หนังสือเดินทางไทย | thailändischer Reisepass

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับหนังสือเดินทางไทย | thailändischer Reisepass

หนังสือเดินทางเป็นเอกสารประจำตัวสำคัญเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ หรือกลับประเทศไทย เราควรวางแผนล่วงหน้าและตรวจสอบอายุของหนังสือเดินทางตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาก่อนและระหว่างการเดินทาง Mausmoin.com ได้นำข้อมูลจากกรมการกงสุลไทยเกี่ยวกับการใช้หนังสือเดินทางไทยมาเผยแพร่ พร้อมรวบรวมข้อมูลเสริมเกี่ยวกับการทำหนังสือเดินทางไทยในเยอรมนี ทั้งนี้ mausmoin.com เป็นสำนักงานแปลเอกสารเยอรมัน-ไทย ไม่ใช่เว็บสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย

สารบัญ

อายุหนังสือเดินทางไทย

ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

การเตรียมเอกสาร

1. อายุหนังสือเดินทางไทย

หนังสือเดินทางไทยในปัจจุบันมีอายุ 5-10 ปี ซึ่งสามารถใช้ได้ถึงวันสุดท้าย

  • บินไปต่างประเทศ ต้องมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน:

ในกรณีที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศโดยสายการบิน หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ของหลายประเทศ สายการบินนานาชาติส่วนใหญ่ รวมทั้งสายการบินไทยได้ยึดถือแนวปฏิบัติขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งกำหนดให้เอกสารเดินทางต้องมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในกรณีเดินทางระหว่างประเทศ หรือตรวจสอบกับสถานทูตสถานกงสุลของประเทศที่กำลังจะเดินทาง เกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆก่อนเดินทาง

  • บินตรงกลับไทย สายการบินไทยก็อาจจะอนุโลมให้:

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้โดยสารเป็นคนไทยและจะเดินทางกลับประเทศไทย สายการบินไทยก็จะพิจารณาอนุโลมให้ แต่ในกรณีสายการบินอื่น หรือต้องแวะผ่านประเทศอื่น ก็อาจถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทาง หากหนังสือเดินทางมีอายุไม่ถึง 6 เดือน

  • หนังสือเดินทางไทยต่ออายุไม่ได้ ต้องทำใหม่:

หนังสือเดินทางไทยรุ่นปัจจุบันเมื่อหมดอายุแล้ว ไม่สามารถต่ออายุในเล่มเดิมได้ จะต้องขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

  • ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ หลังเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสหรือหย่า:

ชื่อ-นามสกุล ในหนังสือเดินทางเล่มใหม่ จะต้องตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน (จะไม่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในหนังสือเดินทางเล่มเดิม)

หากต้องการจะเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้ตรงกับนามสกุลหลังสมรสหรือหย่า ก็จะต้อง

  1. ติดต่อสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอในประเทศไทย เพื่อแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ก่อน สามารถมอบอำนาจได้
  2. ไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ด้วยตนเอง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: เปลี่ยนนามสกุลหลังสมรส หรือเปลี่ยนนามสกุลหย่า หากอยู่เยอรมนี

  • หากหนังสือเดินทางหาย หรือหมดอายุในต่างประเทศ แต่จะเดินทางกลับประเทศไทยเร่งด่วน:

หนังสือเดินทางเป็นเอกสารประจำตัวที่สำคัญมาก หากใกล้วันหมดอายุ หรือสูญหาย ควรรีบติดต่อขอรับทำเล่มใหม่ทันที อย่างไรก็ตาม หากมีธุระเร่งด่วนต้องเดินทางกลับประเทศไทย แต่พบว่าหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือ สูญหาย (กรณีสูญหาย ควรแจ้งความกับตำรวจเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในภายหลัง) และทำหนังสือใหม่ไม่ทัน สามารถติดต่อขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ออกหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity- CI) ได้ โดยนำหนังสือเดินทางเล่มเดิม หรือสำเนาหนังสือเดินทางเล่มที่สูญหายมาพร้อมรูปถ่าย บัตรประชาชน และแบบฟอร์มมายื่นล่วงหน้าก่อนเดินทางได้

หนังสือสำคัญประจำตัว CI นี้ เป็นเพียงเอกสารเดินทางชั่วคราวเพื่อกลับประเทศไทยในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่สามารถใช้เดินทางไปประเทศอื่นได้ เจ้าหน้าตรวจคนเข้าเมือง อาจสอบปากคำถึงสาเหตุการถือหนังสือสำคัญประจำตัว CI แทนหนังสือเดินทาง

เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ควรติดต่อทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ที่กองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หรือสำนักงานหนังสือเดินทางในต่างจังหวัดต่อไป

2. การทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

ในเยอรมนี ไปทำได้ 3 ที่ คือ

(1) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

(2) หรือที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

  • รายละเอียด: http://thai.thaiembassy.de/pass
  • ที่อยู่: Lepsiusstraße 64-66, 12163 Berlin
  • โทรศัพท์: 030 79 481 111 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.30 – 17.00 น.)
  • E-Mail: thaipassport@thaiembassy.de

(3) หรือที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก

  • รายละเอียด: https://thaiconsulate.de/thaipassport
  • ที่อยู่: Törringstr. 20, 81675 München
  • โทรศัพท์: +49 (0) 89 944 677-111 (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.00 – 17.00 น.)
  • E-Mail: consular@thaiconsulate.de

🇩🇪 ทำในเยอรมนี 🇩🇪
- ค่าธรรมเนียม 50 ยูโร สำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา อายุ 10 ปี
- ค่าธรรมเนียม 35 ยูโร สำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา อายุ 5 ปี
- ค่ารับรองหนังสือเดินทาง (Endorsement) 5 ยูโร (กรณีที่ต้องการเพิ่ม Endorsement)

ทำหนังสือเดินทางในไทย

  • กรมการกงสุล: http://www.consular.go.th/main/th/services
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวทั่วประเทศ
  • สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย

🇹🇭 ทำในไทย 🇹🇭
- ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท สำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา อายุ 5 ปี
- ค่าธรรมเนียม 1,500 บาท สำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา อายุ 10 ปี

ตัวอย่างการเตรียมเอกสารสำหรับทำหนังสือเดินทาง ในเยอรมนี

1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใหญ่ ควรเตรียมเอกสารต่อไปนี้ให้ครบ

➤ กรอกคำร้องหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แผ่น กรอกข้อความให้ครบทุกช่อง

➤ หนังสือเดินทางตัวจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด (รวมหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงและหน้าวีซ่าปัจจุบัน)

➤ สำเนาทะเบียนบ้านไทย ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด ที่เปลี่ยนนามสกุลตามสามีเรียบร้อยแล้ว (หากมีบัตรประจำตัวประชาชน ควรนำมาแสดงด้วย)

➤ หากนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย ไม่ตรงกับนามสกุลในวีซ่า ต้องเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทยให้ตรงกับวีซ่า ก่อนนำมาใช้ขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่

➤ สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนีที่แสดงที่อยู่ในปัจจุบัน 1 ชุด

➤ สำเนาทะเบียนสมรส 1 ชุด

➤ สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)

➤ ซองที่มีพลาสติกกันกระแทกขนาด เอ 5 เขียนชื่อที่อยู่ถึงตัวเอง และติดแสตมป์ 4.00 ยูโร เพื่อส่งหนังสือเดินทางกลับคืน

➤ ในกรณีที่หนังสือเดินทางสูญหาย หรือถูกขโมย ต้องแสดงใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย หรือใบแจ้งความหนังสือเดินทางถูกขโมยเพิ่มเติม พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางที่หายหรือถูกขโมย และกรอก“บันทึกสอบสวนประกอบคำร้องหนังสือเดินทางหาย” 1 ชุด

2. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้เยาว์ (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)

➤ กรอกคำร้องหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แผ่น กรอกข้อความให้ครบทุกช่อง
➤ หนังสือเดินทางตัวจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด (รวมหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงและหน้าวีซ่าปัจจุบัน)
➤ สำเนาสูติบัตรไทย 1 ชุด
➤ สำเนาทะเบียนบ้านไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก 1 ชุด (ลูกพ่อแม่ไทย และลูกครึ่งที่เกิดในต่างประเทศต้องมีทะเบียนบ้านไทย)
➤ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด (หากมี)
➤ สำเนาใบแสดงสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ปค. 14) หรือบันทึกการหย่าที่ระบุว่ามีอำนาจปกครองบุตร จำนวน 1 ชุด
➤ สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) ของบิดามารดา 1 ชุด
➤ สำเนาหนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย จำนวน 1 ฉบับ
➤ สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน) ของผู้ยื่นคำร้อง และบิดา มารดา(กรณีมารดาเปลี่ยนนามสกุลตามสามีใหม่ต้องแนบทะเบียนสมรสด้วย)
➤ บิดามารดา หรือ ผู้ปกครองตามกฎหมาย ต้องมาลงนามในสัญญายินยอมของคำร้องหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วย
➤ ซองที่มีพลาสติกกันกระแทกขนาด เอ 5 เขียนชื่อที่อยู่ถึงตัวเอง และติดแสตมป์ 4.05 ยูโร เพื่อส่งหนังสือเดินทางกลับคืน
➤ ในกรณีที่หนังสือเดินทางสูญหายหรือถูกขโมย ต้องแสดงใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย หรือ ใบแจ้งความหนังสือเดินทางถูกขโมยเพิ่มเติม พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางที่หายหรือถูกขโมย และกรอก“บันทึกสอบสวนประกอบคำร้องหนังสือเดินทางหาย” 1 ชุด
➤ เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

กรณีผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของหน่วยงานราชการเยอรมัน ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
➤ ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานนั้นๆ ระบุชื่อผู้ปกครองหรือหน่วยงานนั้นๆ แปลเป็นภาษาไทย โดยคำแปลต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย มาก่อน
➤ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการนั้นๆ ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานที่มีอายุใช้งานอยู่ และยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประกอบคำร้อง 1 ชุด
➤ หากมีหนังสือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เยอรมันเป็นผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย ต้องแปลหนังสือแต่งตั้งเป็นภาษาไทย และคำแปลต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือ สถานกงสุลใหญ่ไทย มาก่อน
➤ ผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย (เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการเยอรมัน) ต้องมาลงนามในคำร้องในวันที่มายื่นขอหนังสือเดินทาง

ทั้งนี้ควรเช็ครายละเอียดการเตรียมเอกสารกับทางกงสุลหรือสถานทูตอีกครั้ง ตามเว็บไซต์ข้างต้น

คำถามที่พบบ่อย

1.บุคคลต้องมีอายุเท่าใดที่จะสามารถทำหนังสือเดินทางได้ด้วยตนเอง

ตอบ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

2. เด็กอายุเท่าใดที่บิดามารดาต้องให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทาง

ตอบ ตั้งแต่แรกเกิดขึ้นไปและยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์

3. เด็กที่บิดามารดาหย่ากันจะทำหนังสือเดินทางอย่างไร

ตอบ จะต้องให้ผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ตามที่ระบุในบันทึกการหย่าลงนามให้ความยินยอมฯ

4. หน้าหนังสือเดินทางชำรุดเสียหายหรือฉีกขาดต้องทำอย่างไร

ตอบ จะต้องยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางใหม่

5. หากทำหนังสือเดินทางสูญหาย ต้องทำอย่างไร

ตอบ - สูญหายในประเทศ หากหนังสือเดินทางเล่มที่หายยังไม่หมดอายุการใช้งานต้องดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและนำใบแจ้งความฯ มายื่นขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่และยกเลิกการใช้งานหนังสือเดินทางเล่มที่สูญหายไป

รวบรวมข้อมูลจาก กรมการกงสุล, สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต, สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน, สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก

ติดต่อเรา

บริการแปลและรับรองคำแปล เอกสารภาษาเยอรมัน-ไทย ไทย-เยอรมัน โดยนักแปลที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน

รับแปล สูติบัตร (Geburtsurkunde) ทะเบียนสมรส (Eheurkunde), คำพิพากษาหย่า (Scheidungsbeschluss), มรณบัตร (Sterbeurkunde) และเอกสารราชการอื่นๆ ภาษาเยอรมัน-ไทย/ ไทย-เยอรมัน

สามารถใช้ฉบับแปลจากเรา ประกอบการทำหนังสือเดินทาง ทำธุรกรรมสำคัญ และติดต่อราชการ ได้ทั้งในไทยและเยอรมัน คุณสามารถทราบค่าบริการแปลได้รวดเร็ว เพียงส่งตัวอย่างเอกสารมาทาง Line, อีเมล หรือ Facebook ด้านล่าง -ยินดีรับงานด่วน-

บริการล่ามเยอรมัน-ไทย ในวันทำสัญญาคู่สมรส [Ehevertrag] ในพีธีจดทะเบียนสมรส [Trauung] งานฉลองแต่งงาน [Hochzeitsfeier] ในรัฐ Rheinland-Pfalz, Hessen, Baden-Württemberg โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน ติดต่อนัดวันเวลา สอบถามระยะทาง (จาก Oberwesel 55430) และค่าบริการได้ทางช่องทางติดต่อด้านล่าง

Facebook/ Line ID: Mausmoin

อีเมล: info@mausmoin.com

โทร (ในเยอรมนี): +49 (0) 176 31176234

Posted in General, ติดต่อหน่วยงานสำคัญอื่นๆ | Ämter and tagged , , .

รวบรวมข้อมูลสำคัญ สำหรับการใช้ชีวิตในเยอรมันอย่างราบรื่น และบทเรียนภาษาเยอรมัน ที่เรียนง่าย เข้าใจ ใช้ได้จริง | Infos zu Themen: Leben in Deutschland und Deutschlernen