5 วิธีประหยัดค่าทำความร้อนในฤดูหนาวนี้

รู้หรือไม่ว่า เราสามารถประหยัดค่าทำความร้อนได้มากกว่า 15% หากหลีกเลี่ยงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปนี้ได้ โดยประหยัดเงินได้มากถึง 300 ยูโรต่อปี สำหรับบ้านที่อยู่สี่คนเลยทีเดียว

1. ไม่ควรวางหรือกองของบนเครื่องทำความร้อน หรือวางเฟอร์นิเจอร์บัง หรือแม้แต่ปิดม่านกั้นการไหวเวียนอากาศจากเครื่องทำความร้อน เนื่องจากไอร้อนจะไม่สามารถกระจายไปทั่วห้องได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องวางเฟอร์นิเจอร์บริเวณเครื่องทำความร้อน ควรวางให้มีระยะห่างอย่างน้อย 20 ซม.

2. หน้าต่างและประตูเป็นจุดที่สูญเสียความร้อนในบ้านมากถึง 20% แม้ปัจจุบันกระจกหน้าต่างจะพัฒนาให้กั้นความร้อนออกได้ดีขึ้น แต่เราก็ยังสามารถช่วยป้องกันความร้อนรั่วไหลได้อีก โดยปิดม่านเหล็กม้วนที่หน้าต่าง และประตูในช่วงกลางคืน ซึ่งหลายคนมักจะเปิดทั้งไว้ทั้งวันทั้งคืน หากสามารถปิดม่านทุกๆจุดในบ้านได้ ก็จะสามารถประหยัดค่าทำความร้อนได้สูงถึง 5-8%

3. เครื่องทำความร้อนจะปรับความร้อนในบ้านได้เร็ว หากความชื้นของอากาศในบ้านอยู่ในระดับที่พอเหมาะ คือประมาณ 40-60% ที่ควรระวังคือ ไม่ควรแง้มหน้าต่างไว้ตลอดเวลา เพราะจะทำให้อากาศไหลเวียนออกมากเกินไป แต่ควรจะเปิดหน้าต่างให้กว้าง 3-4 ครั้งต่อวัน และในช่วงหน้าหนาวแต่ละครั้งไม่ควรเปิดหน้าต่างทิ้งไว้นานเกิน 3-4 นาที เพื่อให้อากาศได้ไหลเวียนบ้าง แต่จะไม่ทำให้กำแพงบ้านเย็นเกินไป หากทำได้เช่นนี้ ก็จะช่วยประหยัดค่าทำความร้อนได้สูงถึง 7%

4. หลายคนหากไม่อยู่บ้าน ก็จะปิดเครื่องทำความร้อน และเมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะรีบเปิดเครื่องและปรับไประดับร้อนสุด เพื่อทำให้บ้านอุ่นเร็วที่สุด แต่การปรับระดับความร้อนแรงสุด ไม่ได้ทำให้บ้านอุ่นเร็วขึ้นกว่าเดิมเลย อันที่จริง ควรจะเปิดเครื่องทำความร้อนเลี้ยงตัวบ้านไว้ไม่ให้เย็นจัดจนเกินไป เครื่องจะได้ไม่ต้องใช้พลังงาน เพื่อเร่งทำความร้อนให้บ้านกลับมาอุ่นอีกครั้ง หากทำได้เช่นนี้ จะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 10-15%

5. สิ่งที่ควรทำอีกอย่างก่อนเข้าหน้าหนาวก็คือ การปล่อยลมในตัวเครื่องทำความร้อนออก เนื่องจากตลอดปีจะมีลมค้างอยู่ในท่อน้ำในตัวเครื่อง ซึ่งจะกันไม่ให้น้ำไหลไปตามท่อได้ทั่ว ส่งผลให้ตัวเครื่องร้อนไม่ทั่ว และต้องใช้พลังงานทำความร้อนมากขึ้น การปล่อยลมทำได้โดยใช้กุญแจสำหรับปล่อยลม ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ไขไล่ลมออก เพื่อให้น้ำไหลไปได้ทั่วตัวเครื่อง และทำความร้อนได้สม่ำเสมอทั่วเครื่อง

หากใส่ใจเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ ก็ช่วยโลกประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อนได้ อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเราได้อีกด้วย

Quelle&Foto: 1.Wdr.de

แจ้งเกิดเด็กไทยในเยอรมัน | Geburtsanzeige

สารบัญ

แจ้งเกิดลูกในเยอรมัน ตามกฏหมายเยอรมัน

แจ้งเกิด ตามหลักกฎหมายไทย ในเยอรมัน

สัญชาติที่ลูกจะได้

เด็กถือสองสัญชาติได้หรือไม่

ลูกชายถือ 2 สัญชาติ ต้องเกณฑ์ทหารที่ไทยหรือไม่

การแจ้งชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย

ลูกไม่ใช่คนไทย สามารถรับมรดกที่ไทยได้หรือไม่

ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com

แจ้งเกิดลูกในเยอรมัน ตามกฏหมายเยอรมัน

การเตรียมเอกสาร

เอกสารที่ต้องเตรียมจะขึ้นอยู่กับสถานะทางครอบครัวของพ่อแม่ ของเด็ก เช่น

  1. ถ้าพ่อแม่ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน: เตรียมเอกสารตัวจริงของพ่อและแม่ ดังนี้
    • สูติบัตร, หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวประชาชน, ใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung), เอกสารรับรองบุตร หรือเอกสารการเลี้ยงดูลูกร่วมกัน, ใบมอบอำนาจ หากพ่อหรือแม่ไม่สามารถมาทำเรื่องด้วยตนเองได้ ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com
  2. ถ้าพ่อแม่ จดทะเบียนสมรสกัน:
    • เอกสารการจดทะเบียนสมรส, หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวประชาชน, ใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung)  ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com

เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนแต่ละท้องที่ อาจมีการขอเอกสารเพิ่มเติม ควรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่อง เพื่อเตรียมเอกสารได้ครบถ้วน และทันเวลา

แจ้งเกิดลูก ตามหลักกฎหมายไทย ในเยอรมัน

หากต้องการแจ้งเกิดลูก ตามหลักกฎหมายไทย หรือต้องการขอสูติบัตรไทยให้ลูก สามารถไปยื่นเรื่องแจ้งเกิดลูกด้วยตนเอง ได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หรือที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

มีเงื่อนไขการไปแจ้งเกิด ดังนี้

1. ถ้าพ่อและแม่ ได้สิทธิปกครองลูกร่วมกัน ก็ต้องมาทำเรื่องและเซ็นชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วยกัน

2. ถ้าพ่อหรือแม่ เป็นชาวต่างชาติ ก็ต้องเซ็นชื่อรับทราบว่ายินยอมให้ลูกถือสัญชาติไทยคู่ด้วย

3. ถ้าพ่อหรือแม่ มีสิทธิปกครองลูกเพียงคนเดียว ต้องนำหลักฐานแสดงสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย หลักฐานฯ ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน

ที่อยู่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
Königlich Thailändisches Generalkonsulat
Kennedyallee 109, 60596 Frankfurt am Main

ที่อยู่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
Königlich Thailändische Botschaft
Lepsiusstrasse 64/66 12163 Berlin

ที่อยู่ สถานกงสุลใหญ่ ณ ณ นครมิวนิก
Königlich Thailändisches Generalkonsulat München
Törringstr. 20, 81675 München

เอกสารที่ต้องใช้

  • สำเนาสูติบัตรเยอรมันของลูก ที่รับรองจากทางการเยอรมันแล้ว (เช่น Regierungspräsidium หรือ Bezirksregierung) 1 ชุด (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ “หน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน” หรือสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ออกสูติบัตร)
  • สำเนาหนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อ 1 ชุด ถ้าพ่อเป็นคนสัญชาติไทย ต้องยื่นสำเนาทะเบียนบ้านไทยเพิ่มด้วย 1 ชุด
  • สำเนาหนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชนของแม่ 1 ชุด ในกรณีที่แม่เป็นคนสัญชาติไทย ต้องยื่นสำเนาทะเบียนบ้านไทยของแม่ ที่เปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรส หรือเปลี่ยนนามสกุลหลังการหย่าเพิ่มด้วย 1 ชุด
  • สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) ของพ่อและแม่ 1 ชุด
  • หนังสือยินยอมของบิดาหรือมารดาให้บุตรถือสัญชาติไทยได้ ของทางสถานกงสุลใหญ่ฯ (ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่)
  • เอกสารที่ระบุ ชี่อโรงพยาบาล, เวลาเกิด และ น้ำหนักแรกเกิดของลูก
  • สำเนาสูติบัตรไทยของลูกคนโต (พ่อแม่เดียวกัน) ที่แจ้งเกิดแล้ว 1 ฉบับ (หากมี)
  • ซองขนาด A4 เขียนที่อยู่ถึงตัวเอง และติดแสตมป์ 4 ยูโร เพื่อส่งสูติบัตร และเอกสารกลับคืนให้
  • ค่าธรรมเนียมรับรองสำเนาถูกต้องสูติบัตรไทย 15 ยูโร (ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ จะรับเป็นเงินสดเท่านั้น)
  • เอกสารการจดทะเบียนสมรสของพ่อและแม่
    • กรณีจดทะเบียนสมรสที่เยอรมัน*: ยื่นสำเนาทะเบียนสมรสเยอรมัน หรือทะเบียนสมรสนานาชาติ (แบบหลายภาษา) ของพ่อและแม่ พร้อมคำแปลภาษาไทย 1 ชุด (ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com)
    • กรณีที่พ่อแม่มีสัญชาติไทย และจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย: ยื่นสำเนาทะเบียนสมรสไทย
    • กรณีหย่าแล้ว: ยื่นสำเนาคำพิพากษาหย่า ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องระบุว่าใครเป็นผู้ปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว หรือปกครองบุตรร่วมกัน (ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน) พร้อมคำแปลภาษาไทย 1 ชุด (ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com)
    • กรณีมีการรับรองบุตร: หนังสือรับรองบุตร พร้อมคำแปลภาษาไทย 1 ชุด (ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com)
  • คำร้องการแจ้งเกิดลูก (PDF) ของทางสถานกงสุลใหญ่ฯ (ควรกรอกล่วงหน้าและเตรียมไปด้วย)

หมายเหตุ: เจ้าหน้าที่ฯ อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ แล้วแต่กรณี

*ใบสมรสเยอรมัน ควรนำไปรับรองพร้อมกับสูติบัตรเยอรมันของลูกที่ Regierungspräsidium หรือ Bezirksregierung ก่อน แล้วส่งมาแปลกับ mausmoin.com เพื่อความสะดวกของคู่สมรสเอง เนื่องจากการแจ้งเกิดที่ไทย จะต้องแจ้งเรื่องสมรสของพ่อแม่ก่อน ดังนั้นหากต้องไปเดินเรื่องแจ้งเกิดลูกที่กงสุลไทยอยู่แล้ว ก็ควรนำใบสมรสที่รับรองและแปลแล้ว ไปดำเนินการรับรองอีกรอบที่กงสุลไทยพร้อมกับการแแจ้งเกิดเลย

ทางกงสุลใหญ่ ต้องการใบแปลทะเบียนสมรสเป็นภาษาไทย เพื่อให้ชื่อของบิดา มารดา และชื่อสถานที่ต่างๆ สะกดให้เหมือนกันในสูติบัตรลูกที่ทางกงสุลไทยจะออกให้ เพื่อนำไปใช้เพิ่มชื่อลูกเข้าในทะเบียนบ้านไทยต่อไป หากชื่อสะกดไม่ตรงกัน อาจมีปัญหาภายหลังได้

ทั้งนี้ ตอนไปแจ้งชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย ก็จะแล้วแต่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อำเภอ ว่าต้องการให้แปลเอกสารภาษาเยอรมันตัวไหนบ้าง ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ท่านนั้นๆ โดยตรงค่ะ

หากได้สูติบัตรไทยแล้ว ต้องการแปล เป็นภาษาเยอรมัน สามารถติดต่อเราได้ที่ info@mausmoin.com หรือ Line: mausmoin

สัญชาติที่ลูกจะได้

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลสัญชาติที่ลูกจะได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติเยอรมันหรือไทยตามพ่อแม่ได้ โดยดูจากหลักการได้สัญชาติไทย หรือเยอรมัน ดังนี้

1. หลักสายโลหิต (Abstammungsprinzip): ถ้าพ่อหรือแม่ มีสัญชาติเยอรมัน หรือไทย ลูกก็จะได้สิทธิการมีสัญชาติ ตามสัญชาติของพ่อและแม่ ไม่ว่าจะเกิดที่ประเทศไหน

  • เช่น หากลูกเป็นลูกครึ่ง พ่อเป็นชาวเยอรมัน แม่เป็นคนไทย ลูกก็จะได้สองสัญชาติ ตามหลักการได้รับสัญชาติทางสายโลหิต และไม่ต้องเลือกถือสัญชาติตอนอายุ 21 ปี
  • แต่ หากพ่อเป็นชาวเยอรมัน และแม่เป็นคนไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะต้องให้พ่อดำเนินการรับรองบุตร (Feststellung der Vaterschaft)ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายเยอรมันด้วย และต้องทำเรื่องให้เรียบร้อย ก่อนที่ลูกจะอายุ 23 ปีบริบูรณ์

2. หลักดินแดนที่เกิด (Geburtsortsprinzip): หลักนี้จะดูที่ประเทศที่ลูกเกิดเป็นหลัก ถ้าลูกเกิดที่เยอรมัน แม้พ่อแม่จะไม่มีสัญชาติเยอรมัน เป็นคนไทย หรือเป็นชาวต่างชาติ ลูกก็มีสิทธิ์ได้สัญชาติเยอรมัน ถ้าในเวลาที่เด็กเกิด พ่อหรือแม่อยู่เยอรมันมาติดต่อกัน 8 ปี และมีวีซ่าถาวรในเยอรมัน ซึ่งเด็กจะถือสองสัญชาติคู่กันไปได้ จนถึงอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จากนั้นจะต้องยื่นเรื่องขอเลือกถือสัญชาติ (Optionspflicht) มีเงื่อนไขดังนี้

  • ถ้าเด็กเกิดที่เยอรมัน แต่ไม่ได้ถูกเลี้ยงดู หรือเติบโตในเยอรมัน เด็กจะต้องเลือกว่า จะถือสัญชาติเยอรมัน หรือสัญชาติไทยต่อไป ตอนที่อายุครบ 21 ปี ถ้าไม่มีการยื่นเรื่องใดๆ ตอนอายุครบ 23 ปี เด็กจะเสียสัญชาติเยอรมัน
  • แต่เด็กจะสามารถถือสองสัญชาติได้ ถ้าเด็กเกิดที่เยอรมัน และโตในเยอรมัน ตามเงื่อนไขต่อไปนี้
    • เด็กจะต้องอยู่เยอรมันไม่น้อยกว่า 8 ปี
    • หรือได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เยอรมัน ไม่น้อยกว่า 6 ปี
    • หรือเรียนจบ หรือผ่านการฝึกงานจนจบที่เยอรมัน
    • หรือมีภาระผูกพันกับทางประเทศเยอรมัน ซึ่งอาจทำให้เลือกสัญชาติได้ลำบาก

เด็กถือสองสัญชาติได้หรือไม่

หากเด็กเลือกที่จะถือ 2 สัญชาติ ก็สามารถทำเรื่องขอถือ 2 สัญชาติ ไทย-เยอรมันได้ ตามหลัก Hinnahme von Mehrstaatigkeit แต่เด็กต้องทำเรื่องขอถือ 2 สัญชาติ ก่อนอายุครบ 21 ปี
อ่านข้อมูลการขอสัญชาติเยอรมัน และการถือ 2 สัญชาติเพิ่ม: https://mausmoin.com/einbuergerung/

ลูกชายถือสองสัญชาติ ต้องเกณฑ์ทหารที่ไทยหรือไม่

ลูกชายที่มีสองสัญชาติ ไทย-เยอรมัน หรือชายไทยที่มีสองสัญชาติ ตามกฏหมายไทย จะต้องไปเกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 21 ปี แต่หากเรียนอยู่ที่เยอรมันก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันได้ โดยทำเรื่องยื่นขอสัสดีท้องที่ที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมอบอำนาจไป พร้อมเตรียมเอกสารไปตามที่กำหนด หากเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน ให้ Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปลเป็นไทย และจึงนำไปยื่น รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านข้อมูลจากกงสุลที่นี่

การแจ้งชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย

ไม่ว่าลูกจะเพิ่งเกิด หรือจะอายุ 10 หรือ 20 ปีแล้ว ก็สามารถแจ้งชื่อลูกเข้าในทะเบียนบ้านไทยได้ โดยเดินทางไปทำเรื่องที่อำเภอที่เรามีชื่ออยู่ที่ไทยได้ ดังนี้

  • กรณีที่ถือสองสัญชาติ (ไทย-เยอรมัน) การเดินทางเข้า-ออกประเทศเยอรมันทุกครั้ง ต้องแสดงหนังสือเดินทางทั้ง 2 สัญชาติ ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตามกฎหมายเยอรมัน
  • เดินทางเข้าประเทศไทย โดยหนังสือเดินทางไทย ซึ่งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่จะประทับตราเข้าประเทศไทยในหนังสือเดินทางให้
  • นำหนังสือเดินทางไทย (หรือเยอรมัน) ของลูก และสูติบัตรไทย ไปแจ้งชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้าน ที่อำเภอหรือเขตที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
  • ควรขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านไทยของลูก เพื่อนำมาใช้ที่ประเทศเยอรมันด้วย

หมายเหตุ: นายทะเบียนอำเภอ ของแต่ละจังหวัด อาจจะเรียกเอกสารอื่นเพิ่มเติมได้

หากมีปัญหา ในการแจ้งชื่อลูก เข้าทะเบียนบ้านไทย สามารถติดต่อที่ กองปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร โทร. 02-621 0721 หรือสำนักทะเบียนอำเภอที่เรามีชื่ออยู่

ลูกไม่ใช่คนไทย สามารถรับมรดกที่ไทยได้หรือไม่

ลูกมีสิทธิ์รับมรดกของพ่อหรือแม่ที่ไทยได้ แม้ว่าจะไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไทย หรือไม่มีใบเกิดไทย (สูติบัตร) โดยยึดหลักการมีสิทธิรับมรดกของพ่อ หรือแม่ ได้เป็นลำดับแรก ในฐานะผู้สืบสันดานโดยตรง ตามมาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อมูลอ้างอิงจาก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน, berlin.de, bundesregierung.de

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

mausmoin.com แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจาก Mausmoin.com ประกอบการแจ้งเกิดลูก หรือทำธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

การขอสัญชาติเยอรมัน | Einbürgerung in Deutschland


สารบัญ 

เอกสารที่ต้องใช้

การถือสองสัญชาติ

คุณสมบัติ และเงื่อนไข

การสอบขอสัญชาติ

ตัวอย่างข้อสอบ Einbürgerungstest

ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com

เอกสารที่ต้องใช้

เจ้าหน้าที่จะสอบถามเรา และดูประวัติของเราก่อน จากนั้นจะให้รายการเอกสารที่ต้องเตรียม แต่ละคนอาจจะต้องเตรียมเอกสารมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติและสถานภาพครอบครัวของแต่ละคน

เอกสารเกี่ยวกับตัวเราที่มักจะต้องเตรียม ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง และวีซ่าถาวร (Aufenthaltstitel)
  • สูติบัตรของเรา (ของคู่สมรส และของลูก) ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้าชื่อในสูติบัตร หรือเอกสารอื่นๆ ไม่ตรงกับชื่อหรือนามสกุลในพาสปอร์ต)
  • เอกสารแต่งงานต่างๆ (หรือ/และ เอกสารหย่าต่างๆ)ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • ใบสำเร็จการศึกษา และหลักฐานทางการศึกษา หรือการฝึกงานอื่นๆติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com
  • รูปถ่ายปัจจุบัน
  • หลักฐานการเงิน หรือใบรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง
  • หลักฐานแสดงระดับความรู้ภาษาเยอรมันระดับ B1 (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)
  • ผลสอบ Einbürgerungstest (หรือถ้าจบการศึกษาจากเยอรมัน เจ้าหน้าที่อาจไม่ขอฉบับนี้)

ถ้าเอกสารเป็นภาษาไทย ต้องนำมาแปลและรับรองคำแปลกับนักแปลที่ศาลเยอรมันรับรอง สามารถติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com ได้ที่ info@mausmoin.com หรือ Line ID: mausmoin

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ใบคำร้องขอสัญชาติเยอรมัน และข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายการขอสัญชาติที่เมืองที่เราอาศัย (Einbürgerungsbehörde) ที่ Ausländerbehörde หรือสอบถามที่ Rathaus ของเมืองที่เราอยู่

ค่าทำเรื่องขอสัญชาติเยอรมัน: 255 ยูโร ต่อคน และเด็กที่ยื่นเรื่องพร้อมพ่อแม่จะอยู่ที่ 51 ยูโร

การถือสองสัญชาติ (Hinnahme von Mehrstaatigkeit)

กฎหมายสัญชาติเยอรมัน ปกติแล้วไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติได้ เช่น การสละสัญชาติไทย อาจจะใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือการสละสัญชาติไทยมีผลเสียมากมายต่อการครอบครองที่ดิน หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ที่เมืองไทย ดังนั้นการขอสัญชาติเยอรมัน จึงมีการอนุโลมให้คนไทยสามารถถือสองสัญชาติคู่กันได้ (ณ ปี 2016) ทั้งนี้ Mausmoin.com แนะนำว่าควรสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ว่าต้องแจ้งหรือเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

อ้างอิงข้อมูลการถือสองสัญชาติจาก สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ และกฎหมายเยอรมัน Staatsangehörigkeitsgesetz (StAG) § 12

ข้อมูลจากกงสุลไทยในเยอรมัน กรณีการถือสองสัญชาติ:

1. "ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ทางการเยอรมันได้ยกเว้นให้บุคคลสัญชาติไทยที่ไปขอสัญชาติเยอรมัน สามารถถือสองสัญชาติได้ โดยไม่ต้องสละสัญชาติไทยอีกต่อไป"

2. "ตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทยไม่ได้ “ห้าม” แต่ก็ไม่ได้ “ให้” บุคคลสัญชาติไทยไปถือสัญชาติอื่น"

กรณีต้องการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย อ่านรายละเอียด เอกสารและเงื่อนไขคุณสมบัติได้ที่: ข้อมูลของกรมการกงสุลไทย (PDF)

คุณสมบัติ และเงื่อนไขการขอสัญชาติเยอรมัน

Mausmoin.com สรุปเงื่อนไขเบื้องต้นของการขอสัญชาติเยอรมันเป็นภาษาไทยมาให้ด้านล่าง ทั้งนี้ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ Ausländerbehörde ที่เมือง เพื่อขอรายละเอียดสำหรับแต่ละคน แต่ละกรณีเพิ่มเติม

  • มีวีซ่าถาวร (unbefristetes Aufenthaltsrecht) หรือมีวีซ่าประเภท Blaue Karte ในวันที่จะขอสัญชาติ
  • สอบ Einbürgerungstest ผ่าน
  • อยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 8 ปี (หรือระยะเวลาอาจจะสั้นลงเหลือ 6-7 ปี ถ้าเรียนจบคอร์ส Integrationskurs)
  • สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐ เช่น เงินตกงาน Hartz IV
  • มีความรู้ภาษาเยอรมันเพียงพอ
  • ไม่ต้องโทษ หรือมีความผิดทางกฎหมาย
  • ยอมรับหลักกฎหมายพื้นฐานแบบประชาธิปไตยเสรีของประเทศเยอรมัน
  • สามารถสละสัญชาติเดิมได้ แต่ข้อนี้ไทยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องสละสัญชาติไทย

เคสพิเศษอื่นๆ

1. ถ้าแต่งงานกับคนเยอรมันถูกต้องตามกฎหมาย มาอย่างน้อย 2 ปี และอยู่ด้วยกัน ตัวคุณอยู่เยอรมันติดต่อกันเกิน 3 ปี และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการขอสัญชาติ (ดูหัวข้อ คุณสมบัติและเงื่อนไข) ก็สามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติเยอรมันได้ (Einbürgerung des Ehegatten eines Deutschen) 
2. โดยปกติคู่สมรสหรือลูกที่เป็นผู้เยาว์ สามารถยื่นขอสัญชาติร่วมได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่เยอรมันครบ 8 ปี (Staatsangehörigkeitsgesetz§ 10 (2))
3. โดยปกติ จะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน (Staatsangehörigkeitsgesetz § 10 (5))
4. ลูกชายที่มีสองสัญชาติ ไทย-เยอรมัน หรือชายไทยที่มีสองสัญชาติ ตามกฏหมายไทย จะต้องไปเกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 21 ปี แต่หากเรียนอยู่ที่เยอรมันก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันได้ โดยทำเรื่องยื่นขอสัสดีท้องที่ที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมอบอำนาจไป พร้อมเตรียมเอกสารไปตามที่กำหนด หากเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน ให้ Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปลเป็นไทย และจึงนำไปยื่น รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านข้อมูลจากกงสุลที่นี่
5. เด็กที่มีพ่อแม่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เกิดในเยอรมัน จะได้สองสัญชาติตั้งแต่เกิด ในกรณีที่ในเวลาที่เด็กเกิด พ่อหรือแม่อยู่เยอรมันมาติดต่อกัน 8 ปี และมีวีซ่าถาวรในเยอรมัน และเด็กจะได้สัญชาติไทยตามสัญชาติของพ่อแม่ที่เป็นคนไทยด้วย
หมายเหตุ แต่ละเมืองอาจจะมีเกณฑ์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประวัติการเรียน การทำงาน สถานะการแต่งงาน และการอยู่อาศัยของแต่ละคนด้วย หากมีคำถามเคสพิเศษอื่นๆ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ Einbürgerungsbehörde น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุดค่ะ

การสอบขอสัญชาติ (Einbürgerungstest)

Mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการสอบขอสัญชาติเป็นภาษาไทยมาให้ดังนี้ เราสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่อาศัยในเยอรมัน รวมไปถึงกฎเกณฑ์ และกฎระเบียบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเมื่อเราจะขอสัญชาติเยอรมัน

ปกติแล้วเราจะต้องยื่นผลสอบ Einbürgerungstest เมื่อทำเรื่องขอสัญชาติ แต่เราก็อาจไม่ต้องสอบถ้าเราเรียนจบจากเยอรมัน (เรียนหลักสูตรภาษาเยอรมัน)

ค่าสอบ: 25 ยูโร สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองของเรา เกี่ยวกับตารางเวลาสอบ และสถานที่สอบ

ลักษณะการสอบ Einbürgerungstest: มี 33 ข้อ ให้เวลา 60 นาที เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบ (a,b,c,d) ต้องตอบถูก 17 ข้อขึ้นไป จึงจะสอบผ่าน ถ้าเราสอบผ่าน ก็จะได้ใบรับรองผลสอบจาก Bundesamt für Migration und Flüchtlinge เพื่อไปยื่นพร้อมเอกสารอื่นๆ ที่หน่วยงาน Einbürgerungsbehörde ที่เมืองต่อไป แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็สอบแก้ตัวใหม่ได้

ตัวอย่างข้อสอบขอสัญชาติ

Mausmoin.com รวบรวมแหล่งฝึกทำข้อสอบมาให้ ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบ และทำเรื่องขอสัญชาติได้อย่างราบรื่นค่ะ

รวบรวมข้อมูลจาก bamf.de (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ปี 2016)

Angaben ohne Gewähr

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

Mausmoin.com แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจาก Mausmoin.com ประกอบการขอสัญชาติ หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

การขอรับบุตรบุญธรรม | Adoption

สารบัญ

ขั้นตอนการรับบุตรบุญธรรม

คุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

การเตรียมเอกสาร

การยื่นคำร้อง

ขั้นตอนการดำเนินเรื่อง

การขอเปลี่ยนนามสกุลบุตร

สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม และบิดามารดาบุญธรรม

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

ติดต่อแปลเอกสาร 

 

การรับเด็กไทยหรือบุคคลสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรม

ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีต้องการจะรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ว่าจะเป็น

  • เด็กจากบ้านเด็กกำพร้า
  • หรือเด็กที่เป็นลูกติดของคู่สมรสตนเอง
  • หรือเด็กที่เป็นหลานของคู่สมรสตนเอง

ควรยื่นคำขอต่อ

  • สำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐที่ตนอาศัยอยู่
  • หรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือองค์การสวัสดิภาพเด็ก ที่รัฐบาลของประเทศเยอรมนีแต่งตั้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ
  • ควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย

ติดต่อส่วนราชการไทยและเยอรมันได้ที่:

ประเทศไทย

ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)

  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • ที่อยู่: 255 ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ 10400
  • โทร: +66(0)2 354 7509, +66(0)2 354 7515, +66(0)2 644 7996
  • แฟกซ์: +66(0)2 354 7511
  • อีเมล์: adoption@dcy.go.th 
  • เว็บไซต์: www.adoption.dsdw.go.th

ประเทศเยอรมนี

"ศูนย์อำนวยการขอรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรมกลางเยอรมนี" (Bundeszentralstelle für Auslandsadoption - Generalbundesanwalt)

  • ที่อยู่: Adenauer Allee 99 - 103, 53113 Bonn
  • โทร: +49 (0)228 99 410 - 5414, 5415
  • แฟกซ์: +49 (0)228 99 410 - 5402
  • อีเมล์: auslandsadoption@bfj.bund.de
  • เว็บไซต์: www.bundesjustizamt.de (Bundesamt für Justiz) ไปที่หัวข้อ "Zivilrecht" เพื่ออ่านข้อมูลการรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรม

 

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

 
คุณสมบัติผู้ขอรับบุตรบุญธรรม

1. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี

2. ผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย 15 ปี

กรณีผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติ

- หากผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติ จะต้องมีคู่สมรส ยกเว้นผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย

- ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ ที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ตามกฎหมายของประเทศ ที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่

- การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทยแล้วเท่านั้น

กรณีบุตรบุญธรรมอายุเกิน 15 ปี

3. ในการรับบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี เป็นบุตรบุญธรรม ต้องให้บุคคลนั้นให้ความยินยอมด้วย

กรณีบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ

4. ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอม จากบิดาและมารดาของผู้เยาว์นั้นก่อน 

กรณีบุตรบุญธรรมกำพร้า

5. ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน 

กรณีบุตรบุญธรรมอายุ 20 ปีขึ้นไป

6. กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม สามารถขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ที่อำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาได้เลย

การจำกัดอายุ ของบุตรบุญธรรม

7. ไม่มีการจำกัดอายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม 

กรณีผู้ขอรับบุตร หรือบุตรบุญธรรมสมรสแล้ว

8. ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสแล้ว ต้องให้คู่สมรสให้ความยินยอมด้วย 

กรณีบุตรบุญธรรม เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นอยู่

9. ถ้าผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้

10. เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรม ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

 

การเตรียมเอกสาร เพื่อดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

 

1. เอกสารที่ฝ่ายผู้ขอรับเด็ก ต้องเตรียมที่ประเทศเยอรมนี

สำหรับในประเทศเยอรมนี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน แนะนำให้ผู้ที่จะขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม

- ติดต่อผ่านสำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐ ที่ผู้ขอมีอาศัยอยู่ (Landesjugendamt) เพื่อประโยชน์ ในการขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศเยอรมนี ให้กับเด็กที่จะรับมาเป็นบุตรบุญธรรม

- ควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย

ผู้ขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ต้องยื่น แบบคำขอเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมกับคู่สมรส

โดยต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้

  • แบบคำขอรับบุตรบุญธรรม
  • สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (Meldebescheinigung)
  • เอกสารรับรองการสมรส (ทะเบียนการสมรส)
  • คำพิพากษาหย่า หรือทะเบียนหย่า (กรณีเคยสมรสมาก่อน)
  • ใบรับรองแพทย์ ซึ่งแสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์
  • เอกสารรับรองการทำงานและรายได้
  • เอกสารรับรองการเงินย้อนหลังไปไม่เกิน 6 เดือน
  • เอกสารรับรองทรัพย์สิน
  • รูปถ่ายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคู่สมรส รูปสีขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวนคนละ 4 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรส หรือคำสั่งอนุญาตของศาล แทนการให้ความยินยอมของคู่สมรส
  • เอกสารรับรองความประพฤติและความเหมาะสมทั่วไป ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จากผู้ที่เชื่อถือได้อย่างน้อย 2 คน
  • รายงานการศึกษาสภาพครอบครัว ของผู้รับเด็ก
  • เอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศเยอรมนี รับรองการอนุญาต ให้เด็กเข้าประเทศเยอรมนีได้
  • เอกสารจากหน่วยงานเยอรมันที่เกี่ยวข้อง ที่รับรองว่าผู้ขอรับเด็ก มีคุณสมบัติและความเหมาะสม ที่สามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ตามกฎหมายเยอรมัน
  • หนังสือรับรองว่า จะทำการควบคุม การทดลองเลี้ยงดูเด็ก และส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดู มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ไม่เกิน 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • หนังสือรับรองดำเนินการตามกฎหมายไทย (เอกสารที่ผู้ขอรับบุตรบุญธรรมชาวต่างชาติ ต้องกรอกให้คำสัญญาว่า จะจดทะเบียนบุตรบุญธรรมให้ถูกต้อง ทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายเยอรมัน)

กรณีการติดต่อผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชน

  • จะต้องมีสำเนาใบอนุญาตขององค์การ และหนังสือจากหน่วยงานรัฐบาลซึ่งรับรององค์การนั้นๆ ด้วย

กรณีเอกสารข้างต้นเป็นภาษาเยอรมัน

  • เอกสารทุกฉบับข้างต้น หากเป็นภาษาเยอรมันต้องแปลเป็นภาษาไทยก่อน โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน (หากเป็นภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทย)
  • ต้องนำไปรับรอง ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ก่อนนำส่งไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

 

2. เอกสารของฝ่ายที่จะยกเด็กให้ (บิดามารดาเด็ก หรือผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย)

  • บัตรประจำตัวประชาชน ของบิดาและมารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย
  •  ทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส
  • ทะเบียนหย่า หรือคำสั่งศาลให้หย่า
  • หนังสือรับรองจากสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ตามแบบ ปค. 14 รับรองว่าบิดา มารดาเด็ก มิได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร และได้เลิกร้างกันเป็นเวลานานกี่ปี
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของบิดามารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย ให้ความยินยอม (แบบ บธ.5)
  • บันทึกสอบปากคำตามแบบ ปค. 14
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ของบิดาและมารดาเด็ก คนละ 1 รูป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือจำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

 

3. เอกสารของฝ่ายเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

  • สูติบัตร
  • ทะเบียนบ้าน
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. 1 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม (แบบ บธ.6) หากเด็กมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือจำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

 

4. กรณีบุตรติดคู่สมรสหรือญาติ เอกสารที่ใช้ประกอบ มีดังนี้

  • สำเนาสูติบัตร ทะเบียนบ้าน และรูปถ่ายของเด็กจำนวน 4 รูป
  • สำเนาบัตรประจาตัวประชาชน และหนังสือแสดงความยินยอมของเด็ก ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่เด็กมีอายุเกิน 15 ปี ขึ้นไป หรือในกรณีที่เด็กโตพอ จะแสดงความยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมด้วยตนเองได้
  • สำเนาทะเบียนสมรส บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ ทะเบียนบ้านของบิดามารดาของเด็ก และรูปถ่ายของบิดามารดา คนละ 4 รูป , ทะเบียนบ้าน ของผู้ขอรับเด็ก ที่เป็นญาติสายโลหิตกับบิดา/มารดา
  • หนังสือแสดงความยินยอม ของผู้มีอานาจให้ความยินยอม (แบบ บธ.6) และหนังสือแสดงความเห็นชอบของบิดาโดยพฤตินัย (ลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารจากผู้ขอรับเด็กครบแล้ว)
  • สำเนาหนังสือสำคัญการหย่า และข้อตกลงการหย่า ระบุผู้ใช้อานาจปกครองเด็กหรือคำสั่งศาลให้ความยินยอมแทบบิดามารดาเด็ก แล้วแต่กรณี
  • สำเนาใบมรณะบัตร ของบิดาหรือมารดาเด็ก กรณีทั้งบิดามารดาเด็กเสียชีวิต ผู้ขอรับเด็กต้องร้องต่อศาลให้มีคำสั่ง แสดงความยินยอม แทนบิดามารดาเด็ก ในการรับบุตรบุญธรรม
  • ในกรณีที่บิดามารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่สามารถติดตามบิดามาให้ความยินยอมได้ให้มารดาเด็กไปสอบข้อเท็จจริง (แบบ ปค.14) สำนักทะเบียนเขต หรืออำเภอที่มารดาเด็กมีภูมิลำเนา
  • รายงาน การศึกษาประวัติเด็ก ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
  • ใบเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวเด็ก , บิดาเด็ก , มารดาเด็ก , ผู้ขอรับเด็ก
  • เอกสารต้นฉบับ จะต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ (มีทะเบียนบ้าน)

 

การยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบ

 

หลังจากที่เตรียมเอกสารข้างต้น ครบเรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้ดังนี้

1. ขอให้สถานคุ้มครองเด็กและเยาวชนของรัฐ (Landesjugendamt) เป็นผู้ติดต่อกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

เพื่อขอให้ดำเนินการพิจารณาอนุมัติ ตามที่อยู่ดังนี้

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

  • ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)
  • ที่อยู่: 255 ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร 10400
  • โทร: (+66) 2 354-7500, (+66) 2 354-7511
  • แฟกซ์: (+66) 2 247 9480
  • อีเมล์: adoption@dcy.go.th 

2. หรือยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารประกอบ ด้วยตัวเอง ที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ข้างต้น

3. หรือสามารถยื่นคำร้องผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชน ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ เพื่อรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้ ดังรายชื่อต่อไปนี้

ที่กรุงเทพ

สหทัยมูลนิธิ

  • 850/33 สุขุมวิท 71 พระโขนง กรุงเทพมหานคร 10110
  • โทร. (+66) 2 252-5209, (+66) 2 252-5213

มูลนิธิมิตรมวลเด็ก

  • 25 ซอยร่วมฤดี 1 ถนนเพลิตจิต ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย

  • ตึกวชิราลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10500

ที่ชลบุรี

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา

  • ที่อยู่: 440 หมู่ที่ 9 ถนนสุขุมวิท กม. 145 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20260
  • โทร: (+66) 3871-6628 แฟกซ์: (+66) 3871-6629
  • อีเมล์: fr-ray@redemptorists.or.th

องค์การสวัสดิภาพเด็กดังกล่าวข้างต้น อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

ขั้นตอนการดำเนินเรื่องในประเทศไทย

 

1. เมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ สมบูรณ์แล้ว

กรณีขอรับบุตรบุญธรรมของผู้อื่น

  • พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า ผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่
  • หากพบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีอุปนิสัยดี ความประพฤติดี อาชีพรายได้ดี ฐานะของครอบครัวดี ตลอดจนสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูได้ ก็จะประมวลรายละเอียด เสนออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาก่อน
  • จากนั้นจึงนำเสนอต่อ คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็ก
  • หากเป็นกรณีที่มอบเด็กให้กันเอง คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเด็กควบคู่กันไป ในคราวเดียวกันด้วย

กรณีขอรับเด็กกำพร้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

  • เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรธรรม พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็กแล้ว
  • คณะกรรมการคัดเลือกเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรม จะพิจารณาคัดเลือกเด็ก ของกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ ให้แก่ผู้ขอรับ ตามบัญชีก่อนหลัง
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะแจ้งประวัติเด็ก พร้อมรูปถ่าย ให้ผู้ขอรับพิจารณา ผ่านหน่วยงานเยอรมันที่ติดต่อ เรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมมา

 

2. เมื่อผู้ขอรับ แจ้งตอบรับเด็ก ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบแล้ว

  • เจ้าหน้าที่จะเสนอให้ คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พิจารณาให้ผู้ขอรับรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดู โดยขออนุญาต รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อทดลองเลี้ยงดู
  • เมื่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์อนุญาต
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะนัดหมายให้ผู้ขอรับเด็ก มารับการสัมภาษณ์ จากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
  • โดยหน่วยงานที่ติดต่อเรื่องมา หรือสถานทูต/สถานกงสุล จะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดู และส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดู มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

3. เมื่อทดลองเลี้ยงดูมาครบ 6 เดือน และมีรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูครบ 3 ครั้ง

  • หากว่าผลการทดลองเลี้ยงดูเป็นที่น่าพอใจ เด็กอาศัยกับครอบครัวของผู้ขอรับอย่างมีความสุข เจ้าหน้าที่จะสรุปรายงาน เสนอต่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติ ให้ผู้ขอรับไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้

 

4. ผู้ขอรับ จะต้องไปดำเนินการ ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศเยอรมัน

  • ผู้ขอรับ จะต้องไปดำเนินการ ขอจดทะเบียนรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่
  • โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะมีหนังสือขอความร่วมมือ จากกระทรวงต่างประเทศ ผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานเยอรมัน ผู้ติดต่อเรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม และผู้ขอรับเด็ก ได้ทราบพร้อมกันด้วย

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศไทย

  • สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ได้เช่นเดียวกับการขอบุตรบุญธรรมไทย
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ จะนำส่งสำเนาเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (คร. 14) จำนวน 1 ชุด ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ของผู้ขอรับเด็ก ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ

หมายเหตุ

กรณีที่เราได้ขอรับเด็กไทยมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยกฎหมายเยอรมัน (เช่น โดยคำอนุญาตของศาลเยอรมัน) ไม่ถือว่าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทยด้วยแต่อย่างใด

 

การขอเปลี่ยนนามสกุลบุตรบุญธรรม

หากบิดามารดาบุญธรรมต้องการให้บุตรบุญธรรมมาใช้นามสกุลของตน หลังจากที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมกับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถทำได้โดย

  •  นำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไปยื่นที่อำเภอที่เด็กมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอแก้ไขนามสกุลในทะเบียนบ้าน
  • และขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีนามสกุลตามบิดามารดาบุญธรรม ไปขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางต่อไป

 

สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรมที่ได้มีการจดทะเบียน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายกำหนดแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาบุญธรรมดังนี้ คือ

1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของบิดามารดาบุญธรรม

คือ มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้ได้รับการศึกษา มีสิทธิได้ใช้นามสกุลของบิดามารดาบุญธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย

2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาบุญธรรม

ทำนองเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย

 

สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาบุญธรรม

1. บิดามารดาบุญธรรม มีสิทธิใช้อำนาจปกครองกับบุตรบุญธรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับบิดามารดากับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นบุตรบุญธรรม จึงต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรบุญธรรม ทำโทษบุตรบุญธรรม ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เป็นต้น

2. บิดามารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม

แต่สามารถรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมแทน

3. บิดามารดาบุญธรรม มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

ทำนองเดียวกับบิดามารดา ซึ่งมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร โดยชอบกฎหมาย

 

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

มีได้ 3 แบบคือ

1. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง

เกิดจากความตกลงของผู้รับบุตรบุญธรรม กับบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว จะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ แต่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว

2. การเลิกเมื่อมีการสมรสกัน

แม้ว่ากฎหมายจะห้าม ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรส กับบุตรบุญธรรมก็ตาม แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ได้มีความผูกพันทางสายโลหิต การสมรสโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เสื่อมเสียหรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด การสมรสดังกล่าวมีผล เป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม ตั้งแต่เวลาที่จดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก

3. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาล

ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอเลิกรับบุตรบุญธรรม โดยมีมูลเหตุตามที่กฎหมายกำหนด

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 และ
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522

 

รวบรวมข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (ณ เดือน มี.ค. พ.ศ. 2559)

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา เดินเรื่องขอรับบุตรบุญธรรม หรือธุรกรรมสำคัญอื่นๆ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

Line/ Skype ID: mausmoin

info@mausmoin.com

+49(0)176 31176234

หนทางสู่ความสำเร็จแบบฉบับชาวเยอรมัน | Schritte zum Erfolg

success

จากรายการเลียนแบบชีวิตชาวเยอรมัน โดยครอบครัวนักข่าวชาวอังกฤษ ที่เดินทางมาทดลองใช้ชีวิต ทำงาน ส่งลูกไปเรียนในเยอรมัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง หากจะพิสูจน์ที่มาของความสำเร็จของชาวเยอรมัน ใน 1 ชั่วโมง คงเป็นไปได้ยาก แต่มีหลายสิ่งที่แสดงเห็นได้ว่า การใช้ชีวิตแบบเยอรมัน สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในหลายๆ ด้านได้ และเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เลียนแบบได้ไม่ยาก 

ครูศิรินสรุปเรื่องราวบางส่วนจากสารคดี และเพิ่มเติมเนื้อหาจากประสบการณ์ ที่ได้เรียนรู้เองจากการอาศัยอยู่ในเยอรมัน มาลองเดินไปบนหนทางแห่งความสำเร็จ พร้อมๆ กันเลย 

1. การทำงาน: ทำงานอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูง

เรื่องการไปทำงานก่อนเวลาเล็กน้อย หรือการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับแรกๆ ของความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะการเริ่มงานวันแรก คนเยอรมันมักศึกษาเส้นทางล่วงหน้า ตื่นนอนให้เช้าขึ้น และวางแผนการเดินทางให้ไปถึงที่หมาย อย่างราบรื่บและภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้มีเวลาเตรียมตัวก่อนเริ่มงาน และพร้อมทำงานอย่างมั่นใจ สบายใจ

ระหว่างชั่วโมงทำงาน คนเยอรมันจะมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน ให้เสร็จทีละอย่าง หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ทำเรื่องส่วนตัว ไม่เล่นอินเตอร์เนต หรือเฟซบุ๊ก ไม่นอกเรื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในห้องประชุม หรือระหว่างเวลาทำงาน แต่ในช่วงพัก จะพักเต็มที่ ทานอาหาร คุยเรื่องต่างๆ และตั้งใจทำงานอีกครั้งเมื่อกลับเข้าทำงานต่อ

โดยทั่วไป ชั่วโมงทำงานจะอยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน หากไม่ต้องเข้างานเป็นกะ พนักงานจะสามารถบริหารช่วงเวลาทำงานเอง มาเช้า ก็เลิกงานเช้าได้

หลังเลิกงาน คนเยอรมันมักจะกลับบ้านหาลูกๆ หรือทำงานอดิเรกที่ตนชอบ หรือเข้ากลุ่มกิจกรรมที่ตนสนใจ เช่น ชมรมร้องเพลง เกมกระดาน 

หากมองโดยเฉลี่ยแล้ว คนเยอรมันทำงานประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน มีเวลาเหลือให้ครอบครัว และสิ่งที่ตนสนใจ การเดินทางไปทำงาน สามารถวางแผนเวลาได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากระบบคมนาคม เช่น รถประจำทาง รถไฟ รถราง ส่วนใหญ่มาตรงเวลา (ถ้าไม่มีประท้วงหยุดเดินรถหรือเหตุขัดข้อง) การจราจรทางถนน ก็มักจะไม่ติดขัดมาก (ไม่เท่าในกรุงเทพ)

 

2. เงินๆ ทองๆ และบ้าน: ใช้เงินอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่สร้างหนี้

ส่วนใหญ่ชาวเยอรมันมักจะใช้ชิวิตบนความแน่นอน มั่นคง ปลอดภัย ไม่สร้างหนี้

บัตรเครดิตมักไม่เป็นที่นิยม สำหรับชาวเยอรมัน แต่มักจะจ่ายเงินสด หรือบัตรเดบิต ตัดเงินในบัญชี (EC-Karte) ในการจับจ่าย

ที่อยู่อาศัย มักเป็นไปตามกำลังทรัพย์ และแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ บางคนอาจนิยมซื้อบ้านจากเงินเก็บที่มี หรือทำงานสะสมเงินเพื่อปลูกบ้าน หลังพออยู่สบาย หากมีห้องเหลือ หรือลูกๆ ย้ายออกไปอยู่เอง มักเปิดห้องให้เช่า บ้านส่วนใหญ่จะแยกเป็นสัดส่วน มีส่วนที่เป็นส่วนตัว และมีส่วนที่ใช้ร่วมกันระหว่างเจ้าของกับผู้เช่า เช่น ทางเดินบันได ทางเข้า สวนบางส่วน ห้องใต้ดิน ห้องซักผ้า

การเช่าที่อยู่อาศัย ยังคงเป็นเรื่องปกติ สำหรับชาวเยอรมัน อาจเช่ายาวเป็นสิบๆ ปี แม้บางคนชอบที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง แต่หลายๆ คนก็ยังนิยมเช่าบ้าน ด้วยเหตุผลหลายๆ ด้าน ทั้งย้ายเมืองไปเรียนต่อ ไปทำงาน ยังไม่พร้อมลงหลักปักฐาน หรือปัจจัยเรื่องเงินเก็บ เป็นต้น 

การกู้เงินมาสร้างบ้าน ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเยอรมันนัก โดยเฉพาะชาวชเวบิช (Schwäbisch) ในรัฐ รัฐบาเดน-เวือร์ทเทมแบร์ก (Baden Würrtemberg) กับสำนวน "Schaffe, schaffe, Häusle baue" ซึ่งหมายถึง ทำงานเพื่อจะสร้างบ้านหลังน้อยๆ

 

3. การศึกษา: เรียนอย่างไร ให้มีเวลา และรู้จักจุดเด่นของตนเอง

สำหรับเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเรียนครึ่งวัน เลิกเรียนเร็ว มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำการบ้าน ทำงานอดิเรก เล่นกีฬากับเพื่อนๆ เดินเล่นสวนสาธารณะกับพ่อแม่ ไม่นิยมไปเรียนพิเศษ หรือเรียนกวดวิชา นอกจากจำเป็นจริงๆ อาจมีชั่วโมงเพิ่มเติม

ในระดับอุดมศึกษา อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่ประเด็นหลักในการเลือกคณะหรือมหาวิทยาลัยที่จะสมัครศึกษาต่อ หลายๆ คนมักเลือกที่เรียนต่อจากคณะที่ตนสนใจ บางคนอาจเลือกมหาลัย ที่ไม่ไกลจากเมืองที่ตนอยู่ หรือบางคนอาจเลือกมหาลัยที่ตนชอบ หรือมีชื่อเสียงเก่าแก่ในด้านนั้นๆ

ลักษณะการเรียนการสอน มีทั้งแบบเน้นการอภิปราย การแสดงความคิดเห็นเป็นตัวขับเคลื่อนการเรียน ในห้องขนาดเล็กถึงกลาง และแบบอาจารย์พูดหน้าชั้นในห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างทางความคิด การยกมือถามในห้อง การแสดงความคิดเห็น ระหว่างอาจารย์และนักศึกษามักเห็นได้ทั่วไปในห้องเรียน

หากมหาวิทยาลัยอยู่คนละเมืองกับบ้าน นักศึกษาจะไปเช่าที่อยู่ในเมืองที่ตนเรียน มีตั้งแต่หอของมหาวิทยาลัย ห้องเช่าอยู่ด้วยกันหลายๆ คน (Wohngemeinschaft) ที่จะใช้ห้องน้ำ ห้องครัวร่วมกัน ห้องแบ่งเช่าตามบ้าน ไปจนถึงห้องพักแบบอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว การเลือกที่พักจะแตกต่างไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าเช่าต่อเดือน การเดินทางไปมหาวิทยาลัย ความสะดวกสบาย

ระหว่างภาคเรียนและช่วงปิดเทอม นักเรียนส่วนใหญ่จะทำงานพิเศษควบคู่ไปด้วย เพื่อหารายได้เสริมมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว นอกจากนี้ มหาลัยมักสนับสนุนให้นักศึกษาไปหาที่ฝึกงาน เพื่อค้นหาความชอบ ความสามารถของตน และยังเป็นการเปิดประตูสู่การสมัครงานในบริษัทนั้นๆ เมื่อเรียนจบได้อีกด้วย

วีดีโอทดลองใช้ชีวิตแบบเยอรมัน โดยนักข่าวชาวอังกฤษ: "Make Me A German by BBC Two"

ใครอยากเริ่มเรียนเยอรมันด้วยตนเอง สามารถเรียนจาก บทเรียนด้วยตนเอง ของ Mausmoin.com ได้เลย 

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234