Mausmoin มักจะได้รับคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่า "เรียนเยอรมันให้เก่งทำอย่างไร?" "ทำอย่างไรให้ชอบเรียนเยอรมัน?" "อยากจะสื่อสารเยอรมันได้เร็วๆ ฝึกอย่างไร?" ถ้าเพื่อน ๆ เองก็มีคำถามแบบนี้อยู่ในใจ วันนี้เรามาหาคำตอบ และค้นหาวิธีพัฒนาทักษะภาษาเยอรมัน ที่เหมาะกับลักษณะการใช้ชีวิตของตนเอง แบบง่าย ๆ และสร้างสรรค์ไปพร้อมกันเลย
1. คิดวางแผนอย่างสร้างสรรค์
การที่เราจะชอบและเก่งภาษาเยอรมันได้นั้น อันดับแรก Mausmoin อยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ปรับเปลี่ยนทัศนะคติที่มีต่อภาษาเยอรมันของตัวเราก่อน ว่าเราเรียนเยอรมันไปเพื่ออะไร และรู้จักเป้าหมายการเรียนภาษาเยอรมันของตัวเอง เพื่อจะได้รู้วิธีที่จะฝึกฝนทักษะภาษาเยอรมันของตนเองให้ถูกทางและมีความสุขไปกับการเรียน เหมือนที่เล่าจื๊อ นักปรัชญาชาวจีนได้กล่าวไว้ว่า “Nur wer sein Ziel kennt, findet den Weg.” “มีเพียงผู้ที่รู้จักเป้าหมายของตัวเองเท่านั้น จึงจะพบเส้นทาง”
แน่นอนว่าแต่ละคนต่างมีเหตุผลและเป้าหมายในการเรียนภาษาเยอรมันแตกต่างกันไป บางคนเรียนเพราะแต่งงานกับชาวเยอรมัน ใช้ชีวิตในเยอรมนี อยากขอสัญชาติเยอรมัน บางคนอยากเรียนต่อ อยากหางานทำในประเทศเยอรมนี บางคนทำงานที่ต้องใช้ภาษาเยอรมัน หรือบางคนเรียนเพราะชอบนักฟุตบอลเยอรมัน หรือหลงใหลประเทศและวัฒนธรรมเยอรมันเอามาก ๆ
Mausmoin ขอช่วยยกตัวอย่าง ขั้นตอนการคิดวางแผนแบบสร้างสรรค์สำหรับการเรียนเยอรมันของเพื่อน ๆ ว่า เราจะตั้งเป้าหมายการเรียนเยอรมันของเราอย่างไร เส้นทางในการฝึกฝนควรเป็นไปในแนวไหน และประเมินผลเพื่อพัฒนาต่อไปอย่างไร ตามขั้นตอนดังนี้
1. ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า เราเรียนเยอรมันเพื่ออะไร เช่น หนูนาแต่งงานกับแฟนชาวเยอรมัน เลยต้องการสื่อสารภาษาเยอรมันกับครอบครัวและคนรอบข้างได้เข้าใจ หนูแฮมอยากเรียนต่อปริญญาโทที่เยอรมนี เลยต้องเรียนภาษาเยอรมัน หนูน้อยอยากจะขอสัญชาติเยอรมัน จึงต้องสอบวัดระดับภาษาเยอรมันเพื่อนำไปยื่นสมัครขอสัญชาติ
2. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ เช่น เราอยากสามารถคุยภาษาเยอรมันแบบง่าย ๆ เกี่ยวกับตัวเอง และเรื่องใกล้ตัวได้ ภายใน 6 เดือน หรืออยากพัฒนาภาษาเยอรมันให้ดียิ่งขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ภายใน 1 ปี หรือเราอยากสอบเยอรมันผ่านระดับ B1 ให้ได้ ภายใน 9 เดือน อย่าลืมว่า เราแต่ละคนเรียนรู้ช้าเร็วไม่เท่ากัน พื้นฐานความสามารถไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่ควรจะเปรียบเทียบกับตัวเองในเมื่อวาน พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในแบบของเรา โดยกำหนดเป้าหมายของตนเองให้ท้าทาย แต่ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป เมื่อเรามีเป้าหมายชัดเจน เส้นทางก็จะเปิดออก และเราจะเริ่มสนุกไปกับการพัฒนาภาษาเยอรมันในแบบของเราเอง
3. หาวิธีเริ่มต้นและฝึกฝนให้เหมาะกับตนเอง โดยอันดับแรก เม้าส์มอยน์ขอแนะนำให้ประเมินตัวเองดูว่าเราเป็นคนเรียนรู้อะไรได้ด้วยตนเองพอได้หรือไม่ มีพื้นฐานภาษาเยอรมันมามากน้อยแค่ไหน ชอบเรียนแบบอ่านหนังสือด้วยตนเอง หรือชอบเรียนแบบมีครูช่วยอธิบาย มีวินัยรับผิดชอบตนเองได้มากแค่ไหน ถ้าเราเป็นคนที่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ไม่มีพื้นฐานภาษา ก็สามารถเริ่มง่าย ๆ โดยการหาคอร์สเรียนเยอรมันที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น อยากเรียนในห้องเรียนหรือเรียนออนไลน์ อยากเรียนแบบกระชับ เข้าใจง่ายกับครูคนไทย หรืออยากเข้าเรียนกับเพื่อนต่างชาติ สอนโดยครูเยอรมัน แล้วก็เลือกคอร์สให้ตรงกับเป้าหมายที่กำหนดและลักษณะการเรียนที่เหมาะกับเรา
4. เดินหน้าตั้งใจเรียนให้เต็มที่และประเมินผลตนเอง ระหว่างที่เรียน อย่าลืมประเมินตนเองเป็นระยะ ๆ ว่า เราพัฒนาเยอรมันได้ดีขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน มีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ เช่น เพิ่มหรือลดเวลาเรียน ปรับเปลี่ยนสถานที่นั่งเรียน หาแบบฝึกหัดเสริมมาทำเพิ่ม เป็นต้นอย่าปิดโอกาสและเส้นทางการพัฒนาภาษาเยอรมันของตัวเอง โดยยึดติดกับความคิดผิด ๆ ว่า “ฉันไม่เก่งภาษา” “ฉันคงเรียนไม่รอด” “ฉันไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้” Mausmoin ขอฝากคำพูดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันผู้โด่งดัง ที่เคยกล่าวตอบคำถามที่ว่า “พรสวรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ของคุณได้มาจากฝั่งคุณพ่อ และพรสวรรค์ด้านดนตรีมาจากทางฝั่งคุณแม่รึเปล่า” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ตอบว่า “Ich habe keine besondere Begabung, sondern bin nur leidenschaftlich neugierig.” “ผมไม่ได้มีพรสวรรค์พิเศษใด ๆ เพียงแต่ผมแค่อยากรู้อยากเห็นเอามาก ๆ เท่านั้น”
เป็นตัวอย่างว่า เราไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์อะไรพิเศษ แต่สำคัญอยู่ที่การไม่หยุดที่จะอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ภาษา เพื่อทำเป้าหมายของเราให้สำเร็จ และพัฒนาไปอีกทีละขั้นให้ได้
2. ลงมือทำอย่างสร้างสรรค์
เมื่อเรารู้จักเป้าหมายการเรียนภาษาเยอรมันของตัวเอง มีเส้นทางการเรียนอย่างเหมาะสมแล้ว ก็ลงมือตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่การเรียนภาษาเยอรมัน ไม่ได้มีแค่ในตำรา ในห้องเรียนเท่านั้น เรายังสามารถฝึกฝนเยอรมันจากสิ่งรอบตัวแบบสร้างสรรค์ได้อีกด้วย มาดูไปพร้อมกับ Mausmoin ว่า เราจะนำสิ่งที่เราเรียน มาฝึกใช้ในชีวิตประจำวันและงานอดิเรกของเราอย่างไรได้บ้าง
เริ่มจากงานอดิเรกที่เราชอบกันก่อน ใครชอบดูหนัง ฟังเพลง ดูละคร ดูการ์ตูน อ่านการ์ตูน อ่านนิยาย วรรณกรรม ก็ลองหาหนัง เพลง นิยาย การ์ตูน นิทาน แนวที่ชอบ ดูน่าสนุก เป็นภาษาเยอรมันมาเพิ่มเติมบ้าง เลือกประเภทที่เราชอบ ฟังได้ชิว ๆ อ่านได้เพลิน ๆ เนื้อเรื่องสนุก น่าติดตามในแบบของเรา แล้วเราก็จะมีความสุขกับการได้ใช้ภาษาเยอรมันที่เรียนมากับสิ่งที่ชอบ และจะค่อย ๆ รักภาษาเยอรมันแบบสร้างสรรค์เหมือน Mausmoin ได้แน่นอน
งานอดิเรกอีกประเภทของหลายคน ก็คือการทำอาหาร อบขนม สร้างสรรค์เมนูอาหารเครื่องดื่มให้คนในครอบครัวได้ชิมและทาน ก็สามารถนำความรู้ภาษาเยอรมันเรามาปรับใช้กับการหาสูตรอาหาร ขนม เครื่องดื่มสไตล์เยอรมัน เป็นภาษาเยอรมันดูบ้าง ไม่ว่าจะอ่านสูตรอาหารจากตำรา อินเตอร์เน็ต หรือจดสูตรจากคุณยายเยอรมัน สนุกไปกับการออกไปตามล่าหาซื้อส่วนผสมต่าง ๆ ในร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้นำคำศัพท์ส่วนประกอบอาหาร เครื่องมือการประกอบอาหารที่เคยได้เรียนมาใช้ในชีวิตจริง คำไหนที่ไม่รู้ก็เปิดหาความหมายในพจนานุกรม หรือดูรูปประกอบในอินเตอร์เน็ตเพิ่มไปด้วย นอกจากจะได้เพิ่มพูนคำศัพท์ใหม่แล้ว ยังได้ฝึกออกไปสื่อสารกับคนเยอรมัน รู้จักวัฒนธรรมเยอรมันเพิ่มด้วยว่า คนเยอรมันชอบทานหรือดื่มอะไรกัน ชอบทำอะไรทานช่วงไหนเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าทั้งอิ่มท้องและอิ่มสมองไปพร้อมกันเลย
อีกตัวอย่างของการใช้เวลาว่างที่พลาดไม่ได้สำหรับเพื่อน ๆ ที่ย้ายมาอยู่เยอรมนี ก็คือการออกเดินทางท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตาในที่ใหม่ ๆ แค่ไปเที่ยวใกล้ ๆ ไปเช้าเย็นกลับ หรือจะจัดทริปเล็ก ๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง ชมรม ก็สนุกและได้เรียนรู้ภาษาเยอรมันแบบสร้างสรรค์ได้เต็ม ๆ ลองเริ่มจากการนั่งรถเมล์ หรือรถไฟไปเดินเล่นเมืองใกล้ ๆ ฝึกความกล้าที่จะใช้ภาษาเยอรมันตอนซื้อตั๋ว อ่านป้ายรถ หาสถานที่ท่องเที่ยว ถามทาง สั่งอาหารเครื่องดื่ม อ่านประวัติความเป็นมาของสถานที่ที่ไปเยี่ยมชม เขียนโปสการ์ดเป็นภาษาเยอรมันส่งให้คนที่เรารัก พูดคุยกับเพื่อน ๆ ในทริปเป็นภาษาเยอรมัน รับรองว่าเพื่อน ๆ จะได้เต็มอิ่มไปกับการเปิดโลกใหม่ และสนุกกับการสื่อสารเยอรมันครบทั้งฟังพูดอ่านเขียนแน่นอน
นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มของการใช้เวลาว่างที่ Mausmoin ยกมาให้เพื่อน ๆ ได้ลองลิ้มรสความสนุกจากการใช้ความรู้ภาษาเยอรมันในชีวิตจริง หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะเห็นภาพความสนุกของการใช้ภาษาเยอรมันอย่างสร้างสรรค์ในชีวิตเพิ่มขึ้น ที่นอกเหนือไปจากการเรียนเยอรมันในคอร์สเรียน หรือการใช้ภาษาเยอรมันในที่ทำงาน เพียงแค่เราเริ่มคิดอย่างสร้างสรรค์ที่จะรักและเรียนภาษาเยอรมัน เราก็จะทำมันได้ดีและมีความสุขขึ้น รวมไปถึงการลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ โดยตั้งใจเรียนและนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในชีวิตประจำวัน และนำภาษาเยอรมันมาเป็นส่วนหนึ่งของงานอดิเรกที่เราชอบ แล้วเราก็จะรักภาษาเยอรมันมากขึ้น เรียนเยอรมันได้เก่งขึ้น และพัฒนาการสื่อสารภาษาเยอรมันได้เร็วขึ้นแน่นอนการเรียนภาษาเป็นการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ยิ่งเรามีความสุขกับมัน เราก็ยิ่งอยากเรียนรู้ สนุกกับภาษาเยอรมันมากขึ้นไปอีก Mausmoin ฝากข้อคิดสุดท้ายจากคำกล่าวของโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ กวีเอกชาวเยอรมัน ไว้ว่า “Erfolg hat 3 Buchstaben: TUN!” “ความสำเร็จสะกดด้วยคำสามคำ: ลงมือทำ!”
อย่ารอช้า! ลุกขึ้นมาพัฒนาภาษาเยอรมันอย่างสร้างสรรค์ในแบบของตนเอง และสนุกไปกับการมีภาษาเยอรมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปพร้อมกับ Mausmoin กันนะจ๊ะ
จากบทความของ Mausmoin ในนิตยสาร D-Magazine ฉบับที่ 26 (ธันวาคม 2561) นิตยสารเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะคนไทยในต่างแดน