คาถา 3 ข้อ แก้เราให้หาย “งง” ในดงเยอรมัน

เม้าส์มอยน์ขอแจกคาถา 3 ข้อ ที่จะทำให้เพื่อน ๆ สื่อสารเยอรมันอย่างมีประสิทธิภาพ และหายงงกับการเรียนเยอรมันซะที

"เข้าใจ" "ใส่ใจ" "ใช้จริง" (โอมเพี้ยง!)

หลายคนที่เรียนเยอรมันมักจะบ่นว่า อ่านไปหลายรอบแต่ลืม จับต้นชนปลายไม่ถูก แฟนคนเยอรมันสอนแต่ไม่เข้าใจ ลองเอาคาถา 3 นี้ไปใช้ เม้าส์มอยน์เชื่อว่า ถ้าเพื่อน ๆ ตั้งใจทำทุกข้อ ผลลัพท์จะออกมาคุ้มค่าแน่นอน

คาถาข้อ 1: "เข้าใจ"

หลายคนบอกว่า ถ้าเทียบกับเด็กว่า เด็กพูดภาษาได้ก่อนเรียนหลักภาษาอีก

งั้นเราก็ลองสื่อสารประโยคเยอรมันง่าย ๆ สั้น ๆ กับคนเยอรมันดูวันละนิด ให้พอเกิดความกล้า อันนี้ก็ทำได้ในตอนแรก

แต่ถ้าอยากสื่อสารให้ดีขึ้น ก็ต้องเริ่มทำความเข้าใจหลักภาษา เพื่อจะเอาไปปรับใช้ ให้แต่งประโยคได้หลากหลายขึ้น อ่านข้อความได้รู้เรื่องขึ้น เขียนข้อความสื่อสารได้มากขึ้น

แล้วจะเรียนรู้หลักภาษาเยอรมันยังไง ให้เข้าใจเยอรมันได้ง่าย ๆ ?

ตอบง่าย ๆ เลยคือ หาหนังสือเรียน หรือคอร์สเรียนภาษาเยอรมัน

มาเข้าใจกันก่อนว่า แต่ละคนเรียนรู้ภาษาต่างประเทศช้าเร็วไม่เท่ากัน มีวิธีทำความเข้าใจภาษาใหม่ได้ต่างกัน

บางคนมีพื้นฐานทางภาษามาดี เข้าใจอะไรได้เร็ว ก็อ่านหนังสือเองได้

เริ่มจากเลือกหนังสือเรียนภาษาเยอรมันที่เขียนเป็นภาษาไทย ไปลองเปิดดูสารบัญ อ่านเนื้อหาคร่าว ๆ ตามร้านหนังสือ

แล้วเลือกเล่มที่อ่านแล้วเราเข้าใจ มานั่งศึกษาด้วยตนเอง

ขั้นนี้ก็จะพอเข้าใจหลักภาษาเยอรมันในเบื้องต้นได้ แล้วค่อยต่อยอดลงเรียนคอร์สเยอรมันในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

แต่สำหรับบางคน ที่ไม่มีหัวทางด้านภาษา แต่อยากหรือต้องเรียนเยอรมัน การอ่านเองอาจจะไปได้ช้า งงกว่าเดิม

แก้ปัญหานี้ได้โดยการเลือกคอร์สเรียนเยอรมัน ที่สอนแบบเข้าใจง่าย เป็นขั้นเป็นตอน จากง่ายไปยาก

ที่สำคัญ ควรเลือกครูผู้สอนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากพอที่จะย่อยเรื่องเยอรมันยาก ๆ ให้เข้าใจง่าย จะดีกว่า เรียนกับ "ใครก็ได้ที่พอพูดเยอรมันได้"

นึกง่าย ๆ ว่า ถ้าเรามีครูที่สอนเข้าใจ สอนถูกต้อง รู้วิธีอธิบายเรื่องยาก เราจะไปได้เร็วกว่า มีพื้นฐานได้ดี พร้อมไปต่อยอดในระดับสูงขึ้น

มากกว่าเรียนกับ "ใครก็ได้" ที่อาจจะรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ อาจพาเรางงในดงเยอรมันมากไปกว่าเดิม

เทียบง่าย ๆ กับการเรียนทักษะอื่น ๆ เช่น การทำอาหาร เยอรมันระดับเบื้องต้นก็เหมือนเราฝึกทำไข่เจียว ข้าวผัด พอจะอ่านสูตรเอง และทำออกมาเป็นอาหาร รสชาติกินได้

แต่พอจะทำเมนูที่ยากขึ้น เช่น การฝึกทำอาหารฝรั่งเศสที่ซับซ้อนให้อร่อย การจะมา"งม"หาสูตรเอง ลองผิดลองถูกเอง จะใช้เวลานานมากกว่า การเลือกทางลัดไปลงเรียนคอร์สที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญ จะใช้เวลากระชับกว่า และผลลัพธ์ออกมาดีกว่า

ยิ่งถ้าอ่านหนังสือเสริมความรู้ และฝึกฝนเพิ่มเติม เราจะยิ่งเชี่ยวชาญและพัฒนาได้เก่งมากขึ้นอีก

คาถาข้อ 2: "ใส่ใจ"

เมื่อเรียนเยอรมันไปถึงระดับหนึ่ง หลาย ๆ เรื่อง เข้าใจอย่างเดียวไม่พอ

แต่จะต้องจำการผันด้วย คิดง่าย ๆ ก็เหมือนเรียนเลข ที่ต้องท่องสูตรคูณ

ดังนั้น คาถาข้อสอง ก็คือ "ใส่ใจ" ในการเรียน และการท่องจำสูตรการผันเยอรมัน รวมถึงคำศัพท์ ที่จำเป็นนั่นเอง

ถ้าอยากสื่อสารเยอรมันได้เร็ว ไม่ต้องคิดนาน เราก็ต้องมีสูตรการผันกริยา ผันกรรม ผันคำคุณศัพท์ การเรียงประโยค คำศัพท์ ฯลฯ ที่ใช้บ่อย อยู่ในหัว แล้วดึงเอามาใช้ได้เลย

ถ้าเราท่องสูตรพื้นฐานได้แม่น เวลาต่อยอดในระดับสูงขึ้นไป เราจะไปได้เร็วกว่า

เหมือนจะสร้างบ้านชั้นสอง ถ้าชั้นหนึ่งแข็งแรง สร้างชั้นสองก็จะทำได้ไว

แต่ถ้าพื้นฐานชั้นหนึ่งไม่แน่นพอ สร้างชั้นสองทับ ก็อาจจะถล่มลงมา

เหมือนที่หลายคนชอบบ่นว่า พอเรียนเรื่องใหม่ ก็ลืมเรื่องเก่า อันนี้ใครเป็น ต้องรีบแก้ไขเลย

ไม่งั้นก็จะกลับเข้าสู่วงจรความงงในดงเยอรมันได้

ดังนั้น จะสื่อสารเยอรมันได้ดี เราต้องทั้ง "เข้าใจ" และ "จำใส่ใจ" ด้วย

คาถาข้อ 3: "ใช้จริง"

ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก

เมื่อเข้าใจหลักภาษาเยอรมัน จำสูตรและตารางต่าง ๆ ได้ ก็ต้องเอามาฝึกใช้บ่อย ๆ

ไม่งั้นเม้าส์มอยน์บอกได้คำเดียวว่า "ลืม" แน่นอน

เทียบง่าย ๆ กับการเรียนว่ายน้ำ เราเรียนมาเป๊ะมากว่า ท่าว่ายมีอะไรบ้าง หายใจยังไง วาดมือ เตะขายังไง แต่ไม่ลงฝึกว่ายจริง เรียนทฤษฎีมาเยอะแค่ไหน ก็ไม่น่าว่ายน้ำได้เร็ว เหมือนคนที่ลงน้ำว่ายจริง

การเรียนเยอรมันก็เช่นกัน เมื่อเข้าใจหลักภาษา ท่องสูตรเป๊ะ ศัพท์แน่น ก็ต้องลงมือทำด้วย โดยฝึกฝนขนานกันไป

เมื่อเรียนเรื่องใหม่ เข้าใจ ท่องสูตรแล้ว ก็อย่าลืมทำแบบฝึกหัดเยอะ ๆ ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาเยอรมัน บ่อย ๆ

แบบฝึกหัดสมัยนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นมาก มีทั้งในอินเทอร์เนต และเป็นหนังสือรวมเล่ม เลือกเล่มที่เราอ่านแล้ว เข้าใจได้ง่าย มีเฉลย พกไว้ใกล้ตัว ฝึกทำหลังเรียน

เม้าส์มอยน์เอาตัวอย่างวิธีฝึกใช้เยอรมันทักษะต่าง ๆ มาฝากดังนี้

  • ฝึกฟังโดยการฟังเพลง ดูหนัง ดูข่าว ฟังวิทยุ ฟังเพื่อนคนเยอรมันพูด บ่อย ๆ
  • ฝึกพูด โดยหาเพื่อนคนเยอรมันคุยด้วย พูดออกเสียง คำ ประโยค สำนวน ที่เรียนไป ให้คล่อง
  • ฝึกอ่าน โดยการอ่านบทความ วรรณกรรม หนังสือที่ชอบ ข่าว ที่เหมาะสมกับระดับภาษาเยอรมันของเรา
  • ฝึกเขียน โดยการเขียนอีเมล เขียน chat คุยกับเพื่อนเป็นภาษาเยอรมัน

หรือถ้าใครอยู่เยอรมนี แล้วต้องเขียนอีเมลติดต่อราชการ เคลมของ ติดต่อโรงเรียน ก็อย่ากลัวที่จะเขียน หาคนช่วยตรวจ เกลาให้ ก็จะทำให้เราเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

ในโลกอินเทอร์เนต การฝึกฟัง หาบทความอ่าน ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี คนเรียนเยอรมันยุคนี้โชคดีมาก ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่นะจ๊ะ

ใครไม่มีเพื่อนฝึก ก็หาคอร์สเรียน หาครูช่วยสอน ช่วยแก้ เดี๋ยวนี้คอร์สเรียนออนไลน์ก็มี เรียนได้ง่าย สะดวก อย่าลืมเลือกครูที่เชี่ยวชาญ และคอร์สที่สอนถูกต้อง เข้าใจง่าย

การลงมือทำ "ใช้จริง" คือการที่เราได้เอาสิ่งที่เรียนไปอย่าง "เข้าใจ" และ "ใส่ใจ" (input) มาประมวลผล ได้คิด ได้ลองทำ ว่าที่เราเข้าใจถูกต้องมั้ย กลายมาเป็นผลลัพธ์ในแบบฝึกหัดและการสื่อสารของเรา (output)

แล้วเราจะเรียนเยอรมันได้รู้เรื่องขึ้น เข้าใจขึ้น พัฒนาเยอรมันของเราได้ดียิ่งขึ้น หนีออกจากความงงในดงเยอรมันได้อย่างแน่นอน

เม้าส์มอยน์เอาใจช่วยเพื่อน ๆ ทุกคนเสมอ และมุ่งมั่นสร้างสรรค์บทเรียนเยอรมัน ให้คนไทยเรียนเยอรมันได้อย่างเข้าใจ เรามาเก่งเยอรมันไปด้วยกันนะจ๊ะ


🙋🏻‍♂️ 🙋🏻‍♀️ใครอยากเรียนเยอรมันแบบเรียนง่าย เข้าใจ ใช้ได้จริง สอนโดยครูผู้เชี่ยวชาญ นักแปลและล่ามเยอรมันไทย สามารถสมัครเรียนคอร์สเรียนออนไลน์ของ Mausmoin.com ได้ทาง Line | Facebook: mausmoin, E-Mail: info@mausmoin.com

ใครอยากอ่านหนังสือเรียนเยอรมันปรับพื้นฐาน ขอแนะนำ หนังสือเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์เล่ม 1 และ 2 สั่งซื้อได้ทาง Line | Facebook: mausmoin, E-Mail: info@mausmoin.com
ดูรายละเอียดที่ mausmoin.com/ebook
✏️ - ใหม่! สนทนาเยอรมันพื้นฐานแบบเร่งด่วน เริ่มต้นสนทนาเยอรมันเบื้องต้น แบบไม่เน้นเรียนหลักภาษาก่อน
✏️ - คอร์สเรียนเยอรมัน A1 สำหรับคนไม่มีพื้นฐาน เรียนสดกลุ่มปิด
✏️ - คอร์สวิดีโอติวสอบเยอรมัน A1 เพื่อเข้าใจแนวข้อสอบ 4 ทักษะ
✏️ -คอร์สเรียนเยอรมัน A2 เพื่อต่อยอดเยอรมันให้เก่งขึ้น เรียนสดกลุ่มปิด
💌 กรอกใบสมัครได้ทางลิงค์แต่ละคอร์สเลย!
💌 หรือสมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

G04 2/2 เคล็ดไม่ลับกับการจำเพศคำนามเพศกลางและเพศหญิง ภาษาเยอรมัน ง่ายจังเลย!

ที่สุดของความโหดของการเรียนภาษาเยอรมัน ก็คงหนีไม่พ้นเพศของคำนาม หลังจากที่นักเรียนขอเคล็ดลับกันมาเยอะ mausmoin จะเอาเคล็ดไม่ลับกับวิธีการจำเพศคำนามในภาษาเยอรมันมาฝากในคลิปนี้ พร้อมการอัพเดทพิเศษจากครูศิริน

ใครสนใจเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เข้าใจง่าย สมัครเรียนกับ mausmoin ได้เลย!
คอร์สเรียนเยอรมัน เปิดสอนรอบใหม่แล้ว สมัครเลย!
เรียนเยอรมันแบบเข้าใจง่าย สอนเป็นขั้นเป็นตอน กระชับ จัดเวลาเรียนได้เอง เรียนที่ไหนก็ได้:
- ใหม่! คอร์สเรียนเยอรมัน A2 เพื่อต่อยอดเยอรมันให้เก่งขึ้น เรียนสดกลุ่มปิด
- คอร์สเรียนเยอรมัน A1 สำหรับคนไม่มีพื้นฐาน เรียนสดกลุ่มปิด
- คอร์สวิดีโอติวสอบเยอรมัน A1 เพื่อเข้าใจแนวข้อสอบ 4 ทักษะ 

กรอกใบสมัครได้ทางลิงค์แต่ละคอร์สเลย!
หรือสมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

สร้างความสุขให้ชีวิตด้วยภาษาเยอรมัน!

เพื่อน ๆ ที่มาอยู่เยอรมนี ไม่ว่าจะมาด้วยจุดประสงค์ใด หรือวีซ่าประเภทใด ต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ในเยอรมนี หรือแม้เราจะอยู่อาศัยในเยอรมนีมาแล้วหลายปี ก็มักจะมีเรื่องใหม่ ๆ ให้ต้องเรียนรู้ปรับตัวอยู่เสมอ

Mausmoin ได้ยินปัญหาและการก้าวผ่านอุปสรรคของเพื่อน ๆ มาหลากหลายรูปแบบ แต่ละคนก็มักจะพบเจอเรื่องท้าทายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ทางสังคม การเรียน การทำงาน การทำธุรกิจ การติดต่อราชการ การขอสัญชาติ การทำใบขับขี่ การช่วยเหลือตนเองในทุก ๆ วัน การทำความเข้าใจข้อมูลสำคัญที่กระทบกับตนเอง และอีกหลายเรื่องราว ที่ทำให้เพื่อน ๆ หลายคนใช้ชีวิตในเยอรมนีแบบเป็นทุกข์ ไม่มีความมั่นใจ และไม่รู้จะทำให้ตนเองมีความสุขขึ้นได้อย่างไร

หากจะแก้ไขปัญหา Mausmoin อยากให้ลองเริ่มแก้ทีละจุด และปัจจัยหนึ่งที่ Mausmoin เชื่อว่า เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพื่อน ๆ แก้ปัญหาการใช้ชีวิตในเยอรมนีได้ดีขึ้น ก็คือ ความรู้ภาษาเยอรมัน

หากเพื่อน ๆ มีทักษะภาษาเยอรมัน เป็นอาวุธติดตัว สามารถสื่อสารและเข้าใจภาษาเยอรมันได้ดี ก็จะเกิดความมั่นใจในตนเอง และช่วยให้เราจัดการกับปัญหา และเปลี่ยนชีวิตในเยอรมนีจากทุกข์ให้เป็นสุขได้ไม่ยาก Mausmoin จะพามาดูกันว่า ภาษาเยอรมันจะช่วยเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขได้อย่างไร

ปัญหา: ไม่มั่นใจในตนเอง สื่อสารกับครอบครัวและเข้าสังคมไม่ได้

คนไทยหลายคนมาเยอรมนีแบบยังไม่รู้ภาษาเยอรมันด้วยวีซ่าติดตามบุตร หรือบางคนแค่ท่องภาษาเยอรมันมาเพื่อสอบขอวีซ่าแต่งงานให้ผ่าน แต่ยังสื่อสารไม่ได้ แม้ตอนแรกคนกลุ่มนี้จะสบายใจว่า เดินทางเข้ามาในเยอรมนีง่าย แต่เมื่อเริ่มต้นชีวิตในเยอรมนี หลายคนกลับพบปัญหามือแปดด้าน เพราะ "ไม่รู้อะไรเลย ภาษาเยอรมันก็พูดไม่ได้ ไม่รู้จักใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ คุยกับสามีและครอบครัวไม่รู้เรื่อง เครียดกับทุกอย่างในชีวิต ไม่อยากเจอใคร ไม่มีความสุข"

บางคนอาจมีคู่สมรสคอยช่วยเหลือพาไปติดต่อราชการ พาไปซื้อของ พาไปหาหมอ แต่ถ้าโชคร้าย แฟนไม่ว่าง ก็ต้องรอไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งสายเกินกำหนด โดนค่าปรับ และเสียโอกาสไปได้ หรือหากพูดถึงสถานการณ์ที่แย่ไปกว่านั้น คือต้องแยกทางหรือหย่ากับคู่สมรส ก็ต้องหาทางเอาตัวรอดเพียงลำพังในประเทศเยอรมนี สิ่งนี้อาจดูเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่คนไทยหลาย ๆ คนก็ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง

แล้วเราจะดูแลตนเองอย่างไร ให้อยู่ในเยอรมนีอย่างมีความสุขได้ด้วยตนเอง? สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ความรู้ในการสื่อสาร ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาเยอรมันนั่นเอง

หลายคนบ่นว่า การขอวีซ่ามาอาศัยอยู่ในเยอรมนียาก เพราะต้องสอบวัดความรู้เยอรมัน แต่ Mausmoin ว่า การอยู่ในเยอรมนีให้มีความสุขและดูแลตนเองในระยะยาวได้นั้นยากกว่า เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังจะต้องสอบเยอรมัน อย่าคิดแค่ว่า สอบเพื่อเอาคะแนนมาขอวีซ่า แต่ควรตั้งเป้าหมายตั้งแต่แรกว่า ทำอย่างไรให้เราเรียนเยอรมันแล้ว สามารถพูดคุยและเข้าใจภาษาเยอรมันในชีวิตประจำวันได้ ลองมองไปข้างหน้าว่า ถ้าเราพูดคุยเยอรมันกับครอบครัวและคนรอบข้างรู้เรื่อง อ่านข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับตนเองได้เข้าใจ ปัญหามืดแปดด้านที่เคยมี ก็จะค่อย ๆ แก้ไปได้ โดยการศึกษาหาข้อมูล ติดต่อขอความช่วยเหลือได้ด้วยภาษาเยอรมัน เราก็จะมีความสุขและมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น กล้าออกไปสมัครเรียน สมัครงาน เปิดร้านหรือทำธุรกิจด้วยตนเองได้ ปัญหาทั้งหมดที่เราจัดการแก้ไขได้จะเป็นทั้งความรู้และความสุขที่เพิ่มมากขึ้น และติดตัวเราไปทุกที่ ตราบเท่าที่เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้และเดินหน้าต่อไป

ปัญหา: ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียน ฝึกงาน หรือรับเข้าทำงาน

เป็นที่รู้กันว่าในประเทศเยอรมนี ภาษาราชการและภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาเยอรมัน บางคนก็เจอปัญหาว่า หาที่เรียนต่อไม่ได้ เพราะโรงเรียนบังคับให้ยื่นผลสอบภาษาเยอรมัน หรืออยากสมัครงาน แต่ความรู้ภาษาเยอรมันไม่เพียงพอตามคุณสมบัติของตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือบางคนคิดว่างานบางตำแหน่ง ไม่ต้องรู้ภาษาเยอรมันก็ได้ เช่น งานทำความสะอาด งานแพ็คของ เซ็นสัญญาจ้างงานไปโดยไม่เข้าใจเงื่อนไข พอเข้าไปทำงานแล้ว รู้สึกเหงา คุยกับเพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจ ก็ได้แต่ไปทำงานทุกวันให้ผ่าน ๆ ไป

จะดีกว่าไหม ถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพียงเริ่มจากการพัฒนาภาษาเยอรมัน ตั้งเป้าหมายในการเรียนและการสอบตามที่โรงเรียนหรือตำแหน่งงานกำหนด รวมทั้งฝึกฝนทักษะการสื่อสารในทุก ๆ วัน เตรียมฝึกประโยค คำศัพท์ที่ใช้บ่อยไปจากบ้าน แล้วลองเข้าไปคุยกับเพื่อน ๆ วันละนิดละหน่อย Mausmoin เชื่อว่า ทุกคนจะทำได้ มั่นใจมากขึ้น มีความสุขในสถานที่ทำงานได้มากขึ้น และทำเป้าหมายภาษาเยอรมันได้สำเร็จในที่สุด ทุกอย่างต้องใช้เวลาและการฝึกฝน อย่ายอมแพ้ เพราะ “Übung macht den Meister!” การฝึกฝนจะทำให้เราชำนาญ!

ปัญหา: ไม่กล้าสอบใบขับขี่เยอรมัน ติดปัญหายื่นขอวีซ่าถาวรและขอสัญชาติเยอรมัน

เมื่ออยู่เยอรมนีมาระยะหนึ่ง หลายคนก็อยากจะสอบทำใบขับขี่เยอรมัน  อยากทำเรื่องขอสิทธิพำนักในเยอรมนีถาวร และหลายคนก็อยากจะยื่นขอสัญชาติเยอรมัน แต่ติดปัญหาที่ภาษาเยอรมัน (อีกแล้ว) ตอนสอบใบขับขี่ เราจะต้องทำข้อสอบข้อเขียน และสอบปฏิบัติ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ความรู้ภาษาเยอรมันระดับเดียวกับคนเยอรมัน หลายคนที่พยายามหนีภาษาเยอรมันมาตั้งแต่ต้น ก็จะต้องมาเจอปัญหาเดิมคือ ฟังครูสอนขับรถไม่รู้เรื่อง อ่านโจทย์และคำตอบไม่เข้าใจ ทำข้อสอบไม่ได้ เป็นทุกข์กับการเรียนและการสอบ เพราะไม่มีพื้นฐานภาษาเยอรมันที่ดี ทำให้เรียนต่อยอดลำบาก เข้าใจยาก และยกเลิกความตั้งใจไปสอบใบขับขี่ในที่สุด เช่นเดียวกับปัญหาการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันเพื่อยื่นผลสอบตอนขอสิทธิพำนักในเยอรมนีถาวร และการขอสัญชาติเยอรมัน ที่จะต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ กรอกคำร้องภาษาเยอรมัน และสอบวัดความรู้ภาษาเยอรมันระดับที่สูงขึ้นอีกครั้ง (ระดับ B1)

ดังนั้น หากใครวางแผนจะทำใบขับขี่ จะขอวีซ่าถาวร และขอสัญชาติเยอรมัน Mausmoin ขอแนะนำให้ใส่ใจกับการพัฒนาทักษะความรู้และการสื่อสารภาษาเยอรมันของตนเอง นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ในเยอรมนี หรือนับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยและเป็นทุกข์ในช่วงเวลาที่จะต้องไปสอบ เพราะความตั้งใจและใส่ใจกับการเรียนภาษาเยอรมัน ที่เราฝึกฝนและสะสมมาอย่างสม่ำเสมอในทุกวัน จะทำให้เราสามารถสอบผ่านไปได้อย่างมีความสุขและราบรื่น ไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องไปสอบ

หากเราตั้งใจจะขอวีซ่าถาวรและขอสัญชาติเยอรมันแล้ว Mausmoin อยากให้เพื่อน ๆ เข้าใจว่า นั่นหมายถึง เราต้องการจะเป็นพลเมืองเยอรมัน ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีได้ด้วยตนเอง สื่อสารกับคนรอบข้างได้ ดูแลตนเองได้ และติดต่อราชการได้เสมือนเป็นคนเยอรมันคนหนึ่ง ดังนั้น การสอบวัดระดับภาษาเยอรมันก็เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากพัฒนาความรู้ภาษาเยอรมันของตนเอง เมื่อเราสอบผ่านด้วยความมุ่งมั่นและฝึกฝนอย่างเต็มที่แล้ว หากมองย้อนกลับไป ก็จะเห็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดดก้าวใหญ่ของตนเอง เกิดความภูมิใจในตนเอง และมีความสุขในทุกความท้าทายที่เกิดขึ้นต่อไป

“Rom wurde nicht an einem Tag erbaut.” กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ความรู้และทักษะภาษาเยอรมันของเราเองก็เช่นกัน ไม่มีใครเก่งเยอรมันได้ในวันเดียว และหากเราตั้งใจจะอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีแล้ว ภาษาเยอรมันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตในประเทศเยอรมนีได้อย่างมีความสุข

รู้อย่างนี้แล้ว ยังไม่สายที่จะตั้งเป้าหมายใหม่กับตัวเองว่า เราจะเริ่มใส่ใจกับภาษาเยอรมัน Mausmoin ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า ไม่มีอะไรที่ยากเกินความสามารถของมนุษย์ ถ้าเราตั้งใจ เรียนรู้อย่างถูกวิธี เรียนด้วยความเข้าใจ และเป็นขั้นเป็นตอน คนไทยก็สามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดี Mausmoin ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน!

และในโอกาสปีใหม่ 2563 นี้ Mausmoin ขออวยพรให้เพื่อน ๆ พบเจอแต่ความสุขสมหวัง และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ในทุกเรื่อง หมั่นพัฒนาตนเองในทุกวัน และขอขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความดี ๆ ในนิตยสาร D-Magazine และบทความของ Mausmoin มาโดยตลอด แล้วพบกันฉบับหน้านะจ๊ะ!

จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 29 (มกราคม 2563) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน

อ่านนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 29 ได้ที่ https://www.d-magazine.de/files/d-magazine/pdf/magazine/Dmag29.pdf

D04 สำนวนใช้แสดงความคิดเห็น | A2 Redemittel für Meinungsäußerung

บทนี้มารู้จักสำนวนที่ใช้แสดงความคิดเห็นว่า ฉันเห็นด้วย ฉันไม่เห็นด้วย ฉันก็เห็นด้วยนะ แต่... ฉันไม่แน่ใจนะ หรือฉันแน่ใจสุดๆเลย ไปกับเม้าส์มอยน์กัน! เรียนแล้วก็ปิดท้ายด้วยแบบฝึกหัดฝึกสมองเช่นเคย แล้วอย่าลืมนำไปใช้ด้วยนะจ๊ะ

ใครอยากเรียนเยอรมันแบบเข้าใจง่าย สอนเป็นขั้นเป็นตอน กระชับ จัดเวลาเรียนได้เอง เรียนที่ไหนก็ได้ เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ:
#คอร์สเรียนออนไลน์ เยอรมันพื้นฐานติวสอบ A1ต่อยอด A2
สมัครได้เลย! ทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

D01 สนทนาเยอรมัน โทรศัพท์ทำนัดหมายที่คลินิก | A2 Terminvereinbarung


 มาฝึกฝนการทำนัดหมายกับคุณหมอเป็นภาษาเยอรมันไปพร้อมกับเม้าส์มอยน์กันเลย คลิปนี้เราจะฝึกฟังจับใจความ จากบทสนทนาการทำนัดหมาย ฝึกพูดตาม ทำแบบฝึกหัด และทบทวนประโยคที่ใช้บ่อยในการนัดหมายเป็นภาษาเยอรมัน เนื้อหาและคำศัพท์จะอยู่ในระดับ A2 นะจ๊ะ

ใครอยากเรียนเยอรมันแบบเข้าใจง่าย สอนเป็นขั้นเป็นตอน กระชับ จัดเวลาเรียนได้เอง เรียนที่ไหนก็ได้ เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ:

คอร์สเรียนเยอรมันพื้นฐาน, ติวสอบ A1, ต่อยอด A2 สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

U02 ตะลุยแบบฝึกหัด แต่งประโยคคำถาม เตรียมพร้อมสอบเยอรมัน | Übung Fragesatz A1

มาตะลุยแบบฝึกหัดสนุก ๆ เข้าใจง่าย กับเม้าส์มอยน์กันเลย! ฝึกแต่งประโยคคำถาม ไว้ถามเพื่อนเป็นภาษาเยอรมัน และเอาไปใช้เตรียมสอบวัดระดับเยอรมันได้ด้วยนะ!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ เหมาะกับเพื่อนๆ ที่อยากปูพื้นฐาน ทบทวนเยอรมัน หรือต่อยอดเยอรมันในระดับสูงขึ้นไป

ใครอยากเรียนเยอรมันแบบเข้าใจง่าย สอนเป็นขั้นเป็นตอน กระชับ จัดเวลาเรียนได้เอง เรียนที่ไหนก็ได้ เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ:
คอร์สเรียนเยอรมันพื้นฐาน, ติวสอบ A1, ต่อยอด A2 สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

“ใช้ชีวิตในเยอรมนี ต้องรู้ภาษาเยอรมันไหมนะ?” | Ist es wichtig, Deutsch zu lernen?

ใครกำลังชั่งใจว่า “จะเรียนภาษาเยอรมันดีไหมนะ” คิดว่า “ฉันน่าจะอยู่ในเยอรมนีได้ ภาษาเยอรมันไม่จำเป็นหรอก” หรือมีคำถามว่า “จะสมัครเรียน สมัครงาน ต้องรู้ภาษาเยอรมันไหมนะ” ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดูก่อนว่า ก. ใช่ ข. บางครั้ง หรือ ค. ไม่ใช่เลย แล้วมาดูคำตอบกัน

  • ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ พูดอังกฤษกับแฟนได้ แต่กลับสื่อสารกับคนเยอรมันไม่รู้เรื่อง
  • ปกติฉันเป็นคนทำอะไรได้เอง แต่ฉันกลับประหม่า เมื่อต้องออกนอกบ้านไปทำอะไรคนเดียวในเยอรมนี
  • เวลาไปซื้อของ แคชเชียร์บอกมาเท่าไร ฉันก็ไม่รู้หรอก ยื่นเงินให้เขาไป เดี๋ยวเขาก็ทอนให้เอง
  • เวลาไปทานข้าวกันเพื่อนหรือญาติของสามี ฉันอึดอัดมาก นั่งเงียบ ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พูดก็ไม่ได้ ไม่อยากไปเลย
  • ก่อนมีลูก แฟนก็พูดอังกฤษด้วย พอมีลูก แฟนก็พูดเยอรมันกับลูก เข้าใจกันแค่ 2 คน ฉันก็ได้แต่นั่งมองเงียบ ๆ งง ๆ
  • ฉันอยากเรียนต่อ อยากทำงานในเยอรมนี แต่ถูกปฏิเสธ เพราะพูดเยอรมันไม่ได้
  • ฉันอยากขับรถไปไหนได้เองในเยอรมนี แต่สอบใบขับขี่ไม่ได้ เพราะอ่านข้อสอบไม่รู้เรื่อง คุยกับครูไม่ได้
  • ฉันอยากขอสัญชาติเยอรมัน แต่ติดที่ต้องสอบเยอรมันให้ได้ถึงระดับ B1 รู้งี้ ฉันเรียนภาษาเยอรมันมาตั้งนานแล้ว

ถ้าคำตอบคือ ใช่ หรือบางครั้ง เกิน 2 ข้อ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญแล้วว่า ภาษาเยอรมันสำคัญกับการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนีของเรามากแค่ไหน และควรอ่านบทความนี้ต่อเพื่อปรับความคิด และเปลี่ยนชีวิตในเยอรมนีให้มีความสุขไปด้วยกัน Mausmoin ขออาสาพาเพื่อน ๆ เปิดมุมมองว่า “ทำไมเราต้องเรียนรู้ภาษาเยอรมัน เมื่อมาอยู่ในเยอรมนี” “ปัญหาอะไรที่อาจพบเจอ เมื่อไม่รู้ภาษาเยอรมัน” และ “รู้ภาษาเยอรมันแล้วดีกับตนเองอย่างไร”

ทำไมเราต้องรู้ภาษาเยอรมัน?

หลายคนอาจคิดว่า “วัน ๆ ฉันไม่ต้องไปไหน คงไม่ต้องใช้เยอรมัน” แต่พอมีลูก ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน ต้องคุยกับครู ผู้ปกครองคนอื่น กลับเข้าสังคมของลูกไม่ได้ เพราะสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือหลายคนมักคิดไปว่า “ฉันมีแฟน/สามี และเพื่อน ๆ คอยแปลเยอรมันให้ได้” แต่หากไม่มีใครช่วย ก็ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้เลย ภาษาเยอรมันกลายเป็นอุปสรรคในชีวิต และปิดกั้นโอกาสและความสามารถของเราไป

ภาษาเยอรมันสำหรับคนไทย อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แค่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็น่าจะเอาตัวรอดได้ แต่จากประสบการณ์ของ Mausmoin และคนไทยหลายคน ความคิดข้างต้นอาจจะถูกเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จริงอยู่ที่สมัยนี้คนเยอรมันรุ่นใหม่ พอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ใช้ภาษาอังกฤษในเยอรมนีก็พอจะเอาตัวรอดไปได้ แต่หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะในเมืองเล็ก ๆ คนเยอรมันจะพูดแต่ภาษาเยอรมัน ป้ายคำสั่ง ป้ายให้ข้อมูลต่าง ๆ จะเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ถ้าเราอ่านไม่ออก ฟังหรือคุยไม่รู้เรื่อง นอกจากจะอึดอัด หงุดหงิดแล้ว อาจเกิดอันตราย หรือเกิดผลเสียกับตัวเองได้ เช่นตัวอย่างใกล้ตัวดังนี้  

  • เรากำลังจะเข้าห้องน้ำ แล้วมีป้ายเขียนไว้ว่า “Toilette defekt, bitte nicht benutzen!" เราจะเข้าห้องน้ำนี้ไหม? …. ถ้าเราอ่านป้ายออก ก็จะรู้ว่า คำเตือนเขียนว่า "ห้องน้ำเสีย กรุณาอย่าใช้" แต่ถ้าเราอ่านไม่ออก แล้วเข้าไปใช้สุขา เกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็คงโทษใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง
  • เรานั่งอยู่ในรถไฟ อยู่ ๆ รถไฟก็หยุดนอกสถานี และมีประกาศว่า "...Bitte hier nicht aussteigen..." เราควรทำตัวยังไง? ….. ถ้าเราฟังออก ก็จะรู้ว่าเขาประกาศว่า “กรุณาอย่าเพิ่งลงจากรถไฟ” เราก็แค่นั่งต่อไป รอลงที่สถานีตามปกติ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราอาจจะตกใจ หาทางลงจากรถไฟ ซึ่งจะเป็นอันตรายได้

ปัญหาที่คนไทยพบบ่อย เมื่อไม่รู้ภาษาเยอรมัน

สิ่งที่เราควรเข้าใจเป็นอันดับแรกคือ ภาษาราชการในประเทศเยอรมนีคือ ภาษาเยอรมัน เพียงภาษาเดียว ดังนั้นตราบใดที่เราอาศัยอยู่ในเยอรมนี ภาษานี้จะวนเวียนอยู่ในชีวิตเราตลอด ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว เช่น เดินทาง ซื้อของ จ่ายตลาด หาหมอ ไปจนถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ เช่น จดหมายจากอำเภอ จดหมายจากโรงเรียนลูก สัญญาใช้โทรศัพท์ สัญญาเช่าบ้าน สัญญาจ้างงาน การสื่อสารรวมไปถึงเอกสารทุกอย่างจะเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด แล้วใครจะช่วยอธิบายให้เราได้ทุกครั้ง นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตน?

ตอนเราจดทะเบียนสมรส ทำสัญญาสมรส หรือสัญญาซื้อบ้าน เจ้าหน้าที่จะให้เรานำล่ามที่สาบานตนกับศาลมาแปลเป็นภาษาไทยให้ เพื่อให้เราเข้าใจว่าเรากำลังจะเซ็นอะไร เพราะเมื่อเราเซ็นไปแล้ว สิ่งนั้นจะมีผลไปจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง แต่ในชีวิตประจำวัน คงไม่สามารถพึ่งล่ามได้ตลอดเวลา หากใครไม่รู้ภาษาเยอรมัน คิดว่าเซ็น ๆ ไปก็จบ ไม่อยากเสียเวลา หารู้ไหมว่า ที่ “เขาบอกว่า” เป็นสัญญาซื้อมือถือ ความจริงกลับเป็นสัญญากู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูง ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราอาจจะต้องมานั่งเสียเวลา เสียเงิน เสียใจในภายหลัง เพราะสัญญาที่เซ็นไปไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ตอนแรก บางคนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะไปเซ็นสัญญาโดยไม่เข้าใจ “เขาบอกให้เซ็น ก็เซ็นไป” หรือหลายคนมาฟ้องร้องกันทีหลังก็มีให้เห็นบ่อย จะดีกว่าไหม ถ้าเราเรียนรู้ภาษาเยอรมันตั้งแต่แรก ให้พอที่จะดูแลตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาในภายหลังเพราะความไม่รู้ภาษา

รู้ภาษาเยอรมันแล้วดีกับตนเองอย่างไร?

นอกจากการรู้ภาษาเยอรมันจะช่วยป้องกันปัญหาและช่วยให้เราอยู่เยอรมนีอย่างราบรื่นแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม รวมทั้งช่วยเปิดโอกาสดี ๆ ในชีวิตเราได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนต่อ เรื่องงาน และการขอสัญชาติเยอรมัน 

ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและทางสังคม ภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร ช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจ ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตอนอยู่เมืองไทย เราอยู่อย่างมีความสุขเพราะเราสื่อสารภาษาไทยกับคนอื่นรู้เรื่อง อ่านเขียนอะไรก็รู้เรื่อง แล้วจะดีแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจภาษาเยอรมันถึงระดับที่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ รับผิดชอบตนเองในสังคมเยอรมันได้ เราก็จะสามารถออกแบบชีวิตที่มีความสุขและเป็นอิสระในเยอรมนีได้เช่นเดียวกัน

หากใครต้องการเรียนต่อในเยอรมนี ภาษาเยอรมันถือว่าสำคัญมาก จากที่ Mausmoin พบเจอมา หลายวิชาจะสอนเป็นภาษาเยอรมัน รวมไปถึงการสื่อสารในโรงเรียน และทำงานกลุ่มกับเพื่อน ก็ล้วนแต่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก อย่าลืมว่าในสนามแข่งนี้ เราจะต้องแข่งกับคนเยอรมันด้วย ถ้าเราไม่มีภาษาเยอรมันเป็นอาวุธ เราอาจจะตกรอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งเลยก็ได้ ดังนั้นการเรียนภาษาเยอรมันไว้ จะเป็นอีกจุดแข็งสำคัญของเราเมื่อสมัครเข้าเรียนต่อ หรือสมัครเข้าฝึกงาน

การสมัครงานก็เช่นกัน หากเราสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดี เราก็จะมีตัวเลือกตำแหน่งงานที่มากขึ้นหลายเท่า แม้เราจะมีทักษะเฉพาะทางที่เด่นกว่าคนอื่น แต่ทักษะการสื่อสารเยอรมันก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ว่าจ้างจะนำมาช่วยพิจารณารับเราเข้าทำงาน Mausmoin สรุปง่าย ๆ ก็คือ เราต้องเจ๋งจริง ทั้งทักษะการทำงานและทักษะการสื่อสารกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานได้ดี แค่นี้ งานที่อยากได้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

การขอสัญชาติเยอรมันก็เช่นกัน หากใครอยากจะขอหนังสือเดินทางเยอรมัน ก็ต้องสามารถสื่อสารเยอรมันได้ดีพอ อย่างน้อยในระดับ B1 คือสื่อสารเยอรมันเข้าใจได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตในเยอรมนีได้อย่างปกติสุข หากเราอยากจะขอสัญชาติเยอรมัน นั่นหมายถึงเราจะกลายเป็นพลเมืองเยอรมัน ดังนั้น เราก็ต้องสามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ และต้องเข้าใจบริบทสังคม และวัฒนธรรมเยอรมันด้วย

Mausmoin เอาใจช่วยให้เพื่อน ๆ เริ่มต้นเรียนเยอรมันอย่างมีความสุข และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นในสังคมเยอรมัน ภาษาเยอรมันช่วยเปลี่ยนชีวิตและเพิ่มโอกาสให้หลายคนมาแล้ว แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ พร้อมที่จะเรียนภาษาเยอรมันเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นแล้วหรือยัง? 

เริ่มเรียนเยอรมันง่าย ๆ ไปกับเม้าส์มอยน์ที่นี่เลย!

จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 25 (กันยายน 2561) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน

แต่งประโยคคำถามเยอรมันยังไงนะ?

Ja-/Nein-Frage [ประโยคคำถามใช่หรือไม่]

ถ้าเราเข้าใจประโยคบอกเล่าจากบทที่แล้ว บทนี้ก็แค่มาต่อยอดการแต่งประโยคคำถามเพิ่มอีกเล็กน้อยค่ะ ไม่ยากเลย วันนี้ครูศิรินจะพาเม้าส์มอยน์และเพื่อนๆมารู้จักประโยคคำถามใช่หรือไม่ และวิธีการแต่งประโยคกันค่ะ

Ja/Nein-Frage [ประโยคคำถามใช่หรือไม่] คือคำถามที่ต้องการคำตอบแค่ ja [/หยา/ใช่] และ nein [/หนายน์/ ไม่ใช่] แปลง่ายๆ ว่า ประโยคคำถามที่ถามลงท้ายว่า หรือเปล่า, ใช่ไหม, ใช่หรือไม่ เช่น

  • Kommen Sie aus Thailand? [คุณมาจากประเทศหรือเปล่า]  

จุดสังเกตสำคัญคือ กริยาอยู่ตำแหน่งที่ 1 และผันตามประธานเสมอ ในที่นี้คือ kommen ที่ผันตามประธาน Sie และปิดท้ายประโยคด้วยเครื่องหมายคำถาม [?] ค่ะ เวลาพูดขึ้นเสียงสูงเล็กน้อยที่ท้ายประโยค
เวลาตอบ ก็ตอบสั้นๆ ได้เลยว่า ja หรือ nein หรือ doch
หรือจะตอบยาวๆ ก็ได้ค่ะ เอาประโยคบอกเล่ามาใส่เติมท้าย ja หรือ nein หรือ doch เช่น

  • Kommen Sie aus Thailand?
    • Ja, (ich komme aus Thailand.)
  • Wohnt Mausmoin in Japan?
    • Nein, (er wohnt in Deutschland.)

ในห้องสอบ เราจะตอบสั้นๆก็ได้นะคะ ว่า ja หรือ nein

คราวนี้มาลองทำแบบฝึกหัดกันค่ะ ช่วยเม้าส์มอยน์เลือกว่า A หรือ B ข้อไหนเป็นประโยคคำถามใช่หรือไม่ค่ะ

  • A: Haben Sie Telefon?
  • หรือ B: Sie haben Telefon.

คำตอบที่ถูกคือ A ค่ะ แปลว่า คุณมีโทรศัพท์รึเปล่า แต่ B เป็นประโยคบอกเล่า แปลว่า คุณมีโทรศัพท์

  • A: Sie Deutsch sprechen?
  • หรือ B: Sprechen Sie Deutsch?

คำตอบที่ถูกคือ B เพราะ กริยาต้องอยู่ตำแหน่งที่ 1 และผันตามประธาน ในที่นี้คือ sprechen [พูด] ในประโยคคำถามใช่หรือไม่ค่ะ แปลว่า คุณพูดเยอรมันรึเปล่า ส่วนข้อ A เรียงประโยคผิดค่ะ

  • A: Du kommen Thailand?
  • หรือB: Kommst du aus Thailand?

คำตอบที่ถูกคือ B เพราะ กริยาต้องอยู่ตำแหน่งที่ 1 และผันตามประธาน ในที่นี้คือ kommst [มา] ผันตาม du แปลว่า เธอมาจากประเทศไทยใช่ไหม ส่วนข้อ A ไม่เป็นประโยคที่ถูกต้องค่ะ

บทต่อไปเราไปรู้จักประโยคคำถามอีกประเภทหนึ่งกันนะคะ นั่นคือ W-Frage [ประโยคคำถามปลายเปิด] ค่ะ

ประโยคบอกเล่าเยอรมัน ง่ายนิดเดียว!

Aussagesatz [ประโยคบอกเล่า]

บทที่แล้ว เรารู้จักความหมายของประโยคกันแล้ว คราวนี้ครูศิรินพามาฝึกแต่งประโยคบอกเล่ากันบ้างค่ะ

ประโยคบอกเล่าคือ ประโยคที่เราพูดเล่าอะไรออกมา ไม่ต้องการคำตอบ หรือเอาไว้ตอบคำถามคนอื่นค่ะ ถ้าเขียนออกมาก็จะมีเครื่องหมายจุดลงท้าย แล้วตอนพูดก็จะลงเสียงต่ำท้ายประโยค เช่น

  • Ich komme aus Thailand. [ฉันมาจากประเทศไทย]
  • Mausmoin trinkt gern Kaffee. [เม้าส์มอยน์ชอบดื่มกาแฟ]

จุดสังเกตสำคัญคือ กริยาอยู่ตำแหน่งที่ 2 และผันตามประธานเสมอ ในที่นี้คือ komme ที่ผันตามประธาน ich และ trinkt ผันตาม Mausmoin และปิดท้ายประโยคด้วยจุดค่ะ

จุดเด่นพิเศษอีกอย่างของประโยคบอกเล่าในภาษาเยอรมันคือ ประธานไม่จำเป็นต้องอยู่ตำแหน่งแรกค่ะ สลับมาอยู่หลังกริยาได้ แต่กริยาห้ามไปไหน ต้องอยู่ตำแหน่งที่ 2 เท่านั้นและต้องผันตามประธาน ถึงจะเป็นประโยคบอกเล่า

เช่นประโยคบอกรักในภาษาเยอรมัน

  • Ich liebe dich.
  • Dich liebe ich.

สองประโยคนี้มีความหมายเหมือนกันเลยค่ะ คือ ฉันรักเธอ ค่ะ

ลองทำแบบฝึกหัดกันนะคะ ช่วยเม้าส์มอยน์เลือกว่าข้อไหนเป็นประโยคบอกเล่า

1. A: Ich in Phuket

หรือ B: Ich arbeite in Phuket.

ข้อ 1 คำตอบที่ถูกคือ B เป็นประโยคบอกเล่า เพราะมีประธานคือ ich และ กริยา คือ arbeite ผันตาม ich อยู่ตำแหน่งที่ 2 แต่ A ไม่มีกริยา จึงไม่ใช่ประโยคค่ะ

2. A: Mausmoin ist mein Name.

B: Mein Name Mausmoin ist.

ข้อคำตอบที่ถูกคือ A เพราะประโยคบอกเล่า กริยาอยู่ตำแหน่งที่ 2 ในที่นี้คือ ist เพราะฉะนั้นเราจะพูดว่า 

  • Mausmoin ist mein Name.
  • หรือ Mein Name ist Mausmoin. ก็ถูกต้องค่ะ

ครูศิรินเสริมให้ว่าเวลานับตำแหน่งคำ ให้ดูเป็นกลุ่มคำเดียวกันนะคะ เช่น mein Name [ชื่อของฉัน] ไม่ใช่นับตำแหน่งจากจำนวนคำ

ตำแหน่งที่ 1

ตำแหน่งที่ 2

ตำแหน่งที่ 3

Mein Name

ist

Mausmoin.

Mausmoin

ist

mein Name.

สรุปแล้ว ประโยคจะต้องมีประธานและภาคแสดง

และประโยคบอกเล่า คือประโยคที่เล่าข้อมูล ไม่ได้ถามหรือต้องการคำตอบ กริยาจะต้องอยู่ตำแหน่งที่ 2 และผันตามประธานค่ะ

รู้จักประโยคบอกเล่าแล้ว บทต่อไปจะไปรู้จักประโยคคำถามกันต่อค่ะ ซึ่งเราจะเอาไปใช้แต่งประโยคถามเพื่อนในห้องสอบด้วย

เรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์กันต่อที่ https://mausmoin.com/a1/ หรือหนังสือเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์เล่ม 1,2 มีจำหน่ายทั่วโลก