“ใช้ชีวิตในเยอรมนี ต้องรู้ภาษาเยอรมันไหมนะ?” | Ist es wichtig, Deutsch zu lernen?

ใครกำลังชั่งใจว่า “จะเรียนภาษาเยอรมันดีไหมนะ” คิดว่า “ฉันน่าจะอยู่ในเยอรมนีได้ ภาษาเยอรมันไม่จำเป็นหรอก” หรือมีคำถามว่า “จะสมัครเรียน สมัครงาน ต้องรู้ภาษาเยอรมันไหมนะ” ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดูก่อนว่า ก. ใช่ ข. บางครั้ง หรือ ค. ไม่ใช่เลย แล้วมาดูคำตอบกัน

  • ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ พูดอังกฤษกับแฟนได้ แต่กลับสื่อสารกับคนเยอรมันไม่รู้เรื่อง
  • ปกติฉันเป็นคนทำอะไรได้เอง แต่ฉันกลับประหม่า เมื่อต้องออกนอกบ้านไปทำอะไรคนเดียวในเยอรมนี
  • เวลาไปซื้อของ แคชเชียร์บอกมาเท่าไร ฉันก็ไม่รู้หรอก ยื่นเงินให้เขาไป เดี๋ยวเขาก็ทอนให้เอง
  • เวลาไปทานข้าวกันเพื่อนหรือญาติของสามี ฉันอึดอัดมาก นั่งเงียบ ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พูดก็ไม่ได้ ไม่อยากไปเลย
  • ก่อนมีลูก แฟนก็พูดอังกฤษด้วย พอมีลูก แฟนก็พูดเยอรมันกับลูก เข้าใจกันแค่ 2 คน ฉันก็ได้แต่นั่งมองเงียบ ๆ งง ๆ
  • ฉันอยากเรียนต่อ อยากทำงานในเยอรมนี แต่ถูกปฏิเสธ เพราะพูดเยอรมันไม่ได้
  • ฉันอยากขับรถไปไหนได้เองในเยอรมนี แต่สอบใบขับขี่ไม่ได้ เพราะอ่านข้อสอบไม่รู้เรื่อง คุยกับครูไม่ได้
  • ฉันอยากขอสัญชาติเยอรมัน แต่ติดที่ต้องสอบเยอรมันให้ได้ถึงระดับ B1 รู้งี้ ฉันเรียนภาษาเยอรมันมาตั้งนานแล้ว

ถ้าคำตอบคือ ใช่ หรือบางครั้ง เกิน 2 ข้อ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญแล้วว่า ภาษาเยอรมันสำคัญกับการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนีของเรามากแค่ไหน และควรอ่านบทความนี้ต่อเพื่อปรับความคิด และเปลี่ยนชีวิตในเยอรมนีให้มีความสุขไปด้วยกัน Mausmoin ขออาสาพาเพื่อน ๆ เปิดมุมมองว่า “ทำไมเราต้องเรียนรู้ภาษาเยอรมัน เมื่อมาอยู่ในเยอรมนี” “ปัญหาอะไรที่อาจพบเจอ เมื่อไม่รู้ภาษาเยอรมัน” และ “รู้ภาษาเยอรมันแล้วดีกับตนเองอย่างไร”

ทำไมเราต้องรู้ภาษาเยอรมัน?

หลายคนอาจคิดว่า “วัน ๆ ฉันไม่ต้องไปไหน คงไม่ต้องใช้เยอรมัน” แต่พอมีลูก ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน ต้องคุยกับครู ผู้ปกครองคนอื่น กลับเข้าสังคมของลูกไม่ได้ เพราะสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือหลายคนมักคิดไปว่า “ฉันมีแฟน/สามี และเพื่อน ๆ คอยแปลเยอรมันให้ได้” แต่หากไม่มีใครช่วย ก็ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้เลย ภาษาเยอรมันกลายเป็นอุปสรรคในชีวิต และปิดกั้นโอกาสและความสามารถของเราไป

ภาษาเยอรมันสำหรับคนไทย อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แค่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็น่าจะเอาตัวรอดได้ แต่จากประสบการณ์ของ Mausmoin และคนไทยหลายคน ความคิดข้างต้นอาจจะถูกเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จริงอยู่ที่สมัยนี้คนเยอรมันรุ่นใหม่ พอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ใช้ภาษาอังกฤษในเยอรมนีก็พอจะเอาตัวรอดไปได้ แต่หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะในเมืองเล็ก ๆ คนเยอรมันจะพูดแต่ภาษาเยอรมัน ป้ายคำสั่ง ป้ายให้ข้อมูลต่าง ๆ จะเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ถ้าเราอ่านไม่ออก ฟังหรือคุยไม่รู้เรื่อง นอกจากจะอึดอัด หงุดหงิดแล้ว อาจเกิดอันตราย หรือเกิดผลเสียกับตัวเองได้ เช่นตัวอย่างใกล้ตัวดังนี้  

  • เรากำลังจะเข้าห้องน้ำ แล้วมีป้ายเขียนไว้ว่า “Toilette defekt, bitte nicht benutzen!" เราจะเข้าห้องน้ำนี้ไหม? …. ถ้าเราอ่านป้ายออก ก็จะรู้ว่า คำเตือนเขียนว่า "ห้องน้ำเสีย กรุณาอย่าใช้" แต่ถ้าเราอ่านไม่ออก แล้วเข้าไปใช้สุขา เกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็คงโทษใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง
  • เรานั่งอยู่ในรถไฟ อยู่ ๆ รถไฟก็หยุดนอกสถานี และมีประกาศว่า "...Bitte hier nicht aussteigen..." เราควรทำตัวยังไง? ….. ถ้าเราฟังออก ก็จะรู้ว่าเขาประกาศว่า “กรุณาอย่าเพิ่งลงจากรถไฟ” เราก็แค่นั่งต่อไป รอลงที่สถานีตามปกติ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราอาจจะตกใจ หาทางลงจากรถไฟ ซึ่งจะเป็นอันตรายได้

ปัญหาที่คนไทยพบบ่อย เมื่อไม่รู้ภาษาเยอรมัน

สิ่งที่เราควรเข้าใจเป็นอันดับแรกคือ ภาษาราชการในประเทศเยอรมนีคือ ภาษาเยอรมัน เพียงภาษาเดียว ดังนั้นตราบใดที่เราอาศัยอยู่ในเยอรมนี ภาษานี้จะวนเวียนอยู่ในชีวิตเราตลอด ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว เช่น เดินทาง ซื้อของ จ่ายตลาด หาหมอ ไปจนถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ เช่น จดหมายจากอำเภอ จดหมายจากโรงเรียนลูก สัญญาใช้โทรศัพท์ สัญญาเช่าบ้าน สัญญาจ้างงาน การสื่อสารรวมไปถึงเอกสารทุกอย่างจะเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด แล้วใครจะช่วยอธิบายให้เราได้ทุกครั้ง นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตน?

ตอนเราจดทะเบียนสมรส ทำสัญญาสมรส หรือสัญญาซื้อบ้าน เจ้าหน้าที่จะให้เรานำล่ามที่สาบานตนกับศาลมาแปลเป็นภาษาไทยให้ เพื่อให้เราเข้าใจว่าเรากำลังจะเซ็นอะไร เพราะเมื่อเราเซ็นไปแล้ว สิ่งนั้นจะมีผลไปจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง แต่ในชีวิตประจำวัน คงไม่สามารถพึ่งล่ามได้ตลอดเวลา หากใครไม่รู้ภาษาเยอรมัน คิดว่าเซ็น ๆ ไปก็จบ ไม่อยากเสียเวลา หารู้ไหมว่า ที่ “เขาบอกว่า” เป็นสัญญาซื้อมือถือ ความจริงกลับเป็นสัญญากู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูง ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราอาจจะต้องมานั่งเสียเวลา เสียเงิน เสียใจในภายหลัง เพราะสัญญาที่เซ็นไปไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ตอนแรก บางคนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะไปเซ็นสัญญาโดยไม่เข้าใจ “เขาบอกให้เซ็น ก็เซ็นไป” หรือหลายคนมาฟ้องร้องกันทีหลังก็มีให้เห็นบ่อย จะดีกว่าไหม ถ้าเราเรียนรู้ภาษาเยอรมันตั้งแต่แรก ให้พอที่จะดูแลตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาในภายหลังเพราะความไม่รู้ภาษา

รู้ภาษาเยอรมันแล้วดีกับตนเองอย่างไร?

นอกจากการรู้ภาษาเยอรมันจะช่วยป้องกันปัญหาและช่วยให้เราอยู่เยอรมนีอย่างราบรื่นแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม รวมทั้งช่วยเปิดโอกาสดี ๆ ในชีวิตเราได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนต่อ เรื่องงาน และการขอสัญชาติเยอรมัน 

ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและทางสังคม ภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร ช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจ ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตอนอยู่เมืองไทย เราอยู่อย่างมีความสุขเพราะเราสื่อสารภาษาไทยกับคนอื่นรู้เรื่อง อ่านเขียนอะไรก็รู้เรื่อง แล้วจะดีแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจภาษาเยอรมันถึงระดับที่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ รับผิดชอบตนเองในสังคมเยอรมันได้ เราก็จะสามารถออกแบบชีวิตที่มีความสุขและเป็นอิสระในเยอรมนีได้เช่นเดียวกัน

หากใครต้องการเรียนต่อในเยอรมนี ภาษาเยอรมันถือว่าสำคัญมาก จากที่ Mausmoin พบเจอมา หลายวิชาจะสอนเป็นภาษาเยอรมัน รวมไปถึงการสื่อสารในโรงเรียน และทำงานกลุ่มกับเพื่อน ก็ล้วนแต่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก อย่าลืมว่าในสนามแข่งนี้ เราจะต้องแข่งกับคนเยอรมันด้วย ถ้าเราไม่มีภาษาเยอรมันเป็นอาวุธ เราอาจจะตกรอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งเลยก็ได้ ดังนั้นการเรียนภาษาเยอรมันไว้ จะเป็นอีกจุดแข็งสำคัญของเราเมื่อสมัครเข้าเรียนต่อ หรือสมัครเข้าฝึกงาน

การสมัครงานก็เช่นกัน หากเราสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดี เราก็จะมีตัวเลือกตำแหน่งงานที่มากขึ้นหลายเท่า แม้เราจะมีทักษะเฉพาะทางที่เด่นกว่าคนอื่น แต่ทักษะการสื่อสารเยอรมันก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ว่าจ้างจะนำมาช่วยพิจารณารับเราเข้าทำงาน Mausmoin สรุปง่าย ๆ ก็คือ เราต้องเจ๋งจริง ทั้งทักษะการทำงานและทักษะการสื่อสารกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานได้ดี แค่นี้ งานที่อยากได้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

การขอสัญชาติเยอรมันก็เช่นกัน หากใครอยากจะขอหนังสือเดินทางเยอรมัน ก็ต้องสามารถสื่อสารเยอรมันได้ดีพอ อย่างน้อยในระดับ B1 คือสื่อสารเยอรมันเข้าใจได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตในเยอรมนีได้อย่างปกติสุข หากเราอยากจะขอสัญชาติเยอรมัน นั่นหมายถึงเราจะกลายเป็นพลเมืองเยอรมัน ดังนั้น เราก็ต้องสามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ และต้องเข้าใจบริบทสังคม และวัฒนธรรมเยอรมันด้วย

Mausmoin เอาใจช่วยให้เพื่อน ๆ เริ่มต้นเรียนเยอรมันอย่างมีความสุข และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นในสังคมเยอรมัน ภาษาเยอรมันช่วยเปลี่ยนชีวิตและเพิ่มโอกาสให้หลายคนมาแล้ว แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ พร้อมที่จะเรียนภาษาเยอรมันเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นแล้วหรือยัง? 

เริ่มเรียนเยอรมันง่าย ๆ ไปกับเม้าส์มอยน์ที่นี่เลย!

จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 25 (กันยายน 2561) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน

U01 ตะลุยแบบฝึกหัด ฝึกเรียงประโยค เตรียมพร้อมสอบเยอรมัน | Übung Aussagesatz A1

มาตะลุยแบบฝึกหัดสนุก ๆ เข้าใจง่าย กับเม้าส์มอยน์กันเลย! แล้วจะรู้ว่าประโยคบอกเล่า ง่ายนิดเดียว แถมยังเอาไปใช้เตรียมสอบวัดระดับเยอรมันได้ด้วยนะ!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ เหมาะกับเพื่อนๆ ที่อยากปูพื้นฐาน ทบทวนเยอรมัน หรือต่อยอดเยอรมันในระดับสูงขึ้นไป

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

W02 ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน+แบบฝึกหัด เรื่องสถานที่รอบตัว | Wortschatz+Übung

ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน เรื่องใกล้ตัวอย่างสถานที่รอบตัว ปิดท้ายด้วยแบบฝึกหัดเช็คความเข้าใจ อย่ารอช้า ไปเรียนรู้กับเม้าส์มอยน์กันเลย!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ อยากปูพื้นฐาน ทบทวนเยอรมัน หรือต่อยอดเยอรมันขึ้นสูงขึ้นไป

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 รอบใหม่แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน เรื่องใกล้ตัวอย่างหัวข้อครอบครัวของเรา บางคำง่ายยิ่งกว่าภาษาไทยเสียอีก อย่ารอช้า ไปเรียนรู้กับเม้าส์มอยน์กันเลย!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ สำหรับคนไม่มีพื้นฐานเยอรมัน อยากปูพื้นฐานหรืออยากทบทวนเยอรมัน

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 รอบ ส.ค. แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน Familie: ครอบครัวของเรา และบรรดาเครือญาติ รู้ไว้ ใช้ได้ตลอด! -mausmoin.com

ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน เรื่องใกล้ตัวอย่างหัวข้อครอบครัวของเรา บางคำง่ายยิ่งกว่าภาษาไทยเสียอีก อย่ารอช้า ไปเรียนรู้กับเม้าส์มอยน์กันเลย!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ สำหรับคนไม่มีพื้นฐานเยอรมัน อยากปูพื้นฐานหรืออยากทบทวนเยอรมัน

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 รอบ ส.ค. แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

ซุปเปอร์มาร์เก็ตเยอรมันเตรียมถอด “หลอดพลาสติก” ออกจากชั้นสินค้าแล้ว | Plastik-Strohhalme verbannen

หลอดพลาสติกไม่ดียังไง ทำไมต้องเลิกขาย เม้าส์มอยน์จะเล่าให้ฟัง

เครือบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเยอรมันอย่าง Rewe และ Lidl เตรียมที่จะหยุดจำหน่ายหลอดพลาสติกแล้ว

โดย Rewe วางแผนจะถอดหลอดพลาสติกออกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 6000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ โดยในเครือ Rewe ประกอบไปด้วยบริษัทลูก อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Penny และร้านขายวัสดุก่อสร้าง Toom

ในส่วนของเครือบริษัท Lidl ที่รวมไปถึงบริษัทลูกอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Kaufland ก็ตั้งใจว่าจะเลิกขายหลอดและสินค้าพลาสติกใช้แล้วทิ้งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย จาน ช้อน ส้อม รวมไปถึงที่ปั่นหู ภายในสิ้นปีหน้า (ค.ศ. 2019)

ทั้งนี้ หลอดเป็นหนึ่งในสินค้าใช้แล้วทิ้ง เป็นขยะที่ลอยอยู่ในทะเลและตามชายหาดจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีการใช้งานอยู่เพียง 20 นาที ก่อนที่เราจะโยนหลอดทิ้งกลายเป็นขยะ เชื่อไหมว่า แค่ในยุโรปเองก็มีพลาสติกกว่าแสนตันในทะเลแล้ว ต่อปีมีการใช้หลอดกว่า 36.4 พันล้านชิ้น แก้วกาแฟใช้แล้วทิ้ง 16 พันล้านแก้ว ขวดใช้แล้วทิ้ง 46 พันล้านขวด และรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อีก

ซึ่งหากทางเครือ Rewe เลิกขายแล้ว จะสามารถลดปริมาณหลอดพลาสติกลงได้มากกว่า 42 ล้านชิ้นเลย (จากคำแถลงของทาง Rewe) และในปีหน้า เราจะเริ่มเห็นสินค้าทดแทนพลาสติก ที่ทำจากกระดาษ ต้นอ่อนข้าวสาลี หรือสแตนเลส ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือ Rewe แทน

ทางเครือ Lidl ก็ต้องการจะนำสินค้าทดแทนพลาสติกที่นำมาใช้ใหม่ได้ มาขายแทนในซุปเปอร์มาร์เก็ต กว่า 3200 สาขาเช่นกัน แต่จะเริ่มหลังจากที่ขายของเก่าในชั้นให้หมดก่อน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยุโรปได้นำเสนอมาตรการลดขยะพลาสติกช่วงปลายเดือนพค. ที่ผ่านมา และต้องการที่จะลดปริมาณขยะใช้แล้วทิ้งในทะเลลงร้อยละ 30 ภายในปีค.ศ. 2020 และลดให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปีค.ศ. 2030

ที่ประเทศไทย เม้าส์มอยน์ก็เห็นบางโรงแรมเริ่มนำหลอดที่ทำจากกระดาษมาใช้แทนหลอดพลาสติกบ้างแล้ว แต่พอดูดไปซักพัก ก็จะเริ่มเปื่อย ขาด งอ หวังว่าจะมีนวัตกรรมที่ดีกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนพลาสติกได้เร็ว ๆ 

ประโยคบอกเล่าเยอรมัน ง่ายนิดเดียว!

Aussagesatz [ประโยคบอกเล่า]

บทที่แล้ว เรารู้จักความหมายของประโยคกันแล้ว คราวนี้ครูศิรินพามาฝึกแต่งประโยคบอกเล่ากันบ้างค่ะ

ประโยคบอกเล่าคือ ประโยคที่เราพูดเล่าอะไรออกมา ไม่ต้องการคำตอบ หรือเอาไว้ตอบคำถามคนอื่นค่ะ ถ้าเขียนออกมาก็จะมีเครื่องหมายจุดลงท้าย แล้วตอนพูดก็จะลงเสียงต่ำท้ายประโยค เช่น

  • Ich komme aus Thailand. [ฉันมาจากประเทศไทย]
  • Mausmoin trinkt gern Kaffee. [เม้าส์มอยน์ชอบดื่มกาแฟ]

จุดสังเกตสำคัญคือ กริยาอยู่ตำแหน่งที่ 2 และผันตามประธานเสมอ ในที่นี้คือ komme ที่ผันตามประธาน ich และ trinkt ผันตาม Mausmoin และปิดท้ายประโยคด้วยจุดค่ะ

จุดเด่นพิเศษอีกอย่างของประโยคบอกเล่าในภาษาเยอรมันคือ ประธานไม่จำเป็นต้องอยู่ตำแหน่งแรกค่ะ สลับมาอยู่หลังกริยาได้ แต่กริยาห้ามไปไหน ต้องอยู่ตำแหน่งที่ 2 เท่านั้นและต้องผันตามประธาน ถึงจะเป็นประโยคบอกเล่า

เช่นประโยคบอกรักในภาษาเยอรมัน

  • Ich liebe dich.
  • Dich liebe ich.

สองประโยคนี้มีความหมายเหมือนกันเลยค่ะ คือ ฉันรักเธอ ค่ะ

ลองทำแบบฝึกหัดกันนะคะ ช่วยเม้าส์มอยน์เลือกว่าข้อไหนเป็นประโยคบอกเล่า

1. A: Ich in Phuket

หรือ B: Ich arbeite in Phuket.

ข้อ 1 คำตอบที่ถูกคือ B เป็นประโยคบอกเล่า เพราะมีประธานคือ ich และ กริยา คือ arbeite ผันตาม ich อยู่ตำแหน่งที่ 2 แต่ A ไม่มีกริยา จึงไม่ใช่ประโยคค่ะ

2. A: Mausmoin ist mein Name.

B: Mein Name Mausmoin ist.

ข้อคำตอบที่ถูกคือ A เพราะประโยคบอกเล่า กริยาอยู่ตำแหน่งที่ 2 ในที่นี้คือ ist เพราะฉะนั้นเราจะพูดว่า 

  • Mausmoin ist mein Name.
  • หรือ Mein Name ist Mausmoin. ก็ถูกต้องค่ะ

ครูศิรินเสริมให้ว่าเวลานับตำแหน่งคำ ให้ดูเป็นกลุ่มคำเดียวกันนะคะ เช่น mein Name [ชื่อของฉัน] ไม่ใช่นับตำแหน่งจากจำนวนคำ

ตำแหน่งที่ 1

ตำแหน่งที่ 2

ตำแหน่งที่ 3

Mein Name

ist

Mausmoin.

Mausmoin

ist

mein Name.

สรุปแล้ว ประโยคจะต้องมีประธานและภาคแสดง

และประโยคบอกเล่า คือประโยคที่เล่าข้อมูล ไม่ได้ถามหรือต้องการคำตอบ กริยาจะต้องอยู่ตำแหน่งที่ 2 และผันตามประธานค่ะ

รู้จักประโยคบอกเล่าแล้ว บทต่อไปจะไปรู้จักประโยคคำถามกันต่อค่ะ ซึ่งเราจะเอาไปใช้แต่งประโยคถามเพื่อนในห้องสอบด้วย

เรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์กันต่อที่ https://mausmoin.com/a1/ หรือหนังสือเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์เล่ม 1,2 มีจำหน่ายทั่วโลก

ศัพท์วัยรุ่นเยอรมันประจำปี 2017 | Jugendwort des Jahres

สำนักพิมพ์ลางเง็นไชดท์ (Langenscheidt) จัดอันดับศัพท์วัยรุ่นเยอรมันเป็นปีที่ 10 แล้ว สำหรับปี 2017 นี้ ผู้ชนะได้แก่วลี “I bims” ก็คือ Ich bin (ฉันคือ) นั่นเอง โดยการให้คะแนนจากผู้ตัดสิน 20 คน แต่ผลโหวตออนไลน์กลับให้คะแนนเอนเอียงไปอีกคำมากกว่า

ผู้ชนะ “I bims” (Ich bin) ได้รับการคัดเลือกจากศัพท์ 30 คำที่คาดว่าวัยรุ่นเยอรมันยุคนี้พูดกัน โดยทางสำนักพิมพ์ให้เหตุผลว่า “I bims” เป็นวลีที่วัยรุ่นใช้กันบ่อยและจึงเป็นตัวแทนของภาษาวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่ชาวเน็ตที่ให้คะแนนโหวตทางออนไลน์กลับให้คะแนนวลี "Geht fit" (โอเค) มาเป็นอันดับหนึ่ง และ “I bims” ได้อันดับ 10 โดยมีคนเข้ามาโหวตกว่าล้านคะแนนเสียง ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์จากคำกล่าวอ้างของทางสำนักพิมพ์ แต่หนึ่งในผู้ตัดสิน นาย คุนซ์มันน์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์เยอรมัน จากมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians เป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่า “I bims” เป็นผู้ชนะสำหรับศัพท์วัยรุ่นเยอรมันประจำปีนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นคำพูดที่ใช้บ่อยมากทั้งในภาษาพูดและเห็นมากขึ้นในภาษาเขียน ณ ปัจจุบัน (เม้าส์มอยน์เสริมหน่อยว่า เขาน่าจะหมายถึงการแชทหรือโพสต์เฟสบุค ไม่ใช่ในงานเขียนทางการ)

คำวัยรุ่นอีก 4 คำที่เข้ารอบสุดท้ายก่อนถูก “I bims” เฉือนเอาชนะไปได้แก่
- "napflixen" งีบหลับตอนหนังฉาย
- "Noicemail" ข้อความเสียงที่น่ารำคาญ
- "schatzlos" ไร้คู่ครอง โสด
- "Unlügbar" แน่นอน อย่างไม่มีข้อสงสัย

เม้าส์มอยน์แถมให้อีก 5 คำ
- “sozialtot” ไม่เล่นโซเชียลมีเดีย
- “vong” เพี้ยนมาจากคำว่า von (จาก)
- “emojionslos” ไม่ใช้อิโมจิ (พวกสัญลักษณ์หน้ายิ้ม) ตอนพิมพ์แชท
- “unfly” ไม่เจ๋ง
- “lit” เยี่ยม ดีงาม

การคัดเลือกศัพท์วัยรุ่นเยอรมันของสำนักพิมพ์ลางเง็นไชดท์ที่จัดขึ้นทุกปี อันที่จริงก็เป็นหนึ่งในวิธีการโฆษณาของทางสำนักพิมพ์ โดยเลือกผู้ตัดสินมาทั้งหมด 20 คนจากหลากหลายพื้นเพ เช่น วัยรุ่น นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ และตัวแทนสื่อมวลชน

จากที่เม้าส์มอยน์อ่านความเห็นชาวเยอรมัน ก็พบมุมมองความเห็นที่ต่างกัน บ้างก็ไม่เคยได้ยินคำพวกนี้ ไม่รู้ความหมายศัพท์ข้างต้น บ้างก็ไม่เคยใช้ บ้างก็ไม่เห็นด้วยกับคำที่ชนะ

ถ้าเทียบกับศัพท์วัยรุ่นในไทย เม้าส์มอยน์ก็นึกถึงพวกคำว่า “กดสับตะไคร้” (subscribe), “นาจา” (นะจ๊ะ), “จุงเบย” (จังเลย) เก่าไปรึเปล่า!? ใครนึกคำไหนที่วัยรุ่นยุคนี้พูดกันได้อีก ก็เขียน ”เม้น” ใน Facebook mausmoin ได้เลยนะ จุ๊บ ๆ
Quelle: tagesschau.de

นายจ้างเยอรมันมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร

1. ระดับปริญญาสำคัญแค่ไหน

ตามทฤษฎีแล้ว นักเรียนที่จบปริญญาตรีจะมีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วกว่า [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมันนิยมปริญญาแบบ Diplom ซึ่งจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปริญญาตรี และนายจ้างก็ยังไม่คุ้นชินกับปริญญาตรี] แต่ในปัจจุบัน นายจ้างกว่าครึ่งหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคยกับปริญญาตรีมากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรปริญญาตรีเริ่มนำเข้ามาใช้ในเยอรมันเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากการศึกษาแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา Kienbaum และ สถาบัน Staufenbiel พบว่าร้อยละ 49 ของบริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจบปริญญาโทเพิ่มเติมจากปริญญาตรีนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะงานในสาขาเภสัชศาสตร์และเคมีนั้นสำคัญมาก โดยร้อยละ 88 ของฝ่าย HR เห็นว่าการจบปริญญาโทเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานในสาขานี้

แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเหนือกว่าปริญญากลับเป็นเรื่องผลการเรียน โดยร้อยละ 58 เห็นว่าผลการเรียนดีนั้นสำคัญมากกว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา หรือผู้สมัครได้เรียนครบตามจำนวนภาคเรียนบังคับหรือไม่

ในเรื่องเงินเดือน บริษัทส่วนใหญ่จะให้เงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาราว 40,000-50,000 ยูโรต่อปี แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานจะได้เงินเดือนน้อยกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท ร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจให้เงินเดือนบัณฑิตปริญญาโทมากกว่าถึงร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 10

2. บริษัทอยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบไหน

คุณสมบัติเสริมอื่นๆ ที่นายจ้างมองหาเป็นพิเศษก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 77) [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า แบบสำรวจนี้อิงจากผู้สมัครงานจบใหม่ในเยอรมัน ดังนั้นภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ทุกคนน่าจะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไทย แน่นอนว่าเราต้องมีทักษะภาษาเยอรมันที่ดี และจะดีกว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษด้วย] ซึ่งการมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ มากกว่าการที่ผู้สมัครเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ (ร้อยละ 38) หรือทักษะภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ (ร้อยละ 24) เสียอีก

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นอีกก็คือประสบการณ์การทำงานจริงของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยฝ่าย HR ชอบผู้สมัครที่เคยฝึกงานมา (ร้อยละ 73) และมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (ร้อยละ 55)

3. ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในสายตาของฝ่ายบุคคล ในเยอรมัน

บริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 เห็นว่าสิ่งต่อไปนี้สำคัญ 

  • เคยฝึกงานมาก่อน: ร้อยละ 81 ตอบว่า ประสบการณ์การทำงานจริงมีน้ำหนักมากกว่าการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาเรียนที่กำหนด
  • เอกสารการสมัครมีโครงสร้างชัดเจน: สำหรับฝ่ายบุคคล การจัดเรียงที่อ่านง่ายสำคัญกว่าดีไซน์
  • มีทักษะทางสังคมดังต่อไปนี้:
    • มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง/ ความพร้อมในการทำงาน ร้อยละ 100
    • มีความพร้อมในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 98
    • ทักษะการสื่อสาร ร้อยละ 95
    • การทำงานเป็นทีม ร้อยละ 94
    • การมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ร้อยละ 93
  • มีเพียงร้อยละ 3 ที่เช็คข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้สมัคร
  • ร้อยละ 75 ของฝ่ายบุคคลจะดูเรซูเม่ผู้สมัครก่อน และร้อยละ 99 เห็นว่าเรซูเม่สำคัญ
  • การเขียน สะกดคำให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กว่าร้อยละ 60 ของฝ่ายบุคคลจะคัดผู้สมัครออกหากมีจุดที่เขียนผิด

Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนตั้งใจเรียนในทุกๆระดับชั้น และพัฒนาภาษาเยอรมันและทักษะการทำงานต่างๆ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของตนไม่ว่าที่ไทยหรือเยอรมัน 🙂

Quelle: wiwo.de

การหย่า & การใช้นามสกุลหลังหย่า | Scheidung & Ehename

สารบัญ

การหย่าตามกฎหมายเยอรมัน

การหย่าตามกฎหมายไทย

การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

การเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่าตามกม.เยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย

ติดต่อแปลเอกสาร/ ล่าม

 

1. การหย่าตามกฎหมายเยอรมัน

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการหย่าในเยอรมนีไว้ดังนี้

การสมรสสิ้นสุดลง: เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต หรือจากการหย่าโดยศาล

ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน: การหย่าตามกฎหมายเยอรมันจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าดำเนินการ ค่าศาล ค่าทนายความ ค่าทนายความรับรองเอกสาร แต่ละคนอาจมีค่าใช้จ่ายแต่งต่างกันไปตามรายได้ และมูลค่าทรัพย์สิน แต่หากมีรายได้น้อยหรือไม่มีทรัพย์สิน ก็สามารถยื่นคำร้องขอลดหย่อนค่าใช้จ่ายบางส่วนได้

ขั้นตอนยุ่งยากกว่าการหย่าตามกฎหมายไทย อันดับแรกควรติดต่อศาลครอบครัวในเมืองที่เราอยู่ (Amtsgericht/ Familiengericht) หรือทนายความ (Rechtsanwalt) ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว เพื่อช่วยเดินเรื่องยื่นคำร้องขอหย่าต่อศาลครอบครัว

เงื่อนไขการหย่า: ต้องมีหลักฐานว่าแยกกันอยู่มาอย่างน้อย 1 ปี และแน่ใจว่าการสมรสนั้นล้มเหลว และจะไม่กลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีก แต่หากมีการทำร้ายร่างกายร้ายแรง ก็อาจจะได้รับการตัดสินให้หย่าจากศาลได้ได้ก่อน 1 ปี

ทั้งคู่ควรมีการตกลงกันเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองบุตร การให้เงินเลี้ยงดูอีกฝ่าย การแบ่งทรัพย์สินในบ้าน การปรับเทียบเงินเลี้ยงดูในวัยชรา และข้อตกลงอื่นๆ โดยขั้นตอนนี้สามารถปรึกษาทนายให้เป็นตัวกลางได้ และศาลครอบครัวของเยอรมันจะเป็นผู้ดำเนินการหย่า

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: BGB §§ 1564 - 1587

หมายเหตุ mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า จึงควรติดต่อทนาย แต่เรายินดีให้บริการแปลเอกสารและล่าม ภาษาเยอรมัน-ไทย

2. การหย่าตามกฎหมายไทย

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการหย่าในไทยไว้ดังนี้

การสมรสสิ้นสุดลง: เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต หรือจากการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ หรือจากการหย่าโดยศาลพิพากษา

ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน: หากทั้งคู่สามารถตกลงการหย่าร้างกันเองได้ ก็ตกลงเรื่องทรัพย์สิน การปกครองบุตร และอื่นๆ ทำเป็นหนังสือหย่า และไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอได้ ค่าใช้จ่ายหรือขั้นตอนก็จะไม่ยุ่งยากเท่าการหย่าตามกฎหมายเยอรมัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็อาจจะต้องยื่นเรื่องเสนอศาลให้ช่วยตัดสิน

อ่านรายละเอียดการหย่าที่ไทย: http://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-general/12-service-handbook/general/28-general-status-divorce

เงื่อนไขการหย่า: การหย่าโดยการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ อาจไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายเยอรมัน

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 6 การสิ้นสุดแห่งการสมรส

หมายเหตุ mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า จึงควรติดต่อทนาย แต่เรายินดีให้บริการแปลเอกสารและล่าม ภาษาเยอรมัน-ไทย

3. การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันและไทยไว้ดังนี้ หลังแต่งงานหากเราใช้นามสกุลเดิม ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่กรณีที่เราเปลี่ยนนามสกุล ไปใช้นามสกุลของคู่สมรส เมื่อหย่าร้างกันแล้ว เราควรเข้าใจกฎหมายการใช้นามสกุลทั้งในไทย และเยอรมนี เพื่อเข้าใจสิทธิและหน้าที่การใช้นามสกุลอีกฝ่ายหลังหย่าได้ถูกต้อง

3.1 กฎหมายเยอรมัน (BGB § 1355 Ehename)

คู่สมรสที่เป็นหม้าย หรือหย่าจากคู่สมรสสามารถใช้นามสกุลหลังสมรสต่อได้ หรือสามารถแจ้งที่สำนักทะเบียน (Standesamt) ขอกลับไปใช้นามสกุลเกิด หรือนามสกุลเดิมก่อนสมรส (หรือนามสกุลของคู่สมรสเก่า) หรือขอเพิ่มนามสกุลเกิดของตน หรือนามสกุลหลังสมรสเข้าไปในนามสกุลตนเองเป็นนามสกุลควบได้ mausmoin.com ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ดังนี้

  • นามสกุลเกิด: น.ส. หนูนา รักไทย
  • นามสกุลจากการสมรสเก่า (หย่ารอบแรก): น.ส. หนูนา เม้าส์มัน
  • นามสกุลหลังสมรสล่าสุด (สมรสรอบสอง): น.ส. หนูนา รักเยอรมัน

นามสกุลหลังเป็นหม้าย หรือหย่ารอบสอง จะใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันได้ดังนี้

1. กลับไปใช้นามสกุลเกิด: น.ส. หนูนา รักไทย

2. กลับไปใช้นามสกุลจากการสมรสเก่า: น.ส. หนูนา เม้าส์มัน

3. ใช้นามสกุลควบ โดยเอานามสกุลเกิด บวกกับนามสกุลหลังสมรสล่าสุด: น.ส. หนูนา รักไทย-รัก เยอรมัน หรือ น.ส. หนูนา รักเยอรมัน-รักไทย

4. ใช้นามสกุลควบ โดยเอานามสกุลจากการสมรสเก่า บวกกับนามสกุลหลังสมรสล่าสุด: น.ส. หนูนา รักเยอรมัน-เม้าส์มัน หรือ น.ส. หนูนา เม้าส์มัน-รักเยอรมัน

5. ใช้นามสกุลหลังสมรสล่าสุดตามเดิม ไม่เปลี่ยนนามสกุล: น.ส. หนูนา รักเยอรมัน

การเปลี่ยนชื่อข้างต้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการหย่ามีผลเป็นที่สิ้นสุดแล้ว (Scheidungsbeschluss) หรือคู่สมรสเสียชีวิตลง

3.2 กฎหมายไทย (พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548)

การใช้นามสกุลหลังการหย่า: หลังหย่า หรือศาลเพิกถอนการสมรส คู่สมรสที่ใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (มาตรา 13 วรรค 1)

การใช้นามสกุลหลังคู่สมรสเสียชีวิต: หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้นามสกุล ของอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิ์ใช้นามสกุลนั้นต่อไปได้ แต่เมื่อจะสมรสใหม่ให้กลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (มาตรา 13 วรรค 2)

สรุป การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

mausmoin.com สรุปข้อมูลการใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันและไทยไว้ดังนี้  ถ้าเรามีสัญชาติไทย อาศัยอยู่ที่เยอรมนี ก็ควรจะเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่า ให้สอดคล้องกับทั้งกฏหมายไทย และกฎหมายเยอรมัน แม้กฎหมายเยอรมันจะมีทางเลือกให้เราใช้นามสกุลหลังหย่าได้หลายแบบ ทั้งให้ใช้นามสกุลหลังสมรสเดิม นามสกุลควบ หรือเปลี่ยนนามสกุลกลับไปใช้นามสกุลเก่า แต่กฎหมายไทย (พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548 มาตรา 13 วรรค 1) บัญญัติให้ต้องเปลี่ยนนามสกุล กลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน

ดังนั้นเพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมายทั้งสองประเทศ หลังหย่าหรือเป็นหม้าย และต้องการแต่งงานใหม่ เราควรเปลี่ยนนามสกุลกลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน โดยเปลี่ยนทั้งที่ไทยและที่เยอรมนีให้เหมือนกัน

แต่หากเราต้องการใช้นามสกุลสามีเก่าต่อไป ที่เยอรมนีสามารถใช้ได้ (รายละเอียดข้อ 3.1) แต่ที่ไทย จะต้องมีใบยินยอมจากเจ้าของนามสกุล (สามีเก่า/ครอบครัวของสามีเก่า) ว่าสามารถให้เราใช้นามสกุลของเขาต่อไปได้หลังหย่ากัน รายละเอียดการเตรียมเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรปรึกษางานนามสกุล กรมการปกครอง สายด่วนมหาดไทย โทร 1548 (ประเทศไทย)

4. การเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่าตามกฎหมายเยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย

namenaenderung SCHEIDUNG 1200x1500

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทยไว้ดังนี้ หลังจากที่ทำเรื่องหย่าเสร็จเรียบร้อย สถานภาพการสมรสของเราจะเปลี่ยนจาก “สมรส” เป็น “หย่าร้าง” หากหย่าที่เยอรมนี เราควรทำเรื่องขอให้อำเภอที่ไทย บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) ให้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลสถานภาพครอบครัวของเรา ตรงกันทั้งที่ไทยและเยอรมนี จะได้ไม่มีปัญหาตามมา เมื่อต้องการแต่งงานอีกครั้ง เนื่องจากเราจะต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสประกอบการสมรสใหม่ด้วย

ขั้นตอนที่เยอรมนี

1. ไปรับรองใบหย่าว่าเป็นเอกสารจริง ไม่ปลอมแปลง:

นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้ว (Scheidungsurteil) ไปรับรองเอกสารว่าไม่ปลอมแปลง โดยทั่วไปคำพิพากษาหย่าที่ออกโดยศาลชั้นต้น (Amtsgericht) ในเยอรมนี จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ศาลผู้ออกทะเบียนหย่าจากศาลแห่งรัฐ (Landgericht) ก่อน เรียกว่า Beglaubigung / Überbeglaubigung ซึ่งเราสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่จัดทำคำพิพากษาหย่าให้เรา ว่าต้องไปรับรองที่ไหน แต่ละรัฐอาจจะไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไป อ่านเพิ่มเติมที่ https://mausmoin.com/beglaubigung-de/

2. นำมาแปลเป็นไทย:

นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้วจากข้อ1 แล้ว มาให้นักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน แปลใบหย่ากับ mausmoin.com

3. ไปรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลใหญ่ในเยอรมนี:

นำคำพิพากษาหย่าพร้อมคำแปล ส่งไปรับรองอีกครั้งที่สถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt/กงสุลใหญ่ที่ München สามารถยื่นเรื่องได้ทั้งทางไปรษณีย์ หรือเดินทางไปยื่นที่สถานทูตไทย หรือกงสุลใหญ่ ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร (เบอร์โทร กงสุลใหญ่ Frankfurt: 069-69 868 205/ เบอร์โทร สถานทูตไทย ฝ่ายข้อมูลทั่วไป: 030-79 48 11 01, เบอร์โทร กงสุลใหญ่ München 089 944 677-113)

ขั้นตอนที่ไทย

4. ไปรับรองเอกสารที่กรมการกงสุล เขตหลักสี่:

เมื่อได้เอกสารคืนจากการรับรองในข้อ 3 แล้ว เราก็สามารถเดินทางไปไทย หรือมอบอำนาจให้คนที่ไทย ไปยื่นเรื่องรับรองเอกสารให้เรา เป็นรอบสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากเอกสารที่ออกจากต่างประเทศ จะเป็นที่ยอมรับจากทางการไทย ต่อเมื่อมีการรับรองเอกสารจากสถานทูต/กงสุลใหญ่ในต่างประเทศ และจากกระทรวงการต่างประเทศอีกรอบ

5. ไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอ:

นำคำพิพากษาหย่าพร้อมคำแปลที่ได้รับการรับรองแล้วจากข้อ 4 ไปที่อำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นทำให้ได้

6. ทำบัตรประชาชนใหม่:

นำทะเบียนบ้านใหม่ ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนที่ใช้นามสกุลใหม่หลังหย่า ต้องไปทำด้วยตนเองที่ไทย หรือทำที่เยอรมนี โดยทำนัดล่วงหน้ากับทางสถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt, กงสุลใหญ่ที่ München (เบอร์โทร กงสุลใหญ่: 069-69 868 205, เบอร์โทร สถานทูตไทย: 030 79 481 114, เบอร์โทร กงสุลใหญ่ München 089 944 677-114)

7. ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่:

นำทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนใหม่ ที่เปลี่ยนนามสกุลแล้ว ไปประกอบการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ สามารถทำได้ทั้งที่ไทย และเยอรมนี

ปัจจุบัน เราไม่สามารถขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ (อีพาสปอร์ต) ได้ จะต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น (แต่หากยังถือหนังสือเดินทางแบบเก่าอยู่ ก็ยังสามารถยื่นเรื่องแก้ไขได้ ที่สถานทูตไทยหรือกงสุลใหญ่) อย่างไรก็ตาม การขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางแบบเก่า ยังไม่ถือเป็นการเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ ตามกฎหมายไทย

ดังนั้น หากเราต้องการทำหนังสือเดินทางไทยเล่มใหม่ โดยใช้นามสกุลใหม่หลังหย่า เราจะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนในทะเบียนบ้านไทยก่อน เนื่องจากนามสกุลจะต้องตรงกันกับทะเบียนบ้านไทย หรือบัตรประชาชนไทยที่มีนามสกุลใหม่ ที่เราจะต้องยื่นพร้อมกับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไทย

รวบรวมข้อมูลจาก: เว็บไซต์สถานทูตไทย Berlin, กงสุลใหญ่ Frankfurt,กงสุลใหญ่ München, สำนักทะเบียนไทย, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548, กฎหมายเยอรมัน BGB §§ 1564 - 1587

ติดต่อเรา Mausmoin.com

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปลคำพิพากษาหย่า (Scheidungsbeschluss) และเอกสารประกอบการหย่า ภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้าน บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) ที่ไทยได้ หรือทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line: mausmoin, info@mausmoin.com  -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Rheinland-Pfalz, Hessen และ Baden-Württemberg โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Oberwesel 55430) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

เปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสที่เยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย | Namensänderung nach der Hochzeit

 namenaenderung heirat hausregis 1200x1500

หลังจากจดทะเบียนสมรสที่เยอรมัน หากเราเปลี่ยนชื่อสกุล ไปใช้นามสกุลของคู่สมรส หรือต้องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ จาก “นางสาว” เป็น “นาง” ก็จะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุล และคำนำหน้าชื่อในเอกสารสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเดินทาง ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ใบขับขี่ ฯลฯ เพื่อให้เรามีชื่อตรงกันในทุกๆ เอกสาร

ตามกฎหมายไทย การเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ จะต้องไปเปลี่ยนในทะเบียนบ้านที่ไทยเท่านั้น ตามทฤษฎีแล้ว จะต้องไปแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัว และเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านที่ไทย ภายใน 90 วัน หลังวันสมรส โดยเราสามารถเดินทางไปทำเอง ที่อำเภอที่ไทยได้ หรือหากไม่สะดวก ก็สามารถมอบอำนาจให้ญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนที่ไทย ไปดำเนินการให้แทนได้

โดยการมอบอำนาจจากเยอรมันไปให้คนที่ไทย เราจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบ และเดินทางไปยื่นเรื่องขอมอบอำนาจที่กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt หรือสถานทูตไทยใน Berlin หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก หรือไปที่งานกงสุลสัญจร ไม่สามารถทำเรื่องทางไปรษณีย์ได้

สารบัญ

ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย

ขั้นตอนที่เยอรมัน

ขั้นตอนที่ไทย

Checklist เปลี่ยนชื่อในเอกสารอะไรบ้าง

ติดต่อแปลเอกสาร

ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย

ขั้นตอนที่เยอรมัน

1. ไปรับรองใบสมรสว่าเป็นเอกสารจริง ไม่ปลอมแปลง:

นำใบสำคัญการสมรสเยอรมัน (Heiratsurkunde) หรือ สำเนาคัดจากทะเบียนการสมรสแบบหลายภาษา (internationaler Auszug aus dem Heiratseintrag) ไปรับรองเอกสารว่าไม่ปลอมแปลง เป็นลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานที่ออกเอกสารจริง ที่หน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนสมรสให้เรา หรือที่สำนักทะเบียน (Standesamt) ว่าต้องไปรับรองที่ไหน แต่ละรัฐอาจจะไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไป อ่านรายละเอียดที่ https://mausmoin.com/beglaubigung-de/

หมายเหตุ "บันทึกฐานะแห่งครอบครัว" (Familienbuch) และ "ใบรับรองการสมรส" (Bescheinigung über die Eheschließung) นำมาใช้เป็นหลักฐานแทนใบสำคัญการสมรสไม่ได้

2. นำมาแปลเป็นไทย:

นำใบสมรสที่รับรองจากข้อ1 แล้ว มาให้นักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน แปลและรับรองคำแปลกับ mausmoin.com  เอกสารฉบับแปลจาก mausmoin.com เป็นที่ยอมรับในหน่วยงานทั้งในเยอรมนีและประเทศไทย

3. ไปรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลใหญ่ในเยอรมัน:

นำใบสมรสพร้อมคำแปล ส่งไปรับรองอีกครั้งที่สถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สามารถยื่นเรื่องได้ทั้งทางไปรษณีย์ หรือเดินทางไปยื่นที่สถานทูตไทย หรือกงสุลใหญ่ ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร

กรณีที่เราใช้นามสกุลของคู่สมรส จะต้องนำหนังสือยินยอมของคู่สมรสไปยื่นด้วย โดยสามารถใช้ฟอร์ม “หนังสือยินยอมของคู่สมรส” ของกงสุลใหญ่ ฯ และให้กงสุลใหญ่ ฯ รับรองก่อน (ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร) แล้วจึงนำไปยื่นที่ประเทศไทย

ขั้นตอนที่ไทย

4. ไปรับรองเอกสารที่กรมการกงสุล เขตหลักสี่:

เมื่อได้เอกสารคืนจากการรับรองในข้อ 3 แล้ว เราก็สามารถเดินทางไปไทย หรือมอบอำนาจให้คนที่ไทย ไปยื่นเรื่องรับรองเอกสารให้เรา เป็นรอบสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากเอกสารที่ออกจากต่างประเทศ จะเป็นที่ยอมรับจากทางการไทย ต่อเมื่อมีการรับรองเอกสารจากสถานทูต/กงสุลใหญ่ในต่างประเทศ และจากกระทรวงการต่างประเทศอีกรอบ

5. ไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอ:

นำใบสมรสที่ได้รับการรับรองแล้วจากข้อ 4 ไปที่อำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุลตามคู่สมรส ในทะเบียนบ้านไทย สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นทำให้ได้

6. ทำบัตรประชาชนใหม่:

นำทะเบียนบ้านใหม่ ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนที่ใช้นามสกุลใหม่หลังสมรส ต้องไปทำด้วยตนเองที่ไทย

7. ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่:

นำทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนใหม่ ที่เปลี่ยนนามสกุลแล้ว ไปประกอบการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ สามารถทำได้ทั้งที่ไทย และเยอรมัน

ปัจจุบัน เราไม่สามารถขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ (อีพาสปอร์ต) ได้ จะต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น (แต่หากยังถือหนังสือเดินทางแบบเก่าอยู่ ก็ยังสามารถยื่นเรื่องแก้ไขได้ ที่สถานทูตไทยหรือกงสุลใหญ่) อย่างไรก็ตาม การขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางแบบเก่า ยังไม่ถือเป็นการเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ ตามกฎหมายไทย

ดังนั้น หากเราต้องการทำหนังสือเดินทางไทยเล่มใหม่ โดยใช้นามสกุลใหม่หลังสมรส เราจะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนในทะเบียนบ้านไทยก่อน เนื่องจากนามสกุลจะต้องตรงกันกับทะเบียนบ้านไทย หรือบัตรประชาชนไทยที่มีนามสกุลใหม่ ที่เราจะต้องยื่นพร้อมกับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไทย

แหล่งที่มา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

Checklist เปลี่ยนชื่อในเอกสารอะไรบ้าง

  • บัตรประชาชน
  • หนังสือเดินทาง
  • ทะเบียนบ้าน
  • บัตรประกันสุภาพ
  • ใบขับขี่, บัตรเดินทางรถสาธารณะ
  • แจ้งคลินิก/ โรงพยาบาล
  • แจ้งบัตรเครดิต/ ธนาคาร
  • แจ้งนายจ้าง/ ที่ทำงาน
  • แจ้งประกันต่างๆ เช่น ประกันบ้าน ประกันรถ ประกันชีวิต
  • แจ้งเปลี่ยนในสัญญาต่างๆ เช่น สัญญาโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ
  • แจ้งมหาวิทยาลัย / เปลี่ยนชื่อในบัตรนักศึกษา
  • แจ้งสมาคม หรือชมรมที่เราเป็นสมาชิกอยู่

ติดต่อเรา

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้าน บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) ที่ไทยได้ หรือทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ด้านล่าง -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Baden-Württemberg และ Bayern โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Reutlingen 72760) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234