แต่งประโยคคำถามเยอรมันยังไงนะ?

Ja-/Nein-Frage [ประโยคคำถามใช่หรือไม่]

ถ้าเราเข้าใจประโยคบอกเล่าจากบทที่แล้ว บทนี้ก็แค่มาต่อยอดการแต่งประโยคคำถามเพิ่มอีกเล็กน้อยค่ะ ไม่ยากเลย วันนี้ครูศิรินจะพาเม้าส์มอยน์และเพื่อนๆมารู้จักประโยคคำถามใช่หรือไม่ และวิธีการแต่งประโยคกันค่ะ

Ja/Nein-Frage [ประโยคคำถามใช่หรือไม่] คือคำถามที่ต้องการคำตอบแค่ ja [/หยา/ใช่] และ nein [/หนายน์/ ไม่ใช่] แปลง่ายๆ ว่า ประโยคคำถามที่ถามลงท้ายว่า หรือเปล่า, ใช่ไหม, ใช่หรือไม่ เช่น

  • Kommen Sie aus Thailand? [คุณมาจากประเทศหรือเปล่า]  

จุดสังเกตสำคัญคือ กริยาอยู่ตำแหน่งที่ 1 และผันตามประธานเสมอ ในที่นี้คือ kommen ที่ผันตามประธาน Sie และปิดท้ายประโยคด้วยเครื่องหมายคำถาม [?] ค่ะ เวลาพูดขึ้นเสียงสูงเล็กน้อยที่ท้ายประโยค
เวลาตอบ ก็ตอบสั้นๆ ได้เลยว่า ja หรือ nein หรือ doch
หรือจะตอบยาวๆ ก็ได้ค่ะ เอาประโยคบอกเล่ามาใส่เติมท้าย ja หรือ nein หรือ doch เช่น

  • Kommen Sie aus Thailand?
    • Ja, (ich komme aus Thailand.)
  • Wohnt Mausmoin in Japan?
    • Nein, (er wohnt in Deutschland.)

ในห้องสอบ เราจะตอบสั้นๆก็ได้นะคะ ว่า ja หรือ nein

คราวนี้มาลองทำแบบฝึกหัดกันค่ะ ช่วยเม้าส์มอยน์เลือกว่า A หรือ B ข้อไหนเป็นประโยคคำถามใช่หรือไม่ค่ะ

  • A: Haben Sie Telefon?
  • หรือ B: Sie haben Telefon.

คำตอบที่ถูกคือ A ค่ะ แปลว่า คุณมีโทรศัพท์รึเปล่า แต่ B เป็นประโยคบอกเล่า แปลว่า คุณมีโทรศัพท์

  • A: Sie Deutsch sprechen?
  • หรือ B: Sprechen Sie Deutsch?

คำตอบที่ถูกคือ B เพราะ กริยาต้องอยู่ตำแหน่งที่ 1 และผันตามประธาน ในที่นี้คือ sprechen [พูด] ในประโยคคำถามใช่หรือไม่ค่ะ แปลว่า คุณพูดเยอรมันรึเปล่า ส่วนข้อ A เรียงประโยคผิดค่ะ

  • A: Du kommen Thailand?
  • หรือB: Kommst du aus Thailand?

คำตอบที่ถูกคือ B เพราะ กริยาต้องอยู่ตำแหน่งที่ 1 และผันตามประธาน ในที่นี้คือ kommst [มา] ผันตาม du แปลว่า เธอมาจากประเทศไทยใช่ไหม ส่วนข้อ A ไม่เป็นประโยคที่ถูกต้องค่ะ

บทต่อไปเราไปรู้จักประโยคคำถามอีกประเภทหนึ่งกันนะคะ นั่นคือ W-Frage [ประโยคคำถามปลายเปิด] ค่ะ