เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เปลี่ยนไปในปี 2021 ที่เยอรมนี | Was ändert sich 2021?

🇩🇪 📌 เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เปลี่ยนไปในปี 2021 ที่เยอรมนี #เม้าส์มอยน์แจ้งข่าวเพื่อชีวิตและธุรกิจคุณ
🐭 เม้าส์มอยน์ขอต้อนรับเพื่อน ๆ เข้าสู่ปี ค.ศ. 2021 อย่างเป็นทางการ กับข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อกระเป๋าเงินเพื่อน ๆ ที่ต้องมีทั้งภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และเงินเข้ากระเป๋าที่มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน มาดูกันเลย
📍ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Mehrwertsteuer) กลับมาใช้อัตราเท่าเดิมคือสำหรับสินค้าและบริการปกติ 19% และสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค 7% โดยก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกรกรกฎาคมถึงธันวาคม 2020 ปรับลดไปชั่วคราวเหลือ 16% และ 5% เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงวิกฤติโคโรนา
📍 ค่าแรงขั้นต่ำ (Mindestlohn) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 ขึ้นเป็น 9.50 ยูโรต่อชั่วโมง และจะขึ้นไปเป็น 9.60 ยูโรต่อชั่วโมง ตั้งแต่เดือน 1 กค. 2021 และจะปรับขึ้นไปทุกๆ หกเดือน เป็น 9.82 ยูโรต่อชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2022 และขึ้นเป็น 10.45 ยูโรต่อชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 กค. 2022
📍 เงินค่าเลี้ยงดูบุตร (Kindergeld) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 จะปรับขึ้นไปเป็น 219 ยูโรต่อเดือน สำหรับลูกคนที่หนึ่งและสอง และขึ้นเป็น 225 ยูโรต่อเดือน สำหรับลูกคนที่สาม และขึ้นเป็น 250 ยูโรต่อเดือน สำหรับลูกคนที่สี่ (เพิ่มขึ้นคนละ 15 ยูโรจากปีที่แล้ว)
📍 จำนวนเงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้ หมวดค่าเลี้ยงดูบุตร (Kinderfreibetrag) เพิ่มเป็น 8,388 ยูโรต่อปี
📍 จำนวนเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (Grundfreibetrag) สำหรับปี 2021 เพิ่มเป็น 9,744 ยูโร (จากเดิม 9,408 ยูโร)
📍 เงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้ จากการทำงานที่บ้าน (Home-Office-Pauschale) ใครที่ต้องทำงานที่บ้านเนื่องจากวิกฤติโคโรนาในปี 2020 และ 2021 จะสามารถนำมาคำนวนหักลดหย่อนภาษีได้ เป็นจำนวน 5 ยูโรต่อวัน หากคิดเหมาจะได้สูงสุด 120 วันต่อปี เป็นเงิน 600 ยูโร ซึ่งจะเอาไปคำนวนรวมกับค่าลดหย่อนภาษีลูกจ้างหมวด Werbungskosten อีกที ที่ปกติจะสามารถหักเหมาได้สูงสุด 1000 ยูโรโดยไม่ต้องแสดงใบเสร็จ (เม้าส์มอยน์ขอเสริม อันนี้เป็นค่าลดหย่อนใหม่ที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมาจากวิกฤติโคโรนาปี 2020)
📍 พลาสติกใช้แล้วทิ้ง (Einwegplastik) ตั้งแต่ 3 กค. 2021 ห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น จานชามช้อนส้อมพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หลอดพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มจากโฟม ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดใช้ร่วมกันทั้งยุโรป
📍 ค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2-Preis) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 จะคิดค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 25 ยูโรต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน ส่งผลให้ราคานำ้มันดีเซล เบนซิน น้ำมันทำความร้อน ปรับตัวสูงขึ้น เช่น นำ้มันเบนซินจะแพงขึ้น 7 เซนต์ต่อลิตร นอกจากนี้ยังส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีแนวโน้มจะผลักภาระค่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาให้ผู้บริโภค
📍 ภาษีรถยนต์ (Kfz-Steuer) จะแพงขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 สำหรับรถยนต์ออกใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง ในทางกลับกัน หากใครซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2025 จะได้รับประโยชน์จากการงดเว้นภาษีรถยนต์ไปสูงสุด 10 ปี
📍 ค่าทำบัตรประชาชนเยอรมัน (Personalausweis) เพิ่มขึ้นเป็น 37 ยูโร สำหรับผู้ทำบัตรประชาชนอายุเกิน 24 ปี (จากเดิม 28.80 ยูโร)
📍 ใบรับรองแพทย์ว่าไม่สามารถทำงานได้ (Arbeitsunfähigkeits-Bescheinigungen) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 ลูกจ้างไม่ต้องส่งใบรับรองแพทย์ (AU-Bescheinigung) ให้ทางประกันสุขภาพเองแล้ว แต่แพทย์จะส่งไฟล์ดิจิตัลไปให้เอง แต่ลูกจ้างยังต้องส่งใบรับรองแพทย์ให้นายจ้างเช่นเดิม
📍 เงินช่วยเหลือผู้ไม่มีรายได้จากรัฐบาล (Hartz-IV-Regelsatz) ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2021 เพิ่มเป็น 446 ยูโรต่อเดือน สำหรับผู้ใหญ่ (เพิ่มขึ้น 14 ยูโรจากปีที่แล้ว) สำหรับเยาวชนอายุ 18-24 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพิ่มเป็น 357 ยูโรต่อเดือน สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี เพิ่มเป็น 283 ยูโรต่อเดือน สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี เพิ่มเป็น 309 ยูโรต่อเดือน สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี เพิ่มเป็น 373 ยูโรต่อเดือน
📍 ยกเลิกภาษีเพื่อความเป็นปึกแผ่น (Solidaritätszuschlag) หรืออธิบายง่าย ๆ คือเงินภาษีที่เก็บจากบริษัทและผู้มีรายได้ทั่วเยอรมนี เพื่อไปช่วยเหลือเยอรมนีฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปีนี้จะยกเลิกการเก็บภาษีประเภทนี้กับ 90% ของผู้ที่ทำงานเสียภาษีในเยอรมนี แต่คนทำงานกว่า 6.5% จะยังเสียภาษีประเภทนี้อยู่บ้าง แต่ผู้ที่รายได้มากยังต้องเสีย Solidaritätszuschlag ต่อไป นั่นหมายถึง ใครได้รายได้มาก ก็ต้องจ่าย Solidaritätszuschlag มากตามลำดับ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ลูกจ้างโสดไม่มีครอบครัวที่ได้เงินได้ก่อนหักภาษีไม่เกิน 74,000 ยูโรต่อปี ก็จะไม่ต้องจ่าย Solidaritätszuschlag แล้วตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป
แต่หากใครได้เงินได้ก่อนหักภาษีเกินกว่านั้นถึง 109,000 ยูโรต่อปี ก็จะยังต้องจ่าย Solidaritätszuschlag บ้าง
แต่หากใครได้เงินได้ก่อนหักภาษีเกินกว่านั้น ก็ต้องจ่าย Solidaritätszuschlag เต็มจำนวนเหมือนเดิม
ให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่า หากใครได้เงินได้อยู่ที่ 31,200 ยูโรต่อปี ก็จะได้เงินเข้ากระเป๋าเพิ่มอีก 200 ยูโรนั่นเอง
🐭 เม้าส์มอยน์ขอสรุปเสริมเล็กน้อย เรื่องเงินเลี้ยงดูบุตร เงิน Hart-IV ค่าแรงขั้นต่ำ และจำนวนเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีการปรับขึ้นแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ทุกปีอยู่แล้ว ตามอัตราเงินเฟ้อที่ควรจะเป็น
🐭 ขอให้เพื่อน ๆ มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และประสบความสำเร็จในปี 2021 ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เม้าส์มอยน์จะคอยนำสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและธุรกิจของเพื่อน ๆ มาฝากอย่างสม่ำเสมอ ฝากกดติดตามกันไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ
Quelle: tagesschau.de, zdf.de
--------------------------
📣 Mausmoin เปิดเรียนรอบใหม่แล้ว เริ่ม 21 มค. 2021 คอร์สเรียนออนไลน์ ภาษาเยอรมันพื้นฐานและติวสอบ A1, A2 สมัครได้เลย!
🐭 Mausmoin.com: เยอรมันเพื่อชีวิตและธุรกิจคุณ
เรียนเยอรมัน & บริการล่าม แปลเอกสาร ประสานงานธุรกิจ เยอรมัน-ไทย โดยล่ามและนักแปลที่ได้รับการรับรองจากศาลเยอรมัน
🐭 Mausmoin.com: Beglaubigte Übersetzung | Dolmetschen | Projektkoordination | Deutschlernen | durch staatlich geprüfte und öffentlich bestellte Dolmetscherin und Übersetzerin für thailändische Sprache

ค่าแรงขั้นต่ำที่เยอรมนีปีหน้าจะเป็นเท่าไรนะ | Mindestlohn 2020

ค่าแรงขั้นต่ำที่เยอรมนีปีหน้าจะเป็นเท่าไรนะ | Mindestlohn 2020

เม้าส์มอยน์พามาส่องค่าแรงขั้นต่ำที่เยอรมนีปี พ.ศ. 2563จะปรับขึ้นไปที่ 9.35 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 313 บาทต่อชั่วโมง) มีสิทธิได้ค่าแรงขั้นต่ำกันทุกคนรึเปล่า และแต่ละกลุ่มธุรกิจจะได้ค่าแรงเท่ากันไหม มาหาคำตอบกันเลย

ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนดที่เยอรมนี ณ ปัจจุบัน คือ 9.19 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 308 บาทต่อชั่วโมง) ซึ่งปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2562 โดยกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำกำหนดให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุก ๆ สองปี

ในเดือนมิ.ย. พ.ศ. 2561 มีการเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำสองขั้น ก็คือปรับวันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2562 และอีกรอบคือปี พ.ศ. 2563 ดังนั้น ตั้งแต่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2563 ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายที่เยอรมนี จะปรับขึ้นไปที่ 9.35 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 313 บาทต่อชั่วโมง)

แต่ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานทุกคนจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายเท่ากัน จะมีการยกเว้นคนบางกลุ่ม เช่น เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่ได้เรียนจบทางวิชาชีพมา กลุ่มคนฝึกงาน (ที่มักเรียกกันย่อ ๆ ว่า Azubi) นักเรียนและนักศึกษาฝึกงาน (Praktikanten) คนที่ตกงานมานานและเริ่มมาทำงานในช่วง 6 เดือนแรก บรรดาอาสาสมัคร ทำงานการกุศล เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มธุรกิจและรัฐต่าง ๆ ในเยอรมนี ก็จะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากันด้วย และในปีหน้า ก็จะมีการปรับขึ้นเช่นกัน เม้าส์มอยน์ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ เช่น

กลุ่มคนให้บริการดูแลรักษาพยาบาล ทางรัฐเยอรมนีตะวันตกและกรุงเบอร์ลิน จะปรับขึ้นจาก 11.05 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 11.35 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 380 บาทต่อชั่วโมง) แต่ในรัฐเยอรมนีตะวันออก จะปรับขึ้นจาก 10.55 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 10.85 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 363 บาทต่อชั่วโมง)

ค่าแรงขั้นต่ำช่างไฟ เพิ่มจาก 11.40 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 11.90 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 398 บาทต่อชั่วโมง)

ในขณะที่ ค่าแรงขั้นต่ำพนักงานในกลุ่มการศึกษา เพิ่มจาก 15.72 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 16.19 ยูโรต่อชั่วโมง หากมีวุฒิปริญญาตรีด้วย ค่าแรงขั้นต่ำก็จะเพิ่มเป็น 16.39 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 549 บาทต่อชั่วโมง) เป็นต้น

เม้าส์มอยน์สรุปกันอีกครั้งว่า ข้างต้นเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่ะละกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมจะกำหนดมากน้อยไม่เท่ากัน และเพื่อน ๆ แต่ละคนสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำได้ หากเรามีความสามารถ คุณสมบัติ ประสบการณ์ วุฒิการศึกษาที่สูงกว่าที่ขั้นต่ำกำหนด ขอให้เพื่อน ๆ พยายามและตั้งใจพัฒนาตนเองในสายอาชีพของเราต่อไปเรื่อย ๆ เม้าส์มอยน์เอาใจช่วยจ้า!

หากใครต้องการพัฒนาทักษะภาษาเยอรมันให้ดีขึ้น สื่อสารฟัง พูด อ่าน เขียนในชีวิตประจำวันและการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ คอร์สเรียนเยอรมันที่ออกแบบสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เปิดเรียนรอบ มค. แล้ว สมัครได้เลยทาง Line/Facebook: mausmoin

Quelle: https://www.dgb.de/

เรื่องเงินทองที่เปลี่ยนแปลงในปี 2017

ค่าแรงขั้นต่ำ:

เพิ่มขึ้นเป็น 8.84 ยูโรต่อชั่วโมง (จากเดิม 8.50 ยูโร) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 55 ยูโรต่อเดือน ถ้าทำงานเต็มเวลา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ (Hartz-IV) ก็จะได้เงินเพิ่ม 5 ยูโรต่อเดือน สำหรับคนที่อยู่คนเดียว

เงินลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา:

เพิ่มขึ้นเป็น 8,820 ยูโรสำหรับคนโสด (จากเดิม 8,652 ยูโร) และเป็นสองเท่าสำหรับคู่แต่งงาน เป็น 17,640 ยูโร หมายถึง ยอดเงินได้ที่ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่หากมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเกินกว่านี้ ก็จะนำไปคำนวณภาษีเงินได้ต่อไป

เงินเลี้ยงดูบุตร:

เพิ่มขึ้น 2 ยูโรต่อเดือน ค่าเลี้ยงดูบุตรคนแรกและคนที่สองจะเพิ่มขึ้นเป็น 192 ยูโร สำหรับบุตรคนที่ 3 จะเพิ่มเป็น 198 ยูโร และสำหรับบุตรคนถัดๆ ไป จะเพิ่มเป็น 223 ยูโรต่อเดือน นอกจากนี้เงินลดหย่อนภาษีจากการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น 108 ยูโร เป็น 7,356 ยูโร

ค่าไฟ:

แพงขึ้นราว 4-5% หรือราว 50 ยูโรต่อครัวเรือน

ค่าตั๋วรถเมล์ รถไฟ:

แพงขึ้นเฉลี่ยราว 2-3% ทั่วเยอรมัน เช่นแถบเมือง München แพงขึ้น 2.9%, Düsseldorf 2.3%, Stuttgart และ Frankfurt 1.9% และรถไฟเร็ว ICE, IC ราคาตั๋วแพงขึ้นราว 1.3%

เรื่องเงินๆ ที่น่าสนใจในเดือน พ.ย. 2016

เรื่องเงินๆ ที่น่าสนใจในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่เยอรมัน: ค่าธรรมเนียมบัญชี, ยกเลิกประกันรถ, ค่าจ้างขั้นต่ำ, เปลี่ยนระดับขั้นภาษี

1. Girokonto-Gebühren | ค่าธรรมเนียมบัญชี

ธนาคาร Postbank เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมบัญชีกระแสรายวัน (Girokonto) ตั้งแต่ 1 พ.ย. นี้ โดยคิดค่าธรรมเนียมบัญชีละ 1.90-9.90 ยูโรต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมาได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี หากมีเงินเข้าบัญชีเกิน 1000ยูโร ต่อเดือน หากใครที่ไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็สามารถใช้สิทธิปิดบัญชีภายในสิ้นเดือนต.ค. และเปลี่ยนธนาคารได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ธนาคาร Postbank ยังมีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบัญชีของคนที่อายุต่ำกว่า 22 ปี ( Das junge Konto) และ บัญชีของคนที่มีเงินเข้ามากกว่า 3000 ยูโรต่อเดือน (Das Komfort Konto) อยู่

2. Kfz-Versicherung | ประกันรถ

ถึงเวลายกเลิกสัญญาประกันรถยนต์ สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนบริษัทประกันรถ หรือหาประกันรถที่ถูกลง ก็เตรียมยกเลิกสัญญาเจ้าเก่าและหาเจ้าใหม่ได้ถึง 30 พ.ย. นี้

3. Mindestlohn | ค่าจ้างขั้นต่ำ

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็น 8.95 ยูโรต่อชม. สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ ในเมืองแถบเยอรมันตะวันออกและเบอร์ลิน และ 8.5 ยูโร ในรัฐเยอรมันตะวันตก

4. Wechsel der Steuerklasse | เปลี่ยนระดับขั้นภาษี

หากใครต้องการเปลี่ยนระดับขั้นภาษี (Steuerklasse) เช่นกรณีเพิ่งแต่งงาน มีบุตร คู่สมรสตกงาน แยกกันอยู่กับคู่สมรส คู่สมรสเสียชีวิต หรืออื่นๆ เพื่อลดภาระภาษี ก็สามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนขั้นภาษีได้ภายใน 30 พ.ย. นี้ ที่สรรพากรที่เมืองที่เราอยู่ โดยขอแบบฟอร์มคำร้องและสอบถามเพิ่มเติมที่สรรพากร (Finanzamt) ที่เมือง

Quelle: rtlnext.rtl.de, postbank.de, berlin.de, der-mindestlohn-wirkt.de