D01 สนทนาเยอรมัน โทรศัพท์ทำนัดหมายที่คลินิก | A2 Terminvereinbarung


 มาฝึกฝนการทำนัดหมายกับคุณหมอเป็นภาษาเยอรมันไปพร้อมกับเม้าส์มอยน์กันเลย คลิปนี้เราจะฝึกฟังจับใจความ จากบทสนทนาการทำนัดหมาย ฝึกพูดตาม ทำแบบฝึกหัด และทบทวนประโยคที่ใช้บ่อยในการนัดหมายเป็นภาษาเยอรมัน เนื้อหาและคำศัพท์จะอยู่ในระดับ A2 นะจ๊ะ

ใครอยากเรียนเยอรมันแบบเข้าใจง่าย สอนเป็นขั้นเป็นตอน กระชับ จัดเวลาเรียนได้เอง เรียนที่ไหนก็ได้ เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ:

คอร์สเรียนเยอรมันพื้นฐาน, ติวสอบ A1, ต่อยอด A2 สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

U02 ตะลุยแบบฝึกหัด แต่งประโยคคำถาม เตรียมพร้อมสอบเยอรมัน | Übung Fragesatz A1

มาตะลุยแบบฝึกหัดสนุก ๆ เข้าใจง่าย กับเม้าส์มอยน์กันเลย! ฝึกแต่งประโยคคำถาม ไว้ถามเพื่อนเป็นภาษาเยอรมัน และเอาไปใช้เตรียมสอบวัดระดับเยอรมันได้ด้วยนะ!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ เหมาะกับเพื่อนๆ ที่อยากปูพื้นฐาน ทบทวนเยอรมัน หรือต่อยอดเยอรมันในระดับสูงขึ้นไป

ใครอยากเรียนเยอรมันแบบเข้าใจง่าย สอนเป็นขั้นเป็นตอน กระชับ จัดเวลาเรียนได้เอง เรียนที่ไหนก็ได้ เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ:
คอร์สเรียนเยอรมันพื้นฐาน, ติวสอบ A1, ต่อยอด A2 สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

“ใช้ชีวิตในเยอรมนี ต้องรู้ภาษาเยอรมันไหมนะ?” | Ist es wichtig, Deutsch zu lernen?

ใครกำลังชั่งใจว่า “จะเรียนภาษาเยอรมันดีไหมนะ” คิดว่า “ฉันน่าจะอยู่ในเยอรมนีได้ ภาษาเยอรมันไม่จำเป็นหรอก” หรือมีคำถามว่า “จะสมัครเรียน สมัครงาน ต้องรู้ภาษาเยอรมันไหมนะ” ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดูก่อนว่า ก. ใช่ ข. บางครั้ง หรือ ค. ไม่ใช่เลย แล้วมาดูคำตอบกัน

  • ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ พูดอังกฤษกับแฟนได้ แต่กลับสื่อสารกับคนเยอรมันไม่รู้เรื่อง
  • ปกติฉันเป็นคนทำอะไรได้เอง แต่ฉันกลับประหม่า เมื่อต้องออกนอกบ้านไปทำอะไรคนเดียวในเยอรมนี
  • เวลาไปซื้อของ แคชเชียร์บอกมาเท่าไร ฉันก็ไม่รู้หรอก ยื่นเงินให้เขาไป เดี๋ยวเขาก็ทอนให้เอง
  • เวลาไปทานข้าวกันเพื่อนหรือญาติของสามี ฉันอึดอัดมาก นั่งเงียบ ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พูดก็ไม่ได้ ไม่อยากไปเลย
  • ก่อนมีลูก แฟนก็พูดอังกฤษด้วย พอมีลูก แฟนก็พูดเยอรมันกับลูก เข้าใจกันแค่ 2 คน ฉันก็ได้แต่นั่งมองเงียบ ๆ งง ๆ
  • ฉันอยากเรียนต่อ อยากทำงานในเยอรมนี แต่ถูกปฏิเสธ เพราะพูดเยอรมันไม่ได้
  • ฉันอยากขับรถไปไหนได้เองในเยอรมนี แต่สอบใบขับขี่ไม่ได้ เพราะอ่านข้อสอบไม่รู้เรื่อง คุยกับครูไม่ได้
  • ฉันอยากขอสัญชาติเยอรมัน แต่ติดที่ต้องสอบเยอรมันให้ได้ถึงระดับ B1 รู้งี้ ฉันเรียนภาษาเยอรมันมาตั้งนานแล้ว

ถ้าคำตอบคือ ใช่ หรือบางครั้ง เกิน 2 ข้อ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญแล้วว่า ภาษาเยอรมันสำคัญกับการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนีของเรามากแค่ไหน และควรอ่านบทความนี้ต่อเพื่อปรับความคิด และเปลี่ยนชีวิตในเยอรมนีให้มีความสุขไปด้วยกัน Mausmoin ขออาสาพาเพื่อน ๆ เปิดมุมมองว่า “ทำไมเราต้องเรียนรู้ภาษาเยอรมัน เมื่อมาอยู่ในเยอรมนี” “ปัญหาอะไรที่อาจพบเจอ เมื่อไม่รู้ภาษาเยอรมัน” และ “รู้ภาษาเยอรมันแล้วดีกับตนเองอย่างไร”

ทำไมเราต้องรู้ภาษาเยอรมัน?

หลายคนอาจคิดว่า “วัน ๆ ฉันไม่ต้องไปไหน คงไม่ต้องใช้เยอรมัน” แต่พอมีลูก ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน ต้องคุยกับครู ผู้ปกครองคนอื่น กลับเข้าสังคมของลูกไม่ได้ เพราะสื่อสารเยอรมันไม่ได้ หรือหลายคนมักคิดไปว่า “ฉันมีแฟน/สามี และเพื่อน ๆ คอยแปลเยอรมันให้ได้” แต่หากไม่มีใครช่วย ก็ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้เลย ภาษาเยอรมันกลายเป็นอุปสรรคในชีวิต และปิดกั้นโอกาสและความสามารถของเราไป

ภาษาเยอรมันสำหรับคนไทย อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แค่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็น่าจะเอาตัวรอดได้ แต่จากประสบการณ์ของ Mausmoin และคนไทยหลายคน ความคิดข้างต้นอาจจะถูกเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จริงอยู่ที่สมัยนี้คนเยอรมันรุ่นใหม่ พอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ใช้ภาษาอังกฤษในเยอรมนีก็พอจะเอาตัวรอดไปได้ แต่หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะในเมืองเล็ก ๆ คนเยอรมันจะพูดแต่ภาษาเยอรมัน ป้ายคำสั่ง ป้ายให้ข้อมูลต่าง ๆ จะเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ถ้าเราอ่านไม่ออก ฟังหรือคุยไม่รู้เรื่อง นอกจากจะอึดอัด หงุดหงิดแล้ว อาจเกิดอันตราย หรือเกิดผลเสียกับตัวเองได้ เช่นตัวอย่างใกล้ตัวดังนี้  

  • เรากำลังจะเข้าห้องน้ำ แล้วมีป้ายเขียนไว้ว่า “Toilette defekt, bitte nicht benutzen!" เราจะเข้าห้องน้ำนี้ไหม? …. ถ้าเราอ่านป้ายออก ก็จะรู้ว่า คำเตือนเขียนว่า "ห้องน้ำเสีย กรุณาอย่าใช้" แต่ถ้าเราอ่านไม่ออก แล้วเข้าไปใช้สุขา เกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็คงโทษใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง
  • เรานั่งอยู่ในรถไฟ อยู่ ๆ รถไฟก็หยุดนอกสถานี และมีประกาศว่า "...Bitte hier nicht aussteigen..." เราควรทำตัวยังไง? ….. ถ้าเราฟังออก ก็จะรู้ว่าเขาประกาศว่า “กรุณาอย่าเพิ่งลงจากรถไฟ” เราก็แค่นั่งต่อไป รอลงที่สถานีตามปกติ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราอาจจะตกใจ หาทางลงจากรถไฟ ซึ่งจะเป็นอันตรายได้

ปัญหาที่คนไทยพบบ่อย เมื่อไม่รู้ภาษาเยอรมัน

สิ่งที่เราควรเข้าใจเป็นอันดับแรกคือ ภาษาราชการในประเทศเยอรมนีคือ ภาษาเยอรมัน เพียงภาษาเดียว ดังนั้นตราบใดที่เราอาศัยอยู่ในเยอรมนี ภาษานี้จะวนเวียนอยู่ในชีวิตเราตลอด ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว เช่น เดินทาง ซื้อของ จ่ายตลาด หาหมอ ไปจนถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ เช่น จดหมายจากอำเภอ จดหมายจากโรงเรียนลูก สัญญาใช้โทรศัพท์ สัญญาเช่าบ้าน สัญญาจ้างงาน การสื่อสารรวมไปถึงเอกสารทุกอย่างจะเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด แล้วใครจะช่วยอธิบายให้เราได้ทุกครั้ง นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตน?

ตอนเราจดทะเบียนสมรส ทำสัญญาสมรส หรือสัญญาซื้อบ้าน เจ้าหน้าที่จะให้เรานำล่ามที่สาบานตนกับศาลมาแปลเป็นภาษาไทยให้ เพื่อให้เราเข้าใจว่าเรากำลังจะเซ็นอะไร เพราะเมื่อเราเซ็นไปแล้ว สิ่งนั้นจะมีผลไปจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง แต่ในชีวิตประจำวัน คงไม่สามารถพึ่งล่ามได้ตลอดเวลา หากใครไม่รู้ภาษาเยอรมัน คิดว่าเซ็น ๆ ไปก็จบ ไม่อยากเสียเวลา หารู้ไหมว่า ที่ “เขาบอกว่า” เป็นสัญญาซื้อมือถือ ความจริงกลับเป็นสัญญากู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูง ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราอาจจะต้องมานั่งเสียเวลา เสียเงิน เสียใจในภายหลัง เพราะสัญญาที่เซ็นไปไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ตอนแรก บางคนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะไปเซ็นสัญญาโดยไม่เข้าใจ “เขาบอกให้เซ็น ก็เซ็นไป” หรือหลายคนมาฟ้องร้องกันทีหลังก็มีให้เห็นบ่อย จะดีกว่าไหม ถ้าเราเรียนรู้ภาษาเยอรมันตั้งแต่แรก ให้พอที่จะดูแลตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาในภายหลังเพราะความไม่รู้ภาษา

รู้ภาษาเยอรมันแล้วดีกับตนเองอย่างไร?

นอกจากการรู้ภาษาเยอรมันจะช่วยป้องกันปัญหาและช่วยให้เราอยู่เยอรมนีอย่างราบรื่นแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม รวมทั้งช่วยเปิดโอกาสดี ๆ ในชีวิตเราได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนต่อ เรื่องงาน และการขอสัญชาติเยอรมัน 

ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและทางสังคม ภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร ช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจ ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตอนอยู่เมืองไทย เราอยู่อย่างมีความสุขเพราะเราสื่อสารภาษาไทยกับคนอื่นรู้เรื่อง อ่านเขียนอะไรก็รู้เรื่อง แล้วจะดีแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจภาษาเยอรมันถึงระดับที่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ รับผิดชอบตนเองในสังคมเยอรมันได้ เราก็จะสามารถออกแบบชีวิตที่มีความสุขและเป็นอิสระในเยอรมนีได้เช่นเดียวกัน

หากใครต้องการเรียนต่อในเยอรมนี ภาษาเยอรมันถือว่าสำคัญมาก จากที่ Mausmoin พบเจอมา หลายวิชาจะสอนเป็นภาษาเยอรมัน รวมไปถึงการสื่อสารในโรงเรียน และทำงานกลุ่มกับเพื่อน ก็ล้วนแต่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก อย่าลืมว่าในสนามแข่งนี้ เราจะต้องแข่งกับคนเยอรมันด้วย ถ้าเราไม่มีภาษาเยอรมันเป็นอาวุธ เราอาจจะตกรอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งเลยก็ได้ ดังนั้นการเรียนภาษาเยอรมันไว้ จะเป็นอีกจุดแข็งสำคัญของเราเมื่อสมัครเข้าเรียนต่อ หรือสมัครเข้าฝึกงาน

การสมัครงานก็เช่นกัน หากเราสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดี เราก็จะมีตัวเลือกตำแหน่งงานที่มากขึ้นหลายเท่า แม้เราจะมีทักษะเฉพาะทางที่เด่นกว่าคนอื่น แต่ทักษะการสื่อสารเยอรมันก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ว่าจ้างจะนำมาช่วยพิจารณารับเราเข้าทำงาน Mausmoin สรุปง่าย ๆ ก็คือ เราต้องเจ๋งจริง ทั้งทักษะการทำงานและทักษะการสื่อสารกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานได้ดี แค่นี้ งานที่อยากได้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

การขอสัญชาติเยอรมันก็เช่นกัน หากใครอยากจะขอหนังสือเดินทางเยอรมัน ก็ต้องสามารถสื่อสารเยอรมันได้ดีพอ อย่างน้อยในระดับ B1 คือสื่อสารเยอรมันเข้าใจได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตในเยอรมนีได้อย่างปกติสุข หากเราอยากจะขอสัญชาติเยอรมัน นั่นหมายถึงเราจะกลายเป็นพลเมืองเยอรมัน ดังนั้น เราก็ต้องสามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ และต้องเข้าใจบริบทสังคม และวัฒนธรรมเยอรมันด้วย

Mausmoin เอาใจช่วยให้เพื่อน ๆ เริ่มต้นเรียนเยอรมันอย่างมีความสุข และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นในสังคมเยอรมัน ภาษาเยอรมันช่วยเปลี่ยนชีวิตและเพิ่มโอกาสให้หลายคนมาแล้ว แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ พร้อมที่จะเรียนภาษาเยอรมันเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นแล้วหรือยัง? 

เริ่มเรียนเยอรมันง่าย ๆ ไปกับเม้าส์มอยน์ที่นี่เลย!

จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 25 (กันยายน 2561) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน

U01 ตะลุยแบบฝึกหัด ฝึกเรียงประโยค เตรียมพร้อมสอบเยอรมัน | Übung Aussagesatz A1

มาตะลุยแบบฝึกหัดสนุก ๆ เข้าใจง่าย กับเม้าส์มอยน์กันเลย! แล้วจะรู้ว่าประโยคบอกเล่า ง่ายนิดเดียว แถมยังเอาไปใช้เตรียมสอบวัดระดับเยอรมันได้ด้วยนะ!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ เหมาะกับเพื่อนๆ ที่อยากปูพื้นฐาน ทบทวนเยอรมัน หรือต่อยอดเยอรมันในระดับสูงขึ้นไป

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

W02 ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน+แบบฝึกหัด เรื่องสถานที่รอบตัว | Wortschatz+Übung

ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน เรื่องใกล้ตัวอย่างสถานที่รอบตัว ปิดท้ายด้วยแบบฝึกหัดเช็คความเข้าใจ อย่ารอช้า ไปเรียนรู้กับเม้าส์มอยน์กันเลย!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ อยากปูพื้นฐาน ทบทวนเยอรมัน หรือต่อยอดเยอรมันขึ้นสูงขึ้นไป

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 รอบใหม่แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ

ตะลุยคำศัพท์เยอรมัน เรื่องใกล้ตัวอย่างหัวข้อครอบครัวของเรา บางคำง่ายยิ่งกว่าภาษาไทยเสียอีก อย่ารอช้า ไปเรียนรู้กับเม้าส์มอยน์กันเลย!

คลิปนี้เป็นตัวอย่างการเรียนจาก คอร์สเรียนเยอรมันกับเม้าส์มอยน์ สำหรับคนไม่มีพื้นฐานเยอรมัน อยากปูพื้นฐานหรืออยากทบทวนเยอรมัน

*** เปิดคอร์สเรียนเยอรมัน A1, A2 รอบ ส.ค. แล้ว! สมัครได้เลย รับจำนวนจำกัดนะจ๊ะ สมัครทาง Line, Facebook: mausmoin, E-mail: info@mausmoin.com

สื่อเยอรมันพาดหัวข่าวเป็นภาษาไทย | Thai auf der Bild Zeitung

คนไทยสนใจภาษาเยอรมัน คนเยอรมันก็สนใจภาษาไทยเหมือนกันนะ
แฟนเพจ mausmoin ส่งรูปหนังสือพิมพ์เยอรมัน "Bild" ของวันนี้ (5 กค.) มาแชร์ให้เพื่อนดูกัน 🙂
โดยขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง เลยว่า "น้องๆ สู้ๆ Seid tapfer, Jungs!"

เรื่องแผนการช่วยเหลือน้อง ๆ 13 คนในถ้ำ ยังคงเป็นที่สนใจทั้งในไทย ต่างประเทศ และ ในเยอรมนีเองก็ออกข่าวความคืบหน้าทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์อยู่ทุกชั่วโมง

โดยล่าสุดเม้าส์มอยน์ก็ได้ยินจากทางวิทยุเยอรมันว่า "Die Jungen müssen erst tauchen lernen." เด็กๆ คงต้องเรียนดำน้ำก่อน หากจะต้องดำน้ำออกมาจากถ้ำ เนื่องจากระดับน้ำยังสูง จากที่เม้าส์มอยน์เคยเรียนดำน้ำลึกแบบ Open Water มา ก็รู้เลยว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะดำน้ำ ที่มืดๆ แคบๆ ออกมาจากถ้ำยาวหลายกิโลเมตร

ณ ตอนนี้ คงต้องเอาใจช่วยเช่นกัน ว่า "Seid tapfer, Jungs!" อึดกันหน่อยนะ น้องๆ!

ขอขอบคุณรูปจากแฟนเพจผู้น่ารัก Kanchalika EVe 🙂
#ถ้ำหลวง #ทีมหมูป่า #ภาษาไทย #Bild #deutsch

ซุปเปอร์มาร์เก็ตเยอรมันเตรียมถอด “หลอดพลาสติก” ออกจากชั้นสินค้าแล้ว | Plastik-Strohhalme verbannen

หลอดพลาสติกไม่ดียังไง ทำไมต้องเลิกขาย เม้าส์มอยน์จะเล่าให้ฟัง

เครือบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเยอรมันอย่าง Rewe และ Lidl เตรียมที่จะหยุดจำหน่ายหลอดพลาสติกแล้ว

โดย Rewe วางแผนจะถอดหลอดพลาสติกออกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 6000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ โดยในเครือ Rewe ประกอบไปด้วยบริษัทลูก อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Penny และร้านขายวัสดุก่อสร้าง Toom

ในส่วนของเครือบริษัท Lidl ที่รวมไปถึงบริษัทลูกอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต Kaufland ก็ตั้งใจว่าจะเลิกขายหลอดและสินค้าพลาสติกใช้แล้วทิ้งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย จาน ช้อน ส้อม รวมไปถึงที่ปั่นหู ภายในสิ้นปีหน้า (ค.ศ. 2019)

ทั้งนี้ หลอดเป็นหนึ่งในสินค้าใช้แล้วทิ้ง เป็นขยะที่ลอยอยู่ในทะเลและตามชายหาดจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีการใช้งานอยู่เพียง 20 นาที ก่อนที่เราจะโยนหลอดทิ้งกลายเป็นขยะ เชื่อไหมว่า แค่ในยุโรปเองก็มีพลาสติกกว่าแสนตันในทะเลแล้ว ต่อปีมีการใช้หลอดกว่า 36.4 พันล้านชิ้น แก้วกาแฟใช้แล้วทิ้ง 16 พันล้านแก้ว ขวดใช้แล้วทิ้ง 46 พันล้านขวด และรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อีก

ซึ่งหากทางเครือ Rewe เลิกขายแล้ว จะสามารถลดปริมาณหลอดพลาสติกลงได้มากกว่า 42 ล้านชิ้นเลย (จากคำแถลงของทาง Rewe) และในปีหน้า เราจะเริ่มเห็นสินค้าทดแทนพลาสติก ที่ทำจากกระดาษ ต้นอ่อนข้าวสาลี หรือสแตนเลส ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือ Rewe แทน

ทางเครือ Lidl ก็ต้องการจะนำสินค้าทดแทนพลาสติกที่นำมาใช้ใหม่ได้ มาขายแทนในซุปเปอร์มาร์เก็ต กว่า 3200 สาขาเช่นกัน แต่จะเริ่มหลังจากที่ขายของเก่าในชั้นให้หมดก่อน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยุโรปได้นำเสนอมาตรการลดขยะพลาสติกช่วงปลายเดือนพค. ที่ผ่านมา และต้องการที่จะลดปริมาณขยะใช้แล้วทิ้งในทะเลลงร้อยละ 30 ภายในปีค.ศ. 2020 และลดให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปีค.ศ. 2030

ที่ประเทศไทย เม้าส์มอยน์ก็เห็นบางโรงแรมเริ่มนำหลอดที่ทำจากกระดาษมาใช้แทนหลอดพลาสติกบ้างแล้ว แต่พอดูดไปซักพัก ก็จะเริ่มเปื่อย ขาด งอ หวังว่าจะมีนวัตกรรมที่ดีกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนพลาสติกได้เร็ว ๆ 

รับรองเอกสารเยอรมัน | Beglaubigung

การรับรองเอกสารราชการเยอรมัน | Beglaubigung deutscher Urkunden 

เอกสารเยอรมันที่ต้องรับรอง

ระยะเวลา ค่าธรรมเนียม

รายชื่อหน่วยงานรับรองเอกสารเยอรมัน

สรุปขั้นตอนการรับรองเอกสารเยอรมัน

การรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลไทยในเยอรมนี

ติดต่อแปลเอกสาร

หากเราคนไทย จำเป็นต้องนำเอกสารราชการเยอรมันไปติดต่อราชการที่ไทย ก็ควรจะรับรองเอกสารตามระเบียบขั้นตอนที่ทางราชการกำหนดไว้ให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตอนไปติดต่อราชการที่ไทย หรือมอบอำนาจให้คนที่ไทยไปเดินเรื่องให้เรา ไม่ว่าจะต้องติดต่อเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรส ขอเปลี่ยนนามสกุลหลังหย่า ขอแจ้งชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย ขอสูติบัตรไทยให้ลูก ทำหนังสือเดินทางใหม่ เตรียมเอกสารแต่งงานใหม่หลังการหย่าในเยอรมนี ติดต่อธนาคาร ทนาย เรื่องมรดกของผู้เสียชีวิต ติดต่อทำธุรกิจระหว่างประเทศเยอรมนี-ไทย และอีกหลาย ๆ กรณี ที่จะต้องใช้เอกสารราชการจากทางเยอรมนีไปยื่นเรื่องที่ไทย mausmoin.com จึงได้รวบรวมวิธีการรับรองเอกสารราชการเยอรมันมาให้ ดังนี้

เอกสารเยอรมันที่ต้องรับรอง

การรับรองเอกสารราชการเยอรมัน เรียกเป็นภาษาเยอรมันได้ว่า Beglaubigung von Urkunden zur Vorlage im Ausland เป็นการรับรองลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานบนเอกสาร ว่าเป็นลายมือชื่อจริงและตราประทับจริง ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จำเป็น หากเราต้องการนำเอกสารราชการเยอรมันไปใช้ติดต่อราชการที่ไทย หรือเจ้าหน้าที่หลายคนอาจเข้าใจเมื่อใช้คำว่า Apostille, Legalisation

ดังนั้น แค่ลายมือชื่อและตราประทับของนายทะเบียนที่ออกเอกสารให้เรา ยังไม่เพียงพอ ที่จะนำไปรับรองเอกสารที่สถานทูตไทย หรือกงสุลไทย ก่อนนำไปใช้ที่ไทยได้  

การรับรองเอกสารราชการเยอรมันที่กงสุลไทยต้องการ ไม่ใช่การรับรองสำเนาถูกต้อง (beglaubigte Abschrift) แต่เป็นการรับรองลายมือชื่อจริงและตราประทับจริง

ตัวอย่างข้อความในใบรับรองว่าเป็นลายมือชื่อจริงและตราประทับจริง (แต่ละหน่วยงานจะมีรูปแบบเอกสารไม่เหมือนกัน)

ตัวอย่างเอกสารที่ต้องได้รับการรับรองแล้วจึงนำมาแปลเป็นไทย

  1. ใบสำคัญการสมรสเยอรมัน [Eheurkunde/ Auszug aus dem Heiratseintrag]
  2. สูติบัตรเยอรมัน [Geburtsurkunde]
  3. มรณบัตรเยอรมัน [Sterbeurkunde]
  4. ใบสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมัน [Einbürgerungsurkunde]
  5. คำพิพากษาการหย่า [Scheidungsurteil]

เอกสาร 1-4 ข้างต้น (ยกเว้นคำพิพากษาการหย่า) ที่ออกจากหน่วยงานในเมืองที่เราอยู่ ต้องนำไปรับรองที่ “สำนักงานบริหารปกครองมลรัฐ” (Regierungspräsidium/ Bezirksregierung/ Regierung) ก่อน และนำมาแปลเป็นไทยพร้อมกับเอกสารนั้น ๆ กับ mausmoin.com

ทั้งนี้ แต่ละเมือง แต่ละรัฐ จะมีชื่อเรียกหน่วยงานรับรองเอกสารไม่เหมือนกัน จึงควรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ออกเอกสารให้เราโดยตรงว่า จะต้องไปรับรองเอกสารเพื่อนำไปใช้ที่ไทยได้ที่ไหน เจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลติดต่อเราได้ ดูรายชื่อที่นี่

สำหรับคำพิพากษาการหย่า [Scheidungsurteil] ที่ออกโดยศาลชั้นต้น (Amtsgericht) จะต้องส่งไปรับรองลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำพิพากษา ที่ศาลแห่งรัฐ (Landgericht) ก่อน ซึ่งเราสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ที่จัดทำคำพิพากษาหย่าให้เราได้ว่าต้องไปรับรองที่ไหน 

เมื่อรับรองเอกสารเรียบร้อยแล้ว นำมาแปลเป็นไทยพร้อมกับเอกสารนั้น ๆ กับ mausmoin.com จากนั้นจึงนำเอกสารพร้อมฉบับแปลไปรับรองอีกรอบที่สถานทูตไทย หรือกงสุลไทยในเยอรมนี ก่อนนำไปไทย ไม่ว่าจะมอบอำนาจให้คนที่ไทยไปทำเรื่องให้ต่อ หรือเดินทางกลับไปทำเรื่องด้วยตนเอง

ระยะเวลา และค่าธรรมเนียม

แต่ละหน่วยงาน จะมีระยะเวลารับรองเอกสารเร็วช้าไม่เท่ากัน บางที่สามารถรอรับได้เลย เราสามารถส่งไปรษณีย์ไปรับรอง หรือเดินทางไปด้วยตนเองได้ ซึ่งหากไปด้วยตนเองก็จะเร็วกว่า ค่าธรรมเนียมประมาณ 15-30 ยูโร mausmoin.com แนะนำให้โทรสอบถามหน่วยงานที่รับรองเอกสารล่วงหน้าในวันเวลาทำการ เพื่อสอบถามขั้นตอนและเวลาทำการก่อน จะได้เตรียมตัวและเตรียมเอกสารได้พร้อม และเดินเรื่องได้เสร็จในคราวเดียว

รายชื่อหน่วยงานรับรองเอกสารเยอรมัน

Mausmoin.com รวบรวมรายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน (PDF) เรียงตามรัฐต่าง ๆ ทั่วเยอรมนี โดยเราต้องดูว่าเมืองที่ออกเอกสารขึ้นตรงกับหน่วยงานใด หากไม่ทราบ แนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ออกเอกสารโดยตรง

รายชื่อข้างต้นนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นควรติดต่อหน่วยงานเยอรมันผู้ออกเอกสาร (เช่น สำนักทะเบียน Standesamt) หรือที่ว่าการเมือง (Stadtverwaltung) ศาลชั้นต้น (Amtsgericht)) หรือโทรไปที่หมายเลขที่ให้ไว้ก่อนส่งเอกสารไปรับรอง

สรุปขั้นตอนการรับรองเอกสารเยอรมัน

1. ไปรับรองลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานบนเอกสารกับหน่วยงานเยอรมัน

2. นำเอกสารมาแปลเป็นไทยกับ mausmoin.com ติดต่อ Line: mausmoin

3. ไปรับรองเอกสารที่สถานทูต/กงสุลไทยในเยอรมนี

4. ไปรับรองรอบสุดท้ายที่กรมการกงสุล เขตหลักสี่ หรือหน่วยงานต่างจังหวัด ที่ไทย

5. นำเอกสารพร้อมฉบับแปลไปติดต่อราชการที่ไทยตามต้องการ

Quelle: เรียบเรียงและรวบรวมข้อมูลจาก เว็บไซต์ของ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และสถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

ติดต่อแปลเอกสาร

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ฉบับแปลและตรารับรองเป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและเยอรมนี

คุณสามารถทราบค่าแปลและระยะเวลาแปลได้รวดเร็ว โดยส่งเอกสารทุกหน้าที่ต้องการจะแปลมาที่ info@mausmoin.com หรือ Line: mausmoin ยินดีรับงานด่วน

เมื่อรับรองเอกสารเรียบร้อยแล้ว นำมาแปลเป็นไทยพร้อมกับเอกสารนั้น ๆ กับ mausmoin.com จากนั้นจึงนำเอกสารพร้อมฉบับแปลไปรับรองอีกรอบที่สถานทูตไทย หรือกงสุลไทยในเยอรมนี แล้วจึงนำไปใช้ที่ไทย

หากต้องการให้ mausmoin.com ส่งเอกสารและฉบับแปลไปรับรองที่สถานทูตไทย หรือกงสุลไทยในเยอรมนี ก็สามารถแจ้งขอใช้บริการได้ค่ะ

Skype/ Line ID: Mausmoin

อีเมล: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

หนังสือเดินทางเยอรมัน “เกือบ” ทรงพลังที่สุดในโลก | Der deutsche Pass ist nicht mehr der mächtigste Reisepass der Welt.

หนังสือเดินทางเยอรมัน “เกือบ” ทรงพลังที่สุดในโลก เสียตำแหน่งอันดับ 1 ให้ประเทศเพื่อนบ้านไทยไปนิดเดียว | Der deutsche Pass ist nicht mehr der mächtigste Reisepass der Welt.

เป็นที่รู้กันมานานถึงความทรงพลังของหนังสือเดินทางเยอรมัน ที่เป็นเสมือนบัตรผ่านเข้าหลายร้อยประเทศทั่วโลก โดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งในช่วงมี.ค. ที่ผ่านมา เม้าส์มอยน์เห็นข่าวว่า หนังสือเดินทางเยอรมันได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนังสือเดินทางที่ดีที่สุดในโลก

แต่ล่าสุด (ต.ค.) เม้าส์มอยน์ได้ข่าวผลการจัดอันดับความทรงอิทธิพลของหนังสือเดินทางจากทั่วโลกของ passportindex.org ออกมาใหม่ว่า หนังสือเดินทางเยอรมันถูกเบียดไปอยู่ในอันดับ 2 แล้ว โดยสามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นได้ 158 ประเทศโดยไม่ต้องทำเรื่องขอวีซ่า*

แพ้อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ เพื่อนบ้านไทยไปนิดเดียว ที่เข้าได้ 159 ประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศจากทวีปเอเชียขึ้นมาเป็นอันดับ 1

อันดับ 3 เป็นของสวีเดน และเกาหลีใต้ (เข้าได้ 157 ประเทศ) 
สำหรับไทย อยู่อันดับ 54 (เข้าได้ 72 ประเทศ) นับว่าอยู่ในอันดับกลาง ๆ 
และอันดับสุดท้าย ลำดับ 93 คือ อัฟกานิสถาน (เข้าได้ 22 ประเทศ)

*ปัจจัยการจัดอันดับจะนับจากจำนวนประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นโดยไม่ต้องขอวีซ่า หรือขอวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศนั้น ๆ หรือลงทะเบียนล่วงหน้าแทนการขอวีซ่า
Quelle: passportindex.org, Foto: businesstraveller.de

ใครมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเยอรมนี I Bundestagswahl

ใครมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเยอรมนี วันอาทิตย์นี้บ้าง?

เยอรมนีจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป หรือ Bundestagswahl ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนนี้ เพื่อเลือกผู้แทนฯ (Bundestagsabgeordnete) และพรรคการเมือง เพื่อเป็นตัวแทนไปเลือกนายกรัฐมนตรีอีกที ช่วงนี้ใครอยู่ในเยอรมนี คงจะเห็นทั้งป้ายหาเสียง ข่าวทุกช่องทาง และการหาเสียงอย่างเข้มข้นในโค้งสุดท้ายเหมือนกับเม้าส์มอยน์

แต่รู้มั้ยว่ามีเพียง 61.5 ล้านคน จาก 82.8 ล้านคนที่อาศัยในเยอรมนี มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ มาเช็คกันหน่อยว่า ใครมีสิทธิเลือกตั้งบ้าง? แล้วเรามีสิทธิมั้ยนะ?

ใครมีสิทธิเลือกตั้ง?

- ผู้มีสัญชาติเยอรมัน
- คนเยอรมันที่อยู่ในเยอรมนี ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
- คนเยอรมันที่อายุเกิน 18 ปี

ใครไม่มีสิทธิเลือกตั้ง?

- ชาวต่างชาติที่อยู่ในเยอรมนี แต่ไม่มีสัญชาติเยอรมัน แม้จะอาศัยอยู่ในเยอรมนีมานาน ทำงาน จ่ายภาษีให้เยอรมนีก็ตาม (จำนวนมากกว่า 10 ล้านคน)
- คนเยอรมันอายุน้อยกว่า 18 ปี
- คนเยอรมันที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้อยู่ในเยอรมนีติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
- คนเยอรมันที่อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (แต่นักโทษจากคดีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองสามารถออกเสียงได้)
- คนเยอรมันที่ถูกศาลตัดสินให้อยู่ความดูแลของผู้อนุบาลสำหรับการตัดสินใจในทุกเรื่อง (Totalbetreuung)

ยกตัวอย่างว่า ถ้าเม้าส์มอยน์เป็นคนไทย อยู่เยอรมนีมานาน แต่ไม่มีสัญชาติเยอรมัน ก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถ้าใครได้หนังสือเดินทางเยอรมัน (deutscher Pass) แล้ว และมีคุณสมบัติข้างต้น ก็มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้ง Bundestagswahl วันอาทิตย์นี้ อย่าลืมเตือนคนเยอรมันที่บ้านที่มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงกันนะจ๊ะ
Quelle: bundestagswahl-bw.de, fr.de

อ่านข้อมูลการขอสัญชาติเยอรมัน: https://mausmoin.com/einbuergerung/