อยากมาเยอรมนี ขอวีซ่าที่ไหน?

Mausmoin แจ้งข่าว: สถานทูตเยอรมันในไทยเปลี่ยนแปลงสถานที่สำหรับยื่นขอวีซ่าเชงเก้นมาเยอรมนี (Schengen-Visa)!

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (1 สิงหาคม 2562) หากเพื่อน ๆ จะขอวีซ่าเชงเก้นมาเยอรมนี แบบพำนักไม่เกิน 90 วัน เช่น วีซ่าท่องเที่ยว วีซ่าธุรกิจ และวีซ่าเยี่อมเยือน ให้ทำนัดหมายและยื่นคำคำร้องขอวีซ่าที่ วีเอฟเอสโกลบอล โดยสถานทูตจะเป็นผู้อนุมัติวีซ่าเช่นเดิม

ที่อยู่: จามจุรี สแควร์ ชั้นที่ 4 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (สถานีรถไฟใต้ดินสามย่าน) Callcenter: +66 2 118 7017 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.vfsglobal.com/Germany/Thailand/Thai/index.htmlhttps://bangkok.diplo.de/…/visa-einre…/schengen-visa/1353056

แต่วีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวในเยอรมนี (National Visa) เช่น วีซ่าเพื่อติดตามไปอยู่กับครอบครัว วีซ่าทำงาน วีซ่าเพื่อการศึกษา วีซ่า Au-Pair ฯลฯ เพื่อน ๆ ต้องทำนัดหมาย และยื่นคำร้องขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เยอรมนี โดยตรงเหมือนเดิม

ที่อยู่: เลขที่ 9 ถนนสาทรใต้, กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: +66 2 287 90 00
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bangkok.diplo.de/…/visa-einre…/national-visa/1353050

หากมีข้อสงสัยเรื่องวีซ่า สามารถติดต่อ วีเอฟเอสโกลบอล และสถานทูตโดยตรงได้เลย จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดจ้า

คนไทยทำงานในเยอรมนีได้ไหม ทำงานอะไรถูกใจที่สุด? | Arbeiten in Deutschland

เพื่อน ๆ ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งที่ติดตามครอบครัวมาอยู่ หรือมาเรียนต่อ ก็คงจะมีความคิดที่จะหางานทำในเยอรมนี หรืออยากมีกิจการของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าเราสามารถทำงานได้หรือไม่ ข้อดีข้อเสียของการทำงานแต่ละแบบมีอะไรบ้าง จะหางานอย่างไร ติดต่อหน่วยงานไหน MAUSMOIN จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทำงานในประเทศเยอรมนีสำหรับคนไทยดังนี้

วีซ่าของเราอนุญาตให้ทำงานได้ไหมนะ?

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราจะต้องตรวจสอบว่าเราได้รับอนุญาตให้ทำงานในเยอรมนีได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สำหรับคนไทยที่อยู่อาศัยในเยอรมนีระยะยาว (อยู่เยอรมนีเกิน 90 วัน) ให้สังเกตในใบอนุญาตให้พำนักอาศัยของเรา (Aufenthaltserlaubnis) ว่ามีหมายเหตุเขียนว่าเราทำงานได้ “Erwerbstätigkeit gestattet” หรือ “Beschäftigung gestattet” หรือมีวีซ่าประเภท BLAUE KARTE EU หรือมีวีซ่าทำงานประภทอื่น ๆ รวมทั้งหากเรามีสิทธิพำนักถาวร (Niederlassungserlaubnis) หรือมีสัญชาติเยอรมัน ก็สามารถทำงานในเยอรมนีได้

แต่สำหรับคนไทยที่มาเยอรมนีระยะสั้นด้วยวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว หรือเยี่ยมเยือน ปกติแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย หากดูที่วีซ่าจะเห็นคำว่า “Erwerbstätigkeit nicht gestattet”

ส่วนวีซ่านักเรียนสามารถทำงานนอกเวลาเรียนได้ ที่เรียกว่า Nebenjob หรือทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่า Minijob ได้  โดยทั่วไปนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่คนยุโรปอย่างเช่น นักเรียนไทย จะมีเงื่อนไขจำกัดชั่วโมงทำงาน เช่น ทำงานเต็มเวลาได้ไม่เกิน 120 วันต่อปี หรือทำงานพาร์ตไทม์ได้ไม่เกิน 240 วันต่อปี

หากใครไม่แน่ใจว่าเรามีวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายหรือไม่ MAUSMOIN แนะนำให้ติดต่อสอบถามทางหน่วยงานดูแลคนต่างชาติในเมืองของเรา (Ausländerbehörde) ซึ่งจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่หากทำงานโดยไม่มีวีซ่าทำงานที่ถูกต้องและถูกจับ จะถูกปรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายกำหนดได้

คนไทยทำงานอะไรในเยอรมนีได้บ้างนะ?

หลังจากที่เรามั่นใจแล้วว่า เราสามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นต่อไป MAUSMOIN จะพามารู้จักการทำงานประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ลองนำไปประกอบการตัดสินใจ เพื่อการทำงานอย่างมีความสุข และเหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา

1) ทำงานเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานบริษัท (Arbeitnehmer)

งานลักษณะนี้เป็นงานที่คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีทำงาน มีความมั่นคง มีทั้งการทำงานเต็มเวลา และพาร์ตไทม์ เป็นลูกจ้างประจำหรือแค่สัญญาจ้างชั่วคราว ข้อดีของการเป็นพนักงานคือ เราจะได้เงินเดือนหรือค่าแรง (ค่อนข้าง) คงเดิมทุกเดือน ได้รับสวัสดิการบริษัท มีวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายกำหนด หากวันไหนป่วยก็ยังได้รับเงินเดือน บริษัทหรือนายจ้างจะจัดการทำบัญชีเงินเดือนให้ลูกจ้าง หักค่าประกันสังคม ประกันสุขภาพ ภาษีตามกฎหมายกำหนดให้

แต่ข้อเสียสำหรับบางคน อาจจะเป็นเรื่องการทำงานไม่ยืดหยุ่นตามที่เราอยากจะทำ ต้องอยู่ในกรอบนโยบายของบริษัท ดังนั้น MAUSMOIN จะพามารู้จักกับงานแบบเป็นนายจ้างตนเองดูบ้าง

2) มีกิจการของตัวเอง (Selbstständiger)

นั่นคือการเป็นนายของตัวเอง ไม่ว่าจะเปิดร้านอาหาร ร้านนวด เปิดร้านขายของ รับจ้างต่าง ๆ นักแปล ล่าม คนจัดสวน ช่างฝีมือ โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ ที่รับผิดชอบกิจการ ร้าน หรือบริษัทของตนเอง

โดยหากจะเริ่มทำธุรกิจการค้าของตนเองในเยอรมนี อันดับแรกจะต้องแจ้งขอจดทะเบียนการทำธุรกิจ (Gewerbeanmeldung) ที่สำนักงานการค้า (Gewerbeamt) ที่เมืองของเราก่อน จากนั้นทางสรรพากรจะได้ข้อมูลดังกล่าว และแจ้งหมายเลขผู้เสียภาษีมาให้เราต่อไป

แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freiberufler) เช่น ล่าม ที่ปรึกษาภาษี แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนาย ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องทำเรื่อง Gewerbeanmeldung แต่ยังต้องแจ้งสรรพากรเพื่อขอหมายเลขผู้เสียภาษี

นอกจากนี้ ในบางกิจการอาจจะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น หากต้องการเปิดกิจการร้านอาหาร เราจะต้องผ่านการอบรมการเปิดกิจการร้านอาหารและสุขอนามัยอาหารด้วย MAUSMOIN แนะนำให้สอบถามทางสำนักงานการค้าที่เมืองของเรา และหอการค้า (IHK) ที่เมืองเพิ่มเติม

หากมองโดยรวมแล้ว ข้อดีของการมีกิจการของตัวเองก็คือ เราเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้วางแผนงานในแบบที่เราอยากทำ มีอิสระ จัดการเวลาทำงานได้เอง แต่ข้อเสียคือ เราจะต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งเรื่องการบริหารงาน จัดการบัญชี จ้างพนักงาน ดูแลเรื่องประกันภัยต่างๆ ด้วยตนเอง ทำภาษี ยื่นภาษีตามกำหนด หากป่วยไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเสี่ยงที่จะมีรายรับไม่คงที่

3) ทำงาน เล็ก ๆ น้อย ๆ (Minijobber)

ที่ประเทศเยอรมนี หากใครต้องการทำงานเล็กน้อย เช่น ไม่มีเวลา ต้องดูแลลูกเล็ก หรือเรียนเต็มเวลา ก็สามารถหางานประเภท Minijob ทำได้ โดย Minijob จะแบ่งตามปัจจัยเวลาทำงานหรือรายได้ คืองานที่จำกัดเวลาทำงานสั้น ๆ ไม่เกินสามเดือน หรือรวมแล้วไม่เกิน 70 วันทำงาน โดยทำงานแค่ชั่วคราว หรือ Minijob ที่ดูจากรายได้ว่า ทำงานมีรายได้ไม่เกิน 450 ยูโรต่อเดือน หรือ 5400 ยูโรต่อปี ข้อดีคือ มีโอกาสหางาน Minijob ค่อนข้างง่ายกว่างานประจำ แต่ข้อเสียคือ รายได้น้อยกว่าการทำงานเต็มเวลา ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานผู้ช่วย เล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานน้อยกว่าการทำงานประจำ

ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

จากข้อมูลที่ MAUSMOIN ชี้ให้เห็นในเบื้องต้น ไม่ว่าจะทำงานเป็นพนักงาน หรือเป็นนายของตนเอง สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาความสามารถของตนเองให้เหมาะกับเป้าหมายงานที่เราอยากจะทำ ในทุกงานจะต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียเป็นเรื่องปกติ แต่หากเรารักในสิ่งที่เราทำ เราจะสามารถได้รับประโยชน์จากข้อดี และจะหาทางก้าวข้ามปัญหาที่เจอจากข้อเสียระหว่างทางได้

จากที่ MAUSMOIN ได้รู้จักกับคนไทยในเยอรมนี ก็พบว่าคนไทยทำงานในหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ทำงาน Minijob พนักงานขาย พนักงานโรงงาน พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัท วิศวกร สถาปนิก ล่าม ทนาย แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ครูสอนภาษาไทย เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของร้านค้า เจ้าของร้านนวด เจ้าของโรงแรม ดังนั้น หากเราพยายาม ตั้งใจ มุ่งมั่น เราก็จะสามารถทำงานที่เรารักและมีความสุขได้ในที่สุด

หากเพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและต้องการหางาน สามารถเข้าไปปรึกษาที่สำนักจัดหางาน (Agentur für Arbeit) ที่เมืองได้ นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ยังสามารถได้รับคำแนะนำเรื่องการหางาน ฝึกงาน เทียบวุฒิการศึกษา เงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ได้ด้วย

ท้ายสุดนี้ MAUSMOIN ยังคงเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรมีในการทำงาน นอกจากวีซ่าทำงาน ตำแหน่งงานที่ชอบ หรือกิจการที่เรารักแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการรู้และเข้าใจภาษาเยอรมัน เพราะภาษาราชการที่ใช้สื่อสารและออกเอกสารทางราชการต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นภาษาเยอรมัน หากเราทำงานเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน เราก็ควรอ่านทำความเข้าใจจดหมายสำคัญ หรือใบแจ้งต่าง ๆ ได้ หากเราเป็นเจ้าของกิจการ เราจะต้องรู้รอบด้าน ว่าจะต้องขอใบอนุญาตอะไรเพิ่มไหม ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ ถ้าเราปล่อยเลยตามเลย นอกจากจะไม่ได้ทำตามกฎข้อบังคับแล้ว อาจถูกปรับ หรือถูกปิดกิจการเลยก็ได้ ดังนั้น ขอให้เพื่อน ๆ หมั่นพัฒนาภาษาเยอรมันไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะทางการทำงาน เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน MAUSMOIN ขอเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ทุกคน!

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะ ฝ่ายขาย จัดซื้อ โลจิสติกส์ และไอที

จากผลสำรวจของเว็บไซต์หางาน Stepstone พบว่า ตำแหน่งงานกลุ่มพนักงานขายให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ย 5.5% ฝ่ายจัดซื้อและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 3.3% และฝ่ายวิศวกรและไอทีเพิ่มขึ้นราว 3%

อัตราเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ทางภาคใต้เยอรมันและตามเมืองใหญ่ๆ เช่น พนักงานในรัฐบาเยิร์นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ตามมาด้วยเมืองเบรเม็น เพิ่ม 3.6 % รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน เพิ่ม 3.2 % เมืองฮัมบวร์ก เพิ่ม 3.2 % และรัฐเฮสเซ็น เพิ่ม 2.7 %

นอกจากนี้ ตัวเลขล่าสุดจากทางสำนักงานสถิติเยอรมันก็ช่วยยืนยันแนวโน้มดังกล่าว นั่นคือ อัตราค่าจ้างที่แท้จริงในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสแรกเพิ่ม 2.6% และไตรมาสสองเพิ่ม 2.3%

ต่างกับช่วงปี 1993-2013 ที่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดต่ำลงอยู่หลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ผู้มีรายได้มีความสามารถในการจับจ่ายลดน้อยลง แต่ปัจจุบันจะเป็นช่วงของการฟื้นตัวดีขึ้น หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งสถาบันวิจัยตลาดแรงงานและอาชีพกล่าว

นอกจากนี้ในปี 2017 ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าเงินเดือนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในทุกๆ อุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.6% และกลุ่มพนักงานที่เป็นหัวหน้าและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และแม้จะหักลบอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้แล้ว อัตราค่าจ้างที่แท้จริงก็ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 1.6% ซึ่งมีแค่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำได้ เทียบกับอัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยียม

ปริมาณตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 690,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว จากรายงานของสำนักจัดหางานเยอรมัน ณ เดือนก.ย. 2016

Quelle&Foto: Welt.de

วิกฤติและการจัดการผู้อพยพในเยอรมัน “Wir schaffen das”

ผ่านมาแล้ว 1 ปีที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้กล่าววลีเด็ด “เราทำได้” (“Wir schaffen das.”) ต่อวิกฤติการหลั่งไหลของผู้อพยพเข้าสู่เยอรมัน ที่เป็นที่กล่าวขานถึงทั้งด้านดีและก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์มากมาย มาสรุปกันว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤติและการจัดการผู้อพยพมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

1. จำนวนผู้อพยพ

ในปี ค.ศ. 2015 มีผู้อพยพราว 1 ล้านรายเดินทางเข้ามาในเยอรมัน จากหลากหลายประเทศ เช่น ซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน แอฟริกาเหนือ และประเทศในคาบสมุทรบอลข่านนางแมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมันก็พยายามให้สัญญาว่าจะลดปริมาณผู้อพยพลงให้ชัดเจนขึ้น

และแล้ว ในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2016 มีจำนวนผู้อพยพที่ลงทะเบียนลดลงเหลือราว 220,000 ราย โดยมีจำนวนลดลงเดือนต่อเดือนจริง จากราว 92,000 รายในเดือนม.ค. ลดลงเหลือเพียง 16,000 ราย ในเดือนก.ค. ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ไม่ได้มาจากผลงานของนางแมร์เคลโดยตรง แต่มาจากการที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (เช่นประเทศตุรกี) พยายามกีดกันผู้อพยพที่เดินทางหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปทางเส้นคาบสมุทรบอลข่าน แม้จะมีความขัดแย้งในแง่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ หากสงครามในซีเรียยังดำเนินต่อไป แรงกดดันที่ทำให้พลเมืองต้องอพยพหนีก็ยังมีมากอยู่อย่างนั้น ผู้อพยพยังคงหาเส้นทางอื่นๆ ในการลี้ภัยต่อไป

2. การบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมัน

คอร์สเรียนภาษาเยอรมันและคอร์สเรียนเพื่อการบูรณาการเข้าสู่สังคมเยอรมันยังคงขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเยอรมัน คาดว่าปีนี้น่าจะยังขาดที่เรียนในคอร์สต่างๆ กว่า 200,000 ที่

รัฐบาลแถลงว่า แม้จะพยายามเปิดคอร์สเพิ่ม แต่ก็ยังขาดแคลนผู้สอนในหลายๆ เมือง เนื่องจากค่าจ้างไม่สูงนัก ซึ่งรัฐก็พยายามแก้ไข โดยขึ้นค่าตอบแทนครูผู้สอนเมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ คาดว่าในปี ค.ศ. 2016 จะมีจำนวนผู้เข้าเรียนมากกว่า 500,000 ราย โดยจะให้สิทธิ์เข้าเรียนสำหรับผู้อพยพที่มีโอกาสได้อยู่เยอรมันต่อเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีกประเด็น ก็คือเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามา โดยในช่วงปี ค.ศ. 2014-2015 มีเด็กและเยาวชนที่อพยพเข้ามาจำนวนกว่า 325,000 ราย เข้าเรียนในระบบการศึกษาเยอรมัน ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 2 ของสัดส่วนนักเรียนทั้งหมดในเยอรมัน สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ยังมีความต้องการครูและนักการศึกษาที่รู้วิธีการจัดการกับเด็กที่ซึมเศร้าเพิ่มด้วย

จากการสำรวจของ Spielgel-Online ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา พบว่ารัฐต่างๆในเยอรมันเปิดรับครูใหม่เพิ่มแล้วกว่า 12,000 ราย ซึ่งยังไม่พอต่อความต้องการครูที่คาดว่ามีมากกว่า 20,000 ราย

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการเยอรมันยังคาดว่า เด็กเล็กนับเฉพาะที่อพยพเข้ามาในช่วงปีค.ศ. 2015 ยังขาดที่เรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก (Kita) อีกกว่า 58,000 ที่ และยังต้องการบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อดูแลเด็กให้ทั่วถึงอีกกว่า 9,400 ราย

3. ผู้อพยพในตลาดแรงงาน

โครงการช่วยเหลือผู้อพยพเพื่อการบูรณาการเข้ากับสังคมเยอรมัน “Wir zusammen” มีกิจการกว่า 100 แห่งเข้าร่วม เพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้อพยพ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สรุปตัวเลขคร่าวๆ ได้ดังนี้: ที่ฝึกงาน (Praktikum) เพิ่มขึ้น 1800 ที่ ที่เรียนงาน (Ausbildung) มากกว่า 500 ที่ และจ้างงานประจำเพิ่มกว่า 400 ที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันมองว่ายังมีตัวเลขน้อยไป

ที่ผ่านมา ผู้อพยพแทบจะยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเลย ตามรายงานของสำนักจัดหางานของรัฐ ในเดือนก.ค. มีผู้อพยพกว่า 322,000 รายที่ได้รับอนุมัติคำร้องขอลี้ภัยแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลในการจัดหางาน ทั้งนี้ผู้อพยพจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ หากยังไม่ได้รับการอนุมัติคำร้องขอลี้ภัย โดยจากจำนวน 322,000 รายดังกล่าว มี 141,000 รายที่ยังตกงาน

ผู้อพยพจำนวนมากยังสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือมีวุฒิการศึกษายังไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้อพยพส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย ความหวังจึงอยู่ที่ การรับผู้อพยพเข้าเรียนงาน (Ausbildung) เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานต่อไป

4. กระบวนการพิจารณาการขอลี้ภัย

ที่ผ่านมา สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์ฯ (BAMF) ถูกมองว่าเป็นหน่วยงานรัฐที่ยังทำงานได้ไม่ดีท่ามกลางวิกฤติผู้อพยพที่เกิดขึ้น ผู้อพยพหลายร้อยรายยื่นฟ้องศาลว่าสำนักงานดังกล่าวทำงานช้าเกินไป พวกเขาต้องการให้เร่งพิจารณาการขอลี้ภัยให้เร็วขึ้น ซึ่งนายไวเซอ ผู้อำนวยการ BAMF ก็ออกมาชี้แจงว่า ได้ปรับการทำงานให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยรับเจ้าหน้าที่เพิ่มกว่า 2300 คน ในช่วงต้นปีค.ศ. 2015 ทำให้ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รวม 8000 คน และได้เปิดสำนักงานใหม่เพิ่มอีกหลายแห่ง

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สำนักงานฯ ต้องพิจารณาการขอลี้ภัยมากกว่า 330,000 คำร้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

จำนวนคำร้องกองโตที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นเกินห้าแสนฉบับ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้แต่แรกว่าจะสะสางให้เสร็จภายในสิ้นปี สาเหตุมาจากจำนวนกรณีการพิจารณาขอลี้ภัยเก่าๆ ที่มีความซับซ้อนเหลืออยู่จำนวนมาก และยังทำให้เวลาเฉลี่ยของกระบวนการพิจารณาขอลี้ภัยเพิ่มนานขึ้นด้วย กล่าวคือใช้เวลามากกว่า 6 เดือน แต่สำหรับคำร้องใหม่ๆ น่าจะพิจารณาตัดสินการขอลี้ภัยได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยตามแผนที่วางไว้ ผู้อพยพทุกคนน่าจะสามารถยื่นคำร้องได้เสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ นายไวเซอกล่าว

5. การก่ออาชญากรรม

เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศช่วงสิ้นปีที่แล้วที่เมืองเคิล์นทำให้ผู้คนต่างหวาดกลัวว่า การที่เยอรมันอ้าแขนรับผู้อพยพถือเป็นการนำปัญหาด้านอาชญากรรมเข้ามาให้ประเทศหรือไม่

สถิติของทางตำรวจในเรื่องการก่อการกระทำความผิดชี้ให้เห็นว่า จำนวนการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในปีค.ศ. 2015 ประมาณร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักๆ ของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นก็คือการกระทำความผิดในการขอลี้ภัย และการพำนักในเยอรมันของชาวต่างชาติ (เช่นการหลบหนีเข้าเมือง หรือการพำนักในประเทศอย่างผิดกฎหมาย) ซึ่งหากไม่นับจำนวนความผิดทั้ง 2 เรื่องนี้รวมในสถิติด้วย ตัวเลขอาชญากรรมก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่าแสนรายในประเทศก็ตาม

จากรายงานของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ กลุ่มผู้อพยพบางกลุ่มจะถูกจับตามเป็นพิเศษ เช่นผู้อพยพจากอัลจีเรีย โมรอคโค และทูนีเซียมักจะถูกคิดว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดมากกว่าผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ

อันที่จริงวิกฤติผู้อพยพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขสถิติการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ผู้อพยพเองไม่ใช่เป็นผู้ก่อความผิด แต่กลับเป็นเหยื่อของอาชญากรรม โดยในปีนี้มีการก่อเหตุทำลายที่พักผู้อพยพไปแล้วกว่า 665 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2015 มีกว่า 1031 ครั้ง เพิ่มขึ้น 5 เท่าของปีก่อนหน้า

การก่อการร้ายที่เมืองวือร์ซบวร์ก และเมืองอันส์บัคทำให้เกิดการโยงประเด็นของผู้อพยพกับการก่อการร้ายเข้าด้วยกัน ผู้ก่อเหตุทั้งสองเป็นผู้อพยพเข้ามาในเยอรมัน ซึ่งเดินทางเข้ามาก่อนหน้าการอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว แต่หน่วยงานดูแลความมั่นคงกลับไม่ได้สังเกตเห็นสองผู้ก่อเหตุนี้ก่อนหน้านี้

หน่วยงานดูแลความมั่นคงคอยตรวจสอบเบาะแสที่นำไปสู่ปฏิบัติการลับของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพ ล่าสุดได้รับการแจ้งเบาะแสมากกว่า 400 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาตำรวจยังไม่พบแผนการก่อการร้ายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ากลุ่มหัวรุนแรงจะพยายามเผยแพร่แนวคิดและชักชวนคนรุ่นใหม่ในที่พักผู้อพยพเข้าร่วมกลุ่ม

6. การส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด

การเร่งส่งตัวผู้ถูกปฏิเสธขอลี้ภัยกลับประเทศ เป็นหนึ่งในแผนที่เยอรมันวางไว้ ตัวเลขการส่งตัวกลับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ระบบการจัดการยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

จากรายงานของศูนย์ลงทะเบียนชาวต่างชาติ ในเยอรมันมีผู้อพยพกว่า 220,000 คนที่จะต้องถูกส่งตัวออกจากประเทศ แต่กว่า 172,000 คนได้รับการผ่อนผัน เนื่องจากเหตุผลเช่น มีสงครามในประเทศบ้านเกิด

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ส่งตัวกลับประเทศทำได้ลำบากคือ

- ผู้ถูกปฏิเสธการขอลี้ภัยไม่มีเอกสารอะไรติดตัว ดังนั้นประเทศบ้านเกิดจึงไม่ต้องการรับพวกเขากลับเข้าประเทศ ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการหลบเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับ รัฐบาลเยอรมันก็พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือรับพลเมืองของตนกลับสู่ประเทศให้มากขึ้น

- รัฐจะไม่สามารถส่งตัวใครกลับไปประเทศเดิมได้ หากผู้นั้นมีใบรับรองแพทย์ว่าป่วยเดินทางไม่ได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ต่อไปควรจะมีเพียงแพทย์จากทางรัฐเท่านั้นหรือไม่ ที่สามารถออกใบรับรองอาการเจ็บป่วยให้กับคนกลุ่มนี้ได้

- ผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับหลบซ่อนตัว ในวันที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศเดิม เยอรมันจึงพยายามแก้ปัญหา โดยการไม่แจ้งเรื่องการส่งตัวกลับประเทศให้เจ้าตัวทราบล่วงหน้า

Quelle: Spiegel.de

2016-09-30

หนทางสู่ความสำเร็จแบบฉบับชาวเยอรมัน | Schritte zum Erfolg

success

จากรายการเลียนแบบชีวิตชาวเยอรมัน โดยครอบครัวนักข่าวชาวอังกฤษ ที่เดินทางมาทดลองใช้ชีวิต ทำงาน ส่งลูกไปเรียนในเยอรมัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง หากจะพิสูจน์ที่มาของความสำเร็จของชาวเยอรมัน ใน 1 ชั่วโมง คงเป็นไปได้ยาก แต่มีหลายสิ่งที่แสดงเห็นได้ว่า การใช้ชีวิตแบบเยอรมัน สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในหลายๆ ด้านได้ และเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เลียนแบบได้ไม่ยาก 

ครูศิรินสรุปเรื่องราวบางส่วนจากสารคดี และเพิ่มเติมเนื้อหาจากประสบการณ์ ที่ได้เรียนรู้เองจากการอาศัยอยู่ในเยอรมัน มาลองเดินไปบนหนทางแห่งความสำเร็จ พร้อมๆ กันเลย 

1. การทำงาน: ทำงานอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูง

เรื่องการไปทำงานก่อนเวลาเล็กน้อย หรือการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับแรกๆ ของความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะการเริ่มงานวันแรก คนเยอรมันมักศึกษาเส้นทางล่วงหน้า ตื่นนอนให้เช้าขึ้น และวางแผนการเดินทางให้ไปถึงที่หมาย อย่างราบรื่บและภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้มีเวลาเตรียมตัวก่อนเริ่มงาน และพร้อมทำงานอย่างมั่นใจ สบายใจ

ระหว่างชั่วโมงทำงาน คนเยอรมันจะมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน ให้เสร็จทีละอย่าง หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ทำเรื่องส่วนตัว ไม่เล่นอินเตอร์เนต หรือเฟซบุ๊ก ไม่นอกเรื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในห้องประชุม หรือระหว่างเวลาทำงาน แต่ในช่วงพัก จะพักเต็มที่ ทานอาหาร คุยเรื่องต่างๆ และตั้งใจทำงานอีกครั้งเมื่อกลับเข้าทำงานต่อ

โดยทั่วไป ชั่วโมงทำงานจะอยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน หากไม่ต้องเข้างานเป็นกะ พนักงานจะสามารถบริหารช่วงเวลาทำงานเอง มาเช้า ก็เลิกงานเช้าได้

หลังเลิกงาน คนเยอรมันมักจะกลับบ้านหาลูกๆ หรือทำงานอดิเรกที่ตนชอบ หรือเข้ากลุ่มกิจกรรมที่ตนสนใจ เช่น ชมรมร้องเพลง เกมกระดาน 

หากมองโดยเฉลี่ยแล้ว คนเยอรมันทำงานประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน มีเวลาเหลือให้ครอบครัว และสิ่งที่ตนสนใจ การเดินทางไปทำงาน สามารถวางแผนเวลาได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากระบบคมนาคม เช่น รถประจำทาง รถไฟ รถราง ส่วนใหญ่มาตรงเวลา (ถ้าไม่มีประท้วงหยุดเดินรถหรือเหตุขัดข้อง) การจราจรทางถนน ก็มักจะไม่ติดขัดมาก (ไม่เท่าในกรุงเทพ)

 

2. เงินๆ ทองๆ และบ้าน: ใช้เงินอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่สร้างหนี้

ส่วนใหญ่ชาวเยอรมันมักจะใช้ชิวิตบนความแน่นอน มั่นคง ปลอดภัย ไม่สร้างหนี้

บัตรเครดิตมักไม่เป็นที่นิยม สำหรับชาวเยอรมัน แต่มักจะจ่ายเงินสด หรือบัตรเดบิต ตัดเงินในบัญชี (EC-Karte) ในการจับจ่าย

ที่อยู่อาศัย มักเป็นไปตามกำลังทรัพย์ และแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ บางคนอาจนิยมซื้อบ้านจากเงินเก็บที่มี หรือทำงานสะสมเงินเพื่อปลูกบ้าน หลังพออยู่สบาย หากมีห้องเหลือ หรือลูกๆ ย้ายออกไปอยู่เอง มักเปิดห้องให้เช่า บ้านส่วนใหญ่จะแยกเป็นสัดส่วน มีส่วนที่เป็นส่วนตัว และมีส่วนที่ใช้ร่วมกันระหว่างเจ้าของกับผู้เช่า เช่น ทางเดินบันได ทางเข้า สวนบางส่วน ห้องใต้ดิน ห้องซักผ้า

การเช่าที่อยู่อาศัย ยังคงเป็นเรื่องปกติ สำหรับชาวเยอรมัน อาจเช่ายาวเป็นสิบๆ ปี แม้บางคนชอบที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง แต่หลายๆ คนก็ยังนิยมเช่าบ้าน ด้วยเหตุผลหลายๆ ด้าน ทั้งย้ายเมืองไปเรียนต่อ ไปทำงาน ยังไม่พร้อมลงหลักปักฐาน หรือปัจจัยเรื่องเงินเก็บ เป็นต้น 

การกู้เงินมาสร้างบ้าน ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเยอรมันนัก โดยเฉพาะชาวชเวบิช (Schwäbisch) ในรัฐ รัฐบาเดน-เวือร์ทเทมแบร์ก (Baden Würrtemberg) กับสำนวน "Schaffe, schaffe, Häusle baue" ซึ่งหมายถึง ทำงานเพื่อจะสร้างบ้านหลังน้อยๆ

 

3. การศึกษา: เรียนอย่างไร ให้มีเวลา และรู้จักจุดเด่นของตนเอง

สำหรับเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเรียนครึ่งวัน เลิกเรียนเร็ว มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำการบ้าน ทำงานอดิเรก เล่นกีฬากับเพื่อนๆ เดินเล่นสวนสาธารณะกับพ่อแม่ ไม่นิยมไปเรียนพิเศษ หรือเรียนกวดวิชา นอกจากจำเป็นจริงๆ อาจมีชั่วโมงเพิ่มเติม

ในระดับอุดมศึกษา อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่ประเด็นหลักในการเลือกคณะหรือมหาวิทยาลัยที่จะสมัครศึกษาต่อ หลายๆ คนมักเลือกที่เรียนต่อจากคณะที่ตนสนใจ บางคนอาจเลือกมหาลัย ที่ไม่ไกลจากเมืองที่ตนอยู่ หรือบางคนอาจเลือกมหาลัยที่ตนชอบ หรือมีชื่อเสียงเก่าแก่ในด้านนั้นๆ

ลักษณะการเรียนการสอน มีทั้งแบบเน้นการอภิปราย การแสดงความคิดเห็นเป็นตัวขับเคลื่อนการเรียน ในห้องขนาดเล็กถึงกลาง และแบบอาจารย์พูดหน้าชั้นในห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างทางความคิด การยกมือถามในห้อง การแสดงความคิดเห็น ระหว่างอาจารย์และนักศึกษามักเห็นได้ทั่วไปในห้องเรียน

หากมหาวิทยาลัยอยู่คนละเมืองกับบ้าน นักศึกษาจะไปเช่าที่อยู่ในเมืองที่ตนเรียน มีตั้งแต่หอของมหาวิทยาลัย ห้องเช่าอยู่ด้วยกันหลายๆ คน (Wohngemeinschaft) ที่จะใช้ห้องน้ำ ห้องครัวร่วมกัน ห้องแบ่งเช่าตามบ้าน ไปจนถึงห้องพักแบบอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว การเลือกที่พักจะแตกต่างไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าเช่าต่อเดือน การเดินทางไปมหาวิทยาลัย ความสะดวกสบาย

ระหว่างภาคเรียนและช่วงปิดเทอม นักเรียนส่วนใหญ่จะทำงานพิเศษควบคู่ไปด้วย เพื่อหารายได้เสริมมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว นอกจากนี้ มหาลัยมักสนับสนุนให้นักศึกษาไปหาที่ฝึกงาน เพื่อค้นหาความชอบ ความสามารถของตน และยังเป็นการเปิดประตูสู่การสมัครงานในบริษัทนั้นๆ เมื่อเรียนจบได้อีกด้วย

วีดีโอทดลองใช้ชีวิตแบบเยอรมัน โดยนักข่าวชาวอังกฤษ: "Make Me A German by BBC Two"

ใครอยากเริ่มเรียนเยอรมันด้วยตนเอง สามารถเรียนจาก บทเรียนด้วยตนเอง ของ Mausmoin.com ได้เลย 

บริการแปลเอกสาร ไทย-เยอรมัน

แปลและรับรองคำแปล เยอรมัน-ไทย โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน

คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ -ยินดีรับงานด่วน-

Skype/ Line ID: Mausmoin
อีเมล์: info@mausmoin.com
โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234