สร้างความสุขให้ชีวิตด้วยภาษาเยอรมัน!

เพื่อน ๆ ที่มาอยู่เยอรมนี ไม่ว่าจะมาด้วยจุดประสงค์ใด หรือวีซ่าประเภทใด ต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ในเยอรมนี หรือแม้เราจะอยู่อาศัยในเยอรมนีมาแล้วหลายปี ก็มักจะมีเรื่องใหม่ ๆ ให้ต้องเรียนรู้ปรับตัวอยู่เสมอ

Mausmoin ได้ยินปัญหาและการก้าวผ่านอุปสรรคของเพื่อน ๆ มาหลากหลายรูปแบบ แต่ละคนก็มักจะพบเจอเรื่องท้าทายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ทางสังคม การเรียน การทำงาน การทำธุรกิจ การติดต่อราชการ การขอสัญชาติ การทำใบขับขี่ การช่วยเหลือตนเองในทุก ๆ วัน การทำความเข้าใจข้อมูลสำคัญที่กระทบกับตนเอง และอีกหลายเรื่องราว ที่ทำให้เพื่อน ๆ หลายคนใช้ชีวิตในเยอรมนีแบบเป็นทุกข์ ไม่มีความมั่นใจ และไม่รู้จะทำให้ตนเองมีความสุขขึ้นได้อย่างไร

หากจะแก้ไขปัญหา Mausmoin อยากให้ลองเริ่มแก้ทีละจุด และปัจจัยหนึ่งที่ Mausmoin เชื่อว่า เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพื่อน ๆ แก้ปัญหาการใช้ชีวิตในเยอรมนีได้ดีขึ้น ก็คือ ความรู้ภาษาเยอรมัน

หากเพื่อน ๆ มีทักษะภาษาเยอรมัน เป็นอาวุธติดตัว สามารถสื่อสารและเข้าใจภาษาเยอรมันได้ดี ก็จะเกิดความมั่นใจในตนเอง และช่วยให้เราจัดการกับปัญหา และเปลี่ยนชีวิตในเยอรมนีจากทุกข์ให้เป็นสุขได้ไม่ยาก Mausmoin จะพามาดูกันว่า ภาษาเยอรมันจะช่วยเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขได้อย่างไร

ปัญหา: ไม่มั่นใจในตนเอง สื่อสารกับครอบครัวและเข้าสังคมไม่ได้

คนไทยหลายคนมาเยอรมนีแบบยังไม่รู้ภาษาเยอรมันด้วยวีซ่าติดตามบุตร หรือบางคนแค่ท่องภาษาเยอรมันมาเพื่อสอบขอวีซ่าแต่งงานให้ผ่าน แต่ยังสื่อสารไม่ได้ แม้ตอนแรกคนกลุ่มนี้จะสบายใจว่า เดินทางเข้ามาในเยอรมนีง่าย แต่เมื่อเริ่มต้นชีวิตในเยอรมนี หลายคนกลับพบปัญหามือแปดด้าน เพราะ "ไม่รู้อะไรเลย ภาษาเยอรมันก็พูดไม่ได้ ไม่รู้จักใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ คุยกับสามีและครอบครัวไม่รู้เรื่อง เครียดกับทุกอย่างในชีวิต ไม่อยากเจอใคร ไม่มีความสุข"

บางคนอาจมีคู่สมรสคอยช่วยเหลือพาไปติดต่อราชการ พาไปซื้อของ พาไปหาหมอ แต่ถ้าโชคร้าย แฟนไม่ว่าง ก็ต้องรอไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งสายเกินกำหนด โดนค่าปรับ และเสียโอกาสไปได้ หรือหากพูดถึงสถานการณ์ที่แย่ไปกว่านั้น คือต้องแยกทางหรือหย่ากับคู่สมรส ก็ต้องหาทางเอาตัวรอดเพียงลำพังในประเทศเยอรมนี สิ่งนี้อาจดูเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่คนไทยหลาย ๆ คนก็ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง

แล้วเราจะดูแลตนเองอย่างไร ให้อยู่ในเยอรมนีอย่างมีความสุขได้ด้วยตนเอง? สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ความรู้ในการสื่อสาร ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาเยอรมันนั่นเอง

หลายคนบ่นว่า การขอวีซ่ามาอาศัยอยู่ในเยอรมนียาก เพราะต้องสอบวัดความรู้เยอรมัน แต่ Mausmoin ว่า การอยู่ในเยอรมนีให้มีความสุขและดูแลตนเองในระยะยาวได้นั้นยากกว่า เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังจะต้องสอบเยอรมัน อย่าคิดแค่ว่า สอบเพื่อเอาคะแนนมาขอวีซ่า แต่ควรตั้งเป้าหมายตั้งแต่แรกว่า ทำอย่างไรให้เราเรียนเยอรมันแล้ว สามารถพูดคุยและเข้าใจภาษาเยอรมันในชีวิตประจำวันได้ ลองมองไปข้างหน้าว่า ถ้าเราพูดคุยเยอรมันกับครอบครัวและคนรอบข้างรู้เรื่อง อ่านข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับตนเองได้เข้าใจ ปัญหามืดแปดด้านที่เคยมี ก็จะค่อย ๆ แก้ไปได้ โดยการศึกษาหาข้อมูล ติดต่อขอความช่วยเหลือได้ด้วยภาษาเยอรมัน เราก็จะมีความสุขและมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น กล้าออกไปสมัครเรียน สมัครงาน เปิดร้านหรือทำธุรกิจด้วยตนเองได้ ปัญหาทั้งหมดที่เราจัดการแก้ไขได้จะเป็นทั้งความรู้และความสุขที่เพิ่มมากขึ้น และติดตัวเราไปทุกที่ ตราบเท่าที่เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้และเดินหน้าต่อไป

ปัญหา: ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียน ฝึกงาน หรือรับเข้าทำงาน

เป็นที่รู้กันว่าในประเทศเยอรมนี ภาษาราชการและภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาเยอรมัน บางคนก็เจอปัญหาว่า หาที่เรียนต่อไม่ได้ เพราะโรงเรียนบังคับให้ยื่นผลสอบภาษาเยอรมัน หรืออยากสมัครงาน แต่ความรู้ภาษาเยอรมันไม่เพียงพอตามคุณสมบัติของตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือบางคนคิดว่างานบางตำแหน่ง ไม่ต้องรู้ภาษาเยอรมันก็ได้ เช่น งานทำความสะอาด งานแพ็คของ เซ็นสัญญาจ้างงานไปโดยไม่เข้าใจเงื่อนไข พอเข้าไปทำงานแล้ว รู้สึกเหงา คุยกับเพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจ ก็ได้แต่ไปทำงานทุกวันให้ผ่าน ๆ ไป

จะดีกว่าไหม ถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพียงเริ่มจากการพัฒนาภาษาเยอรมัน ตั้งเป้าหมายในการเรียนและการสอบตามที่โรงเรียนหรือตำแหน่งงานกำหนด รวมทั้งฝึกฝนทักษะการสื่อสารในทุก ๆ วัน เตรียมฝึกประโยค คำศัพท์ที่ใช้บ่อยไปจากบ้าน แล้วลองเข้าไปคุยกับเพื่อน ๆ วันละนิดละหน่อย Mausmoin เชื่อว่า ทุกคนจะทำได้ มั่นใจมากขึ้น มีความสุขในสถานที่ทำงานได้มากขึ้น และทำเป้าหมายภาษาเยอรมันได้สำเร็จในที่สุด ทุกอย่างต้องใช้เวลาและการฝึกฝน อย่ายอมแพ้ เพราะ “Übung macht den Meister!” การฝึกฝนจะทำให้เราชำนาญ!

ปัญหา: ไม่กล้าสอบใบขับขี่เยอรมัน ติดปัญหายื่นขอวีซ่าถาวรและขอสัญชาติเยอรมัน

เมื่ออยู่เยอรมนีมาระยะหนึ่ง หลายคนก็อยากจะสอบทำใบขับขี่เยอรมัน  อยากทำเรื่องขอสิทธิพำนักในเยอรมนีถาวร และหลายคนก็อยากจะยื่นขอสัญชาติเยอรมัน แต่ติดปัญหาที่ภาษาเยอรมัน (อีกแล้ว) ตอนสอบใบขับขี่ เราจะต้องทำข้อสอบข้อเขียน และสอบปฏิบัติ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ความรู้ภาษาเยอรมันระดับเดียวกับคนเยอรมัน หลายคนที่พยายามหนีภาษาเยอรมันมาตั้งแต่ต้น ก็จะต้องมาเจอปัญหาเดิมคือ ฟังครูสอนขับรถไม่รู้เรื่อง อ่านโจทย์และคำตอบไม่เข้าใจ ทำข้อสอบไม่ได้ เป็นทุกข์กับการเรียนและการสอบ เพราะไม่มีพื้นฐานภาษาเยอรมันที่ดี ทำให้เรียนต่อยอดลำบาก เข้าใจยาก และยกเลิกความตั้งใจไปสอบใบขับขี่ในที่สุด เช่นเดียวกับปัญหาการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันเพื่อยื่นผลสอบตอนขอสิทธิพำนักในเยอรมนีถาวร และการขอสัญชาติเยอรมัน ที่จะต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ กรอกคำร้องภาษาเยอรมัน และสอบวัดความรู้ภาษาเยอรมันระดับที่สูงขึ้นอีกครั้ง (ระดับ B1)

ดังนั้น หากใครวางแผนจะทำใบขับขี่ จะขอวีซ่าถาวร และขอสัญชาติเยอรมัน Mausmoin ขอแนะนำให้ใส่ใจกับการพัฒนาทักษะความรู้และการสื่อสารภาษาเยอรมันของตนเอง นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ในเยอรมนี หรือนับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยและเป็นทุกข์ในช่วงเวลาที่จะต้องไปสอบ เพราะความตั้งใจและใส่ใจกับการเรียนภาษาเยอรมัน ที่เราฝึกฝนและสะสมมาอย่างสม่ำเสมอในทุกวัน จะทำให้เราสามารถสอบผ่านไปได้อย่างมีความสุขและราบรื่น ไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องไปสอบ

หากเราตั้งใจจะขอวีซ่าถาวรและขอสัญชาติเยอรมันแล้ว Mausmoin อยากให้เพื่อน ๆ เข้าใจว่า นั่นหมายถึง เราต้องการจะเป็นพลเมืองเยอรมัน ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีได้ด้วยตนเอง สื่อสารกับคนรอบข้างได้ ดูแลตนเองได้ และติดต่อราชการได้เสมือนเป็นคนเยอรมันคนหนึ่ง ดังนั้น การสอบวัดระดับภาษาเยอรมันก็เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากพัฒนาความรู้ภาษาเยอรมันของตนเอง เมื่อเราสอบผ่านด้วยความมุ่งมั่นและฝึกฝนอย่างเต็มที่แล้ว หากมองย้อนกลับไป ก็จะเห็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดดก้าวใหญ่ของตนเอง เกิดความภูมิใจในตนเอง และมีความสุขในทุกความท้าทายที่เกิดขึ้นต่อไป

“Rom wurde nicht an einem Tag erbaut.” กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ความรู้และทักษะภาษาเยอรมันของเราเองก็เช่นกัน ไม่มีใครเก่งเยอรมันได้ในวันเดียว และหากเราตั้งใจจะอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีแล้ว ภาษาเยอรมันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตในประเทศเยอรมนีได้อย่างมีความสุข

รู้อย่างนี้แล้ว ยังไม่สายที่จะตั้งเป้าหมายใหม่กับตัวเองว่า เราจะเริ่มใส่ใจกับภาษาเยอรมัน Mausmoin ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า ไม่มีอะไรที่ยากเกินความสามารถของมนุษย์ ถ้าเราตั้งใจ เรียนรู้อย่างถูกวิธี เรียนด้วยความเข้าใจ และเป็นขั้นเป็นตอน คนไทยก็สามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดี Mausmoin ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน!

และในโอกาสปีใหม่ 2563 นี้ Mausmoin ขออวยพรให้เพื่อน ๆ พบเจอแต่ความสุขสมหวัง และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ในทุกเรื่อง หมั่นพัฒนาตนเองในทุกวัน และขอขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความดี ๆ ในนิตยสาร D-Magazine และบทความของ Mausmoin มาโดยตลอด แล้วพบกันฉบับหน้านะจ๊ะ!

จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 29 (มกราคม 2563) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน

อ่านนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 29 ได้ที่ https://www.d-magazine.de/files/d-magazine/pdf/magazine/Dmag29.pdf

ค่าแรงขั้นต่ำที่เยอรมนีปีหน้าจะเป็นเท่าไรนะ | Mindestlohn 2020

ค่าแรงขั้นต่ำที่เยอรมนีปีหน้าจะเป็นเท่าไรนะ | Mindestlohn 2020

เม้าส์มอยน์พามาส่องค่าแรงขั้นต่ำที่เยอรมนีปี พ.ศ. 2563จะปรับขึ้นไปที่ 9.35 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 313 บาทต่อชั่วโมง) มีสิทธิได้ค่าแรงขั้นต่ำกันทุกคนรึเปล่า และแต่ละกลุ่มธุรกิจจะได้ค่าแรงเท่ากันไหม มาหาคำตอบกันเลย

ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนดที่เยอรมนี ณ ปัจจุบัน คือ 9.19 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 308 บาทต่อชั่วโมง) ซึ่งปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2562 โดยกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำกำหนดให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุก ๆ สองปี

ในเดือนมิ.ย. พ.ศ. 2561 มีการเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำสองขั้น ก็คือปรับวันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2562 และอีกรอบคือปี พ.ศ. 2563 ดังนั้น ตั้งแต่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2563 ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายที่เยอรมนี จะปรับขึ้นไปที่ 9.35 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 313 บาทต่อชั่วโมง)

แต่ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานทุกคนจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายเท่ากัน จะมีการยกเว้นคนบางกลุ่ม เช่น เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่ได้เรียนจบทางวิชาชีพมา กลุ่มคนฝึกงาน (ที่มักเรียกกันย่อ ๆ ว่า Azubi) นักเรียนและนักศึกษาฝึกงาน (Praktikanten) คนที่ตกงานมานานและเริ่มมาทำงานในช่วง 6 เดือนแรก บรรดาอาสาสมัคร ทำงานการกุศล เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มธุรกิจและรัฐต่าง ๆ ในเยอรมนี ก็จะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากันด้วย และในปีหน้า ก็จะมีการปรับขึ้นเช่นกัน เม้าส์มอยน์ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ เช่น

กลุ่มคนให้บริการดูแลรักษาพยาบาล ทางรัฐเยอรมนีตะวันตกและกรุงเบอร์ลิน จะปรับขึ้นจาก 11.05 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 11.35 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 380 บาทต่อชั่วโมง) แต่ในรัฐเยอรมนีตะวันออก จะปรับขึ้นจาก 10.55 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 10.85 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 363 บาทต่อชั่วโมง)

ค่าแรงขั้นต่ำช่างไฟ เพิ่มจาก 11.40 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 11.90 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 398 บาทต่อชั่วโมง)

ในขณะที่ ค่าแรงขั้นต่ำพนักงานในกลุ่มการศึกษา เพิ่มจาก 15.72 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 16.19 ยูโรต่อชั่วโมง หากมีวุฒิปริญญาตรีด้วย ค่าแรงขั้นต่ำก็จะเพิ่มเป็น 16.39 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 549 บาทต่อชั่วโมง) เป็นต้น

เม้าส์มอยน์สรุปกันอีกครั้งว่า ข้างต้นเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่ะละกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมจะกำหนดมากน้อยไม่เท่ากัน และเพื่อน ๆ แต่ละคนสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำได้ หากเรามีความสามารถ คุณสมบัติ ประสบการณ์ วุฒิการศึกษาที่สูงกว่าที่ขั้นต่ำกำหนด ขอให้เพื่อน ๆ พยายามและตั้งใจพัฒนาตนเองในสายอาชีพของเราต่อไปเรื่อย ๆ เม้าส์มอยน์เอาใจช่วยจ้า!

หากใครต้องการพัฒนาทักษะภาษาเยอรมันให้ดีขึ้น สื่อสารฟัง พูด อ่าน เขียนในชีวิตประจำวันและการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น เม้าส์มอยน์ขอแนะนำ คอร์สเรียนเยอรมันที่ออกแบบสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เปิดเรียนรอบ มค. แล้ว สมัครได้เลยทาง Line/Facebook: mausmoin

Quelle: https://www.dgb.de/

Mausmoin พาทัวร์ร้านขายของแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์ในเยอรมนี

ในข่าวที่กระแสโลกร้อนกำลังเป็นที่สนใจ แต่ละคนก็อยากจะช่วยกันคนละเล็กละน้อยเพื่อลดโลกร้อน หนึ่งในวิธีง่าย ๆ ใกล้ตัวที่เม้าส์มอยน์นำรูปมาฝากก็คือ การซื้อของแบบไม่มีห่อพลาสติก ซื้อเท่าที่จำเป็น เพื่อลดขยะที่ไม่จำเป็นและลดการใช้พลาสติกลง

ร้านที่ Mausmoin ถ่ายรูปมาฝากชื่อ Fridi unverpackt อยู่ที่เมือง Reutlingen ประเทศเยอรมนี (เจ้าของอนุญาตให้ถ่ายรูปเรียบร้อย) เป็นร้านเล็ก ๆ ที่เข้าไปแล้ว ด้านหน้าจะมีกล่องบรรจุภัณฑ์หลายขนาดแบบล้างใช้ใหม่ได้ขายอยู่ด้วย และมีลังเล็ก ๆ วางให้ลูกค้าสามารถบริจาคขวดแล้วให้คนอื่นไปใช้ต่อได้

เดินเข้าไปเรื่อย ๆ จะมีของวางขายเต็มชั้น แยกหมวดชัดเจน ทั้งของกินและของใช้ จุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือ ทุกอย่างวางขายแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์ย่อยที่ไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นก็จะบรรจุในขวดแก้ว ของส่วนใหญ่ไม่มีแบ่งห่อแยกขาย แต่จะมาในบรรจุภัณฑ์รวม ลูกค้าจะนำกล่องมาเอง ใส่ตวงปริมาณที่ต้องการ จากนั้นนำไปชั่ง และจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ไปในตัว

มาลองเดินดูของไปพร้อมกับ Mausmoin และดูรูปประกอบกันเลย มีทั้ง

- หลอด ขวดน้ำ ที่เน้นว่าไม่ได้ทำจากพลาสติก และนำมาใช้ใหม่ได้

- แปรงประเภทต่าง ๆ ที่ทำจากไม้

- สมุดจดทำจากกระดาษรีไซเคิล

- เม็ดกาแฟ ใบชา

- แป้งทำอาหารและขนมแบบต่าง ๆ

- เส้นสปาเก็ตตี้แบบต่าง ๆ

- ผัก ผลไม้สด

- ผลิตภัณฑ์ปราศจากกลูเตน

- ขนมอบ ขนมหวาน

- น้ำยาทำความสะอาด มีตั้งแต่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ

- ไอศกรีมแบบตัก (ใส่ในถ้วยไอศกรีมแบบมีมัดจำ)

และอื่น ๆ

ทั่วร้านจะมีป้ายติดตลอดว่า เพื่อความอนามัย กรุณาใช้บรรจุภัณฑ์เปล่าที่ล้างสะอาดแล้ว มาใส่อาหาร (ก่อนไปชั่งน้ำหนักและชำระเงินต่อ) Mausmoin ว่ารายละเอียดเล็ก ๆ จุดนี้สำคัญมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคและการปนเปื้อนที่อาจจะติดมากับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ล้างของลูกค้าแต่ละคน หรือมากับของในกล่องที่เรานำมาเติมต่อ

ใครสนใจลองเดินไปหาซื้อของกันได้ตามรายชื่อร้านไร้บรรจุภัณฑ์ในเยอรมนีตามรูป หรือใครเคยซื้อของจากร้านแนวนี้มาแล้ว ก็มาแชร์ประสบการณ์กันได้นะจ๊ะ

 

 

3 ตุลา วันเอกภาพเยอรมนี | 3. Oktober: Tag der Deutschen Einheit

เม้าส์มอยน์เล่าเรื่อง! เกิดอะไรขึ้นกับเยอรมนีหลังสงครามโลก กำแพงเบอร์ลินมีไว้ทำไม เยอรมันตะวันตกกับตะวันออกคือยังไง วันนี้มาหาคำตอบ อ่านเพลิน ๆ ในวันหยุดชิว ๆ กับเม้าส์มอยน์กันเลย

วันนี้เป็นวันหยุดราชการในเยอรมนี เพราะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งของเยอรมนี นั่นคือวันเอกภาพเยอรมนี (Tag der Deutschen Einheit)

ก่อนอื่น เม้าส์มอยน์ขอพาย้อนกลับไปก่อนหน้าการรวมประเทศเยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีแพ้สงคราม จึงถูกแบ่งเป็นสี่ส่วน และถูกปกครองโดยประเทศที่ชนะสงครามนั่นคือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และอดีตสหภาพโซเวียต ในขณะนั้นกรุงเบอร์ลินก็ถูกแบ่งเป็นสี่ส่วนด้วยเช่นกัน

ต่อมาในช่วงสงครามเย็น ปีค.ศ. 1949 ก็เกิดการแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองรัฐ คือเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก

สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) เรียกภาษาเยอรมันว่า Deutsche Demokratische Republik (DDR) เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ถูกปกครองโดยอดีตสหภาพโซเวียต ที่เรียกว่าเยอรมนีตะวันออก ก็มาจากที่ตั้งทางตะวันออกของประเทศเยอรมนีนั่นเอง

และในฝั่งเยอรมนีตะวันตก ก็มีรัฐเยอรมันอีกรัฐหนึ่ง คือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) เรียกภาษาเยอรมันว่า Bundesrepublik Deutschland (BDR) มีเมืองหลวง (ชั่วคราว) อยู่ที่เมืองบอนน์ (Bonn) ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

เมื่อแยกประเทศ คนจากฝั่งเยอรมนีตะวันออกพยายามย้ายถิ่นฐาน หนีไปยังเยอรมนีตะวันตกที่เศรษฐกิจดีกว่า และมีอิสรภาพมากกว่า จนรัฐบาลทางเยอรมนีตะวันออกต้องหาทางกีดกันไม่ให้คนหนีออกไป โดยการสร้างกำแพงขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1961 กั้นเขตแดนเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก รวมถึงมีการสร้างกำแพงแบ่งกรุงเบอร์ลินออกเป็นตะวันตกและตะวันออกเช่นกัน

แต่แม้จะมีการสร้างกำแพงแล้ว ผู้คนก็ยังพยายามหาทางหนีออกจากเยอรมนีตะวันออก ไปยังเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากถูกพบเห็นก็จะถูกยิงทิ้ง ในช่วงนั้น มีคนเสียชีวิตมากมายจากการพยายามหนีออกจากฝั่งเยอรมนีตะวันออก เม้าส์มอยน์แนะนำให้ลองหาหนังเยอรมันหรือสารคดีที่เล่าถึงช่วงนั้น จะเห็นวิธีลักลอบหนีหลายรูปแบบ และความโหดร้ายของการกีดกันการหนี

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 มีการชุมนุมประท้วงและกดดันรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก จนต้องเปิดพรมแดนให้เดินทางเข้าออกเขตแดนได้อย่างเสรีอีกครั้ง และนั่นก็คือวันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลายนั่นเอง

หลังจากนั้น ในวันที่  3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 ประเทศเยอรมนีก็กลายเป็นประเทศเดียว ดังนั้น ทุกวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปี จะมีการจัดงานระลึกถึงการรวมประเทศเยอรมนี (Deutsche Wiedervereinigung) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกันเป็นเยอรมนีเดียว และได้รวมเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกเป็นหนึ่งเดียวด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือเมืองหลวงกรุงเบอร์ลิน (Berlin) ในปัจจุบัน

เยอรมนีในปัจจุบัน มีชื่อทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundesrepublik Deutschland) เมืองหลวงอยู่ที่ กรุงเบอร์ลิน มีการปกครองแบบระบอบสาธารณรัฐแบบรัฐสภา เม้าส์มอยน์อธิบายง่าย ๆ ให้ว่า ในประเทศเยอรมนี จะมีรัฐบาลกลางดูแลบริหารเรื่องส่วนกลางของประเทศ เช่นการทหาร และมีรัฐย่อย 16 รัฐ (Bundesländer) ที่มีฝ่ายปกครองของรัฐเองด้วย ดูแลเรื่องนโยบายภายในรัฐ เช่น การศึกษา ทำให้เราเห็นว่า บางรัฐในเยอรมนีให้เรียนมหาลัยฟรี แต่บางรัฐกลับมีนโยบายเก็บค่าเล่าเรียน เป็นต้น

แม้จะรวมประเทศกันมาสามสิบกว่าปีแล้ว แต่เยอรมันตะวันออกก็ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตน้อยกว่าฝั่งตะวันตก และต้องการเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลและภาษีเงินได้ของคนในชาติอยู่ เมื่อเป็นประเทศเดียวกันแล้ว เราก็ต้องคอยประคองกัน เดินหน้าไปด้วยกันต่อไป

สุขสันต์วันการแปลสากล! | International Translation Day

สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 30 ก.ย. ของทุกปี เป็นวัน International Translation Day [ภาษาเยอรมัน: Der Internationale Tag des Übersetzens] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เพื่อยกย่องการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทางภาษา ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้แต่ละประเทศสื่อสารเข้าใจกัน ช่วยเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร การประสานงาน และอุทิศตนเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในโลก

รวมไปถึงการแปลงานด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการแปล ทั้งการตีความเนื้อหา และการใช้ศัพท์เฉพาะทาง เพื่อให้การสื่อสารจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งมีประสิทธิผลสูงสุด

แม้ในปัจจุบันจะมีเครื่องมือแปลภาษาออนไลน์ที่รวดเร็วมากมาย (เช่น google translate) แต่ก็ยังไม่สามารถแทนที่นักแปลและล่ามผู้เชี่ยวชาญได้ ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ที่ต้องอาศัยทักษะ ไหวพริบ และประสบการณ์ของผู้แปล/ล่าม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำศัพท์เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าใจละสื่อความหมายถูกต้อง การตีความประโยคจากบริบทเนื้อหา ซึ่งในหลายภาษา ไม่ว่าภาษาเยอรมัน หรือภาษาไทยเอง ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะแปลคำต่อคำแล้วถูกต้อง ศัพท์แต่ละคำก็มีหลายความหมาย บางความหมายตรงข้ามกันก็มี เช่น einstellen แปลได้ทั้งรับคนเข้าทำงาน หรือเลิกกิจการ และอีกหลายความหมาย ดังนั้นหากผู้แปลไม่มีทักษะเพียงพอ และไม่เข้าใจบริบทเนื้อหาที่ถูกต้อง ก็จะทำให้แปลงานออกมามีความหมายผิดเพี้ยนได้ ปัญหานี้เห็นตัวอย่างได้ง่าย ๆ จากการแปลของ google translate ที่หลายคนงงกับคำแปล อ่านไม่รู้เรื่อง และนำมาแชร์เป็นเรื่องขำขันกันไป

ดังนั้น การคัดเลือกนักแปลและล่ามที่มีทักษะและความสามารถที่แปลได้ถูกต้องจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เห็นในประเทศเยอรมนี ที่มีการสอบคัดเลือก สาบานตนและขึ้นทะเบียนนักแปลและล่ามชำนาญการกับศาลเยอรมัน เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่าการแปลและล่ามเป็นไปอย่างถูกต้อง และได้รับการรับรองคำแปลจากนักแปล/ล่ามผู้นั้นแล้ว

ในฐานะนักแปลและล่ามสาบานตนในเยอรมนี ครูศิรินและ mausmoin.com ขอขอบคุณ ศาลเยอรมัน หน่วยงานราชการเยอรมัน ทนาย โนทาร์ บริษัทเอกชน และลูกค้าที่น่ารักทุกท่าน ที่ไว้วางใจให้แปลเอกสารสำคัญทุกฉบับ และให้ไปล่ามทั้งในศาล ล่ามทางราชการ ประสานงานธุรกิจ และในพิธีการสำคัญทุกโอกาส ครูศิรินและ mausmoin.com จะพัฒนาคุณภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้บริการทุกท่านอย่างเต็มความสามารถและดีที่สุดค่ะ

รูปที่ 2: บรรยากาศช่วงพักตอนไปล่ามภาษาไทย-เยอรมัน-อังกฤษ ที่กระทรวงเกษตร กรุงเบอร์ลินค่ะ (Bundesministerium für
Ernährung und Landwirtschaft)

เช่าหรือซื้อที่อยู่ในเยอรมนี ดีกว่ากัน? | Mieten oder Kaufen?

หัวข้อฉบับนี้คือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ Mausmoin จึงขอชวนคุย เกี่ยวกับการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยในเยอรมนี ซื่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่เราต้องดูแลจัดการตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเยอรมนี แต่หลายคนก็ยังลังเลว่าจะซื้อหรือเช่าที่อยู่ดี แล้วคนไทยเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเยอรมนีได้รึเปล่า ดังนั้น Mausmoin จะขอพาเพื่อน ๆ มาเปรียบเทียบการเช่าและซื้อบ้าน รวมถึงข้อดีข้อเสีย เพื่อนำไปปรับใช้วางแผนเรื่องที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัวไปพร้อมกัน

หลักๆ สามารถแบ่งการอยู่อาศัยระยะยาวในเยอรมนีเป็น 2 ประเภทคือ เช่าอยู่ และซื้อขาด (หรือผ่อนชำระหลายสิบปี) Mausmoin ขอเริ่มที่การเช่าที่อยู่กันก่อน

ค่าเช่าถูกหรือแพงวัดจากอะไร

ค่าเช่าบ้านหรือห้องพักจะแพงหรือถูก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ทำเล ขนาด จำนวนห้อง คุณภาพบ้าน สิ่งอำนวยความสะดวก ปีที่สร้าง โครงสร้างพื้นฐาน (เช่น มีถนน และรถสาธารณะผ่านมากหรือน้อย) ยกตัวอย่างว่า หาก Mausmoin เช่าห้องใหม่ขนาด 100 ตารางเมตรในเมืองใหญ่ย่านธุรกิจ ทำเลใจกลางเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ค่าเช่าห้องก็อาจสูงถึงหลักพันยูโรได้ ในขณะที่ห้องขนาดเท่ากัน แต่ทำเลนอกเมือง คุณภาพปานกลาง ค่าเช่าอาจจะอยู่ที่หลักร้อยยูโรก็มี ดังนั้นเราคงต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่ามีงบเท่าไร และต้องการบ้านคุณสมบัติแบบใด มีรถส่วนตัวหรือไม่ เดินทางอย่างไร แล้วเราก็จะสามารถหาตัวเลือกบ้านหรือห้องพัก ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และเงินในกระเป๋าของเราได้

อีกตัวเลือกก็คือการซื้อห้องชุดและบ้าน

การซื้ออสังหาริมทรัพย์สำหรับอยู่อาศัยในเยอรมนี สามารถซื้อได้ไม่ยุ่งยาก คนต่างชาติสามารถซื้อบ้านและที่ดินได้ เพราะฉะนั้นคนไทยอย่าง Mausmoin และเพื่อน ๆ ก็สามารถซื้อและครอบครองกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินในเยอรมนีได้ตามกฎหมาย โดยปกติในตลาดมีทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสองประกาศขาย แน่นอนว่าราคาบ้านใหม่ บ้านมือหนึ่งจะสูงกว่า ต้องรอสร้างนาน 1-2 ปี แต่เราจะได้ออกแบบบ้านตามต้องการตั้งแต่ต้น ในขณะที่บ้านมือสอง เราซื้อตามที่เห็น ย้ายเข้าอยู่ได้เร็วกว่า แต่เราอาจต้องมาปรับเปลี่ยนลักษณะบ้านตามการใช้งานของเราในภายหลัง

แล้วเช่าหรือซื้อดีกว่ากันนะ? Mausmoin จะไม่ฟันธงให้ว่าตัวเลือกไหนดีกว่า แต่จะพาเพื่อนๆ มาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการซื้อและเช่าที่อยู่ในเยอรมนี เพื่อให้แต่ละคนชั่งน้ำหนักดูว่า แบบไหนเหมาะกับลักษณะการใช้ชีวิตของตนเองมากที่สุด

ข้อดีของการเช่าอยู่

  1. มีกฎหมายคุ้มครองผู้เช่า ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดชอบ มาก เช่น หากในบ้านที่ Mausmoin เช่า มีอะไร เสียหายเกิดขึ้น ก็สามารถแจ้งเจ้าของบ้านให้มา ซ่อมหรือเปลี่ยนให้ได้
  2. ผู้ให้เช่าไม่สามารถบอกเลิกการเช่า (ไล่ผู้เช่าออก) ได้ง่าย ๆ โดยไม่มีเหตุผลที่สมควร เช่น ครอบครัว ผู้ให้เช่าจำเป็นต้องย้ายเข้ามาอยู่เอง
  3. เยอรมนีมีมาตรการควบคุมดูแลการขึ้นค่าเช่าที่สูงเกินกำหนดด้วย
  4. นอกจากนี้ การเช่าห้องพักยังมีความยืดหยุ่น ไม่ผูกมัด หากเรายังไม่มีงานประจำ กำลังฝึกงาน หรือเข้าเรียนระยะสั้น และยังไม่มีแผนการจะอาศัยอยู่ยาวที่เมืองนั้น การเช่าบ้านก็จะทำให้ ชีวิตเรายืดหยุ่น ไม่ต้องมีภาระผูกมัด หากจำเป็นต้องย้ายบ้าน เมื่อได้งานประจำ
  5. ไม่ต้องมีเงินก้อนก็สามารถเช่าบ้านอยู่ได้ อย่างมากก็เตรียมค่ามัดจำประมาณ 1-3 เดือนล่วง หน้าของค่าเช่าไว้ ซึ่งต่างจากการซื้อบ้าน ที่จะต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ค่าปรับปรุงบ้าน ค่าเฟอร์นิเจอร์ทั้งบ้านในช่วงแรก

ข้อเสียของการเช่าอยู่

  1. ค่าเช่าในเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองค่าเช่าที่เหมาะสม แต่ด้วยปริมาณความต้องการที่พักที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนห้องพักมีเท่าเดิมและสร้างใหม่ไม่ทัน จึงทำให้ราคาห้องเช่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงในหมู่ผู้จะเช่า ที่จะต้องแข่งขันทั้งความเร็วรีบไปดูห้อง รีบตกลงทำสัญญา แสดงหลักฐานเงินเดือนที่มั่นคงกว่าคนอื่น เพื่อจะได้ถูกเลือกให้เช่าบ้านนั้นเป็นรายแรก ๆ
  2. หาห้องเช่ายาก นอกจากความต้องการเช่ามากกว่าจำนวนห้องเช่าที่มีในตลาดแล้ว ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ยังมีปัญหาปริมาณห้องว่างให้เช่าระยะยาวน้อยลงมาก เนื่องจากเจ้าของห้องหันมาเก็บห้องไว้ปล่อยเช่ารายวัน แทนที่จะปล่อยเช่าระยะยาว เนื่องจากผู้ให้เช่าจะได้กำไรมากกว่าการเก็บค่าเช่ารายเดือน และลดปัญหาในอนาคต หากจะต้องขอให้ผู้เช่าระยะยาวย้ายออกในภายหลัง
  3. ค่าเช่าคือค่าใช้จ่ายที่จ่ายทิ้งไปทุกเดือน ท้ายที่สุด ไม่ว่า Mausmoin จะรักและลงทุนตกแต่งห้องเช่านั้นสวยเพียงใด ก็ไม่มีความเป็นเจ้าของในห้องนั้นอยู่ดี

หลังจากที่เราได้ลองชั่งน้ำหนักว่าห้องเช่าน่าจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราหรือไม่กันแล้ว คราวนี้ Mausmoin จะพามาส่องข้อดีข้อเสียของการซื้อที่อยู่อาศัยในเยอรมนีกันบ้าง

ข้อดีของการซื้อบ้านอยู่เอง

  1. ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านถูกมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าค่าเช่าบ้านสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ Mausmoin อธิบายไปก่อนหน้านี้ แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านกลับปรับลดลงมาก (ปี 2019 ประมาณไม่ถึง 1% ก็มี) จูงใจให้หลายคนอยากมีบ้านเป็นของตนเอง และมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ซื่งความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ก็ทำให้ราคาบ้านในตลาดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ดังนั้นหากใครจะซื้อบ้านก็ควรคำนวณความคุ้มระหว่างราคาบ้านที่สูงขึ้น กับดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำไว้พิจารณาประกอบด้วย
  2. ซื้อแล้วเป็นทรัพย์สินของเรา หลายคนเทียบค่าใช้จ่ายรายเดือนของการจ่ายค่าเช่ากับภาระการผ่อนซื้อบ้านต่อเดือน ก็พบว่าเงินก้อนเดียวกัน หากนำไปจ่ายค่าเช่า เราจ่ายแล้วหายไป แต่เงินผ่อนซื้อบ้าน จ่ายแล้วก็จะได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านนั้นในท้ายที่สุด

ข้อเสียของการซื้อบ้านอยู่เอง

  1. ควรมีเงินก้อนในมืออย่างน้อยอีก 10% ของค่าบ้าน เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการซื้อขาย เช่น ค่านายหน้า ค่าทำสัญญาซื้อขาย ค่าทนายโนทาร์ ค่าภาษีซื้อขาย ค่าภาษีที่ดิน ค่าโอนชื่อในโฉนดที่ดิน ฯลฯ และควรสำรองเงินอีกก้อนสำหรับค่าปรับปรุงตกแต่งบ้านในช่วงแรกด้วย
  2. การซื้อบ้านเป็นการผูกมัดระยะยาว ถ้า Mausmoin กู้เงินซื้อบ้าน ก็ต้องผ่อนธนาคารนานถึง 10-30 ปีหรือนานกว่านั้น ซึ่งจะไม่ยืดหยุ่นสำหรับ นักเรียน คนที่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว หรือใครที่มีแผนย้ายเมืองบ่อย ๆ
  3. ข้อจำกัดในการขอกู้ธนาคาร ธนาคารหลายแห่งมักจะขอหลักฐานการมีใบพำนักถาวรในเยอรมนี และใบรับรองรายได้หรือเงินเดือนที่แน่นอน เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีกำลังผ่อนคืนเขาไปได้นานอีกหลายสิบปีข้างหน้า และจะไม่เป็นหนี้เสียของธนาคารในอนาคต ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการขอกู้ซื้อบ้านของคนที่ยังไม่ได้สิทธิ์พำนักถาวรในเยอรมนี หรือคนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่แน่นอน

จากที่ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดของการซื้อและเช่าที่อยู่ในเยอรมนีไปแล้ว Mausmoin ขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่มีทางเลือกไหนที่สามารถฟันธงได้ว่าดีกว่าอีกทางแน่นอน แต่ที่สำคัญคือ เราต้องเข้าใจลักษณะการใช้ชีวิตของตนเอง ทำเลเมืองที่เราอยู่ สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนั้น และปัจจัยการเงินในปัจจุบันและอนาคตของเรา เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าการเช่าหรือซื้อที่อยู่เหมาะกับชีวิตเราในช่วงเวลานั้นมากกว่ากัน

แต่ไม่ว่าจะเช่าหรือซื้อ การทำสัญญาเช่าและซื้อที่อยู่อาศัยจะเขียนเป็นภาษาเยอรมันทั้งสิ้น ซึ่งจะมีผลบังคับตามกฎหมายระยะยาว ดังนั้น Mausmoin แนะนำว่าเราควรทำความเข้าใจเนื้อหาให้ครบถ้วนที่สุดก่อนลงชื่อทำสัญญา เงื่อนไขในสัญญาจะเขียนเป็นสำนวนภาษากฎหมาย เข้าใจยาก หากใครอ่านไม่เข้าใจ ควรนำสัญญาไปแปลโดยนักแปลที่เชื่อถือได้ ให้เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของเราก่อนจะเซ็นชื่อเช่าหรือซื้อที่อยู่ ไม่เช่นนั้น หากคิดว่าแค่เซ็นให้จบ ๆ ไป เราอาจจะเข้าใจเนื้อหาผิด ทำผิดสัญญา และต้องมาเสียเงินเสียเวลาฟ้องร้องกันภายหลังก็ได้

จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 28 (สิงหาคม 2562) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน

อ่านนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 28 ได้ที่ https://www.thailife.de/files/d-magazine/pdf/magazine/Dmag%2028.pdf

อยากมาเยอรมนี ขอวีซ่าที่ไหน?

Mausmoin แจ้งข่าว: สถานทูตเยอรมันในไทยเปลี่ยนแปลงสถานที่สำหรับยื่นขอวีซ่าเชงเก้นมาเยอรมนี (Schengen-Visa)!

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (1 สิงหาคม 2562) หากเพื่อน ๆ จะขอวีซ่าเชงเก้นมาเยอรมนี แบบพำนักไม่เกิน 90 วัน เช่น วีซ่าท่องเที่ยว วีซ่าธุรกิจ และวีซ่าเยี่อมเยือน ให้ทำนัดหมายและยื่นคำคำร้องขอวีซ่าที่ วีเอฟเอสโกลบอล โดยสถานทูตจะเป็นผู้อนุมัติวีซ่าเช่นเดิม

ที่อยู่: จามจุรี สแควร์ ชั้นที่ 4 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (สถานีรถไฟใต้ดินสามย่าน) Callcenter: +66 2 118 7017 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.vfsglobal.com/Germany/Thailand/Thai/index.htmlhttps://bangkok.diplo.de/…/visa-einre…/schengen-visa/1353056

แต่วีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวในเยอรมนี (National Visa) เช่น วีซ่าเพื่อติดตามไปอยู่กับครอบครัว วีซ่าทำงาน วีซ่าเพื่อการศึกษา วีซ่า Au-Pair ฯลฯ เพื่อน ๆ ต้องทำนัดหมาย และยื่นคำร้องขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เยอรมนี โดยตรงเหมือนเดิม

ที่อยู่: เลขที่ 9 ถนนสาทรใต้, กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: +66 2 287 90 00
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bangkok.diplo.de/…/visa-einre…/national-visa/1353050

หากมีข้อสงสัยเรื่องวีซ่า สามารถติดต่อ วีเอฟเอสโกลบอล และสถานทูตโดยตรงได้เลย จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดจ้า

ค่าส่งไปรษณีย์ในเยอรมนีขึ้นราคา [Deutsche Post erhöht Porto]

เม้าส์มอยน์เล่าข่าว ค่าส่งไปรษณีย์ในเยอรมนี ( Deutsche Post) ขึ้นราคา มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2019 เป็นต้นไป และคาดว่าจะใช้ราคานี้ไปจดถึงสิ้นปี 2021 โดยขึ้นราคาจากเดิม 10-15 Cent สำหรับค่าส่งไปรษณีย์ในประเทศ ดังนี้

- โปรการ์ด (Postkarte): 60 Cent
- จดหมายซองปกติ หนักไม่เกิน 20 กรัม (Standardbrief): 80 Cent
- จดหมายหนักไม่เกิน 50 กรัม (Kompaktbrief): 95 Cent
- จดหมายซองเอกสารใส่ A4 ได้ หนักไม่เกิน 500 กรัม (Großbrief): 1.55 Euro
- จดหมายซองเอกสารใส่ A4 ได้ หนักไม่เกิน 1000 กรัม (Maxibrief): 2.70 Euro

บริการเสริมต่าง ๆ ที่บวกเพิ่มจากค่าส่งปกติ
- มีเลขติดตามจดหมาย (Prio) +1.00 Euro
- ลงทะเบียนไม่ต้องเซ็นรับ (Einschreiben Einwurf) +2.20 Euro
- ลงทะเบียนแบบเซ็นรับ (Einschreiben Standard) +2.50 Euro
- ลงทะเบียนพร้อมใบแจ้งกลับผู้รับ (Einschreiben Rückschein) +4.70 Euro

และขึ้นราคาสำหรับค่าส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศอีก 5 Cent ถึง 1 Euro เช่น ลงทะเบียนแบบเซ็นรับ (Einschreiben International) +3.50 Euro (จากเดิม +2.50 Euro)

ทั้งนี้ทางไปรษณีย์เยอรมันแจ้งว่า เหตุผลที่ต้องขึ้นราคา ก็เพื่อนำเงินมาพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และจ่ายเงินเลี้ยงดูพนักงานให้ดีมากขึ้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.deutschepost.de/de/a/aenderungen-2019.html

แม้ทุกวันนี้เราจะส่งเอกสารทางอีเมลกันได้ แต่ในเยอรมนี เอกสารทางการที่สำคัญหลายฉบับก็ยังต้องส่งตัวจริงไปทางจดหมายอยู่ดี ใครไปส่งจดหมายก็จะได้ไม่ตกใจว่า Deutsche Post ขึ้นราคา (อีกแล้วนะจ๊ะ!)

ใหม่! สติกเกอร์ไลน์เม้าส์มอยน์ 2 | Line Sticker Mausmoin Set 2

สติกเกอร์แชทเยอรมัน-ไทยชุดใหม่วางขายแล้ว! กดซื้อได้เลยที่:

ชุดใหม่: https://store.line.me/stickershop/product/7239803
ชุด 1: https://store.line.me/stickershop/product/1636764/en

แชทภาษาเยอรมันมันส์กว่าเดิมไปกับสติกเกอร์ไลน์ Mausmoin ชุดสอง สนุกแถมได้ฝึกเยอรมันไปในตัว #ไม่มีไม่ได้แล้ว #linesticker #mausmoin #deutschchatten

---------
Viel Spaß beim Chatten mit Thais! Bilder sagen mehr als Worte. Lass Mausmoin und Freunde dabei helfen! Warum musst du noch was schreiben, wenn du uns hast!? sofort loslegen!: 
Set 2 neu!: https://store.line.me/stickershop/product/7239803
Set 1: https://store.line.me/stickershop/product/1636764/en

 

 

 

 

คนไทยทำงานในเยอรมนีได้ไหม ทำงานอะไรถูกใจที่สุด? | Arbeiten in Deutschland

เพื่อน ๆ ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งที่ติดตามครอบครัวมาอยู่ หรือมาเรียนต่อ ก็คงจะมีความคิดที่จะหางานทำในเยอรมนี หรืออยากมีกิจการของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าเราสามารถทำงานได้หรือไม่ ข้อดีข้อเสียของการทำงานแต่ละแบบมีอะไรบ้าง จะหางานอย่างไร ติดต่อหน่วยงานไหน MAUSMOIN จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทำงานในประเทศเยอรมนีสำหรับคนไทยดังนี้

วีซ่าของเราอนุญาตให้ทำงานได้ไหมนะ?

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราจะต้องตรวจสอบว่าเราได้รับอนุญาตให้ทำงานในเยอรมนีได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สำหรับคนไทยที่อยู่อาศัยในเยอรมนีระยะยาว (อยู่เยอรมนีเกิน 90 วัน) ให้สังเกตในใบอนุญาตให้พำนักอาศัยของเรา (Aufenthaltserlaubnis) ว่ามีหมายเหตุเขียนว่าเราทำงานได้ “Erwerbstätigkeit gestattet” หรือ “Beschäftigung gestattet” หรือมีวีซ่าประเภท BLAUE KARTE EU หรือมีวีซ่าทำงานประภทอื่น ๆ รวมทั้งหากเรามีสิทธิพำนักถาวร (Niederlassungserlaubnis) หรือมีสัญชาติเยอรมัน ก็สามารถทำงานในเยอรมนีได้

แต่สำหรับคนไทยที่มาเยอรมนีระยะสั้นด้วยวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว หรือเยี่ยมเยือน ปกติแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย หากดูที่วีซ่าจะเห็นคำว่า “Erwerbstätigkeit nicht gestattet”

ส่วนวีซ่านักเรียนสามารถทำงานนอกเวลาเรียนได้ ที่เรียกว่า Nebenjob หรือทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่า Minijob ได้  โดยทั่วไปนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่คนยุโรปอย่างเช่น นักเรียนไทย จะมีเงื่อนไขจำกัดชั่วโมงทำงาน เช่น ทำงานเต็มเวลาได้ไม่เกิน 120 วันต่อปี หรือทำงานพาร์ตไทม์ได้ไม่เกิน 240 วันต่อปี

หากใครไม่แน่ใจว่าเรามีวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายหรือไม่ MAUSMOIN แนะนำให้ติดต่อสอบถามทางหน่วยงานดูแลคนต่างชาติในเมืองของเรา (Ausländerbehörde) ซึ่งจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่หากทำงานโดยไม่มีวีซ่าทำงานที่ถูกต้องและถูกจับ จะถูกปรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายกำหนดได้

คนไทยทำงานอะไรในเยอรมนีได้บ้างนะ?

หลังจากที่เรามั่นใจแล้วว่า เราสามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นต่อไป MAUSMOIN จะพามารู้จักการทำงานประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ ลองนำไปประกอบการตัดสินใจ เพื่อการทำงานอย่างมีความสุข และเหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา

1) ทำงานเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานบริษัท (Arbeitnehmer)

งานลักษณะนี้เป็นงานที่คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีทำงาน มีความมั่นคง มีทั้งการทำงานเต็มเวลา และพาร์ตไทม์ เป็นลูกจ้างประจำหรือแค่สัญญาจ้างชั่วคราว ข้อดีของการเป็นพนักงานคือ เราจะได้เงินเดือนหรือค่าแรง (ค่อนข้าง) คงเดิมทุกเดือน ได้รับสวัสดิการบริษัท มีวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายกำหนด หากวันไหนป่วยก็ยังได้รับเงินเดือน บริษัทหรือนายจ้างจะจัดการทำบัญชีเงินเดือนให้ลูกจ้าง หักค่าประกันสังคม ประกันสุขภาพ ภาษีตามกฎหมายกำหนดให้

แต่ข้อเสียสำหรับบางคน อาจจะเป็นเรื่องการทำงานไม่ยืดหยุ่นตามที่เราอยากจะทำ ต้องอยู่ในกรอบนโยบายของบริษัท ดังนั้น MAUSMOIN จะพามารู้จักกับงานแบบเป็นนายจ้างตนเองดูบ้าง

2) มีกิจการของตัวเอง (Selbstständiger)

นั่นคือการเป็นนายของตัวเอง ไม่ว่าจะเปิดร้านอาหาร ร้านนวด เปิดร้านขายของ รับจ้างต่าง ๆ นักแปล ล่าม คนจัดสวน ช่างฝีมือ โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ ที่รับผิดชอบกิจการ ร้าน หรือบริษัทของตนเอง

โดยหากจะเริ่มทำธุรกิจการค้าของตนเองในเยอรมนี อันดับแรกจะต้องแจ้งขอจดทะเบียนการทำธุรกิจ (Gewerbeanmeldung) ที่สำนักงานการค้า (Gewerbeamt) ที่เมืองของเราก่อน จากนั้นทางสรรพากรจะได้ข้อมูลดังกล่าว และแจ้งหมายเลขผู้เสียภาษีมาให้เราต่อไป

แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freiberufler) เช่น ล่าม ที่ปรึกษาภาษี แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนาย ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องทำเรื่อง Gewerbeanmeldung แต่ยังต้องแจ้งสรรพากรเพื่อขอหมายเลขผู้เสียภาษี

นอกจากนี้ ในบางกิจการอาจจะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น หากต้องการเปิดกิจการร้านอาหาร เราจะต้องผ่านการอบรมการเปิดกิจการร้านอาหารและสุขอนามัยอาหารด้วย MAUSMOIN แนะนำให้สอบถามทางสำนักงานการค้าที่เมืองของเรา และหอการค้า (IHK) ที่เมืองเพิ่มเติม

หากมองโดยรวมแล้ว ข้อดีของการมีกิจการของตัวเองก็คือ เราเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้วางแผนงานในแบบที่เราอยากทำ มีอิสระ จัดการเวลาทำงานได้เอง แต่ข้อเสียคือ เราจะต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งเรื่องการบริหารงาน จัดการบัญชี จ้างพนักงาน ดูแลเรื่องประกันภัยต่างๆ ด้วยตนเอง ทำภาษี ยื่นภาษีตามกำหนด หากป่วยไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเสี่ยงที่จะมีรายรับไม่คงที่

3) ทำงาน เล็ก ๆ น้อย ๆ (Minijobber)

ที่ประเทศเยอรมนี หากใครต้องการทำงานเล็กน้อย เช่น ไม่มีเวลา ต้องดูแลลูกเล็ก หรือเรียนเต็มเวลา ก็สามารถหางานประเภท Minijob ทำได้ โดย Minijob จะแบ่งตามปัจจัยเวลาทำงานหรือรายได้ คืองานที่จำกัดเวลาทำงานสั้น ๆ ไม่เกินสามเดือน หรือรวมแล้วไม่เกิน 70 วันทำงาน โดยทำงานแค่ชั่วคราว หรือ Minijob ที่ดูจากรายได้ว่า ทำงานมีรายได้ไม่เกิน 450 ยูโรต่อเดือน หรือ 5400 ยูโรต่อปี ข้อดีคือ มีโอกาสหางาน Minijob ค่อนข้างง่ายกว่างานประจำ แต่ข้อเสียคือ รายได้น้อยกว่าการทำงานเต็มเวลา ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานผู้ช่วย เล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานน้อยกว่าการทำงานประจำ

ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

จากข้อมูลที่ MAUSMOIN ชี้ให้เห็นในเบื้องต้น ไม่ว่าจะทำงานเป็นพนักงาน หรือเป็นนายของตนเอง สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาความสามารถของตนเองให้เหมาะกับเป้าหมายงานที่เราอยากจะทำ ในทุกงานจะต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียเป็นเรื่องปกติ แต่หากเรารักในสิ่งที่เราทำ เราจะสามารถได้รับประโยชน์จากข้อดี และจะหาทางก้าวข้ามปัญหาที่เจอจากข้อเสียระหว่างทางได้

จากที่ MAUSMOIN ได้รู้จักกับคนไทยในเยอรมนี ก็พบว่าคนไทยทำงานในหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ทำงาน Minijob พนักงานขาย พนักงานโรงงาน พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัท วิศวกร สถาปนิก ล่าม ทนาย แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ครูสอนภาษาไทย เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของร้านค้า เจ้าของร้านนวด เจ้าของโรงแรม ดังนั้น หากเราพยายาม ตั้งใจ มุ่งมั่น เราก็จะสามารถทำงานที่เรารักและมีความสุขได้ในที่สุด

หากเพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและต้องการหางาน สามารถเข้าไปปรึกษาที่สำนักจัดหางาน (Agentur für Arbeit) ที่เมืองได้ นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ยังสามารถได้รับคำแนะนำเรื่องการหางาน ฝึกงาน เทียบวุฒิการศึกษา เงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ได้ด้วย

ท้ายสุดนี้ MAUSMOIN ยังคงเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรมีในการทำงาน นอกจากวีซ่าทำงาน ตำแหน่งงานที่ชอบ หรือกิจการที่เรารักแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการรู้และเข้าใจภาษาเยอรมัน เพราะภาษาราชการที่ใช้สื่อสารและออกเอกสารทางราชการต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นภาษาเยอรมัน หากเราทำงานเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน เราก็ควรอ่านทำความเข้าใจจดหมายสำคัญ หรือใบแจ้งต่าง ๆ ได้ หากเราเป็นเจ้าของกิจการ เราจะต้องรู้รอบด้าน ว่าจะต้องขอใบอนุญาตอะไรเพิ่มไหม ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ ถ้าเราปล่อยเลยตามเลย นอกจากจะไม่ได้ทำตามกฎข้อบังคับแล้ว อาจถูกปรับ หรือถูกปิดกิจการเลยก็ได้ ดังนั้น ขอให้เพื่อน ๆ หมั่นพัฒนาภาษาเยอรมันไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะทางการทำงาน เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน MAUSMOIN ขอเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ทุกคน!