ยื่นภาษีเงินได้ของปี 2016 ในเยอรมัน | Steuererklärung 2016

เม้าส์มอยน์แจ้งข่าวเตือนเพื่อนๆที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ในเยอรมนี ประจำปีภาษี 2016 อย่าลืมเตรียมจัดทำภาษี ทยอยเตรียมเอกสารลดหย่อนภาษี และยื่นสรรพากรภายในกำหนดวันที่ 31 พ.ค. 2017 โดยเฉพาะคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ เป็นนายตัวเอง ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ถ้าไม่ยื่นภาษีเงินได้ภายในกำหนดสิ้นเดือน พ.ค. อาจจะโดนสรรพากรส่งจดหมายเตือนและโดนปรับได้

มีเวลาเหลือแค่ 2เดือน ถ้าเม้าส์มอยน์ทำภาษีไม่ทัน จะทำยังไง ถึงจะไม่โดนปรับ? อันที่จริง เราสามารถขอสรรพากรเลื่อนยื่นภาษีเงินได้หลังกำหนดได้ ตามเงื่อนไขดังนี้

- เขียนจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขอเลื่อนกำหนดส่งไปถึงสิ้นเดือนกันยายนแทนได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า เอกสารยังไม่ครบ ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือเจ็บป่วย โดยจะไปส่งจดหมายด้วยตนเองหรือส่งจดหมายไปก็ได้ ขอให้มั่นใจว่าสรรพากรได้จดหมายเราแน่ๆ

- หากใครใช้บริการของที่ปรึกษาภาษี [Steuerberater] ให้ทำเรื่องยื่นภาษีให้ ก็จะสามารถยื่นภาษีเงินได้ปี 2016 ได้ถึงสิ้นปี 2017 (31 ธ.ค. 2017) โดยอัติโนมัติ แต่ถ้าใครใช้บริการของที่ปรึกษาภาษีเป็นปีแรก เม้าส์มอยน์แนะนำให้แจ้งสรรพากรเป็นลายลักษณ์อักษรภายในกำหนดด้วย ให้แน่ใจว่าสรรพากรรับทราบและไม่ส่งจดหมายเตือนหรือปรับเงินเรา

- และกฎใหม่ล่าสุด การยื่นภาษีเงินได้ของปี 2018 มีการขยายกำหนดยื่นภาษีให้สรรพากรออกไปถึง 31 ก.ค. 2019 ซึ่งหมายความว่าปีนี้ (2017) และปีหน้า (2018) เราจะยังต้องยึดกำหนดส่งเป็นสิ้นเดือนพ.ค.อยู่นั่นเอง

มีการหักภาษีจากรายได้ ก็มีการลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน เช่น เราสามารถนำรายจ่ายจำเป็นมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ได้ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตรหรือบิดามารดาที่ประเทศไทย 

หากเรามีเอกสารแสดงค่าใช้จ่ายเพื่อขอลดหย่อนภาษี เช่นใบรับรองค่าเลี้ยงดูบุตร หรือบิดามารดาที่ประเทศไทย หรือเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นภาษาไทย ก็สามารถติดต่อแปลเป็นภาษาเยอรมันที่ Line ID: mausmoin, info@mausmoin.com โดยนักแปลที่ศาลเยอรมนีรับรอง

เรื่องภาษีในเยอรมนีไม่ง่าย และดูจะซับซ้อนกว่าที่ไทยด้วย หากใครไม่แน่ใจรายละเอียดจุดไหน ก็แนะนำให้สอบถามทางสรรพากรโดยตรง ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจะเลือกใช้ที่ปรึกษาภาษีก็ได้ ทั้งนี้ mausmoin.com เป็นสำนักงานแปลเอกสาร ไม่ใช่ที่ปรึกษาทางภาษี จึงไม่สามารถให้คำแนะนำทางภาษีตามกฎหมาย แต่ยินดีให้บริการแปลเอกสารไทย-เยอรมันครับ

เยอรมนีจะเริ่มเก็บค่าทางด่วนปี 2019 | Pkw-Maut in Deutschland

เม้าส์มอยน์ชวนเม้าท์เรื่องค่าทางด่วนในเยอรมนี วันนี้ (31 มีค.) รัฐบาลเยอรมนีได้เห็นชอบกฎหมายการเก็บค่าใช้ทางด่วน (Autobahn) และทางหลวง (Bundesstraße) แล้ว หลังจากที่โต้เถียงกันมานานแรมปี โดยผู้ใช้รถทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างชาติที่ใช้ทางข้างต้นจะต้องเริ่มจ่ายค่าผ่านทางตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นด้วย นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นาย Dobrindt (CSU) เชื่อว่าจะสามารถเก็บค่าผ่านทางได้กว่า 500 ล้านยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

คนที่เดือดร้อนแน่ๆ ก็คือผู้ใช้รถต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางข้ามชายแดนผ่านเยอรมนีอยู่บ่อยๆ ซึ่งการเก็บเงินจะไม่ได้เป็นไม้กั้นผ่านทางเหมือนที่ไทย แต่จะต้องเลือกซื้อสติกเกอร์ค่าทางด่วนในเยอรมันแบบอิเล็กโทรนิค (E-Vignette) เป็นราย 10 วัน หรือ 2 เดือน หรือรายปี

สำหรับผู้ใช้รถในเยอรมนี ก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเช่นกัน โดยคิดราคาอิงตามขนาดเครื่องยนต์และค่าการปล่อยไอเสีย ให้จ่ายเป็นรายปีและผูกบัญชีกับทะเบียนรถ โดยค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 130 ยูโรต่อปี ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเยอรมนีก็กล่าวว่า รัฐจะช่วงแบ่งเบาภาระโดยหักลบภาษีรถยนต์รายปีกับค่าผ่านทางที่จ่ายไป ซึ่งก็หมายถึงว่าคนใช้รถในเยอรมนีจะไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางนั่นเอง

เม้าส์มอยน์ฟังดูแล้ว เหมือนเยอรมนีน่าจะได้รายได้เพิ่มจากการเก็บค่าผ่านทาง แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น ADAC ออกมาวิจารณ์ว่านโยบายนี้รัฐน่าจะขาดทุนมากกว่า โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีการคำนวณค่าทางด่วนอิงตามค่าการปล่อยไอเสียของรถ ผู้ใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐาน Euro 6 (ปล่อยไอเสียน้อย) จะจ่ายค่าผ่านทางน้อยกว่า และนั่นหมายถึงรัฐจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าเก่า ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคตก็มักจะเป็นมาตรฐาน Euro 6 ทั้งนั้น

แล้วประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนีว่ายังไงกันบ้าง? ล่าสุดประเทศออสเตรียได้ออกมาค้านไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยจะยื่นฟ้องศาลยุติธรรมยุโรป พร้อมเหตุผลว่า เยอรมนีเลือกปฏิบัติเก็บค่าผ่านคนต่างชาติแพงกว่า  ทั้งนี้ ออสเตรียเก็บค่าผ่านทางในประเทศมากว่า 20 ปี และสวิตเซอร์แลนด์ก็เก็บมากกว่า 30 ปีแล้ว

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่เม้าส์มอยน์จะคอยติดตามมาบอกข่าวเพื่อนๆ อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ นะครับ
Quelle&Foto: tagesschau.de

นายจ้างเยอรมันมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร

1. ระดับปริญญาสำคัญแค่ไหน

ตามทฤษฎีแล้ว นักเรียนที่จบปริญญาตรีจะมีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วกว่า [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมันนิยมปริญญาแบบ Diplom ซึ่งจะใช้เวลาเรียนนานกว่าปริญญาตรี และนายจ้างก็ยังไม่คุ้นชินกับปริญญาตรี] แต่ในปัจจุบัน นายจ้างกว่าครึ่งหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคยกับปริญญาตรีมากขึ้น หลังจากที่หลักสูตรปริญญาตรีเริ่มนำเข้ามาใช้ในเยอรมันเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

จากการศึกษาแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 ของบริษัทที่ปรึกษา Kienbaum และ สถาบัน Staufenbiel พบว่าร้อยละ 49 ของบริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจบปริญญาโทเพิ่มเติมจากปริญญาตรีนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะงานในสาขาเภสัชศาสตร์และเคมีนั้นสำคัญมาก โดยร้อยละ 88 ของฝ่าย HR เห็นว่าการจบปริญญาโทเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานในสาขานี้

แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเหนือกว่าปริญญากลับเป็นเรื่องผลการเรียน โดยร้อยละ 58 เห็นว่าผลการเรียนดีนั้นสำคัญมากกว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา หรือผู้สมัครได้เรียนครบตามจำนวนภาคเรียนบังคับหรือไม่

ในเรื่องเงินเดือน บริษัทส่วนใหญ่จะให้เงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาราว 40,000-50,000 ยูโรต่อปี แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานจะได้เงินเดือนน้อยกว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโท ร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจให้เงินเดือนบัณฑิตปริญญาโทมากกว่าถึงร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 10

2. บริษัทอยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบไหน

คุณสมบัติเสริมอื่นๆ ที่นายจ้างมองหาเป็นพิเศษก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 77) [Mausmoin ขอขยายความให้ว่า แบบสำรวจนี้อิงจากผู้สมัครงานจบใหม่ในเยอรมัน ดังนั้นภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ทุกคนน่าจะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไทย แน่นอนว่าเราต้องมีทักษะภาษาเยอรมันที่ดี และจะดีกว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษด้วย] ซึ่งการมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ มากกว่าการที่ผู้สมัครเคยมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ (ร้อยละ 38) หรือทักษะภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ (ร้อยละ 24) เสียอีก

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นอีกก็คือประสบการณ์การทำงานจริงของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยฝ่าย HR ชอบผู้สมัครที่เคยฝึกงานมา (ร้อยละ 73) และมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (ร้อยละ 55)

3. ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในสายตาของฝ่ายบุคคล ในเยอรมัน

บริษัทราว 300 แห่งที่ถูกสำรวจแนวโน้มการทำงานล่าสุดในปี 2017 เห็นว่าสิ่งต่อไปนี้สำคัญ 

  • เคยฝึกงานมาก่อน: ร้อยละ 81 ตอบว่า ประสบการณ์การทำงานจริงมีน้ำหนักมากกว่าการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาเรียนที่กำหนด
  • เอกสารการสมัครมีโครงสร้างชัดเจน: สำหรับฝ่ายบุคคล การจัดเรียงที่อ่านง่ายสำคัญกว่าดีไซน์
  • มีทักษะทางสังคมดังต่อไปนี้:
    • มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง/ ความพร้อมในการทำงาน ร้อยละ 100
    • มีความพร้อมในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 98
    • ทักษะการสื่อสาร ร้อยละ 95
    • การทำงานเป็นทีม ร้อยละ 94
    • การมุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ร้อยละ 93
  • มีเพียงร้อยละ 3 ที่เช็คข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้สมัคร
  • ร้อยละ 75 ของฝ่ายบุคคลจะดูเรซูเม่ผู้สมัครก่อน และร้อยละ 99 เห็นว่าเรซูเม่สำคัญ
  • การเขียน สะกดคำให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กว่าร้อยละ 60 ของฝ่ายบุคคลจะคัดผู้สมัครออกหากมีจุดที่เขียนผิด

Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนตั้งใจเรียนในทุกๆระดับชั้น และพัฒนาภาษาเยอรมันและทักษะการทำงานต่างๆ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของตนไม่ว่าที่ไทยหรือเยอรมัน 🙂

Quelle: wiwo.de

กฎการให้ทางรถฉุกเฉินในเยอรมันปี 2017 | Rettungsgasse

ผู้ใช้รถทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องหลีกทางให้รถแพทย์ฉุกเฉิน รถดับเพลิง รถพยาบาล รถตำรวจที่เปิดไฟฉุกเฉิน เมื่อการจราจรเคลื่อนตัวช้า เริ่มติดขัด และหยุดนิ่งบนทางด่วนหรือถนนนอกเมืองสายต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงเลนให้ทางรถฉุกเฉินให้ง่ายขึ้นดังนี้

- ถ้ามี 2 เลน รถในเลนซ้ายให้แยกไปซ้ายสุด และรถเลนขวาให้แยกไปขวาสุด (ตามรูปแถวบน)
- ถ้ามี 3 เลนขึ้นไป รถในเลนซ้ายให้แยกไปซ้ายสุด รถเลนกลาง และรถเลนขวาให้แยกไปขวาสุดทั้งหมด (ตามรูปแถวล่าง)

หากใครฝ่าฝืนกีดกันทาง นอกจากจะถูกปรับ 20 ยูโรแล้ว ยังอาจเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเสียเวลาอันมีค่า เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ Mausmoin ขอสนับสนุนให้ทุกคนให้ทางรถฉุกเฉิน เพราะทุกวินาทีสำหรับพวกเขามีค่าจริงๆ

นอกจากประเทศเยอรมันที่ประกาศใช้กฎการให้ทางรถฉุกเฉินแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สโลวีเนีย และสาธารณรัฐเช็ก ที่ให้ความสำคัญกับการให้ทางรถฉุกเฉินเช่นกัน

Quelle&Foto: adac.de, rettungsgasse-rettet-leben.de

เรื่องเงินทองที่เปลี่ยนแปลงในปี 2017

ค่าแรงขั้นต่ำ:

เพิ่มขึ้นเป็น 8.84 ยูโรต่อชั่วโมง (จากเดิม 8.50 ยูโร) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 55 ยูโรต่อเดือน ถ้าทำงานเต็มเวลา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ (Hartz-IV) ก็จะได้เงินเพิ่ม 5 ยูโรต่อเดือน สำหรับคนที่อยู่คนเดียว

เงินลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา:

เพิ่มขึ้นเป็น 8,820 ยูโรสำหรับคนโสด (จากเดิม 8,652 ยูโร) และเป็นสองเท่าสำหรับคู่แต่งงาน เป็น 17,640 ยูโร หมายถึง ยอดเงินได้ที่ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่หากมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเกินกว่านี้ ก็จะนำไปคำนวณภาษีเงินได้ต่อไป

เงินเลี้ยงดูบุตร:

เพิ่มขึ้น 2 ยูโรต่อเดือน ค่าเลี้ยงดูบุตรคนแรกและคนที่สองจะเพิ่มขึ้นเป็น 192 ยูโร สำหรับบุตรคนที่ 3 จะเพิ่มเป็น 198 ยูโร และสำหรับบุตรคนถัดๆ ไป จะเพิ่มเป็น 223 ยูโรต่อเดือน นอกจากนี้เงินลดหย่อนภาษีจากการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น 108 ยูโร เป็น 7,356 ยูโร

ค่าไฟ:

แพงขึ้นราว 4-5% หรือราว 50 ยูโรต่อครัวเรือน

ค่าตั๋วรถเมล์ รถไฟ:

แพงขึ้นเฉลี่ยราว 2-3% ทั่วเยอรมัน เช่นแถบเมือง München แพงขึ้น 2.9%, Düsseldorf 2.3%, Stuttgart และ Frankfurt 1.9% และรถไฟเร็ว ICE, IC ราคาตั๋วแพงขึ้นราว 1.3%

คำอวยพรช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่

weihnacht-neujahr-2017☃ มาเรียนรู้คำอวยพรในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ และคำศัพท์สำคัญ แล้วนำไปใช้ส่งความสุขกันได้เลย!

1. แบบแรกที่ใช้อวยพรกันโดยทั่วไปคือ

❄︎ Frohe Weihnachten und ein gutes neues Jahr 2017
❄︎ Fröhliche Weihnachten und einen guten Rutsch ins Neue Jahr!
สุขสันต์วันคริสต์มาสและสวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2560

2. หรือจะเพิ่มคำขยายให้ปีใหม่เป็นปีที่ดี เช่น

❄︎ Frohe Weihnachten und ein glückliches, erfolgreiches neues Jahr!
สุขสันต์วันคริสต์มาส และขอให้ปีใหม่นี้เป็นปีแห่งความสุขและความสำเร็จ

❄︎ Wir wünschen Ihnen* frohe Weihnachtsfeiertage, Gesundheit und Glück für das kommende Jahr.
ขออวยพรให้คุณมีความสุขในเทศกาลคริสต์มาส มีสุขภาพแข็งแรง และโชคดีมีสุขในปีใหม่นี้

3. หรือจะพูดอวยพรรวมๆ ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง เช่น

❄︎ Wir wünschen Euch** frohe Festtage!
ขออวยพรให้พวกเธอมีความสุขในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้

❄︎ Frohe Festtage und die besten Wünsche für ein erfolgreiches Neues Jahr
ขอให้มีความสุขในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง และขอส่งความปรารถนาดีให้(คุณ)ประสบความสำเร็จในปีใหม่นี้

* ใช้ Ihnen เมื่ออวยพรลูกค้า หรือคนที่เราให้ความเคารพ แบบสุภาพ
** ใช้ Euch กับคนสนิท คนในครอบครัว เพื่อน

☃ คำศัพท์สำคัญ

das Weihnachten, - [/ไว-นาค-เท็น/ วันคริสต์มาส]
das Jahr, e [/ยาร์/ ปี]
ein Neues Jahr [/อายน์-นอย-เอส-ยาร์/ ปีใหม่]
das Glück, e [/กลึค/ โชคดี, ความสุข]
der Wunsch, “e [/วุนช์/ คำอวยพร]
der Festtag, e [/เฟสท์-ถาก/ วันแห่งการเฉลิมฉลอง]
die Gesundheit, - [/เก-ซุนท์-ไฮท์/ สุขภาพแข็งแรง]
wün­schen [/วึน-เช็น/ อวยพร]
erfolgreich <adj> [/แอร์-โฟล์ก-ไรช์/ ประสบความสำเร็จ]
glücklich <adj>[/กลึค-ลิคช์/ โชคดี, มีความสุข]
froh <adj> [/โฟร/ มีความสุข สดใส]

☃ ครูศิริน เม้าส์มอยน์และผองเพื่อน ขอส่งความสุขให้ทุกคนในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่นี้ และขอขอบคุณที่สนับสนุนเรามาโดยตลอด ขอให้ทุกคนเรียนเยอรมันอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตในเยอรมันอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจค่ะ

ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว 1 ธ.ค. 2559 – 28 ก.พ. 2560

เริ่มแล้ว วันนี้! ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเภทนักท่องเที่ยวแบบใช้เดินทางได้ครั้งเดียว

(EN: Tourist Visa single entry, DE: Touristenvisum mit einer Einreise) เป็นเวลา 3 เดือนคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2559 - 28 ก.พ. 2560 ณ สถานทูต หรือสถานกงสุลไทย

ทั้งนี้ในเยอรมัน ทางกงสุลใหญ่(แฟรงเฟิร์ต) และสถานทูตไทย(เบอร์ลิน) ได้ออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 

การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าข้างต้น เป็นไปตามกฎกระทรวง “ยกเลิกการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมและกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2559”

โดยมีเหตุผลเพื่อต้องการรักษาระดับขีดความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยว และอํานวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
Quelle&Foto: thaiembassy.de, thaikonfrankfurt.de, manager.co.th

สิทธิของผู้โดยสาร ในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก

สิทธิของผู้โดยสาร ในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก ตามกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป

ถ้ามีการยกเลิกเที่ยวบิน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าเที่ยวบินที่เราจองไว้ถูกยกเลิกหรือล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เราสามารถทำได้ 2 ทางคือ ขอค่าตั๋วเครื่องบินคืน หรือเรียกร้องให้สายการบินหาวิธีทางอื่นเพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ในที่สุด โดยอาจจะหาเที่ยวบินถัดไป หรือหาเส้นทางการบินใหม่ หรือแม้กระทั่งให้เดินทางโดยรถไฟแทน กรณีที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ
ทั้งนี้เราจะต้องติดต่อกับสายการบินที่เป็นผู้บินเที่ยวบินนั้นๆ สิทธิผู้โดยสารดังกล่าวเป็นกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป (EC) 261/2004 ข้อกำหนดต่างๆมีผลบังคับกับสายการบินที่มีที่ตั้งในยุโรป รวมถึงสายการบินนานาชาติที่บินจากประเทศต้นทางในยุโรป

ตัวอย่างค่าชดเชยที่สายการบินต้องรับผิดชอบผู้โดยสาร

ในกรณีที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสถานการณ์พิเศษ ตามกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรป

1. ถ้าเที่ยวบินออกเดินทางล่าช้าเกิน 2 ชม. เรามีสิทธิได้รับการดูแลเช่น อาหาร เครื่องดื่ม ช่องทางติดต่อสื่อสาร และในกรณีจำเป็น สายการบินจะต้องจัดหาที่พักค้างคืน (รวมถึงค่าเดินทางระหว่างสนามบินและโรงแรม) ให้ด้วย

2. ถ้าเที่ยวบินออกเดินทางล่าช้าเกิน 5 ชม. เราสามารถขอเงินคืนได้ แต่ถ้าเลือกวิธีนี้ สายการบินไม่ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือหรือจัดหาการเดินทางให้เราอีก

3. ถ้าเที่ยวบินมาถึงที่หมายล่าช้าเกิน 3 ชม. นอกจากสิทธิการดูแลข้างต้น เรายังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะทาง ดังนี้

1.) เที่ยวบินภายในยุโรป
- ไม่ถึง 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 250 ยูโร
- มากกว่า 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 400 ยูโร
2.) เที่ยวบินระหว่างสนามบินยุโรปและนอกยุโรป
- ไม่ถึง 1,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 250 ยูโร
- 1,500 - 3,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 400 ยูโร
- มากกว่า 3,500 กม. มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 600 ยูโร

4. ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิกภายใน 2 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง เรามีสิทธิดังนี้

- ขอให้สายการบินหาวิธีทางอื่นเพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ในที่สุด หรือ
- ขอค่าตั๋วเครื่องบินคืน หรือ
- ขอเที่ยวบินกลับไปต้นทาง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กรณีเป็นเที่ยวบินต่อเครื่อง และ
- เรียกร้องค่าชดเชย 250-600 ยูโร ขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบิน หากสายการบินจัดหาเที่ยวบินอื่นให้ และไปถึงจุดหมายล่าช้าเกิน 2, 3, 4 ชม. ขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบิน ค่าชดเชยอาจลดลง 50%

สามารถยื่นเรื่องเรียกร้องสิทธิต่างๆข้างต้นกับสายการบินโดยตรงด้วยตนเอง หรือใช้ฟอร์มเรียกร้องค่าชดเชย

Quelle: tagesschau.de, europa.eu

Lufthansa ประท้วงหยุดบินต่อเนื่องถึงวันที่ 25 พย.

ล่าสุด สายการบิน Lufthansa ประกาศว่า ยังคงมีการประท้วงหยุดขึ้นบินของกลุ่มสหภาพนักบินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 พย. นี้

การประท้วงเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พย. เวลา 00.01 น. ที่ผ่านมา มีการหยุดบินทั้งทางไกลและระยะสั้น ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 25 พย. เวลา 23.59 น. โดยวันที่ 25 พย. น่าจะมีเพียงเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศเยอรมันและภายในยุโรปที่ยังคงได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้จะมีแค่เที่ยวบินของสายการบิน Lufthansa เท่านั้นที่หยุดให้บริการ เที่ยวบินของสายการบิน Germanwings, Eurowings, Air Dolomiti, Austrian Airlines, SWISS และ Brussels Airlines ยังให้บริการตามปกติ (ข้อมูลจาก lufthansa.com)

เช็คเที่ยวบินว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ที่เว็บไซต์ Lufthansa

หากเที่ยวบินของคุณถูกยกเลิก สามารถติดต่อขอเปลี่ยนวันบิน หรือยกเลิกเที่ยวบินได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเป็นเที่ยวบินในประเทศ ก็สามารถติดต่อขอตั๋วรถไฟแทนได้

โทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0800 850 60 70 หรือ +49 69 86 799 799

การประท้วงครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 14 ตั้งแต่ เม.ย. 2014 ที่ฝ่ายสหภาพนักบินและสายการบินไม่สามารถตกลงเรื่องการขึ้นค่าแรงของนักบินได้

GEMA เลิกแบนวีดีโอในยูทูปเยอรมันแล้ว

GEMA (เกม่า) เลิกแบนวีดีโอในยูทูปเยอรมันแล้ว!

หลังการฟาดฟันยาวนานกว่า 7 ปี ในที่สุด ยูทูป และองค์กรดูแลผลงานเพลงและสิทธิการทำซ้ำ หรือเกม่าของเยอรมัน ได้เซ็นสัญญาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ส่งผลดีให้ผู้ชมยูทูปในเยอรมันสามารถดูวีดีโอที่เคยถูกบล็อกจากเกม่าได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ผู้ชมยูทูปในเยอรมันไม่สามารถดูวีดีโอบางวีดีโอได้ เนื่องจากวีดีโอมีเพลงติดลิขสิทธิ์ที่เกม่าดูแลอยู่ โดยจะขึ้นจอดำ พร้อมรูปหน้าบึ้ง และคำพูดว่า วีดีโอนี้ไม่สามารถดูได้ในประเทศเยอรมัน

เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ผู้ชมยูทูปในเยอรมันจะสามารถเข้าถึงวีดีโอจากทั่วโลกได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีกับศิลปินให้สามารถเข้าถึงแฟนๆในเยอรมันได้มากขึ้นและยังได้เงินโฆษณาจากวีดีโอของพวกเขาอีกด้วย ยูทูปกล่าว

Quelle: spiegel.de, Youtube