3 ตุลา วันเอกภาพเยอรมนี | 3. Oktober: Tag der Deutschen Einheit

เม้าส์มอยน์เล่าเรื่อง! เกิดอะไรขึ้นกับเยอรมนีหลังสงครามโลก กำแพงเบอร์ลินมีไว้ทำไม เยอรมันตะวันตกกับตะวันออกคือยังไง วันนี้มาหาคำตอบ อ่านเพลิน ๆ ในวันหยุดชิว ๆ กับเม้าส์มอยน์กันเลย

วันนี้เป็นวันหยุดราชการในเยอรมนี เพราะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งของเยอรมนี นั่นคือวันเอกภาพเยอรมนี (Tag der Deutschen Einheit)

ก่อนอื่น เม้าส์มอยน์ขอพาย้อนกลับไปก่อนหน้าการรวมประเทศเยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีแพ้สงคราม จึงถูกแบ่งเป็นสี่ส่วน และถูกปกครองโดยประเทศที่ชนะสงครามนั่นคือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และอดีตสหภาพโซเวียต ในขณะนั้นกรุงเบอร์ลินก็ถูกแบ่งเป็นสี่ส่วนด้วยเช่นกัน

ต่อมาในช่วงสงครามเย็น ปีค.ศ. 1949 ก็เกิดการแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองรัฐ คือเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก

สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) เรียกภาษาเยอรมันว่า Deutsche Demokratische Republik (DDR) เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ถูกปกครองโดยอดีตสหภาพโซเวียต ที่เรียกว่าเยอรมนีตะวันออก ก็มาจากที่ตั้งทางตะวันออกของประเทศเยอรมนีนั่นเอง

และในฝั่งเยอรมนีตะวันตก ก็มีรัฐเยอรมันอีกรัฐหนึ่ง คือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) เรียกภาษาเยอรมันว่า Bundesrepublik Deutschland (BDR) มีเมืองหลวง (ชั่วคราว) อยู่ที่เมืองบอนน์ (Bonn) ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

เมื่อแยกประเทศ คนจากฝั่งเยอรมนีตะวันออกพยายามย้ายถิ่นฐาน หนีไปยังเยอรมนีตะวันตกที่เศรษฐกิจดีกว่า และมีอิสรภาพมากกว่า จนรัฐบาลทางเยอรมนีตะวันออกต้องหาทางกีดกันไม่ให้คนหนีออกไป โดยการสร้างกำแพงขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1961 กั้นเขตแดนเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก รวมถึงมีการสร้างกำแพงแบ่งกรุงเบอร์ลินออกเป็นตะวันตกและตะวันออกเช่นกัน

แต่แม้จะมีการสร้างกำแพงแล้ว ผู้คนก็ยังพยายามหาทางหนีออกจากเยอรมนีตะวันออก ไปยังเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากถูกพบเห็นก็จะถูกยิงทิ้ง ในช่วงนั้น มีคนเสียชีวิตมากมายจากการพยายามหนีออกจากฝั่งเยอรมนีตะวันออก เม้าส์มอยน์แนะนำให้ลองหาหนังเยอรมันหรือสารคดีที่เล่าถึงช่วงนั้น จะเห็นวิธีลักลอบหนีหลายรูปแบบ และความโหดร้ายของการกีดกันการหนี

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 มีการชุมนุมประท้วงและกดดันรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก จนต้องเปิดพรมแดนให้เดินทางเข้าออกเขตแดนได้อย่างเสรีอีกครั้ง และนั่นก็คือวันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลายนั่นเอง

หลังจากนั้น ในวันที่  3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 ประเทศเยอรมนีก็กลายเป็นประเทศเดียว ดังนั้น ทุกวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปี จะมีการจัดงานระลึกถึงการรวมประเทศเยอรมนี (Deutsche Wiedervereinigung) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกันเป็นเยอรมนีเดียว และได้รวมเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกเป็นหนึ่งเดียวด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือเมืองหลวงกรุงเบอร์ลิน (Berlin) ในปัจจุบัน

เยอรมนีในปัจจุบัน มีชื่อทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundesrepublik Deutschland) เมืองหลวงอยู่ที่ กรุงเบอร์ลิน มีการปกครองแบบระบอบสาธารณรัฐแบบรัฐสภา เม้าส์มอยน์อธิบายง่าย ๆ ให้ว่า ในประเทศเยอรมนี จะมีรัฐบาลกลางดูแลบริหารเรื่องส่วนกลางของประเทศ เช่นการทหาร และมีรัฐย่อย 16 รัฐ (Bundesländer) ที่มีฝ่ายปกครองของรัฐเองด้วย ดูแลเรื่องนโยบายภายในรัฐ เช่น การศึกษา ทำให้เราเห็นว่า บางรัฐในเยอรมนีให้เรียนมหาลัยฟรี แต่บางรัฐกลับมีนโยบายเก็บค่าเล่าเรียน เป็นต้น

แม้จะรวมประเทศกันมาสามสิบกว่าปีแล้ว แต่เยอรมันตะวันออกก็ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตน้อยกว่าฝั่งตะวันตก และต้องการเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลและภาษีเงินได้ของคนในชาติอยู่ เมื่อเป็นประเทศเดียวกันแล้ว เราก็ต้องคอยประคองกัน เดินหน้าไปด้วยกันต่อไป

Posted in ข่าว-ชีวิตในเยอรมัน | Nachricht-Leben, ข่าวเยอรมัน | Deutschland-Nachricht, เยอรมันในชีวิตประจำวัน | Deutsch im Alltag.

รวบรวมข้อมูลสำคัญ สำหรับการใช้ชีวิตในเยอรมันอย่างราบรื่น และบทเรียนภาษาเยอรมัน ที่เรียนง่าย เข้าใจ ใช้ได้จริง | Infos zu Themen: Leben in Deutschland und Deutschlernen