำนักอาศัยของเรา (Aufenthaltserlaubnis) ว่ามีหมายเหตุเขียนว่าเราทำงานได้ “Erwerbstätigkeit gestattet” หรือ “Beschäftigung gestattet” หรือมีวีซ่าประเภท BLAUE KARTE EU หรือมีวีซ่าทำงานประภทอื่น ๆ รวมทั้งหากเรามีสิทธิพำนักถาวร (Niederlassungserlaubnis) หรือมีสัญชาติเยอรมัน ก็สามารถทำงานในเยอรมนีได้

แต่สำหรับคนไทยที่มาเยอรมนีระยะสั้นด้วยวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว หรือเยี่ยมเยือน ปกติแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย หากดูที่วีซ่าจะเห็นคำว่า “Erwerbstätigkeit nicht gestattet”

ส่วนวีซ่านักเรียนสามารถทำงานนอกเวลาเรียนได้ ที่เรียกว่า Nebenjob หรือทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่า Minijob ได้  โดยทั่วไปนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่คนยุโรปอย่างเช่น นักเรียนไทย จะมีเงื่อนไขจำกัดชั่วโมงทำงาน เช่น ทำงานเต็มเวลาได้ไม่เกิน 120 วันต่อปี หรือทำงานพาร์ตไทม์ได้ไม่เกิน 240 วันต่อปี

หากใครไม่แน่ใจว่าเรามีวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายหรือไม่ MAUSMOIN แนะนำให้ติดต่อสอบถามทางหน่วยงานดูแลคนต่างชาติในเมืองของเรา (Ausländerbehörde) ซึ่งจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่หากทำงานโดยไม่มีวีซ่าทำงานที่ถูกต้องและถูกจับ จะถูกปรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายกำหนดได้

คนไทยทำงานอะไรในเยอรมนีได้บ้างนะ?

หลังจากที่เรามั่นใจแล้วว่า เราสามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นต่อไป MAUSMOIN จะพามารู้จักการทำงานประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ลองนำไปประกอบการตัดสินใจ เพื่อการทำงานอย่างมีความสุข และเหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา

1) ทำงานเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานบริษัท (Arbeitnehmer)

งานลักษณะนี้เป็นงานที่คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีทำงาน มีความมั่นคง มีทั้งการทำงานเต็มเวลา และพาร์ตไทม์ เป็นลูกจ้างประจำหรือแค่สัญญาจ้างชั่วคราว ข้อดีของการเป็นพนักงานคือ เราจะได้เงินเดือนหรือค่าแรง (ค่อนข้าง) คงเดิมทุกเดือน ได้รับสวัสดิการบริษัท มีวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายกำหนด หากวันไหนป่วยก็ยังได้รับเงินเดือน บริษัทหรือนายจ้างจะจัดการทำบัญชีเงินเดือนให้ลูกจ้าง หักค่าประกันสังคม ประกันสุขภาพ ภาษีตามกฎหมายกำหนดให้

แต่ข้อเสียสำหรับบางคน อาจจะเป็นเรื่องการทำงานไม่ยืดหยุ่นตามที่เราอยากจะทำ ต้องอยู่ในกรอบนโยบายของบริษัท ดังนั้น MAUSMOIN จะพามารู้จักกับงานแบบเป็นนายจ้างตนเองดูบ้าง

2) มีกิจการของตัวเอง (Selbstständiger)

นั่นคือการเป็นนายของตัวเอง ไม่ว่าจะเปิดร้านอาหาร ร้านนวด เปิดร้านขายของ รับจ้างต่าง ๆ นักแปล ล่าม คนจัดสวน ช่างฝีมือ โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ ที่รับผิดชอบกิจการ ร้าน หรือบริษัทของตนเอง

โดยหากจะเริ่มทำธุรกิจการค้าของตนเองในเยอรมนี อันดับแรกจะต้องแจ้งขอจดทะเบียนการทำธุรกิจ (Gewerbeanmeldung) ที่สำนักงานการค้า (Gewerbeamt) ที่เมืองของเราก่อน จากนั้นทางสรรพากรจะได้ข้อมูลดังกล่าว และแจ้งหมายเลขผู้เสียภาษีมาให้เราต่อไป

แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freiberufler) เช่น ล่าม ที่ปรึกษาภาษี แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนาย ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องทำเรื่อง Gewerbeanmeldung แต่ยังต้องแจ้งสรรพากรเพื่อขอหมายเลขผู้เสียภาษี

นอกจากนี้ ในบางกิจการอาจจะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น หากต้องการเปิดกิจการร้านอาหาร เราจะต้องผ่านการอบรมการเปิดกิจการร้านอาหารและสุขอนามัยอาหารด้วย MAUSMOIN แนะนำให้สอบถามทางสำนักงานการค้าที่เมืองของเรา และหอการค้า (IHK) ที่เมืองเพิ่มเติม

หากมองโดยรวมแล้ว ข้อดีของการมีกิจการของตัวเองก็คือ เราเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้วางแผนงานในแบบที่เราอยากทำ มีอิสระ จัดการเวลาทำงานได้เอง แต่ข้อเสียคือ เราจะต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งเรื่องการบริหารงาน จัดการบัญชี จ้างพนักงาน ดูแลเรื่องประกันภัยต่างๆ ด้วยตนเอง ทำภาษี ยื่นภาษีตามกำหนด หากป่วยไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเสี่ยงที่จะมีรายรับไม่คงที่

3) ทำงาน เล็ก ๆ น้อย ๆ (Minijobber)

ที่ประเทศเยอรมนี หากใครต้องการทำงานเล็กน้อย เช่น ไม่มีเวลา ต้องดูแลลูกเล็ก หรือเรียนเต็มเวลา ก็สามารถหางานประเภท Minijob ทำได้ โดย Minijob จะแบ่งตามปัจจัยเวลาทำงานหรือรายได้ คืองานที่จำกัดเวลาทำงานสั้น ๆ ไม่เกินสามเดือน หรือรวมแล้วไม่เกิน 70 วันทำงาน โดยทำงานแค่ชั่วคราว หรือ Minijob ที่ดูจากรายได้ว่า ทำงานมีรายได้ไม่เกิน 450 ยูโรต่อเดือน หรือ 5400 ยูโรต่อปี ข้อดีคือ มีโอกาสหางาน Minijob ค่อนข้างง่ายกว่างานประจำ แต่ข้อเสียคือ รายได้น้อยกว่าการทำงานเต็มเวลา ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานผู้ช่วย เล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานน้อยกว่าการทำงานประจำ

ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

จากข้อมูลที่ MAUSMOIN ชี้ให้เห็นในเบื้องต้น ไม่ว่าจะทำงานเป็นพนักงาน หรือเป็นนายของตนเอง สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาความสามารถของตนเองให้เหมาะกับเป้าหมายงานที่เราอยากจะทำ ในทุกงานจะต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียเป็นเรื่องปกติ แต่หากเรารักในสิ่งที่เราทำ เราจะสามารถได้รับประโยชน์จากข้อดี และจะหาทางก้าวข้ามปัญหาที่เจอจากข้อเสียระหว่างทางได้

จากที่ MAUSMOIN ได้รู้จักกับคนไทยในเยอรมนี ก็พบว่าคนไทยทำงานในหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ทำงาน Minijob พนักงานขาย พนักงานโรงงาน พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัท วิศวกร สถาปนิก ล่าม ทนาย แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ครูสอนภาษาไทย เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของร้านค้า เจ้าของร้านนวด เจ้าของโรงแรม ดังนั้น หากเราพยายาม ตั้งใจ มุ่งมั่น เราก็จะสามารถทำงานที่เรารักและมีความสุขได้ในที่สุด

หากเพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและต้องการหางาน สามารถเข้าไปปรึกษาที่สำนักจัดหางาน (Agentur für Arbeit) ที่เมืองได้ นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ยังสามารถได้รับคำแนะนำเรื่องการหางาน ฝึกงาน เทียบวุฒิการศึกษา เงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ได้ด้วย

ท้ายสุดนี้ MAUSMOIN ยังคงเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรมีในการทำงาน นอกจากวีซ่าทำงาน ตำแหน่งงานที่ชอบ หรือกิจการที่เรารักแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการรู้และเข้าใจภาษาเยอรมัน เพราะภาษาราชการที่ใช้สื่อสารและออกเอกสารทางราชการต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นภาษาเยอรมัน หากเราทำงานเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน เราก็ควรอ่านทำความเข้าใจจดหมายสำคัญ หรือใบแจ้งต่าง ๆ ได้ หากเราเป็นเจ้าของกิจการ เราจะต้องรู้รอบด้าน ว่าจะต้องขอใบอนุญาตอะไรเพิ่มไหม ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ ถ้าเราปล่อยเลยตามเลย นอกจากจะไม่ได้ทำตามกฎข้อบังคับแล้ว อาจถูกปรับ หรือถูกปิดกิจการเลยก็ได้ ดังนั้น ขอให้เพื่อน ๆ หมั่นพัฒนาภาษาเยอรมันไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะทางการทำงาน เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน MAUSMOIN ขอเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ทุกคน!

Posted in ข่าว-ชีวิตในเยอรมัน | Nachricht-Leben, ติดต่อหน่วยงานสำคัญอื่นๆ | Ämter, วีซ่าเยอรมัน | Visum and tagged , , , , , , , , , , .

รวบรวมข้อมูลสำคัญ สำหรับการใช้ชีวิตในเยอรมันอย่างราบรื่น และบทเรียนภาษาเยอรมัน ที่เรียนง่าย เข้าใจ ใช้ได้จริง | Infos zu Themen: Leben in Deutschland und Deutschlernen