ป่วยกลางดึก ช่วงสุดสัปดาห์ วันหยุด คลินิกปิด ทำไง? | Krank ausserhalb der Sprechzeiten

ป่วยกลางดึก ช่วงสุดสัปดาห์ วันหยุด คลินิกปิด ทำไง?
โทร 116117 เบอร์เดียว ช่วยได้ ทั่วเยอรมนี

ไม่ว่าเม้าส์มอยน์จะมีไข้สูง ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ปวดศีรษะไมเกรน รอข้ามวันไม่ไหว หรือป่วยช่วงนอกเวลาทำการคลินิก ก็โทร 116117 ได้ฟรี ทั้งจากมือถือและโทรศัพท์บ้าน จะมีหน่วยแพทย์เวรนอกเวลา (Bereitschaftsdienst) คอยช่วยเหลือ หรือบางท้องที่จะเรียกว่าหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (ärztlicher Notdienst หรือ Notfalldienst) 

แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต เช่น หัวใจวาย เสียเลือดมาก อุบัติเหตุร้ายแรง ได้รับสารพิษอันตราย ให้โทร 112 หาหน่วยแพทย์กู้ชีวิต (Rettungsdienst) แทน

โดยทั่วไป เมื่อโทรไป 116117 หน่วยงานกลางจะแจ้งข้อมูลคลินิกใกล้บ้านที่เปิดนอกเวลาให้เม้าส์มอยน์ไปหา หรือหากเดินทางไปไม่ไหว ทีมแพทย์ก็จะมาดูอาการที่บ้าน ทั้งนี้ แต่ละภูมิภาคอาจมีเวลาทำการพิเศษ หรือการส่งทีมแพทย์มารักษาแตกต่างกัน (อ่านเพิ่มเติมจากลิงค์ด้านล่าง)

หน่วยงานแพทย์เวรนอกเวลา จะดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งผู้ที่ใช้ประกันสุขภาพของรัฐและของเอกชน โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสัญญาของบริษัทประกันแต่ละแห่งด้วย)

หากเพื่อน ๆ เคยมีเบอร์โทรแพทย์นอกเวลาในพื้นที่แล้ว ก็ยังใช้ได้เช่นเดิม หรือหากจำไม่ได้ ก็สามารถโทร 116117 ได้เช่นกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมที่: KBV116117

เยอรมนีจะเริ่มเก็บค่าทางด่วนปี 2019 | Pkw-Maut in Deutschland

เม้าส์มอยน์ชวนเม้าท์เรื่องค่าทางด่วนในเยอรมนี วันนี้ (31 มีค.) รัฐบาลเยอรมนีได้เห็นชอบกฎหมายการเก็บค่าใช้ทางด่วน (Autobahn) และทางหลวง (Bundesstraße) แล้ว หลังจากที่โต้เถียงกันมานานแรมปี โดยผู้ใช้รถทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างชาติที่ใช้ทางข้างต้นจะต้องเริ่มจ่ายค่าผ่านทางตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นด้วย นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นาย Dobrindt (CSU) เชื่อว่าจะสามารถเก็บค่าผ่านทางได้กว่า 500 ล้านยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

คนที่เดือดร้อนแน่ๆ ก็คือผู้ใช้รถต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางข้ามชายแดนผ่านเยอรมนีอยู่บ่อยๆ ซึ่งการเก็บเงินจะไม่ได้เป็นไม้กั้นผ่านทางเหมือนที่ไทย แต่จะต้องเลือกซื้อสติกเกอร์ค่าทางด่วนในเยอรมันแบบอิเล็กโทรนิค (E-Vignette) เป็นราย 10 วัน หรือ 2 เดือน หรือรายปี

สำหรับผู้ใช้รถในเยอรมนี ก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเช่นกัน โดยคิดราคาอิงตามขนาดเครื่องยนต์และค่าการปล่อยไอเสีย ให้จ่ายเป็นรายปีและผูกบัญชีกับทะเบียนรถ โดยค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 130 ยูโรต่อปี ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเยอรมนีก็กล่าวว่า รัฐจะช่วงแบ่งเบาภาระโดยหักลบภาษีรถยนต์รายปีกับค่าผ่านทางที่จ่ายไป ซึ่งก็หมายถึงว่าคนใช้รถในเยอรมนีจะไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางนั่นเอง

เม้าส์มอยน์ฟังดูแล้ว เหมือนเยอรมนีน่าจะได้รายได้เพิ่มจากการเก็บค่าผ่านทาง แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น ADAC ออกมาวิจารณ์ว่านโยบายนี้รัฐน่าจะขาดทุนมากกว่า โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีการคำนวณค่าทางด่วนอิงตามค่าการปล่อยไอเสียของรถ ผู้ใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐาน Euro 6 (ปล่อยไอเสียน้อย) จะจ่ายค่าผ่านทางน้อยกว่า และนั่นหมายถึงรัฐจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าเก่า ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคตก็มักจะเป็นมาตรฐาน Euro 6 ทั้งนั้น

แล้วประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนีว่ายังไงกันบ้าง? ล่าสุดประเทศออสเตรียได้ออกมาค้านไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยจะยื่นฟ้องศาลยุติธรรมยุโรป พร้อมเหตุผลว่า เยอรมนีเลือกปฏิบัติเก็บค่าผ่านคนต่างชาติแพงกว่า  ทั้งนี้ ออสเตรียเก็บค่าผ่านทางในประเทศมากว่า 20 ปี และสวิตเซอร์แลนด์ก็เก็บมากกว่า 30 ปีแล้ว

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่เม้าส์มอยน์จะคอยติดตามมาบอกข่าวเพื่อนๆ อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ นะครับ
Quelle&Foto: tagesschau.de

นายจ้างเยอรมันมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร

1. ระดับปริญญาสำคัญแค่ไหน

ตามทฤษฎีแล้ว นักเรียนที่จบปริญญาตรีจะมีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วกว่า [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมันนิยมปริญญาแบบ Diplom ซึ่งจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปริญญาตรี และนายจ้างก็ยังไม่คุ้นชินกับปริญญาตรี] แต่ในปัจจุบัน นายจ้างกว่าครึ่งหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคยกับปริญญาตรีมากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรปริญญาตรีเริ่มนำเข้ามาใช้ในเยอรมันเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากการศึกษาแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา Kienbaum และ สถาบัน Staufenbiel พบว่าร้อยละ 49 ของบริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจบปริญญาโทเพิ่มเติมจากปริญญาตรีนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะงานในสาขาเภสัชศาสตร์และเคมีนั้นสำคัญมาก โดยร้อยละ 88 ของฝ่าย HR เห็นว่าการจบปริญญาโทเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานในสาขานี้

แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเหนือกว่าปริญญากลับเป็นเรื่องผลการเรียน โดยร้อยละ 58 เห็นว่าผลการเรียนดีนั้นสำคัญมากกว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา หรือผู้สมัครได้เรียนครบตามจำนวนภาคเรียนบังคับหรือไม่

ในเรื่องเงินเดือน บริษัทส่วนใหญ่จะให้เงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาราว 40,000-50,000 ยูโรต่อปี แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานจะได้เงินเดือนน้อยกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท ร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจให้เงินเดือนบัณฑิตปริญญาโทมากกว่าถึงร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 10

2. บริษัทอยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบไหน

คุณสมบัติเสริมอื่นๆ ที่นายจ้างมองหาเป็นพิเศษก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 77) [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า แบบสำรวจนี้อิงจากผู้สมัครงานจบใหม่ในเยอรมัน ดังนั้นภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ทุกคนน่าจะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไทย แน่นอนว่าเราต้องมีทักษะภาษาเยอรมันที่ดี และจะดีกว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษด้วย] ซึ่งการมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ มากกว่าการที่ผู้สมัครเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ (ร้อยละ 38) หรือทักษะภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ (ร้อยละ 24) เสียอีก

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นอีกก็คือประสบการณ์การทำงานจริงของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยฝ่าย HR ชอบผู้สมัครที่เคยฝึกงานมา (ร้อยละ 73) และมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (ร้อยละ 55)

3. ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในสายตาของฝ่ายบุคคล ในเยอรมัน

บริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 เห็นว่าสิ่งต่อไปนี้สำคัญ 

  • เคยฝึกงานมาก่อน: ร้อยละ 81 ตอบว่า ประสบการณ์การทำงานจริงมีน้ำหนักมากกว่าการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาเรียนที่กำหนด
  • เอกสารการสมัครมีโครงสร้างชัดเจน: สำหรับฝ่ายบุคคล การจัดเรียงที่อ่านง่ายสำคัญกว่าดีไซน์
  • มีทักษะทางสังคมดังต่อไปนี้:
    • มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง/ ความพร้อมในการทำงาน ร้อยละ 100
    • มีความพร้อมในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 98
    • ทักษะการสื่อสาร ร้อยละ 95
    • การทำงานเป็นทีม ร้อยละ 94
    • การมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ร้อยละ 93
  • มีเพียงร้อยละ 3 ที่เช็คข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้สมัคร
  • ร้อยละ 75 ของฝ่ายบุคคลจะดูเรซูเม่ผู้สมัครก่อน และร้อยละ 99 เห็นว่าเรซูเม่สำคัญ
  • การเขียน สะกดคำให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กว่าร้อยละ 60 ของฝ่ายบุคคลจะคัดผู้สมัครออกหากมีจุดที่เขียนผิด

Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนตั้งใจเรียนในทุกๆระดับชั้น และพัฒนาภาษาเยอรมันและทักษะการทำงานต่างๆ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของตนไม่ว่าที่ไทยหรือเยอรมัน 🙂

Quelle: wiwo.de

กฎการให้ทางรถฉุกเฉินในเยอรมันปี 2017 | Rettungsgasse

ผู้ใช้รถทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องหลีกทางให้รถแพทย์ฉุกเฉิน รถดับเพลิง รถพยาบาล รถตำรวจที่เปิดไฟฉุกเฉิน เมื่อการจราจรเคลื่อนตัวช้า เริ่มติดขัด และหยุดนิ่งบนทางด่วนหรือถนนนอกเมืองสายต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงเลนให้ทางรถฉุกเฉินให้ง่ายขึ้นดังนี้

- ถ้ามี 2 เลน รถในเลนซ้ายให้แยกไปซ้ายสุด และรถเลนขวาให้แยกไปขวาสุด (ตามรูปแถวบน)
- ถ้ามี 3 เลนขึ้นไป รถในเลนซ้ายให้แยกไปซ้ายสุด รถเลนกลาง และรถเลนขวาให้แยกไปขวาสุดทั้งหมด (ตามรูปแถวล่าง)

หากใครฝ่าฝืนกีดกันทาง นอกจากจะถูกปรับ 20 ยูโรแล้ว ยังอาจเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเสียเวลาอันมีค่า เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนให้ทางรถฉุกเฉิน เพราะทุกวินาทีสำหรับพวกเขามีค่าจริงๆ

นอกจากประเทศเยอรมันที่ประกาศใช้กฎการให้ทางรถฉุกเฉินแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สโลวีเนีย และสาธารณรัฐเช็ก ที่ให้ความสำคัญกับการให้ทางรถฉุกเฉินเช่นกัน

Quelle&Foto: adac.de, rettungsgasse-rettet-leben.de

GEMA เลิกแบนวีดีโอในยูทูปเยอรมันแล้ว

GEMA (เกม่า) เลิกแบนวีดีโอในยูทูปเยอรมันแล้ว!

หลังการฟาดฟันยาวนานกว่า 7 ปี ในที่สุด ยูทูป และองค์กรดูแลผลงานเพลงและสิทธิการทำซ้ำ หรือเกม่าของเยอรมัน ได้เซ็นสัญญาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ส่งผลดีให้ผู้ชมยูทูปในเยอรมันสามารถดูวีดีโอที่เคยถูกบล็อกจากเกม่าได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ผู้ชมยูทูปในเยอรมันไม่สามารถดูวีดีโอบางวีดีโอได้ เนื่องจากวีดีโอมีเพลงติดลิขสิทธิ์ที่เกม่าดูแลอยู่ โดยจะขึ้นจอดำ พร้อมรูปหน้าบึ้ง และคำพูดว่า วีดีโอนี้ไม่สามารถดูได้ในประเทศเยอรมัน

เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ผู้ชมยูทูปในเยอรมันจะสามารถเข้าถึงวีดีโอจากทั่วโลกได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีกับศิลปินให้สามารถเข้าถึงแฟนๆในเยอรมันได้มากขึ้นและยังได้เงินโฆษณาจากวีดีโอของพวกเขาอีกด้วย ยูทูปกล่าว

Quelle: spiegel.de, Youtube 

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน

ค่าจ้างและเงินเดือนในเยอรมันเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะ ฝ่ายขาย จัดซื้อ โลจิสติกส์ และไอที

จากผลสำรวจของเว็บไซต์หางาน Stepstone พบว่า ตำแหน่งงานกลุ่มพนักงานขายให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ย 5.5% ฝ่ายจัดซื้อและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 3.3% และฝ่ายวิศวกรและไอทีเพิ่มขึ้นราว 3%

อัตราเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ทางภาคใต้เยอรมันและตามเมืองใหญ่ๆ เช่น พนักงานในรัฐบาเยิร์นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ตามมาด้วยเมืองเบรเม็น เพิ่ม 3.6 % รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน เพิ่ม 3.2 % เมืองฮัมบวร์ก เพิ่ม 3.2 % และรัฐเฮสเซ็น เพิ่ม 2.7 %

นอกจากนี้ ตัวเลขล่าสุดจากทางสำนักงานสถิติเยอรมันก็ช่วยยืนยันแนวโน้มดังกล่าว นั่นคือ อัตราค่าจ้างที่แท้จริงในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสแรกเพิ่ม 2.6% และไตรมาสสองเพิ่ม 2.3%

ต่างกับช่วงปี 1993-2013 ที่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดต่ำลงอยู่หลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ผู้มีรายได้มีความสามารถในการจับจ่ายลดน้อยลง แต่ปัจจุบันจะเป็นช่วงของการฟื้นตัวดีขึ้น หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งสถาบันวิจัยตลาดแรงงานและอาชีพกล่าว

นอกจากนี้ในปี 2017 ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าเงินเดือนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในทุกๆ อุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.6% และกลุ่มพนักงานที่เป็นหัวหน้าและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และแม้จะหักลบอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้แล้ว อัตราค่าจ้างที่แท้จริงก็ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 1.6% ซึ่งมีแค่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำได้ เทียบกับอัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยียม

ปริมาณตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 690,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว จากรายงานของสำนักจัดหางานเยอรมัน ณ เดือนก.ย. 2016

Quelle&Foto: Welt.de

เยอรมันแนะให้ตุนอาหารและน้ำรับมือเหตุฉุกเฉิน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมันประกาศให้ประชาชนเตรียมเสบียงอาหารและน้ำดื่มไว้ยามจำเป็น เพื่อพร้อมรับมือหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือการก่อการร้าย ที่รัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือประชาชนไม่ทันท่วงที

โดยแนะให้ประชาชนเตรียมอาหารเผื่อไว้สำหรับ 10 วัน และน้ำดื่มสำหรับ 5 วัน วันละ 2 ลิตรต่อคน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เตรียมยารักษาโรค ผ้าห่ม เทียน แบตสำรอง เงินสดสำรอง วิทยุใส่ถ่านที่สามารถติดตามข่าวสารจากทางการได้กรณีไม่มีไฟฟ้า เผื่อติดบ้านไว้ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีหลังจากที่เคยประกาศใช้นโยบายดังกล่าวครั้งล่าสุดเมื่อช่วงหลังสงครามเย็น ค.ศ. 1989

ปริมาณอาหารและน้ำที่แนะนำให้ตุนเสบียงต่อคน:

น้ำ 28 ลิตร

แป้ง/เส้น 5 กก.

ผักกระป๋อง 5,6 กก.

ผลิตภัณฑ์นม 4 กก.

เนื้อ 2 กก.

หรือคำนวณปริมาณการตุนอาหารและน้ำดื่มต่อคน ต่อวัน ได้ที่นี่: http://www.ernaehrungsvorsorge.de/private-vorsorge/notvorrat/vorratskalkulator/#x2665;_blank

คำแนะนำเพื่อเตรียมรับมือ และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (PDF): http://www.bbk.bund.de/SharedDocs/Downloads/BBK/DE/Publikationen/Broschueren_Flyer/Buergerinformationen_A4/Ratgeber_Brosch.pdf?__blob=publicationFile

Checklist เพื่อเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน (PDF): http://www.bbk.bund.de/SharedDocs/Downloads/BBK/DE/Publikationen/Broschueren_Flyer/Buergerinformationen_A4/Checkliste_Ratgeber.pdf?__blob=publicationFile

ในขณะที่บางส่วนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และเตรียมซื้อของตุนไว้ ก็มีทั้งประชาชนและสื่อหลายฝ่ายที่ไม่พอใจ และไม่เห็นด้วย เช่น หัวหน้าพรรค Die Linke ที่ออกมาแสดงความเห็นขัดแย้งว่า การประกาศดังกล่าวจะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลควรกระทำ

Quelle [ที่มา]: http://www.welt.de/politik/deutschland/article157781100/Bevoelkerung-soll-Lebensmittel-Vorraete-fuer-zehn-Tage-anlegen.html

http://www.welt.de/politik/deutschland/article157809984/Beim-Schutzplan-geht-es-um-mehr-als-Hamsterkaeufe.html

https://www.tagesschau.de/inland/zivilschutz-101.html

http://www.bbk.bund.de/DE/Ratgeber/Handeln_in_Katastrophen/Handeln_in_Katastrophen.html

2016-08-26

การหย่า & การใช้นามสกุลหลังหย่า | Scheidung & Ehename

สารบัญ

การหย่าตามกฎหมายเยอรมัน

การหย่าตามกฎหมายไทย

การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

การเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่าตามกม.เยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย

ติดต่อแปลเอกสาร/ ล่าม

 

1. การหย่าตามกฎหมายเยอรมัน

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการหย่าในเยอรมนีไว้ดังนี้

การสมรสสิ้นสุดลง: เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต หรือจากการหย่าโดยศาล

ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน: การหย่าตามกฎหมายเยอรมันจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าดำเนินการ ค่าศาล ค่าทนายความ ค่าทนายความรับรองเอกสาร แต่ละคนอาจมีค่าใช้จ่ายแต่งต่างกันไปตามรายได้ และมูลค่าทรัพย์สิน แต่หากมีรายได้น้อยหรือไม่มีทรัพย์สิน ก็สามารถยื่นคำร้องขอลดหย่อนค่าใช้จ่ายบางส่วนได้

ขั้นตอนยุ่งยากกว่าการหย่าตามกฎหมายไทย อันดับแรกควรติดต่อศาลครอบครัวในเมืองที่เราอยู่ (Amtsgericht/ Familiengericht) หรือทนายความ (Rechtsanwalt) ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว เพื่อช่วยเดินเรื่องยื่นคำร้องขอหย่าต่อศาลครอบครัว

เงื่อนไขการหย่า: ต้องมีหลักฐานว่าแยกกันอยู่มาอย่างน้อย 1 ปี และแน่ใจว่าการสมรสนั้นล้มเหลว และจะไม่กลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีก แต่หากมีการทำร้ายร่างกายร้ายแรง ก็อาจจะได้รับการตัดสินให้หย่าจากศาลได้ได้ก่อน 1 ปี

ทั้งคู่ควรมีการตกลงกันเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองบุตร การให้เงินเลี้ยงดูอีกฝ่าย การแบ่งทรัพย์สินในบ้าน การปรับเทียบเงินเลี้ยงดูในวัยชรา และข้อตกลงอื่นๆ โดยขั้นตอนนี้สามารถปรึกษาทนายให้เป็นตัวกลางได้ และศาลครอบครัวของเยอรมันจะเป็นผู้ดำเนินการหย่า

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: BGB §§ 1564 - 1587

หมายเหตุ mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า จึงควรติดต่อทนาย แต่เรายินดีให้บริการแปลเอกสารและล่าม ภาษาเยอรมัน-ไทย

2. การหย่าตามกฎหมายไทย

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการหย่าในไทยไว้ดังนี้

การสมรสสิ้นสุดลง: เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต หรือจากการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ หรือจากการหย่าโดยศาลพิพากษา

ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน: หากทั้งคู่สามารถตกลงการหย่าร้างกันเองได้ ก็ตกลงเรื่องทรัพย์สิน การปกครองบุตร และอื่นๆ ทำเป็นหนังสือหย่า และไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอได้ ค่าใช้จ่ายหรือขั้นตอนก็จะไม่ยุ่งยากเท่าการหย่าตามกฎหมายเยอรมัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็อาจจะต้องยื่นเรื่องเสนอศาลให้ช่วยตัดสิน

อ่านรายละเอียดการหย่าที่ไทย: http://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-general/12-service-handbook/general/28-general-status-divorce

เงื่อนไขการหย่า: การหย่าโดยการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ อาจไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายเยอรมัน

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 6 การสิ้นสุดแห่งการสมรส

หมายเหตุ mausmoin.com ไม่มีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า จึงควรติดต่อทนาย แต่เรายินดีให้บริการแปลเอกสารและล่าม ภาษาเยอรมัน-ไทย

3. การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันและไทยไว้ดังนี้ หลังแต่งงานหากเราใช้นามสกุลเดิม ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่กรณีที่เราเปลี่ยนนามสกุล ไปใช้นามสกุลของคู่สมรส เมื่อหย่าร้างกันแล้ว เราควรเข้าใจกฎหมายการใช้นามสกุลทั้งในไทย และเยอรมนี เพื่อเข้าใจสิทธิและหน้าที่การใช้นามสกุลอีกฝ่ายหลังหย่าได้ถูกต้อง

3.1 กฎหมายเยอรมัน (BGB § 1355 Ehename)

คู่สมรสที่เป็นหม้าย หรือหย่าจากคู่สมรสสามารถใช้นามสกุลหลังสมรสต่อได้ หรือสามารถแจ้งที่สำนักทะเบียน (Standesamt) ขอกลับไปใช้นามสกุลเกิด หรือนามสกุลเดิมก่อนสมรส (หรือนามสกุลของคู่สมรสเก่า) หรือขอเพิ่มนามสกุลเกิดของตน หรือนามสกุลหลังสมรสเข้าไปในนามสกุลตนเองเป็นนามสกุลควบได้ mausmoin.com ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ดังนี้

  • นามสกุลเกิด: น.ส. หนูนา รักไทย
  • นามสกุลจากการสมรสเก่า (หย่ารอบแรก): น.ส. หนูนา เม้าส์มัน
  • นามสกุลหลังสมรสล่าสุด (สมรสรอบสอง): น.ส. หนูนา รักเยอรมัน

นามสกุลหลังเป็นหม้าย หรือหย่ารอบสอง จะใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันได้ดังนี้

1. กลับไปใช้นามสกุลเกิด: น.ส. หนูนา รักไทย

2. กลับไปใช้นามสกุลจากการสมรสเก่า: น.ส. หนูนา เม้าส์มัน

3. ใช้นามสกุลควบ โดยเอานามสกุลเกิด บวกกับนามสกุลหลังสมรสล่าสุด: น.ส. หนูนา รักไทย-รัก เยอรมัน หรือ น.ส. หนูนา รักเยอรมัน-รักไทย

4. ใช้นามสกุลควบ โดยเอานามสกุลจากการสมรสเก่า บวกกับนามสกุลหลังสมรสล่าสุด: น.ส. หนูนา รักเยอรมัน-เม้าส์มัน หรือ น.ส. หนูนา เม้าส์มัน-รักเยอรมัน

5. ใช้นามสกุลหลังสมรสล่าสุดตามเดิม ไม่เปลี่ยนนามสกุล: น.ส. หนูนา รักเยอรมัน

การเปลี่ยนชื่อข้างต้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการหย่ามีผลเป็นที่สิ้นสุดแล้ว (Scheidungsbeschluss) หรือคู่สมรสเสียชีวิตลง

3.2 กฎหมายไทย (พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548)

การใช้นามสกุลหลังการหย่า: หลังหย่า หรือศาลเพิกถอนการสมรส คู่สมรสที่ใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (มาตรา 13 วรรค 1)

การใช้นามสกุลหลังคู่สมรสเสียชีวิต: หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้นามสกุล ของอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิ์ใช้นามสกุลนั้นต่อไปได้ แต่เมื่อจะสมรสใหม่ให้กลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (มาตรา 13 วรรค 2)

สรุป การใช้นามสกุลหลังหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต

mausmoin.com สรุปข้อมูลการใช้นามสกุลตามกฎหมายเยอรมันและไทยไว้ดังนี้  ถ้าเรามีสัญชาติไทย อาศัยอยู่ที่เยอรมนี ก็ควรจะเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่า ให้สอดคล้องกับทั้งกฏหมายไทย และกฎหมายเยอรมัน แม้กฎหมายเยอรมันจะมีทางเลือกให้เราใช้นามสกุลหลังหย่าได้หลายแบบ ทั้งให้ใช้นามสกุลหลังสมรสเดิม นามสกุลควบ หรือเปลี่ยนนามสกุลกลับไปใช้นามสกุลเก่า แต่กฎหมายไทย (พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548 มาตรา 13 วรรค 1) บัญญัติให้ต้องเปลี่ยนนามสกุล กลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน

ดังนั้นเพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมายทั้งสองประเทศ หลังหย่าหรือเป็นหม้าย และต้องการแต่งงานใหม่ เราควรเปลี่ยนนามสกุลกลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน โดยเปลี่ยนทั้งที่ไทยและที่เยอรมนีให้เหมือนกัน

แต่หากเราต้องการใช้นามสกุลสามีเก่าต่อไป ที่เยอรมนีสามารถใช้ได้ (รายละเอียดข้อ 3.1) แต่ที่ไทย จะต้องมีใบยินยอมจากเจ้าของนามสกุล (สามีเก่า/ครอบครัวของสามีเก่า) ว่าสามารถให้เราใช้นามสกุลของเขาต่อไปได้หลังหย่ากัน รายละเอียดการเตรียมเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรปรึกษางานนามสกุล กรมการปกครอง สายด่วนมหาดไทย โทร 1548 (ประเทศไทย)

4. การเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่าตามกฎหมายเยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย

namenaenderung SCHEIDUNG 1200x1500

mausmoin.com รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทยไว้ดังนี้ หลังจากที่ทำเรื่องหย่าเสร็จเรียบร้อย สถานภาพการสมรสของเราจะเปลี่ยนจาก “สมรส” เป็น “หย่าร้าง” หากหย่าที่เยอรมนี เราควรทำเรื่องขอให้อำเภอที่ไทย บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) ให้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลสถานภาพครอบครัวของเรา ตรงกันทั้งที่ไทยและเยอรมนี จะได้ไม่มีปัญหาตามมา เมื่อต้องการแต่งงานอีกครั้ง เนื่องจากเราจะต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสประกอบการสมรสใหม่ด้วย

ขั้นตอนที่เยอรมนี

1. ไปรับรองใบหย่าว่าเป็นเอกสารจริง ไม่ปลอมแปลง:

นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้ว (Scheidungsurteil) ไปรับรองเอกสารว่าไม่ปลอมแปลง โดยทั่วไปคำพิพากษาหย่าที่ออกโดยศาลชั้นต้น (Amtsgericht) ในเยอรมนี จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ศาลผู้ออกทะเบียนหย่าจากศาลแห่งรัฐ (Landgericht) ก่อน เรียกว่า Beglaubigung / Überbeglaubigung ซึ่งเราสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่จัดทำคำพิพากษาหย่าให้เรา ว่าต้องไปรับรองที่ไหน แต่ละรัฐอาจจะไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไป อ่านเพิ่มเติมที่ https://mausmoin.com/beglaubigung-de/

2. นำมาแปลเป็นไทย:

นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้วจากข้อ1 แล้ว มาให้นักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน แปลใบหย่ากับ mausmoin.com

3. ไปรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลใหญ่ในเยอรมนี:

นำคำพิพากษาหย่าพร้อมคำแปล ส่งไปรับรองอีกครั้งที่สถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt/กงสุลใหญ่ที่ München สามารถยื่นเรื่องได้ทั้งทางไปรษณีย์ หรือเดินทางไปยื่นที่สถานทูตไทย หรือกงสุลใหญ่ ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร (เบอร์โทร กงสุลใหญ่ Frankfurt: 069-69 868 205/ เบอร์โทร สถานทูตไทย ฝ่ายข้อมูลทั่วไป: 030-79 48 11 01, เบอร์โทร กงสุลใหญ่ München 089 944 677-113)

ขั้นตอนที่ไทย

4. ไปรับรองเอกสารที่กรมการกงสุล เขตหลักสี่:

เมื่อได้เอกสารคืนจากการรับรองในข้อ 3 แล้ว เราก็สามารถเดินทางไปไทย หรือมอบอำนาจให้คนที่ไทย ไปยื่นเรื่องรับรองเอกสารให้เรา เป็นรอบสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากเอกสารที่ออกจากต่างประเทศ จะเป็นที่ยอมรับจากทางการไทย ต่อเมื่อมีการรับรองเอกสารจากสถานทูต/กงสุลใหญ่ในต่างประเทศ และจากกระทรวงการต่างประเทศอีกรอบ

5. ไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอ:

นำคำพิพากษาหย่าพร้อมคำแปลที่ได้รับการรับรองแล้วจากข้อ 4 ไปที่อำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นทำให้ได้

6. ทำบัตรประชาชนใหม่:

นำทะเบียนบ้านใหม่ ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนที่ใช้นามสกุลใหม่หลังหย่า ต้องไปทำด้วยตนเองที่ไทย หรือทำที่เยอรมนี โดยทำนัดล่วงหน้ากับทางสถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt, กงสุลใหญ่ที่ München (เบอร์โทร กงสุลใหญ่: 069-69 868 205, เบอร์โทร สถานทูตไทย: 030 79 481 114, เบอร์โทร กงสุลใหญ่ München 089 944 677-114)

7. ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่:

นำทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนใหม่ ที่เปลี่ยนนามสกุลแล้ว ไปประกอบการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ สามารถทำได้ทั้งที่ไทย และเยอรมนี

ปัจจุบัน เราไม่สามารถขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ (อีพาสปอร์ต) ได้ จะต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น (แต่หากยังถือหนังสือเดินทางแบบเก่าอยู่ ก็ยังสามารถยื่นเรื่องแก้ไขได้ ที่สถานทูตไทยหรือกงสุลใหญ่) อย่างไรก็ตาม การขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางแบบเก่า ยังไม่ถือเป็นการเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ ตามกฎหมายไทย

ดังนั้น หากเราต้องการทำหนังสือเดินทางไทยเล่มใหม่ โดยใช้นามสกุลใหม่หลังหย่า เราจะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนในทะเบียนบ้านไทยก่อน เนื่องจากนามสกุลจะต้องตรงกันกับทะเบียนบ้านไทย หรือบัตรประชาชนไทยที่มีนามสกุลใหม่ ที่เราจะต้องยื่นพร้อมกับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไทย

รวบรวมข้อมูลจาก: เว็บไซต์สถานทูตไทย Berlin, กงสุลใหญ่ Frankfurt,กงสุลใหญ่ München, สำนักทะเบียนไทย, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548, กฎหมายเยอรมัน BGB §§ 1564 - 1587

ติดต่อเรา Mausmoin.com

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปลคำพิพากษาหย่า (Scheidungsbeschluss) และเอกสารประกอบการหย่า ภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้าน บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) ที่ไทยได้ หรือทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line: mausmoin, info@mausmoin.com  -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Rheinland-Pfalz, Hessen และ Baden-Württemberg โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Oberwesel 55430) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

เปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสที่เยอรมัน ในทะเบียนบ้านไทย | Namensänderung nach der Hochzeit

 namenaenderung heirat hausregis 1200x1500

หลังจากจดทะเบียนสมรสที่เยอรมัน หากเราเปลี่ยนชื่อสกุล ไปใช้นามสกุลของคู่สมรส หรือต้องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ จาก “นางสาว” เป็น “นาง” ก็จะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุล และคำนำหน้าชื่อในเอกสารสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเดินทาง ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ใบขับขี่ ฯลฯ เพื่อให้เรามีชื่อตรงกันในทุกๆ เอกสาร

ตามกฎหมายไทย การเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ จะต้องไปเปลี่ยนในทะเบียนบ้านที่ไทยเท่านั้น ตามทฤษฎีแล้ว จะต้องไปแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัว และเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านที่ไทย ภายใน 90 วัน หลังวันสมรส โดยเราสามารถเดินทางไปทำเอง ที่อำเภอที่ไทยได้ หรือหากไม่สะดวก ก็สามารถมอบอำนาจให้ญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนที่ไทย ไปดำเนินการให้แทนได้

โดยการมอบอำนาจจากเยอรมันไปให้คนที่ไทย เราจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบ และเดินทางไปยื่นเรื่องขอมอบอำนาจที่กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt หรือสถานทูตไทยใน Berlin หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก หรือไปที่งานกงสุลสัญจร ไม่สามารถทำเรื่องทางไปรษณีย์ได้

สารบัญ

ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย

ขั้นตอนที่เยอรมัน

ขั้นตอนที่ไทย

Checklist เปลี่ยนชื่อในเอกสารอะไรบ้าง

ติดต่อแปลเอกสาร

ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย

ขั้นตอนที่เยอรมัน

1. ไปรับรองใบสมรสว่าเป็นเอกสารจริง ไม่ปลอมแปลง:

นำใบสำคัญการสมรสเยอรมัน (Heiratsurkunde) หรือ สำเนาคัดจากทะเบียนการสมรสแบบหลายภาษา (internationaler Auszug aus dem Heiratseintrag) ไปรับรองเอกสารว่าไม่ปลอมแปลง เป็นลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานที่ออกเอกสารจริง ที่หน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนสมรสให้เรา หรือที่สำนักทะเบียน (Standesamt) ว่าต้องไปรับรองที่ไหน แต่ละรัฐอาจจะไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไป อ่านรายละเอียดที่ https://mausmoin.com/beglaubigung-de/

หมายเหตุ "บันทึกฐานะแห่งครอบครัว" (Familienbuch) และ "ใบรับรองการสมรส" (Bescheinigung über die Eheschließung) นำมาใช้เป็นหลักฐานแทนใบสำคัญการสมรสไม่ได้

2. นำมาแปลเป็นไทย:

นำใบสมรสที่รับรองจากข้อ1 แล้ว มาให้นักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน แปลและรับรองคำแปลกับ mausmoin.com  เอกสารฉบับแปลจาก mausmoin.com เป็นที่ยอมรับในหน่วยงานทั้งในเยอรมนีและประเทศไทย

3. ไปรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลใหญ่ในเยอรมัน:

นำใบสมรสพร้อมคำแปล ส่งไปรับรองอีกครั้งที่สถานทูตที่ Berlin /กงสุลใหญ่ที่ Frankfurt สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สามารถยื่นเรื่องได้ทั้งทางไปรษณีย์ หรือเดินทางไปยื่นที่สถานทูตไทย หรือกงสุลใหญ่ ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร

กรณีที่เราใช้นามสกุลของคู่สมรส จะต้องนำหนังสือยินยอมของคู่สมรสไปยื่นด้วย โดยสามารถใช้ฟอร์ม “หนังสือยินยอมของคู่สมรส” ของกงสุลใหญ่ ฯ และให้กงสุลใหญ่ ฯ รับรองก่อน (ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร) แล้วจึงนำไปยื่นที่ประเทศไทย

ขั้นตอนที่ไทย

4. ไปรับรองเอกสารที่กรมการกงสุล เขตหลักสี่:

เมื่อได้เอกสารคืนจากการรับรองในข้อ 3 แล้ว เราก็สามารถเดินทางไปไทย หรือมอบอำนาจให้คนที่ไทย ไปยื่นเรื่องรับรองเอกสารให้เรา เป็นรอบสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากเอกสารที่ออกจากต่างประเทศ จะเป็นที่ยอมรับจากทางการไทย ต่อเมื่อมีการรับรองเอกสารจากสถานทูต/กงสุลใหญ่ในต่างประเทศ และจากกระทรวงการต่างประเทศอีกรอบ

5. ไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอ:

นำใบสมรสที่ได้รับการรับรองแล้วจากข้อ 4 ไปที่อำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุลตามคู่สมรส ในทะเบียนบ้านไทย สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นทำให้ได้

6. ทำบัตรประชาชนใหม่:

นำทะเบียนบ้านใหม่ ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนที่ใช้นามสกุลใหม่หลังสมรส ต้องไปทำด้วยตนเองที่ไทย

7. ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่:

นำทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนใหม่ ที่เปลี่ยนนามสกุลแล้ว ไปประกอบการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ สามารถทำได้ทั้งที่ไทย และเยอรมัน

ปัจจุบัน เราไม่สามารถขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ (อีพาสปอร์ต) ได้ จะต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น (แต่หากยังถือหนังสือเดินทางแบบเก่าอยู่ ก็ยังสามารถยื่นเรื่องแก้ไขได้ ที่สถานทูตไทยหรือกงสุลใหญ่) อย่างไรก็ตาม การขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางแบบเก่า ยังไม่ถือเป็นการเปลี่ยนนามสกุลที่สมบูรณ์ ตามกฎหมายไทย

ดังนั้น หากเราต้องการทำหนังสือเดินทางไทยเล่มใหม่ โดยใช้นามสกุลใหม่หลังสมรส เราจะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนในทะเบียนบ้านไทยก่อน เนื่องจากนามสกุลจะต้องตรงกันกับทะเบียนบ้านไทย หรือบัตรประชาชนไทยที่มีนามสกุลใหม่ ที่เราจะต้องยื่นพร้อมกับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไทย

แหล่งที่มา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

Checklist เปลี่ยนชื่อในเอกสารอะไรบ้าง

  • บัตรประชาชน
  • หนังสือเดินทาง
  • ทะเบียนบ้าน
  • บัตรประกันสุภาพ
  • ใบขับขี่, บัตรเดินทางรถสาธารณะ
  • แจ้งคลินิก/ โรงพยาบาล
  • แจ้งบัตรเครดิต/ ธนาคาร
  • แจ้งนายจ้าง/ ที่ทำงาน
  • แจ้งประกันต่างๆ เช่น ประกันบ้าน ประกันรถ ประกันชีวิต
  • แจ้งเปลี่ยนในสัญญาต่างๆ เช่น สัญญาโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ
  • แจ้งมหาวิทยาลัย / เปลี่ยนชื่อในบัตรนักศึกษา
  • แจ้งสมาคม หรือชมรมที่เราเป็นสมาชิกอยู่

ติดต่อเรา

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้าน บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) ที่ไทยได้ หรือทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Skype หรืออีเมล์ด้านล่าง -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Baden-Württemberg และ Bayern โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Reutlingen 72760) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล์: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

การจดทะเบียนสมรสในเยอรมนี | Die standesamtliche Trauung in Deutschland

การแต่งงานให้มีผลถูกต้องตามกฎหมายเยอรมัน จะต้องมีจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียนที่สำนักทะเบียน [Standesamt] โดยควรติดต่อนายทะเบียนเพื่อขอทำนัดล่วงหน้า จากนั้นก็เตรียมเอกสาร ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส คำชี้แจงการใช้ชื่อสกุลหลังแต่งงานของทั้งสองฝ่าย และมาจดทะเบียนสมรสในวันเวลาที่ทำนัดไว้

Info auf Deutsch: Eheschließung mit ThailänderIn in Deutschlandicon_german, Unser Service: Beglaubigte Übersetzung /Dolmetschen Deutsch-Thai

สารบัญ

การเตรียมเอกสาร

ขั้นตอนการมาจดทะเบียนสมรสที่เยอรมนี

ลำดับพิธีการจดทะเบียนสมรส

ระยะเวลา

แปลเอกสารไทย-เยอรมันกับ Mausmoin.com

ล่ามในพิธีแต่งงาน

การเตรียมเอกสาร

หากคู่สมรสทั้งคู่อาศัยอยู่ที่เยอรมนี หรือเมื่อคู่หมั้นคนไทยเดินทางมาเยี่ยมเป็นเวลาสั้น ๆ ทั้งคู่ควรไปติดต่อสำนักทะเบียนที่เมือง เพื่อขอข้อมูล และรายละเอียดเอกสารที่ต้องใช้ ในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส [Anmeldung zur Eheschließung] ที่นั่น เนื่องจากแต่ละเมืองหรือแต่ละกรณี อาจต้องการเอกสารแตกต่างกัน (เช่น ถ้าโสด จะเตรียมเอกสารน้อยกว่าคนที่เคยแต่งงานหรือหย่ามาก่อน)

หากมีเอกสารเป็นภาษาไทย เราต้องนำมาแปลเป็นเยอรมันก่อน และจึงนำไปยื่นเอกสารขอจดทะเบียนสมรสกับทางสำนักทะเบียน โดยสำนักทะเบียนหลาย ๆ แห่งมักจะอยากให้แปลเอกสารกับนักแปลที่อยู่ในประเทศเยอรมนีและได้รับอนุญาตจากศาล คุณสามารถติดต่อแปลกับ Mausmoin.com ได้ทาง Line: mausmoin, info@mausmoin.com เอกสารแปลจาก mausmoin.com มีผลตามกฎหมาย สามารถนำไปยื่นนายทะเบียนในเยอรมนีได้เลย โดยไม่ต้องนำไปรับรองคำแปลอีก

หากคู่หมั้นคนไทยไม่สามารถเดินทางไปที่สำนักทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็สามารถทำเรื่องมอบอำนาจให้คู่สมรสอีกฝ่ายยื่นเรื่องให้แทนได้ ใบมอบอำนาจภาษาเยอรมันเรียกว่า Vollmacht หรือ Beitrittserklärung แต่ละเมืองจะมีฟอร์มไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรขอใบมอบอำนาจกับทางสำนักทะเบียนเมืองนั้น ๆ โดยตรง หากกรอกภาษาเยอรมันยังไม่ได้ สามารถติดต่อ Mausmoin.com เพื่อล่ามและกรอกใบมอบอำนาจให้แทน ได้ทาง Line: mausmoin, info@mausmoin.com

ตัวอย่างเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนสมรสในเยอรมนี

โดยทั่วไป นายทะเบียนจะขอเอกสารดังต่อไปนี้จากคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ทุกใบต้องยื่นเอกสารตัวจริง พร้อมฉบับแปลเป็นเยอรมัน ทั้งนี้ควรยึดรายการเอกสารที่ได้จากสำนักทะเบียนที่จะจดทะเบียนสมรสเป็นหลัก แต่ละคนอาจจะต้องเตรียมเอกสารมากน้อยไม่เท่ากัน

  • หนังสือเดินทาง* หรือบัตรประชาชน [Personalausweis oder Reisepass]
  • สูติบัตร [Geburtsurkunde]
    • หรือหนังสือรับรองการเกิด [Geburtsbescheinigung]
  • ใบรับรองที่อยู่อาศัย [Aufenthaltsbescheinigung] อายุไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่ออก
    • เช่น ทะเบียนบ้าน* [Hausregisterauszug] เล่มสีฟ้า
    • หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (14/1) ควรขอคัดรายการจากอำเภอที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้านหรือสำนักทะเบียนกลาง
  • หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส อายุไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่ออก
    • สำหรับคนโสด: หนังสือรับรองโสด [Ledigkeitsbescheinigung] ขอได้จากอำเภอที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน
    • สำหรับคนเคยสมรส: หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส [Familienstandsbescheinigung] ขอได้จากอำเภอที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน
  • ใบคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนครอบครัว [Auszug aus dem Zentralregister] จากสำนักทะเบียนกลาง (นางเลิ้ง) กรมการปกครอง ตึก 3 ถ.นครสวรรค์ แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. โทร 02-3569658
  • หากเคยเปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุล:
    • ใบเปลี่ยนชื่อ (ช.3)  [Namensänderungsurkunde]
    • หรือใบเปลี่ยนนามสกุล (ช.1, ช.5) [Namensänderungsurkunde]
  • หากเคยสมรส/หย่า/หรือคู่สมรสเสียชีวิต:
    • ใบสำคัญการสมรสกับคู่สมรสเก่า [Heirats­ur­kunde]
    • ทะเบียนสมรสกับคู่สมรสเก่า [Heiratseintrag]
    • ใบหย่ากับคู่สมรสเก่า [Scheidungsurkunde]
    • ทะเบียนหย่ากับคู่สมรสเก่า [Scheidungseintrag]
    • คำพิพากษาหย่า [Scheidungsurteil] กรณีหย่าในเยอรมนี
    • มรณบัตรของคู่สมรสเก่า [Sterbeurkunde]
  • ใบสาบานตนว่าให้ข้อมูลสถานภาพการสมรสถูกต้อง [Eidesstattliche Versicherung vor dem deutschen Standesbeamten über den Familienstand] ไปเซ็นชื่อต่อหน้านายทะเบียนที่เยอรมนี นายทะเบียนอาจขอให้นำล่ามมาแปลให้

*หนังสือเดินทางและทะเบียนบ้าน (เล่มสีฟ้า) ไม่จำเป็นต้องส่งตัวจริงไปให้คู่หมั้นที่เยอรมัน แต่สามารถทำสำเนาและนำไปรับรองสำเนาถูกต้องที่สถานทูตเยอรมันพร้อมกันเอกสารอื่น ๆ ที่จะต้องนำไปรับรองไม่ปลอมแปลงที่สถานทูตเยอรมัน

นอกจากนี้อาจมีเอกสารอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ทะเบียนอาจจะขอเพิ่ม เช่น

  • หนังสือรับรองรายได้ [Einkommensnachweis]
  • สูติบัตรของลูกที่เกิดจากคู่สมรส [Geburtsurkunde]

ติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com ได้ที่ Line ID: mausmoin หรือ info@mausmoin.com

ขั้นตอนการมาจดทะเบียนสมรสที่เยอรมนี

หากเราเป็นคนไทยที่มีสัญชาติเยอรมันแล้ว หรือถือสองสัญชาติ เจ้าหน้าที่อาจต้องการเพียงใบสูติบัตร และเอกสารอื่นๆ พร้อมฉบับแปลเป็นเยอรมัน เตรียมเอกสารเหมือนคนเยอรมัน อาจไม่ขอใบรับรองโสดจากไทย

แต่หากคู่สมรสชาวไทยยังอาศัยอยู่ที่ไทย และต้องการเดินทางมาจดทะเบียนสมรสที่เยอรมนี กรณีนี้ ฝ่ายชาวไทยต้องขอวีซ่าเพื่อจุดประสงค์การแต่งงาน ไม่ควรขอวีซ่าท่องเที่ยว โดย

1. ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียน

ทั้งคู่ไปติดต่อยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนที่เมือง และจะได้รายละเอียดเอกสารที่ต้องเตรียม หากฝ่ายหญิงอยู่ไทย หรือไปด้วยไม่ได้ จะต้องทำเรื่องมอบอำนาจให้คู่หมั้นอีกฝ่ายยื่นเรื่องแทน จากนั้นเตรียมเอกสารตามที่นายทะเบียนเยอรมันขอ

ข้อควรระวัง: ในกรณีที่เรายังเตรียมเอกสารไม่ครบ การทำนัดจดทะเบียนสมรส ควรวางแผนเผื่อเวลาไว้ให้ดี เนื่องจากเอกสารจากไทยจะต้องมีการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง ซึ่งอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ โดยอย่าลืมว่าใบรับรองโสด หรือใบรับรองสถานภาพการสมรสที่เราขอจากไทย จะมีอายุใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือน

2. รับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง (Legalisation) ที่สถานทูตเยอรมนีในไทย

ส่วนใหญ่ในรายการเอกสารจะมีเขียนว่า Legalisation หรือ legalisiert กำกับท้ายชื่อเอกสาร ให้ไปรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง (Legalisation) ที่สถานทูตเยอรมนีในไทย (ถ.สาธร) ก่อน ใช้เวลาราว 6 - 8 สัปดาห์ โดยจะต้องยื่นเอกสารต้นฉบับภาษาไทย (ตัวจริง) พร้อมสำเนาอย่างละ 2 ชุด ไม่จำเป็นต้องยื่นคำแปลต่อสถานทูตฯ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำแทนได้หรือไปด้วยตนเอง เมื่อรับรองเรียบร้อย สามารถไปรับเอกสารที่สถานทูตคืนด้วยตนเอง หรือจะให้ทางสถานทูตส่งเอกสารที่ได้รับการรับรองแล้ว ไปให้คู่หมั้นที่เยอรมนีเลยก็ได้ โดยจะต้องแจ้งความประสงค์และชำระค่าใช้จ่ายตั้งแต่ส่งมอบเอกสาร

3. แปลเอกสารภาษาไทยเป็นเยอรมัน

เมื่อเตรียมเอกสารครบ และได้รับการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงจากสถานทูตเรียบร้อยแล้ว นำมาแปลไทยเป็นเยอรมัน เพื่อให้คู่หมั้นที่เยอรมนีนำเอกสารไทยและฉบับแปลไปยื่นต่อนายทะเบียนที่เยอรมนีต่อไป เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของคุณ สามารถติดต่อแปลกับ mausmoin.com โดยส่งรูปเอกสารหรือสแกนเอกสารชัดๆ มาทาง info@mausmoin.com หรือทาง Line ID: mausmoin จากนั้นเราจะแปลและส่งเอกสารไปให้คู่หมั้นในเยอรมนีโดยตรง ใช้เวลาแปล 3-7 วันทำการ (ขึ้นอยู่กับจำนวนเอกสาร) และส่งงานทางไปรษณีย์เยอรมนีเพียง 1-2 วัน

เอกสารแปลทุกฉบับจาก mausmoin.com จะมีตราประทับรับรองคำแปลถูกต้อง โดยล่ามและนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลในประเทศเยอรมนี ดังนั้นเอกสารแปลจากเราเป็นที่ยอมรับทางราชการทั้งในไทย เยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์
 
และสามารถยื่นฉบับแปลต่อนายทะเบียนในเยอรมนีได้เลย เนื่องจากนักแปลได้รับอนุญาตให้รับรองคำแปลจากศาลเยอรมันแล้ว โดยไม่ต้องนำไปรับรองอะไรเพิ่มอีก ทั้งนี้ เอกสารต้นฉบับภาษาไทย คุณยังต้องนำไปรับรองไม่ปลอมแปลง (Legalisation) ที่สถานทูตเยอรมนีในไทยตามข้อสอง

หากเอกสารตัวจริงส่งมาให้คู่หมั้นที่เยอรมนีแล้ว สามารถให้คู่หมั้นที่เยอรมนีติดต่อแปลเอกสารกับ mausmoin.com ในเยอรมนีที่ Tel. +49 (0) 17631176234, info@mausmoin.com , Line ID: mausmoin

icon_germanข้อมูลการจดทะเบียนสมรสภาษาเยอรมัน Info auf Deutsch: Eheschließung mit ThailänderIn in Deutschland, Unser Service: Beglaubigte Übersetzung /Dolmetschen Deutsch-Thai

4. ยื่นเอกสารต้นฉบับพร้อมคำแปลเยอรมัน

หลังจากได้รับฉบับแปลแล้ว ก็นำเอกสารทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง พร้อมคำแปล ไปยื่นให้นายทะเบียน จากนั้นนายทะเบียนจะส่งเอกสารไปให้ศาลสูงในเขตที่สำนักทะเบียนสังกัด (Oberlandesgericht) ตรวจเอกสารอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าผู้ที่จะสมรสโสดจริงและมีคุณสมบัติในการสมรสในเยอรมนีจริง จากนั้นทั้งคู่ก็สามารถทำนัดวันจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนได้

5. ขอวีซ่าเพื่อการจดทะเบียนสมรสที่เยอรมนี

การยื่นคำร้องขอวีซ่าเพื่อการจดทะเบียนสมรส หรือจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสกับบุคคลเพศเดียวกัน สามารถทำนัดล่วงหน้าได้ และต้องยื่นหลักฐานโดยแสดงฉบับจริง พร้อมสำเนา 2 ชุดดังนี้

  • หนังสือเดินทางฉบับจริงที่ยังมีอายุการใช้ พร้อมสำเนา 2 ชุด (เฉพาะหน้าที่มีข้อมูลส่วนบุคคล) อาจต้องแสดงหนังสือเดินทางเล่มเก่าด้วย
  • รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก 2 ใบ ตัวอย่างรูปถ่าย
  • แบบฟอร์มขอวีซ่าประเภท National Visa ที่กรอกข้อความครบถ้วน 2 ฉบับ ต้องตอบคำถามทุกข้อ กรอกโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ พร้อมลงลายเซ็น
  • หลักฐานการแจ้งขอจดทะเบียนสมรส ต่อสำนักทะเบียนในเยอรมนี (จะได้หลังจากที่คู่หมั้นที่เยอรมนีนำเอกสารทั้งหมดพร้อมฉบับแปลไปยื่นให้นายทะเบียนที่เยอรมนีตรวจสอบ) หลักฐานต้องมาจากสำนักทะเบียนในเยอรมนี โดยมีข้อความระบุชี้ชัดว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะขอจดทะเบียนสมรส หรือใช้ชีวิตสมรสกับบุคคลเพศเดียวกัน
  • หลักฐานแสดงความรู้ภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐาน (ได้แก่ ประกาศนียบัตรเยอรมันระดับ A1 ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี สามารถสอบได้ทั้งที่ไทยหรือที่เยอรมนี) คุณสามารถเรียนภาษาเยอรมันด้วยตนเองได้จากหนังสือเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์เล่ม 1-2 คอร์สปูพื้นฐานเยอรมัน และคอร์สวิดีโอติวสอบเยอรมันระดับ A1 ของเม้าส์มอยน์ได้ง่าย ๆ ติดต่อ Line/Facebook: mausmoin หรือทดลองเรียนที่ vdo.mausmoin.com
  • สำเนาหนังสือเดินทางของคู่หมั้น ที่จะไปพำนักอยู่ด้วย 2 ชุด กรณีคู่หมั้น เป็นคนต่างชาติในเยอรมนี จะต้องแสดงสำเนาวีซ่าอนุญาตให้พำนักในเยอรมนีพร้อมสำเนา 2 ชุดด้วย

อ้างอิงข้อมูลจากสถานทูตเยอรมนี กรุงเทพ

ขั้นตอนในวันจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียน ในประเทศเยอรมนี

นายทะเบียนแต่ละสำนักทะเบียนอาจมีกระบวนการจัดงานแตกต่างกันไป นายทะเบียนบางคนอาจต้องการพูดคุยเตรียมงานกับเราล่วงหน้า หรือติดต่อคุยกับล่ามของเราล่วงหน้า บางคนอาจขอให้คู่สมรสและล่ามมาก่อนเวลานัดเล็กน้อย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องเซ็น และขั้นตอนพิธีการจดทะเบียนสมรส

หากคู่สมรสไทยยังสื่อสารภาษาเยอรมันได้ไม่เพียงพอ ทางนายทะเบียนจะขอให้นำล่ามที่ได้รับการรับรองจากศาลในเยอรมนี มาช่วยแปลในพิธีด้วย

ขั้นตอนการจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนไม่มีอะไรยุ่งยาก ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการให้พิธีเรียบง่ายแค่ไหน จะแค่เข้าไปจดทะเบียนสมรสแล้วเสร็จพิธีการ หรืออยากให้มีการดื่มฉลองหลังจดทะเบียนสมรส [Sektempfang] หรือดนตรีบรรเลงส่งท้ายพิธี ก็สามารถพูดคุยจัดเตรียมงานล่วงหน้าได้

ลำดับพิธีการจดทะเบียนสมรส

  • นายทะเบียนกล่าวต้อนรับคู่บ่าวสาว เข้าสู่พิธีจดทะเบียนสมรส
  • นายทะเบียนตรวจเอกสารยืนยันบุคคล ของคู่บ่าวสาว (พยาน และล่าม) อย่าลืมนำหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่าย ติดตัวไปด้วย
  • นายทะเบียนกล่าวแนะนำคู่บ่าวสาว ในเรื่องการใช้ชีวิตคู่ หรือเรื่องการช่วยเหลือกัน พัฒนาภาษาเยอรมันของคู่สมรสฝ่ายชาวไทย
  • นายทะเบียนถามคู่บ่าวสาวทีละคน ว่าต้องการแต่งงานกับอีกฝ่ายหรือไม่
  • คู่บ่าวสาวสวมแหวนให้กันและกัน
  • นายทะเบียนอ่านรายละเอียดข้อมูลบุคคลของคู่บ่าวสาวในทะเบียนสมรส และอ่านทวนการเลือกใช้ชื่อสกุลหลังสมรสของทั้งสอง เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ คู่สมรส และนายทะเบียน ลงชื่อรับรอง ในขั้นนี้ ฝ่ายที่เปลี่ยนนามสกุล ก็จะลงชื่อด้วยนามสกุลใหม่ได้เลย
  • หลังจากขั้นตอนนี้ ทั้งคู่ก็ได้เป็นคู่สามี ภรรยากัน ถูกต้องตามกฎหมายเยอรมัน และได้รับทะเบียนสมรส หลังจากนั้น จะได้รับใบสำคัญการสมรส [Heiratsurkunde] เป็นหลักฐานการสมรส ติดต่อแปลใบสมรสกับ mausmoin.com เพื่อไปแจ้งเปลี่ยนสถานภาพการสมรสและเปลี่ยนนามสกุลที่ไทย
  • หลังจากจดทะเบียนสมรสที่เยอรมนี หากเปลี่ยน ไปใช้นามสกุลของคู่สมรส ก็จะต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลและเปลี่ยนสถานภาพการสมรสที่ไทย อ่านขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสที่เยอรมนีในทะเบียนบ้านไทย | Namensänderung nach der Heirathttps://mausmoin.com/namenaenderung-heirat/

ระยะเวลาการจดทะเบียนสมรส

การพูดคุยเรื่องเอกสารก่อนพิธีการ และช่วงพิธีการจดทะเบียนสมรส ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที หากมีล่ามแปลจะใช้เวลานานขึ้น

การจดทะเบียนสมรสในช่วง Lockdown และช่วงโคโรนา

สำนักทะเบียนหลายแห่งยังเปิดให้จดทะเบียนสมรสและยื่นเอกสารประกอบคำร้องขอจดทะเบียนสมรสได้ แต่ต้องทำนัดทางโทรศัพท์หรืออีเมลล่วงหน้า

ในวันจดทะเบียนสมรสช่วง Lockdown จะมีเงื่อนไขเข้มงวดขึ้นตามสถานการณ์และประกาศของรัฐบาล เช่น จำกัดจำนวนคนเข้าห้องทำพิธี รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย มีการโทรสอบถามก่อนวันสมรสว่าสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ โดยทางนายทะเบียนจะแจ้งอัปเดตเงื่อนไขต่าง ๆ ให้คู่สมรสเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนวันนัด

ติดต่อแปลเอกสารกับ Mausmoin.com

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจาก Mausmoin.com ประกอบการยื่นเรื่องขอจดทะเบียนสมรสได้ทั้งในไทย และเยอรมัน ทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, Facebook: mausmoin หรืออีเมล info@mausmoin.com -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Rheinland-Pfalz, Saarland, Hessen, Nordrhein-Westfalen เช่น เมือง Mainz, Wiesbaden, Frankfurt, Darmstadt, Boppard, Oberwesel, Bingen am Rhein, Koblenz, Bonn, Hanau, Aschaffenburg, Trier, Karlsruhe, Bruchsal, Mannheim, Saarbrücken, Kaiserslautern, Bad Homburg, Giessen, Ingelheim, Simmern, Cochem, Landau เมืองอื่น ๆ ทั่วเยอรมนี ตามตกลง

ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Oberwesel 55430) และค่าบริการได้ทาง

Facebook/ Line ID: Mausmoin

อีเมล: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234