การแต่งงานกับชาวไทยหรือชาวเยอรมันจะมีผลตามกฎหมายได้ จะต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานเขต (หรือที่ว่าการอำเภอ) ในประเทศไทย หรือที่สำนักทะเบียน [Standesamt] ในเยอรมัน การแต่งงานที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรส มีเพียงการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง หรืองานตามประเพณีทางศาสนา จะไม่สามารถนำมาดำเนินเรื่องขอวีซ่าย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่เยอรมันได้
Info auf Deutsch: Eheschließung mit ThailänderIn in Deutschland, Unser Service: Beglaubigte Übersetzung /Dolmetschen Deutsch-Thai
สารบัญ
การจดทะเบียนสมรสกับชาวเยอรมันในไทย
ในกรณีที่เราอาศัยอยู่ที่ไทย ต้องการจดทะเบียนสมรสที่ไทยก่อน แล้วค่อยทำเรื่องขอวีซ่าติดตามครอบครัวไปอยู่ที่เยอรมัน เราสามารถไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอใดก็ได้ อาจโทรไปสอบถามที่อำเภอหรือเขตก่อน ว่าต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม หรือต้องนำพยาน หรือนำล่ามไปด้วยหรือไม่ จะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้และไม่เสียเวลา เมื่อจดทะเบียนเสร็จ ก็จะได้รับทะเบียนสมรส และใบสำคัญการสมรส
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับจดทะเบียนสมรสในไทย
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง กรณีเป็นชาวต่างประเทศ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- กรณีเคยแต่งงานมาแล้ว: อาจต้องใช้หลักฐานการหย่า หรือการเสียชีวิตของคู่สมรสเก่า
- หนังสือรับรองจากสถานทูต [Konsularbescheinigung] กรณีเป็นชาวต่างประเทศ
ฝ่ายคู่สมรสชาวเยอรมันจะต้องทำเรื่องขอหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ [Ehefähigkeitszeugnis] ที่สำนักทะเบียนเยอรมัน [Standesamt] ในเมืองที่ตนอาศัยอยู่ โดยนายทะเบียนเยอรมันจะตรวจสอบเอกสารของคู่สมรสทั้งคู่ว่า คู่สมรสฝ่ายชาวเยอรมัน และฝ่ายไทยมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายเยอรมัน และสามารถแต่งงานกันได้หรือไม่ และจะออกหนังสือรับรองให้ มีอายุใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออก
จากนั้นให้นำหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้จากเยอรมัน ไปขอหนังสือรับรองจากสถานทูต [Konsularbescheinigung] เพื่อนำไปแสดงต่อนายทะเบียนไทย เพื่อจดทะเบียนสมรส
ข้อมูลการจดทะเบียนสมรส จากสำนักทะเบียนไทย: http://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-general/12-service-handbook/general/27-general-status-marriage-registration
เอกสารสำหรับขอหนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ที่เยอรมัน [Ehefähigkeitszeugnis]
1.] เอกสารคู่สมรสชาวไทย
- หนังสือเดินทาง หรือบัตรประชาชน
- สูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิดที่มีรายละเอียดครบถ้วนเหมือนกับสูติบัตร
- สำเนาทะเบียนบ้าน หรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ต้นฉบับหรือสำเนาที่รับรองความถูกต้องแล้ว)
- คำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนครอบครัวจากสำนักทะเบียนกลาง กรุงเทพฯ ที่แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการสมรส-การหย่า
เอกสารเพิ่มเติม สำหรับคนโสด ไม่เคยแต่งงานมาก่อน
- หนังสือรับรองโสด (รับรองว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน) จากอำเภอหรือเขตที่อาศัยอยู่ มีอายุใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออกหนังสือ
เอกสารเพิ่มเติม สำหรับคนที่เคยแต่งงาน แล้วหย่า*
- หนังสือรับรองสถานภาพ (รับรองว่าหลังจากหย่าจากคู่สมรสเดิมแล้ว ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับผู้ใดอีก) จากอำเภอหรือเขตที่อาศัยอยู่ มีอายุใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออกหนังสือ
- ทะเบียนการสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) กับคู่สมรสเดิม
- ทะเบียนการหย่า พร้อมบันทึก (คร. 6) กับคู่สมรสเดิม
- ใบสำคัญการหย่า (คร. 7)
- หากหย่าตามคำพิพากษาของศาล จะต้องยื่นคำพิพากษาของศาลเรื่องหย่า และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดเพิ่มด้วย
*หากเคยแต่งงานมามากกว่า 1 ครั้ง จะต้องยื่นหนังสือรับรองของการสมรสทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่ครั้งล่าสุด
เอกสารเพิ่มเติม สำหรับคนที่เคยแต่งงาน แล้วคู่สมรสเสียชีวิตแล้ว
- หนังสือรับรองสถานภาพ (รับรองว่าหลังจากที่คู่สมรสเสียชีวิตแล้ว ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับผู้ใดอีก) จากอำเภอหรือเขตที่อาศัยอยู่ มีอายุใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออกหนังสือ
- ทะเบียนการสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) และ/หรือ ใบสำคัญการสมรส
- มรณบัตรของคู่สมรส
เอกสารภาษาไทยของคู่สมรสไทย จะต้องแปลและรับรองคำแปล [beglaubigte Übersetzung] ไทยเป็นเยอรมันก่อน และแนบคำแปลเยอรมันไปกับเอกสารตัวจริง หรือสำเนาที่มีการรับรองความถูกต้อง
2.] เอกสารคู่สมรสชาวเยอรมัน
- หนังสือเดินทาง หรือบัตรประชาชน [Personalausweis oder Reisepass]
- ใบรับรองถิ่นพำนักในประเทศเยอรมัน หรือใบแจ้งย้ายสำมะโนครัวออกจากประเทศเยอรมัน [Meldebescheinigung bzw. Abmeldung aus Deutschland]
- สูติบัตร [Geburtsurkunde]
- เอกสารเพิ่มเติม สำหรับคนที่เคยแต่งงาน: คำพิพากษาหย่าที่มีตราประทับรับรองว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หรือ มรณบัตรของคู่สมรสเดิม [Scheidungsurteil der letzten Ehe mit Rechtskraftvermerk bzw. Sterbeurkunde des früheren Ehegatten]
ทั้งนี้ นายทะเบียนเยอรมันอาจต้องการหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมแตกต่างกันไป เราควรสอบถามขอข้อมูลเอกสารที่จำเป็นจากนายทะเบียน [Standesamt] จะได้สามารถเตรียมเอกสารได้ครบถ้วนและทันเวลา
การขอหนังสือรับรองจากสถานทูต [Konsularbescheinigung] เพื่อนำไปแสดงต่อนายทะเบียนไทย
1. คู่สมรสเยอรมันต้องนำหนังสือรับรองว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ไปยื่นที่สถานทูตเยอรมัน: เพื่อให้ออกหนังสือรับรอง [Konsularbescheinigung] ไปยื่นที่อำเภอหรือเขตในไทย ในวันจดทะเบียนสมรส (มีอายุการใช้ไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก) โดยใช้เอกสารในการขอให้สถานทูตเยอรมันออก Konsularbescheinigung ดังนี้
- หนังสือเดินทางของคู่สมรสทั้งคู่
- ข้อมูลส่วนบุคคลของคู่สมรสชาวเยอรมัน กรอกในแบบสอบถามของสถานทูตฯ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ รายได้ ชื่อบริษัทหรือนายจ้างที่ทำงาน ภาระผูกพัน เช่นค่าเลี้ยงดู/เลี้ยงชีพ ชื่อและที่อยู่ของบุคคลอ้างอิง 2 คน
- กรณีคู่สมรสมีบุตรร่วมกันแล้ว: ให้นำสูติบัตรของบุตรมาแสดงด้วย เพื่อที่สถานทูตฯ จะได้สะกดชื่อคู่สมรสฝ่ายเยอรมัน เป็นภาษาไทยได้ถูกต้อง ตรงกับการสะกดในสูติบัตรบุตร
จากนั้น ข้อมูลข้างต้น (เป็นภาษาเยอรมัน พร้อมคำแปลภาษาไทย) จะถูกระบุไว้ในหนังสือรับรองที่สถานทูตออกให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยราชการไทยต้องการ
ระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรอง: 3 - 4 วันทำการ
เราสามารถส่งสำเนาเอกสารข้างต้นให้สถานทูตฯ ดำเนินการล่วงหน้าได้ทั้งทางไปรษณีย์ หรือทางอีเมล์ แต่ในวันที่นัดหมายกับสถานทูตฯ ว่าจะมารับหนังสือรับรอง คู่สมรสชาวเยอรมันจะต้องมาเซ็นชื่อ รับหนังสือรับรองด้วยตนเองเท่านั้น และจะต้องแสดงเอกสารต้นฉบับทั้งหมดมาด้วย ได้แก่ หนังสือสำคัญที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ หนังสือเดินทางของคู่สมรส (ในกรณีไม่ได้นำหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดง สามารถใช้สำเนาหนังสือเดินทางที่ผ่านการรับรองจากหน่วยราชการเยอรมันแล้วแสดงแทนได้)
2. คู่สมรสควรสอบถามสำนักทะเบียนที่จะไปจดทะเบียนสมรสว่า หนังสือรับรองข้างต้น จะต้องผ่านการประทับตราจากกรมการกงสุล/กระทรวงการต่างประเทศของไทยด้วยหรือไม่ กรณีที่จำเป็น ให้นำหนังสือรับรองที่ได้รับจากสถานทูตฯ ไปประทับตราอีกครั้งกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2-3 วันทำการ
การจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมัน
อ่านข้อมูลจากเตรียมเอกสาร เพื่อขอจดทะเบียนสมรสในเยอรมัน ได้ที่ จดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนในเยอรมัน [die standesamtliche Trauung]
เอกสารที่ใช้ยื่นเรื่องจดทะเบียนสมรสมีหลายฉบับ เพื่อความสะดวกและถูกต้องตรงกัน ควรใช้บริการแปลและรับรองคำแปลจากนักแปลคนเดียวกัน เพราะนักแปลแต่ละคนจะมีหลักการถอดตัวสะกดชื่อเฉพาะต่างๆ แตกต่างกันไป อาจทำให้เจ้าหน้าที่สับสนได้
อ้างอิงข้อมูลจาก: สถานทูตเยอรมัน สำนักทะเบียนไทย