จะได้เงินคืนรึเปล่า? ถ้าซื้อตั๋วไว้ แต่งานยกเลิก! | Entschädigung bei abgesagter Veranstaltung

เม้าส์มอยน์สรุปยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาในยุโรป เยอรมนี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีการยกเลิกการจัดงานใหญ่ไปหลายงาน แบบนี้ คนที่ซื้อตั๋วเข้างาน ตั๋วรถไฟ จองโรงแรมไว้ จะได้เงินขึ้นรึเปล่า มาอ่านในข้อมูลด้านล่างกันเลย

ก่อนอื่น ขอสรุปยอดกันก่อน ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อในเยอรมนี พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุด ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงถึง 1567 ราย (11 มีค. 15.00 น.) ในยุโรปรวมแล้วกว่า เกือบสองหมื่นราย

ส่งผลให้ผู้นำประเทศ และหลายองค์กร พยายามออกนโยบายป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เช่น ในอิตาลีที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 12000 ราย ซึ่งระบาดหนักเป็นอันดับสองรองจากจีน จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศปิดประเทศมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีค. ถึง 3 เม.ย. ปีนี้ โดยให้ประชาชนในประเทศ 60 กว่าล้านราย งดเดินทางออกนอกบ้าน ยกเว้นว่าจำเป็นต้องไปทำงานหรือมีเหตุฉุกเฉิน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ประกาศปิดเรียน เม้าส์มอยน์ดูภาพข่าวแล้วราวกับเป็นเมืองร้างเลยทีเดียว

ในเยอรมนีเอง ก็มีนโยบายงดและยกเลิกการจัดงานใหญ่ ๆ ที่ต้องมีการรวมตัวกันเกินกว่า 1000 คนในหลายมลรัฐ เช่น Bayern, Baden-Württemberg, Bremen, Hessen, Nordrhein-Westfalen, Rheinland-Pfalz, Saarland, Schleswig-Holstein

การยกเลิกงานใหญ่ ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ผู้จัดงานหรือผู้ร่วมงานเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการจองโรงแรม ตั๋วรถไฟ ตั๋วคอนเสิร์ต ตั๋วดูฟุตบอล ที่หลายคนจองไว้ล่วงหน้า แต่เนื่องจากการจัดงานต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ ยกเลิกหรือเลื่อนเวลาจัด ทำให้เราต้องยกเลิกหรือเลื่อนตั๋ว คำถามต่อมาคือ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ จ่ายค่าชดเชย ค่ายกเลิก หรือค่าเปลี่ยนตั๋ว เม้าส์มอยน์จะพามาดูกัน

ถ้าผู้จัดงานยกเลิกการจัดงาน เราจะได้เงินคืนรึเปล่า?

ปกติแล้ว เราในฐานะผู้บริโภคจะได้เงินคืน หากคอนเสิร์ต การแข่งฟุตบอล หรืองานแสดงสินค้าใหญ่ยกเลิก โดยเราต้องไปติดต่อฝ่ายขายตั๋วก่อน ถ้าไม่ได้ก็ค่อยไปติดต่อขอเงินคืนจากผู้จัดงาน โดยคุยให้เข้าใจเลยว่า จะได้เงินคืนเมื่อไรและยังไง จะได้ไม่มีปัญหาวุ่นวายภายหลัง

หากคอนเสิร์ต หรือการแข่งฟุตบอลเลื่อนวัน แต่เราซื้อตั๋วไว้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปวันที่งานเลื่อน และสามารถขอเงินคืนได้

แต่ถ้างานยังจัดขึ้นปกติ แต่เรากลัวติดเชื้อ ก็เลยขอยกเลิกตั๋วเอง จะได้เงินคืนรึเปล่า?

จริง ๆ แล้ว เราไม่มีสิทธิ์เรียกร้องขอเงินคืน ถ้าเราขอยกเลิกตั๋วเอง เหตุผลเพราะกลัวการระบาดของไวรัส แต่ผู้จัดงานหลายราย (ณ ตอนนี้) ก็ใจดียอมให้ลูกค้ายกเลิกหรือเลื่อนตั๋วได้

เช่นเดียวกับตั๋วรถไฟในเยอรมนี (Deutsche Bahn) ก็ยอมคืนเงินค่าเปลี่ยนหรือยกเลิกตั๋วรถไฟ หากลูกค้าจองตั๋วไปในเขตที่ไวรัสระบาด เช่น ไปอิตาลี หรือหากเราต้องยกเลิกตั๋วรถไฟ เนื่องจากมีการยกเลิกการจัดงานที่เราวางแผนจะไป ทาง Deutsche Bahn เองก็ยินดีคืนเงินค่าตั๋วให้เช่นกัน (ณ ตอนนี้)

แล้วค่าโรงแรมและค่าตั๋วรถไฟ?

ในส่วนค่าโรงแรมและค่ารถที่จองล่วงหน้าไว้แล้ว แต่งานยกเลิก หากเป็นกรณีทั่วไป เราก็จะได้ค่าชดเชยคืนจากผู้จัดงาน ถ้าพูดกันในมุมมองของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรณีเหตุสุดวิสัย (เช่น มีพายุ สงคราม ประท้วง แผ่นดินไหว) ผู้จัดงานก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า การยกเลิกงานเนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโคโรนา ถือเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ดังนั้นก็อยู่ที่ความใจดีของผู้จัดงาน ว่าจะชดเชยเงินให้ลูกค้าหรือไม่ มากน้อยเท่าไรนั่นเอง

หากใครมีตั๋วอะไรแล้วไม่แน่ใจ ลองติดต่อไปที่คนขายตั๋วโดยตรง เพื่อสอบถามการยกเลิกหรือขอเงินคืนเพิ่มเติมได้ เม้าส์มอยน์ฝากทิ้งท้ายให้เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพและความสะอาด รักษาร่างกายให้แข็งแรง แล้วเราจะผ่านไปได้

แหล่งที่มา https://www.swrfernsehen.de/

ค่าส่งไปรษณีย์ในเยอรมนีขึ้นราคา [Deutsche Post erhöht Porto]

เม้าส์มอยน์เล่าข่าว ค่าส่งไปรษณีย์ในเยอรมนี ( Deutsche Post) ขึ้นราคา มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2019 เป็นต้นไป และคาดว่าจะใช้ราคานี้ไปจดถึงสิ้นปี 2021 โดยขึ้นราคาจากเดิม 10-15 Cent สำหรับค่าส่งไปรษณีย์ในประเทศ ดังนี้

- โปรการ์ด (Postkarte): 60 Cent
- จดหมายซองปกติ หนักไม่เกิน 20 กรัม (Standardbrief): 80 Cent
- จดหมายหนักไม่เกิน 50 กรัม (Kompaktbrief): 95 Cent
- จดหมายซองเอกสารใส่ A4 ได้ หนักไม่เกิน 500 กรัม (Großbrief): 1.55 Euro
- จดหมายซองเอกสารใส่ A4 ได้ หนักไม่เกิน 1000 กรัม (Maxibrief): 2.70 Euro

บริการเสริมต่าง ๆ ที่บวกเพิ่มจากค่าส่งปกติ
- มีเลขติดตามจดหมาย (Prio) +1.00 Euro
- ลงทะเบียนไม่ต้องเซ็นรับ (Einschreiben Einwurf) +2.20 Euro
- ลงทะเบียนแบบเซ็นรับ (Einschreiben Standard) +2.50 Euro
- ลงทะเบียนพร้อมใบแจ้งกลับผู้รับ (Einschreiben Rückschein) +4.70 Euro

และขึ้นราคาสำหรับค่าส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศอีก 5 Cent ถึง 1 Euro เช่น ลงทะเบียนแบบเซ็นรับ (Einschreiben International) +3.50 Euro (จากเดิม +2.50 Euro)

ทั้งนี้ทางไปรษณีย์เยอรมันแจ้งว่า เหตุผลที่ต้องขึ้นราคา ก็เพื่อนำเงินมาพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และจ่ายเงินเลี้ยงดูพนักงานให้ดีมากขึ้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.deutschepost.de/de/a/aenderungen-2019.html

แม้ทุกวันนี้เราจะส่งเอกสารทางอีเมลกันได้ แต่ในเยอรมนี เอกสารทางการที่สำคัญหลายฉบับก็ยังต้องส่งตัวจริงไปทางจดหมายอยู่ดี ใครไปส่งจดหมายก็จะได้ไม่ตกใจว่า Deutsche Post ขึ้นราคา (อีกแล้วนะจ๊ะ!)

VW จะเลิกผลิตรถเต่า Beetle ปีหน้า

เม้าส์มอยน์เล่าข่าว บริษัท Volkswagen (โฟล์กสวาเกน) ประกาศจะเลิกผลิตรถยนต์รุ่น "Beetle" โดยรุ่นสุดท้ายจะเลิกผลิตในโรงงานที่เม็กซิโก เดือนก.ค. ปีค.ศ. 2019

สาเหตุหลักก็มาจากยอดขายรถ Beetle ที่ตกลง ประกอบกับความนิยมรถครอบครัวแบบ SUV และรถพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้โฟล์กสวาเกนหันไปทุ่มเทกำลังให้กับรถกลุ่มนี้มากกว่า รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากข่าวฉาวของโฟล์กสวาเกนเรื่องการโกงผลตรวจการปล่อยมลพิษของรถยนต์ดีเซลเมื่อปีค.ศ. 2015

ก่อนหน้านี้รถเต่ามีทั้งช่วงรุ่งสุด ๆ โดยเฉพาะช่วงยุค 70 จากฉากขับรถแข่งในหนังเรื่อง “The Love Bug“ (เม้าส์มอยน์เกิดไม่ทัน) และมีช่วงที่เงียบหายไปจากตลาดรถยนต์อยู่หลายช่วง ตามความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป และเคยหยุดขายเป็นพัก ๆ มาแล้ว

ก่อนหน้านี้ โฟล์กสวาเกนได้เคยประกาศว่าจะเลิกผลิตรถยนต์รุ่น "Beetle" แต่หลายคนต่างคาดการณ์กันว่า น่าจะยังผลิตต่อ และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (ก.ย. 2018) นาย Hinrich J. Woebcken ผู้บริหารโฟล์กสวาเกน อเมริกา ก็ออกมาประกาศว่าจะเลิกผลิตรถยนต์รุ่น "Beetle" อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ยืนยันชัดว่า หลังจากที่เลิกผลิตปีหน้าแล้วจะกลับมาผลิตรถเต่าอีกทีเมื่อไร แต่พูดทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า “ไม่ได้บอกว่าจะไม่กลับมาผลิตอีกเลยนะ”

ความเห็นส่วนตัวของเม้าส์มอยน์คิดว่า แม้ว่ารถเต่าจะน่ารักมาก ๆ และเป็นที่รักของสาว ๆ แต่ความนิยมรถเต่ากลับลดลงมากในปัจจุบัน อาจเป็นเพราะราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ที่เก็บของเล็กมาก ไม่สะดวก เมื่อเทียบกับรถยี่ห้ออื่นในขนาดเดียวกัน ทำให้หลายคนหันไปเลือกรถเล็กน่ารักยี่ห้ออื่นมากกว่าก็เป็นได้ เพื่อน ๆ คิดว่ายังไงกันบ้าง?

เม้าส์มอยน์ทิ้งท้ายให้สาวกรถเต่า Beetle ที่ยังคิดถึงความน่ารักของรถเต่าอยู่ เรายังสามารถครอบครองรถรุ่นลิมิเต็ด Final Edition SE และ SEL รุ่นสุดท้ายที่จะออกปีหน้าได้อยู่ มีให้เลือก 2 สี สีฟ้าและสีเบจนะจ๊ะ

Quelle: tagesspiegel.de, spiegel.de, reuters.com, bbc.com, Foto: pixabay.com

ซุปเปอร์มาร์เก็ตเยอรมันเตรียมถอด “หลอดพลาสติก” ออกจากชั้นสินค้าแล้ว | Plastik-Strohhalme verbannen

หลอดพลาสติกไม่ดียังไง ทำไมต้องเลิกขาย เม้าส์มอยน์จะเล่าให้ฟัง

เครือบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเยอรมันอย่าง Rewe และ Lidl เตรียมที่จะหยุดจำหน่ายหลอดพลาสติกแล้ว

โดย Rewe วางแผนจะถอดหลอดพลาสติกออกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 6000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ โดยในเครือ Rewe ประกอบไปด้วยบริษัทลูก อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Penny และร้านขายวัสดุก่อสร้าง Toom

ในส่วนของเครือบริษัท Lidl ที่รวมไปถึงบริษัทลูกอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Kaufland ก็ตั้งใจว่าจะเลิกขายหลอดและสินค้าพลาสติกใช้แล้วทิ้งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย จาน ช้อน ส้อม รวมไปถึงที่ปั่นหู ภายในสิ้นปีหน้า (ค.ศ. 2019)

ทั้งนี้ หลอดเป็นหนึ่งในสินค้าใช้แล้วทิ้ง เป็นขยะที่ลอยอยู่ในทะเลและตามชายหาดจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีการใช้งานอยู่เพียง 20 นาที ก่อนที่เราจะโยนหลอดทิ้งกลายเป็นขยะ เชื่อไหมว่า แค่ในยุโรปเองก็มีพลาสติกกว่าแสนตันในทะเลแล้ว ต่อปีมีการใช้หลอดกว่า 36.4 พันล้านชิ้น แก้วกาแฟใช้แล้วทิ้ง 16 พันล้านแก้ว ขวดใช้แล้วทิ้ง 46 พันล้านขวด และรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อีก

ซึ่งหากทางเครือ Rewe เลิกขายแล้ว จะสามารถลดปริมาณหลอดพลาสติกลงได้มากกว่า 42 ล้านชิ้นเลย (จากคำแถลงของทาง Rewe) และในปีหน้า เราจะเริ่มเห็นสินค้าทดแทนพลาสติก ที่ทำจากกระดาษ ต้นอ่อนข้าวสาลี หรือสแตนเลส ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือ Rewe แทน

ทางเครือ Lidl ก็ต้องการจะนำสินค้าทดแทนพลาสติกที่นำมาใช้ใหม่ได้ มาขายแทนในซุปเปอร์มาร์เก็ต กว่า 3200 สาขาเช่นกัน แต่จะเริ่มหลังจากที่ขายของเก่าในชั้นให้หมดก่อน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยุโรปได้นำเสนอมาตรการลดขยะพลาสติกช่วงปลายเดือนพค. ที่ผ่านมา และต้องการที่จะลดปริมาณขยะใช้แล้วทิ้งในทะเลลงร้อยละ 30 ภายในปีค.ศ. 2020 และลดให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปีค.ศ. 2030

ที่ประเทศไทย เม้าส์มอยน์ก็เห็นบางโรงแรมเริ่มนำหลอดที่ทำจากกระดาษมาใช้แทนหลอดพลาสติกบ้างแล้ว แต่พอดูดไปซักพัก ก็จะเริ่มเปื่อย ขาด งอ หวังว่าจะมีนวัตกรรมที่ดีกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนพลาสติกได้เร็ว ๆ 

ศัพท์วัยรุ่นเยอรมันประจำปี 2017 | Jugendwort des Jahres

สำนักพิมพ์ลางเง็นไชดท์ (Langenscheidt) จัดอันดับศัพท์วัยรุ่นเยอรมันเป็นปีที่ 10 แล้ว สำหรับปี 2017 นี้ ผู้ชนะได้แก่วลี “I bims” ก็คือ Ich bin (ฉันคือ) นั่นเอง โดยการให้คะแนนจากผู้ตัดสิน 20 คน แต่ผลโหวตออนไลน์กลับให้คะแนนเอนเอียงไปอีกคำมากกว่า

ผู้ชนะ “I bims” (Ich bin) ได้รับการคัดเลือกจากศัพท์ 30 คำที่คาดว่าวัยรุ่นเยอรมันยุคนี้พูดกัน โดยทางสำนักพิมพ์ให้เหตุผลว่า “I bims” เป็นวลีที่วัยรุ่นใช้กันบ่อยและจึงเป็นตัวแทนของภาษาวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่ชาวเน็ตที่ให้คะแนนโหวตทางออนไลน์กลับให้คะแนนวลี "Geht fit" (โอเค) มาเป็นอันดับหนึ่ง และ “I bims” ได้อันดับ 10 โดยมีคนเข้ามาโหวตกว่าล้านคะแนนเสียง ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์จากคำกล่าวอ้างของทางสำนักพิมพ์ แต่หนึ่งในผู้ตัดสิน นาย คุนซ์มันน์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์เยอรมัน จากมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians เป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่า “I bims” เป็นผู้ชนะสำหรับศัพท์วัยรุ่นเยอรมันประจำปีนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นคำพูดที่ใช้บ่อยมากทั้งในภาษาพูดและเห็นมากขึ้นในภาษาเขียน ณ ปัจจุบัน (เม้าส์มอยน์เสริมหน่อยว่า เขาน่าจะหมายถึงการแชทหรือโพสต์เฟสบุค ไม่ใช่ในงานเขียนทางการ)

คำวัยรุ่นอีก 4 คำที่เข้ารอบสุดท้ายก่อนถูก “I bims” เฉือนเอาชนะไปได้แก่
- "napflixen" งีบหลับตอนหนังฉาย
- "Noicemail" ข้อความเสียงที่น่ารำคาญ
- "schatzlos" ไร้คู่ครอง โสด
- "Unlügbar" แน่นอน อย่างไม่มีข้อสงสัย

เม้าส์มอยน์แถมให้อีก 5 คำ
- “sozialtot” ไม่เล่นโซเชียลมีเดีย
- “vong” เพี้ยนมาจากคำว่า von (จาก)
- “emojionslos” ไม่ใช้อิโมจิ (พวกสัญลักษณ์หน้ายิ้ม) ตอนพิมพ์แชท
- “unfly” ไม่เจ๋ง
- “lit” เยี่ยม ดีงาม

การคัดเลือกศัพท์วัยรุ่นเยอรมันของสำนักพิมพ์ลางเง็นไชดท์ที่จัดขึ้นทุกปี อันที่จริงก็เป็นหนึ่งในวิธีการโฆษณาของทางสำนักพิมพ์ โดยเลือกผู้ตัดสินมาทั้งหมด 20 คนจากหลากหลายพื้นเพ เช่น วัยรุ่น นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ และตัวแทนสื่อมวลชน

จากที่เม้าส์มอยน์อ่านความเห็นชาวเยอรมัน ก็พบมุมมองความเห็นที่ต่างกัน บ้างก็ไม่เคยได้ยินคำพวกนี้ ไม่รู้ความหมายศัพท์ข้างต้น บ้างก็ไม่เคยใช้ บ้างก็ไม่เห็นด้วยกับคำที่ชนะ

ถ้าเทียบกับศัพท์วัยรุ่นในไทย เม้าส์มอยน์ก็นึกถึงพวกคำว่า “กดสับตะไคร้” (subscribe), “นาจา” (นะจ๊ะ), “จุงเบย” (จังเลย) เก่าไปรึเปล่า!? ใครนึกคำไหนที่วัยรุ่นยุคนี้พูดกันได้อีก ก็เขียน ”เม้น” ใน Facebook mausmoin ได้เลยนะ จุ๊บ ๆ
Quelle: tagesschau.de

ใครมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเยอรมนี I Bundestagswahl

ใครมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเยอรมนี วันอาทิตย์นี้บ้าง?

เยอรมนีจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป หรือ Bundestagswahl ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนนี้ เพื่อเลือกผู้แทนฯ (Bundestagsabgeordnete) และพรรคการเมือง เพื่อเป็นตัวแทนไปเลือกนายกรัฐมนตรีอีกที ช่วงนี้ใครอยู่ในเยอรมนี คงจะเห็นทั้งป้ายหาเสียง ข่าวทุกช่องทาง และการหาเสียงอย่างเข้มข้นในโค้งสุดท้ายเหมือนกับเม้าส์มอยน์

แต่รู้มั้ยว่ามีเพียง 61.5 ล้านคน จาก 82.8 ล้านคนที่อาศัยในเยอรมนี มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ มาเช็คกันหน่อยว่า ใครมีสิทธิเลือกตั้งบ้าง? แล้วเรามีสิทธิมั้ยนะ?

ใครมีสิทธิเลือกตั้ง?

- ผู้มีสัญชาติเยอรมัน
- คนเยอรมันที่อยู่ในเยอรมนี ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
- คนเยอรมันที่อายุเกิน 18 ปี

ใครไม่มีสิทธิเลือกตั้ง?

- ชาวต่างชาติที่อยู่ในเยอรมนี แต่ไม่มีสัญชาติเยอรมัน แม้จะอาศัยอยู่ในเยอรมนีมานาน ทำงาน จ่ายภาษีให้เยอรมนีก็ตาม (จำนวนมากกว่า 10 ล้านคน)
- คนเยอรมันอายุน้อยกว่า 18 ปี
- คนเยอรมันที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้อยู่ในเยอรมนีติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
- คนเยอรมันที่อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (แต่นักโทษจากคดีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองสามารถออกเสียงได้)
- คนเยอรมันที่ถูกศาลตัดสินให้อยู่ความดูแลของผู้อนุบาลสำหรับการตัดสินใจในทุกเรื่อง (Totalbetreuung)

ยกตัวอย่างว่า ถ้าเม้าส์มอยน์เป็นคนไทย อยู่เยอรมนีมานาน แต่ไม่มีสัญชาติเยอรมัน ก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถ้าใครได้หนังสือเดินทางเยอรมัน (deutscher Pass) แล้ว และมีคุณสมบัติข้างต้น ก็มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้ง Bundestagswahl วันอาทิตย์นี้ อย่าลืมเตือนคนเยอรมันที่บ้านที่มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงกันนะจ๊ะ
Quelle: bundestagswahl-bw.de, fr.de

อ่านข้อมูลการขอสัญชาติเยอรมัน: https://mausmoin.com/einbuergerung/

เรียกคืนไข่ไก่ทั่วเยอรมนี | Eier-Skandal

ขณะนี้ข่าวฉาวเรื่องเรียกคืนไข่ไก่ในเยอรมนี ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากมีการตรวจพบไข่ไก่ที่มียาฆ่าแมลงฟิโปรนิลเจือปนมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 3 ล้านฟอง ใน 12 รัฐทั่วเยอรมนี (โดยยังไม่พบใน 4 รัฐ ต่อไปนี้ Mecklenburg-Vorpommern, Sachsen-Anhalt, Rheinland-Pfalz, Saarland) ตามคำแถลงของนายชมิดท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาตามข่าวกับเม้าส์มอยน์กันเลย 

ขณะนี้ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ เช่น Rewe, Aldi ได้งดจำหน่ายไข่ที่นำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งอาจมีสารเจือปน หากใครที่ซื้อไข่ดังกล่าวไป สามารถนำไปขอเงินคืนได้

ยาฆ่าแมลงฟิโปรนิล (Fipronil) จะมีฤทธิ์กำจัดแมลงพวกเห็บหมัด ปกติจะห้ามใช้กับสัตว์ที่ให้ผลผลิตทางอาหาร หากคนได้รับในปริมาณมาก อาจมีอันตรายต่อตับ ไต ต่อมไทรอยด์ ผิวหนัง ตา หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะได้ โดยล่าสุด เม้าส์มอยน์อ่านข่าวพบว่าปริมาณที่ตรวจพบ อาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ใหญ่ แต่เด็ก ๆ ที่รับประทานไข่ที่มีสารพิษเข้าไป อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ได้ ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจพบว่ามีสารก่อมะเร็ง

ประเภทไข่ที่มีสารยาฆ่าแมลงปนเปื้อน ได้แก่ ไข่ที่มีเลขประทับดังต่อไปนี้ หากที่บ้านใครมี ก็ไม่ควรบริโภค

ไข่จากเยอรมนี (DE)
1-DE-0357731, 
1-DE-0358001, 
0-DE-0360521, 
1-DE-0358001, 
0-DE-0360521

ไข่จากเนเธอร์แลนด์ (NL)
X-NL-40155XX (Xหมายถึง เลข 0-9)
1-NL 4128604, 
1-NL 4286001, 
0-NL 4392501, 
0-NL 4385501,
2-NL-4322402,
1-NL-4322401, 
0-NL-4170101, 
1-NL-4339301, 
1-NL-4385701, 
1-NL-4331901,
0-NL-4310001, 
1-NL-4167902, 
1-NL-4385701, 
1-NL-4339301, 
1-NL-4339912, 
2-NL- 4385702, 
1-NL-4331901, 
2-NL-4332601, 
2-NL-4332602, 
1-NL-4359801, 
2-NL-4212103, 
0-NL-4031001, 
2-NL-4212103, 
0-NL-4031001

ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่สามารถรู้ได้ว่า เนื้อไก่ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไข่ เช่น เส้นสปาเก็ตตี้ ขนมเค้ก ก็อาจมีสารปนเปื้อนอยู่ด้วย ล่าสุดจึงมีการสั่งผู้ผลิตอาหารประเภทต่าง ๆ ให้ตรวจสอบผลผลิต และที่มาของไข่ หากตรวจพบสารเจือปน ก็จะต้องเรียกคืนโดยด่วนเช่นกัน 

โดยล่าสุดเม้าส์มอยน์พบว่ามีการเรียกคืน ผลิตภัณฑ์สลัด 6 ชนิด ที่มีส่วนผสมของไข่ข้างต้น จากผู้ผลิต Neue Mayo Feinkost GmbH ในหลายรัฐในเยอรมนีแล้ว

แล้วเม้าส์มอยน์จะคอยส่งข่าวนะ
Quelle: Tagesschau.de, N-tv.de

ป่วยกลางดึก ช่วงสุดสัปดาห์ วันหยุด คลินิกปิด ทำไง? | Krank ausserhalb der Sprechzeiten

ป่วยกลางดึก ช่วงสุดสัปดาห์ วันหยุด คลินิกปิด ทำไง?
โทร 116117 เบอร์เดียว ช่วยได้ ทั่วเยอรมนี

ไม่ว่าเม้าส์มอยน์จะมีไข้สูง ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ปวดศีรษะไมเกรน รอข้ามวันไม่ไหว หรือป่วยช่วงนอกเวลาทำการคลินิก ก็โทร 116117 ได้ฟรี ทั้งจากมือถือและโทรศัพท์บ้าน จะมีหน่วยแพทย์เวรนอกเวลา (Bereitschaftsdienst) คอยช่วยเหลือ หรือบางท้องที่จะเรียกว่าหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (ärztlicher Notdienst หรือ Notfalldienst) 

แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต เช่น หัวใจวาย เสียเลือดมาก อุบัติเหตุร้ายแรง ได้รับสารพิษอันตราย ให้โทร 112 หาหน่วยแพทย์กู้ชีวิต (Rettungsdienst) แทน

โดยทั่วไป เมื่อโทรไป 116117 หน่วยงานกลางจะแจ้งข้อมูลคลินิกใกล้บ้านที่เปิดนอกเวลาให้เม้าส์มอยน์ไปหา หรือหากเดินทางไปไม่ไหว ทีมแพทย์ก็จะมาดูอาการที่บ้าน ทั้งนี้ แต่ละภูมิภาคอาจมีเวลาทำการพิเศษ หรือการส่งทีมแพทย์มารักษาแตกต่างกัน (อ่านเพิ่มเติมจากลิงค์ด้านล่าง)

หน่วยงานแพทย์เวรนอกเวลา จะดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งผู้ที่ใช้ประกันสุขภาพของรัฐและของเอกชน โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสัญญาของบริษัทประกันแต่ละแห่งด้วย)

หากเพื่อน ๆ เคยมีเบอร์โทรแพทย์นอกเวลาในพื้นที่แล้ว ก็ยังใช้ได้เช่นเดิม หรือหากจำไม่ได้ ก็สามารถโทร 116117 ได้เช่นกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมที่: KBV116117

เยอรมนีจะเริ่มเก็บค่าทางด่วนปี 2019 | Pkw-Maut in Deutschland

เม้าส์มอยน์ชวนเม้าท์เรื่องค่าทางด่วนในเยอรมนี วันนี้ (31 มีค.) รัฐบาลเยอรมนีได้เห็นชอบกฎหมายการเก็บค่าใช้ทางด่วน (Autobahn) และทางหลวง (Bundesstraße) แล้ว หลังจากที่โต้เถียงกันมานานแรมปี โดยผู้ใช้รถทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างชาติที่ใช้ทางข้างต้นจะต้องเริ่มจ่ายค่าผ่านทางตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นด้วย นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นาย Dobrindt (CSU) เชื่อว่าจะสามารถเก็บค่าผ่านทางได้กว่า 500 ล้านยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

คนที่เดือดร้อนแน่ๆ ก็คือผู้ใช้รถต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางข้ามชายแดนผ่านเยอรมนีอยู่บ่อยๆ ซึ่งการเก็บเงินจะไม่ได้เป็นไม้กั้นผ่านทางเหมือนที่ไทย แต่จะต้องเลือกซื้อสติกเกอร์ค่าทางด่วนในเยอรมันแบบอิเล็กโทรนิค (E-Vignette) เป็นราย 10 วัน หรือ 2 เดือน หรือรายปี

สำหรับผู้ใช้รถในเยอรมนี ก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเช่นกัน โดยคิดราคาอิงตามขนาดเครื่องยนต์และค่าการปล่อยไอเสีย ให้จ่ายเป็นรายปีและผูกบัญชีกับทะเบียนรถ โดยค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 130 ยูโรต่อปี ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเยอรมนีก็กล่าวว่า รัฐจะช่วงแบ่งเบาภาระโดยหักลบภาษีรถยนต์รายปีกับค่าผ่านทางที่จ่ายไป ซึ่งก็หมายถึงว่าคนใช้รถในเยอรมนีจะไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางนั่นเอง

เม้าส์มอยน์ฟังดูแล้ว เหมือนเยอรมนีน่าจะได้รายได้เพิ่มจากการเก็บค่าผ่านทาง แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น ADAC ออกมาวิจารณ์ว่านโยบายนี้รัฐน่าจะขาดทุนมากกว่า โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีการคำนวณค่าทางด่วนอิงตามค่าการปล่อยไอเสียของรถ ผู้ใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐาน Euro 6 (ปล่อยไอเสียน้อย) จะจ่ายค่าผ่านทางน้อยกว่า และนั่นหมายถึงรัฐจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าเก่า ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคตก็มักจะเป็นมาตรฐาน Euro 6 ทั้งนั้น

แล้วประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนีว่ายังไงกันบ้าง? ล่าสุดประเทศออสเตรียได้ออกมาค้านไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยจะยื่นฟ้องศาลยุติธรรมยุโรป พร้อมเหตุผลว่า เยอรมนีเลือกปฏิบัติเก็บค่าผ่านคนต่างชาติแพงกว่า  ทั้งนี้ ออสเตรียเก็บค่าผ่านทางในประเทศมากว่า 20 ปี และสวิตเซอร์แลนด์ก็เก็บมากกว่า 30 ปีแล้ว

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่เม้าส์มอยน์จะคอยติดตามมาบอกข่าวเพื่อนๆ อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ นะครับ
Quelle&Foto: tagesschau.de

นายจ้างเยอรมันมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร

1. ระดับปริญญาสำคัญแค่ไหน

ตามทฤษฎีแล้ว นักเรียนที่จบปริญญาตรีจะมีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วกว่า [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมันนิยมปริญญาแบบ Diplom ซึ่งจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปริญญาตรี และนายจ้างก็ยังไม่คุ้นชินกับปริญญาตรี] แต่ในปัจจุบัน นายจ้างกว่าครึ่งหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคยกับปริญญาตรีมากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรปริญญาตรีเริ่มนำเข้ามาใช้ในเยอรมันเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากการศึกษาแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา Kienbaum และ สถาบัน Staufenbiel พบว่าร้อยละ 49 ของบริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจบปริญญาโทเพิ่มเติมจากปริญญาตรีนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะงานในสาขาเภสัชศาสตร์และเคมีนั้นสำคัญมาก โดยร้อยละ 88 ของฝ่าย HR เห็นว่าการจบปริญญาโทเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานในสาขานี้

แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเหนือกว่าปริญญากลับเป็นเรื่องผลการเรียน โดยร้อยละ 58 เห็นว่าผลการเรียนดีนั้นสำคัญมากกว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา หรือผู้สมัครได้เรียนครบตามจำนวนภาคเรียนบังคับหรือไม่

ในเรื่องเงินเดือน บริษัทส่วนใหญ่จะให้เงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาราว 40,000-50,000 ยูโรต่อปี แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานจะได้เงินเดือนน้อยกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท ร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจให้เงินเดือนบัณฑิตปริญญาโทมากกว่าถึงร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 10

2. บริษัทอยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบไหน

คุณสมบัติเสริมอื่นๆ ที่นายจ้างมองหาเป็นพิเศษก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 77) [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า แบบสำรวจนี้อิงจากผู้สมัครงานจบใหม่ในเยอรมัน ดังนั้นภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ทุกคนน่าจะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไทย แน่นอนว่าเราต้องมีทักษะภาษาเยอรมันที่ดี และจะดีกว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษด้วย] ซึ่งการมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ มากกว่าการที่ผู้สมัครเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ (ร้อยละ 38) หรือทักษะภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ (ร้อยละ 24) เสียอีก

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นอีกก็คือประสบการณ์การทำงานจริงของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยฝ่าย HR ชอบผู้สมัครที่เคยฝึกงานมา (ร้อยละ 73) และมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (ร้อยละ 55)

3. ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในสายตาของฝ่ายบุคคล ในเยอรมัน

บริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 เห็นว่าสิ่งต่อไปนี้สำคัญ 

  • เคยฝึกงานมาก่อน: ร้อยละ 81 ตอบว่า ประสบการณ์การทำงานจริงมีน้ำหนักมากกว่าการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาเรียนที่กำหนด
  • เอกสารการสมัครมีโครงสร้างชัดเจน: สำหรับฝ่ายบุคคล การจัดเรียงที่อ่านง่ายสำคัญกว่าดีไซน์
  • มีทักษะทางสังคมดังต่อไปนี้:
    • มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง/ ความพร้อมในการทำงาน ร้อยละ 100
    • มีความพร้อมในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 98
    • ทักษะการสื่อสาร ร้อยละ 95
    • การทำงานเป็นทีม ร้อยละ 94
    • การมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ร้อยละ 93
  • มีเพียงร้อยละ 3 ที่เช็คข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้สมัคร
  • ร้อยละ 75 ของฝ่ายบุคคลจะดูเรซูเม่ผู้สมัครก่อน และร้อยละ 99 เห็นว่าเรซูเม่สำคัญ
  • การเขียน สะกดคำให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กว่าร้อยละ 60 ของฝ่ายบุคคลจะคัดผู้สมัครออกหากมีจุดที่เขียนผิด

Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนตั้งใจเรียนในทุกๆระดับชั้น และพัฒนาภาษาเยอรมันและทักษะการทำงานต่างๆ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของตนไม่ว่าที่ไทยหรือเยอรมัน 🙂

Quelle: wiwo.de